http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-03-22

ระงับ“ตอบโจทย์” คำถามร้อน“ทีวีสาธารณะ”แบบไทยๆ

.

ระงับ “ตอบโจทย์” ข่าวร้อน-คำถามร้อน “ทีวีสาธารณะ”แบบไทยๆ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363933056 . . 22 มี.ค. 2556 14:17:12 น.
จากคอลัมน์ แมลงวันในไร่ส้ม มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 มีนาคม พ.ศ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1701 หน้า 78


จากรายการทีวีสู่ข่าวหน้า 1 อย่างเกรียวกราว

การสั่งระงับออกอากาศรายการ "ตอบโจทย์" ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

รายการตอบโจทย์ที่มี ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้นำเอาฝ่ายต่างๆ มาออกรายการในหัวข้อสถาบันพระมหากษัตริย์

ไฮไลต์คือ วันที่ 13 มีนาคม ที่นำเอา นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาตอบคำถาม
แล้วจึงนำเอา นายสมศักดิ์ กับ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ซึ่งเคยปะทะกันในเฟซบุ๊ก มาดีเบตกัน ในวันที่ 14 มีนาคม แยกเป็น 2 ตอน ตอนจบคือวันที่ 15 มีนาคม ซึ่งสุดท้ายไม่ได้ออกอากาศ

นายสมศักดิ์ เป็นนักกิจกรรมรุ่น 14 ตุลาคม 2516 - 6 ตุลาคม 2519 จบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของออสเตรเลีย

แวดวงวิชาการยอมรับว่า นายสมศักดิ์ เป็นนักวิชาการที่มีหลักคิดแหลมคม ด้วยพื้นฐานจากการเป็นนักกิจกรรม และค้นคว้าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และแสดงทัศนะเกี่ยวกับมาตรา 112 ป.อาญา มาอย่างต่อเนื่อง และตรงไปตรงมา

รายการนี้สร้างบรรยากาศทางปัญญาให้กับวงการทีวีไทย แต่ผู้ชมส่วนหนึ่งไม่พอใจ ก่อนมายื่นคำขาดให้สถานียุติรายการ

ขณะที่บรรณาธิการของช่องจำนวนหนึ่ง ได้เข้าพบ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีไทยพีบีเอส เสนอให้ระงับการออกอากาศ


ที่น่าสนใจ ก็คือ นอกจากเข้าพบ ผอ.สถานีเพื่อให้ระงับการออกรายการแล้ว บรรณาธิการกลุ่มนี้ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

ความเห็นของ "บรรณาธิการ" ของช่องไทยพีบีเอส ที่เสนอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับรายการนี้ ก็ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์มากมายเช่นกัน

อาทิ ณาตยา แวววีรคุปต์ บก.ข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า "แนวทางการสื่อสารเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทย ควรจะใช้วิธีที่ทำให้สื่อไม่กลายเป็นชนวนความขัดแย้งเสียเอง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งยากจะแตะต้องอย่างฉาบฉวย สื่อที่จะทำเรื่องนี้ต้องมองหาทางเลือกของวิธีการนำเสนออย่างเหมาะสม"

สำหรับณาตยา คือคนที่เคยโพสต์ข้อความให้นำเอาละคร "เหนือเมฆ" ที่ช่อง 3 สั่งแบน มาออกอากาศต่อที่ช่องไทยพีบีเอส และเชิญชวนให้ผู้เห็นด้วยมากด like

ความเห็นของ บ.ก. กลุ่มนี้ ถูก "ใบตองแห้ง" คอลัมนิสต์ดังวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน

ขณะที่กลุ่มผู้จัดรายการตอบโจทย์ ภิญโญ แถลงผ่านเฟซบุ๊กว่า ขอยุติการจัดรายการตอบโจทย์

ด้วยเหตุผลว่า เพราะไม่สามารถตอบสังคมว่า จะรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร

จึงขอสละรายการเพื่อรักษาหลักการ ยินดีถูกประณาม คุกคาม เพื่อนำการกล่าวร้ายโจมตีในที่มืด ออกสู่ที่แจ้ง ให้คนได้ถกแถลงแสดงเหตุผล และหักล้างกันด้วยปัญญา มิใช่อารมณ์



มติชนออนไลน์ วันที่ 18 มีนาคม ได้นำเอาบทความของ "ปราบ เลาหะโรจนพันธ์" เรื่อง มรดกจากรัฐประหาร 2549 ชื่อ "ไทยพีบีเอส" มาเผยแพร่
มีสาระบางตอน ระบุว่า ThaiPBS เป็นมรดกจากรัฐประหาร 2549 หลังจากปิด ITV ก็เกิด พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
การเมืองช่วงนั้นรุนแรงเข้มข้น ไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สังคมแบ่งแยกชัดเจน ผู้เขียนตั้งคำถามว่า ย้อนไปอีกที ตอนนั้นเราพร้อมหรือเปล่าที่จะมี "ทีวีสาธารณะ" 
ก็เมื่อที่มาและกลุ่มผู้บริหาร เลือกข้างอย่างชัดเจน แล้วจะสาธารณะและเป็นกลางได้อย่างไร


วันนี้ได้มีโอกาสดู ThaiPBS ตลอดทั้งวัน อยากรู้ว่านอกจาก "ตอบโจทย์" แล้วมีรายการไหนที่น่าสนใจบ้าง

ได้ข้อสรุปส่วนตัวออกมาว่า ThaiPBS เป็นช่องทีวีที่น่าเบื่อทีเดียว

เป็นรายการที่พยายามจะทำตัวเป็น "ทีวีสาธารณะ" มาก มีคั่นรายการทำนองว่า "ขณะนี้คุณกำลังดูทีวีสาธารณะ" เป็นภาษาท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งดู fake สุดๆ เพราะจากนั้นก็ไม่มีรายการที่เป็นภาษาท้องถิ่นแต่อย่างใด

รายการส่วนใหญ่ยังเป็นการพูดถึงทุกข์ชาวบ้านผ่านแง่มุมของชนชั้นกลางในเมือง เชิดชูความเรียบง่ายแบบชนบท

ทุกข์ชาวบ้านคือนายทุนคอร์รัปชั่นนักการเมืองที่เข้ามาโกยทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านในอุดมคติต้องเรียบง่ายพออยู่พอกิน ที่สำคัญต้องทนสุดๆ ทนกับความยากจนของตัวเอง โดยยิ้มอารมณ์ดีใช้ชีวิตแบบพอเพียงให้เห็นเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ThaiPBS จึงไม่มีรายการพูดถึงอีกด้านของทุกข์ชาวบ้านที่แก้ด้วยทุน ความเจริญ และเศรษฐกิจแบบทุนนิยมครับ


ช่วงนี้ผมกลับบ้านต่างจังหวัดรู้สึก enjoy กับพิซซ่าซื้อ 1 แถม 1 ที่มาเปิดแถวบ้านเป็นครั้งแรก นึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ ที่เรามี 7-11 สาขาแรกของอำเภอ มีธนาคารครบทุกบริษัทเป็นครั้งแรก

สิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นกับหัวเมืองในหลายจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน และนักอสังหาริมทรัพย์ก็รู้ดีว่าเมืองหลายแห่งขายคอนโดฯ อย่างเทน้ำเทท่า

แต่แน่นอนว่าสิ่งนี้จะไม่ออกจากปากของ "ชาวบ้าน" ในทีวีที่ชื่อว่าทีวีสาธารณะของคนไทย

เพราะสิ่งนี้ขัดต่อภาพจำของ NGOs สายชุมชนจำนวนมากที่กลายเป็นนักจัดรายการในทีวีสาธารณะทุกวันนี้

ทีวีที่บอกว่าตนเองไม่ใช่ทีวีที่แสวงหากำไร แต่ก็ไร้ประสิทธิภาพในการสื่อสาร จนบางคนกล่าวอย่างรุนแรงว่า เป็นเพียงแหล่งสำเร็จความใคร่ทางอุดมการณ์บางรูปแบบไปแล้วเท่านั้น


ผมไม่ปฏิเสธว่าทีวีสาธารณะเป็นสิ่งที่หลายประเทศมี และตอบโจทย์ในการเป็นพื้นที่ของสาระบางอย่างที่ไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแต่มีความจำเป็นในสังคม


การโยงทีวีสาธารณะกับรัฐประหาร หลายคนอาจจะบอกว่าไกลเกินไป หรือไม่เกี่ยวกัน

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปแล้วสมมติว่า ThaiPBS เกิดขึ้นในยุคที่ประเทศเรามีประชาธิปไตยแบบเต็มใบ

หรือต่อให้ไม่เต็มใบ ก็ขอให้มันทำงานได้ในระดับหนึ่งเหมือนทุกวันนี้

การต่อรองเรื่องพื้นที่จัดรายการเนื้อหาสาระ ระหว่างขั้วทางการเมืองต่างๆ ขั้วทางความเชื่อและอุดมการณ์ต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น

ทีวีสาธารณะคงไม่น่าเบื่อคงไม่เอียงกระเท่เร่แบบนี้ เพราะสิ่งหนึ่งที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและ ThaiPBS มีเหมือนกัน

ทั้งสองคือหน่วยงานที่กินภาษีประชาชนตัวแทนประชาชน (รัฐบาล) เข้าไปแทรกแซงไม่ได้แต่ที่อยู่ได้ก็คือ "ความศรัทธา" ที่ประชาชนมีให้ครับแต่ถ้าทำให้ศรัทธาไม่ได้กันเสียแล้ว...ก็ยุบเถอะครับ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน


นั่นคืออีกความเห็น ต่อ "ทีวีสาธารณะ" ที่มองคำว่า "สาธารณะ" กว้างไกลออกไป

แทนที่จะ "สาธารณะ" อยู่แค่ทัศนะของคนในทีวีเพียงไม่กี่คน




* * * * * * * * * * * * * * * * *

มรดกจากรัฐประหาร 2549 ชื่อ "ไทยพีบีเอส"?
จากเฟซบุ๊กของ "ปราบ เลาหะโรจนพันธ์"

อ่านที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363482561
( มติชน ออนไลน์  วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:00:00 น. )


.