http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-03-28

ขาใหญ่ โดย คำ ผกา

.

ขาใหญ่
โดย คำ ผกา

ที่มา “คำ ผกา” จัดเต็ม “ขาใหญ่ คนล้มชาติ-ล้มประชาธิปไตย” และ “ทีวีสาธารณะ”
( www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364320383 )

ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 17:00:33 น.
จาก บทความ “ขาใหญ่” มติชนสุดสัปดาห์ 22 มี.ค. 56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1701 หน้า 89


ที่ผ่านมาเราพยายามจะ "สุภาพ" ตัวฉันเองก็พยายามอย่างยิ่งที่จะ "สุภาพ" ทั้งๆ ที่ความสุภาพนั้นขัดกับสันดานเดิม จริตเดิมอย่างยิ่ง เราพยายามที่จะ "สุภาพ" เสียจนลืมคิดไปว่า บางครั้งก็ยากที่จะแยกความสุภาพกับความตอแหลออกจากกัน

อันที่จริง เราควรต้องมานิยามคำว่า "สุภาพ" กันเสียก่อนว่าหมายถึงอะไร

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ฉันได้อ่านข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กของบุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับปานกลางในสังคม เขาโพสต์ว่า "หากใครวิจารณ์สถาบันให้เขาได้ยิน เขาจะลากปืนมายิงให้คลานเหมือนหมา"

ประโยคที่ไม่มีคำหยาบคาย แสดงความปรารถนาออกมาจากใจจริง ทว่า เป็นความไม่หยาบคายที่เต็มไปความเกลียดชัง วาทะเช่นนี้เรียกกันว่าเป็น hate speech


ในสังคมประชาธิปไตย เราผู้รักในสันติ คงต้องอดทน อดกลั้น ต่อวาทะเช่นนี้ แล้วพยายามสืบหาที่มาของการบ่มเพาะความคับแคบ เกลียดชัง

ชวนให้ตั้งคำถามต่อไปว่า "สังคมแบบไหนกันที่ผลิตพลเมืองเช่นนี้ออกมา?"

ไปจนถึงการถามต่อไปว่า "เราสามารถดูดายต่อปรากฏการณ์อย่างนี้ในสังคมได้หรือไม่?"


เพื่อนของฉันหลายคนโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดียด้วยภาษาที่"หยาบคาย" อย่างมหาศาล ทั้งแสดงความรู้สึกที่เป็นเนื้อแท้ของตนเองออกมาอย่างไม่เกรงว่าจะเสียภาพพจน์ต่อสื่อ

และน่าประหลาดใจมากกว่าในบรรดาคนที่ใช้ภาษาหยาบคายเป็นนิจศีล โดยมากเป็นคนที่มีความสุภาพ จริงใจต่อผู้อื่น ไม่สร้าง hate speech

หลายครั้งยังทำลายบรรยากาศของ hate speech ด้วยความตลกขบขันในการคัดสรรคำหยาบมาล้อเลียนความรุนแรงใน hate speech จากบรรดาผู้ใช้ภาษาสุภาพนั้นเสียอีก



เขียนทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมติดเปลือก เป็นสังคมฉาบฉวย ตื้นเขิน

เราวัดความสุภาพกันที่การใช้ภาษา "สุภาพ" แต่เราไม่เคยดูให้ลึกลงไปว่าในภาษาที่ "สุภาพ" และเราคิดว่ามันไม่หยาบคายนั้นกลับมีเนื้อหา มีแก่นสารที่เต็มไปด้วยความรุนแรง การสร้างความเกลียดชัง

แบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ สุนทรพจน์ของนักปราชญ์ นักบุญ นักเทศน์ จำนวนไม่น้อยก็เข้าข่ายนี้

ทว่า บังเอิญมันอยู่ในสังคมเปลือกๆ กากๆ จึงไม่มีใครเห็นว่า ความ "สุภาพ" เหล่านี้คือ "ความรุนแรง"


ความตื้นเขิน ติดเปลือกนี้มีอยู่ในทุกลมหายใจของความเป็นไทย
เช่น เรามักจะคิดว่าการรักชาติแสดงออกด้วยการยืนตรงเคารพธงชาติ การเป็นบัณฑิตแสดงออกด้วยการศิโรราบต่อพิธีกรรมการรับปริญญาอย่างปราศจากอารมณ์ขัน อยากรักสิ่งแวดล้อมให้ปลูกป่า อยากเป็นคนดีก็สวดมนต์ มีอุปสรรคในชีวิตมากนักก็ไปปล่อยปลา ปล่อยนก


อยากดู กากที่สุด ตื้นที่สุด คือการบอกว่า สังคมมันจะดีขึ้นได้ง่ายๆ แค่ทุกคนทำตัวเป็นคนดี ทำตามหน้าที่ของตนเอง

มีนักโทษการเมืองที่ถูกจำคุกอย่างไม่เป็นธรรมหรือ? นั่นก็เรื่องของเขา คุณเป็นครู เป็นหมอ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นแม่ค้า ก็ทำหน้าที่ ทำงานของตนเองไปให้ดีที่สุด

มีคนถูกฆ่าจากอำนาจรัฐหรือ? ก็ช่วยไม่ได้ อยากออกไปประท้วงเอง ถ้ารู้จักทำตามหน้าที่ของตัวเอง นั่งทำมาค้าขาย เป็นพ่อที่ดี แม่ที่ดี ลูกที่ดีอยู่บ้าน จะตายมั้ย? บ้านเมืองจะไม่เป็นอะไร ถ้าทุกคนสงบเงี่ยมเจียมตนอยู่ในที่ตั้ง

เข้าใจหรือเปล่า?




สังคมไทยตื้นเขินเช่นนี้ จึงทำให้มีคนกลุ่มหนึ่งสามารถ "หากิน" กับความตื้นเขิน จะว่าไปแล้วพวกเขาคือกลุ่มคนที่ชักใย หรือ manipulate หล่อเลี้ยงความตื้นเขินของสังคมไทยให้ตื้นเขินมากขึ้น กว้างขวางขึ้น-คนรุ่นใหม่บางคนเขาใช้คำศัพท์สวยหรูว่าเป็นการ "สำเร็จความใคร่ทางอุดมการณ์"

คนกลุ่มนี้ทำให้สังคมไทยเชื่อไปโดยปริยายว่า คนดีคือคนที่ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีพุง ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว 
คนดีคือคนที่เห็นโลกสวยงาม น่ารัก น่าเอ็นดู มองโลกในแง่ดี
คนเหล่านี้ทำให้สังคมไทยเห็นพ้องต้องกันว่า ประเทศไทยจะผุดผ่องดั่งทองทา เป็นประเทศที่ศิวิไลซ์หากเราออกกฎหมายกำหนดเวลาขายสุราอย่างเคร่งครัด

คนเหล่านี้ทำให้เราเชื่อว่าการห้ามขายเซ็กซ์ทอยจะช่วยให้เยาวชนไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร 


คนกลุ่มนี้สร้างทฤษฎีขึ้นมาง่ายๆ ว่า ปัญหาของสังคมไทยเกิดจากการเติบโตของทุนนิยม ความโลภของพ่อค้า การที่พ่อค้าหันมาเป็นนักการเมืองแล้วเข้าสัมปทานประเทศ มอมเมาประชาชนให้ลุ่มหลงในวัฒนธรรมบริโภคนิยม ทำให้ชนบทล่มสลาย เมืองก็เสื่อมทราม ศีลธรรมทรุด อิทธิพลตะวันตกเข้าครอบงำ ฟาสต์ฟู้ด หนังฮอลลีวู้ดเข้าเกาะกุมจิตใจประชาชน 
ทางออกของประเทศคือ ขจัดทุนสามานย์ กอบกู้ชนบท ช่วยชาวบ้านที่หลงผิดให้คิดถูก ลด ละ เลิก อบายมุข หันมาถือศีล เข้าวัด ปลูกข้าวอินทรีย์ มีเศรษฐกิจยั่งยื่น


ขณะเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็ลืมไปว่าตนเองอาศัยอยู่ในเมืองที่มีสาธารณูปโภคพร้อมสรรพ มีเทคโนโลยีทุกประเภทในความครอบครอง ดื่มไวน์สลับกับไปเจริญสติ มีรถขับ มีบีทีเอส เอ็มอาร์ที นั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจ

แต่ไม่สิ คนเหล่านี้จะบอกตนเองว่า 
"พวกชั้นบริโภคสิ่งเหล่านี้อย่างรู้เท่าทัน ไม่กินฟาสต์ฟู้ด ไม่อุดหนุนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เดินวิลล่า หาซื้อข้าวอินทรีย์ ผักปลอดสาร หรือไม่ก็อุดหนุนสินค้าของชาวบ้านจากสหกรณ์ทางเลือก ใส่ผ้าไทย หิ้วกระเป๋าผ้าทอมือเก๋ๆ พวกชั้นเป็นผู้บริโภคที่ฉลาดย่ะ แต่ชาวบ้านสิ จนแล้วยังถูกนายทุนมอมเมา คนดีๆ คนฉลาด คนรู้เท่าทันความชั่วอย่างชั้นต้องไปกอบกู้เอาชาวบ้านกลับคืน เอาหมู่บ้านชนบทอันง่ายงามกลับคืนมา (แต่กูนอนคอนโดฯ หรูกลางเมืองนะ)"


ด้วยความคลั่ง "คนดี" ที่ตื้นเขินนี่เอง ที่ได้เบิกทางให้กับการรัฐประหาร เพื่อขจัดทุนสามานย์ นักการเมืองโสมม ด้วยการ manipulate "คนดี" อย่างเป็นระบบ ได้แผ้วถางทางให้ธุรกิจการค้าทางจิตวิญญาณเฟื่องฟู

"คนดี" ทั้งหลายได้สัมปทานทำนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คุณธรรมความดีกันยกใหญ่ ตั้งแต่ขึ้นป้ายโฆษณา ทำแคมเปญรณรงค์ จัดสัมมนาครั้งแล้วครั้งเล่า จัดงานอีเวนต์ฟื้นฟูชุมชน ทำเวิร์กช็อปเรียนรู้บทเรียนจากปราชญ์ท้องถิ่น รณรงค์ไม่กินน้ำตาล ทำห้องนิพพานจำลอง ฯลฯ


จนกระทั่งนำมาสู่การทำช่องทีวีสาธารณะที่อ้างว่าเป็นอิสระจากรัฐ อิสระจากทุน เป็นทีวีที่เป็นกลางปราศจากผลประโยชน์ เป็นทีวีที่จะไม่มอมเมาประชาชนด้วยละครน้ำเน่า เกมส์โชว์ไร้สาระ หรือข่าวบันเทิงที่วันๆ อยากรู้แค่ว่าดาราคนไหนไปเอากับใคร ใครเลิกกับใคร ใครแต่งกับใคร ใครลำเลิกกันในอินสตาแกรม

ทีวีสาธารณะจะใช้เงินจากภาษีที่เรียกกันว่า "ภาษีบาป"
(คนบาปที่ทั้งดื่มและสูบอย่างฉันก็อยากจะกรีดร้องว่า "บาปแล้วงัยยยยยยยยย" การเที่ยวไปป้ายสีใส่บาปต่อผู้อื่น ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ มีอย่างที่ไหน ด่าเขา แล้วก็อยากใช้เงินเขา-ฉันไม่มีปัญหากับการเอาเงินจากกาสิโน จากซ่อง จากกัญชา จากหวย ไปพัฒนาประเทศ แต่มีปัญหากับการเหยียดมนุษย์ด้วยกันให้ต้อยต่ำหรือยกให้สูงส่งด้วยการตั้งค่ามาตรฐานความดีตามอำเภอใจ)มาบริหารงานเพื่อจะได้ทำข่าว ทำรายการแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม ไม่สนใจว่าต้องทำรายการเอาใจลูกค้า กลัวโฆษณาไม่เข้า ไม่มีรายได้ เพราะว่ากันว่า รายการดีๆ ที่มีประโยชน์นั้น ทำออกมามักจะเจ๊ง

ว่ากันไปตามทฤษฎีก็คือ ต้องหาแหล่งทุนจากที่ไหนสักแห่งหนึ่ง สนับสนุนสื่อคุณภาพจะได้ไม่ต้องเที่ยวไปขอเงิน "พ่อค้า" กินให้สิ้นศักดิ์ศรี ไม่ต้องเป็นสื่อขายตัว ขายอุดมการณ์

ทฤษฎีนี้จะจริงหรือไม่อย่างไร ยังถกเถียงกันได้อีก แต่ชะรอยเมืองไทยเชื่อในทฤษฎีอย่างสุดจิตสุดใจจึงมีทีวีสาธารณะเกิดขึ้น

เกิดขึ้นปุ๊บ ด้วยความที่ไม่ต้องอาศัยเงิน "พ่อค้า" จึงกล้าประกาศตัวทันทีว่า เป็นสื่อที่เป็นกลาง เป็นสื่อที่มุ่งหวังทำแต่รายการโทรทัศน์ที่จะมีประโยชน์ต่อประชาชน ประเทศชาติ ให้ความรู้ ให้สาระ ให้ความบันเทิงที่มีรสนิยม

ทว่า ทีวีที่อ้างตนว่าเป็นกลาง เป็นสาธารณะ เป็นของประชาชนนั้น มีความยึดโยงกับประชาชนตรงไหนบ้าง ฉันก็ยังงงๆ เพราะประชาชนเดินดินกินข้าวแกงที่ไม่ใช่ประชาชนเครือข่ายของเอ็นจีโอ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหลายจะได้มีส่วนร่วมในสภาพลเมือง ในเครือข่ายพลเมืองสักเครือข่ายหนึ่งของทีวีสาธารณะหรือไม่?

ประชาชนเดินดินกินข้าวเหนียว หมูปิ้ง ลาบ น้ำตก บนฟุตปาธอย่างเราๆ ท่านๆ มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหาบอร์ดผู้บริหารของทีวีสาธารณะบ้างหรือไม่?

ถ้ามี มีผ่านช่องทางใด จะเข้าไปได้อย่างไร?


นอกจากจะหาช่องทางเข้าไม่เจอแล้ว วันดีคืนดี ทีวีของประชาชนก็เล่น "ข่าว" เข้าทางเผด็จการบ้าง เข้าทางฝ่ายรัฐประหารบ้าง เข้าทางรัฐบาลร่างทรงทหาร ลากอาวุธสงครามมาฆ่าประชาชนโครมๆ เสียก็มี

รายการดีมีสาระที่อวดอ้างว่าจะมีก็ไม่เห็นมี

เคยนั่งดูสารคดีลุ่มน้ำสาละวินทำความรู้จักเพื่อนบ้านของทางช่องนี้แล้วก็ได้แต่เอาตีนก่ายหน้าผาก เพราะนึกว่ากำลังอ่านสารคดีท่องเที่ยวของอนุสาร อ.ส.ท. เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ทั้งล้าสมัย ทั้งเต็มไปด้วยคำสำนวนเพ้อฝัน ล่องลอย สายน้ำ ท้องฟ้า ความงามของผู้คนหลากหลายเผ่า มิตรภาพ บลา บลา บลา

นอกจากประชาชนจะไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการเลือกคนทำงาน หรือมีส่วนในการกำหนดทิศทางของทีวีสาธารณะแล้ว (ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม) ฉันยังไม่เห็นว่าประชาชนผู้เสียภาษีอย่างฉันจะสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณ

อีกทั้งมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจว่าเงินนี้ งบประมาณนี้ เอาไปใช้อย่างนี้ เอาไปผลิตรายการแบบนี้ เอาไปจ้างคนแบบนี้-เหมาะสมหรือไม่ โปร่งใสหรือเปล่า?


แน่นอนว่าเราคงไม่ได้เรียกร้องให้ประชาชนเจ็ดสิบล้านคนเข้าไปบริหารทีวีสาธารณะ

แต่ที่ผ่านมาทีวีสาธารณะไม่ได้สำแดงที่มาแห่งอำนาจในการบริหารจัดการให้ประชาชนได้ทราบเลยว่า มันยึดโยงกับ "เสียง" ของประชาชนเจ้าของภาษีอย่างไร

มันตอบสนองความต้องการของประชาชนดังที่ได้ตั้งเจตนารมณ์เอาไว้หรือไม่


ไม่เพียงเท่านั้น ท้ายที่สุดทีวีสาธารณะยังตบหน้าประชาชนด้วยการเซ็นเซอร์รายการของช่องอย่างกะทันหันทั้งๆ ที่เป็นรายการอันผ่านกระบวนการพิจารณาเห็นชอบจากกรรมการไปแล้วว่าออกอากาศได้

ทีวีสาธารณะที่อหังการประกาศก้องว่าใครก็มาแทรกแซงไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลเพราะอหังการของทีวีสาธารณะคือความเป็น "อิสระ"

แต่ท้ายที่สุด ทีวีสาธารณะก็เปลื้องผ้าต่อหน้าคนดูทั้งประเทศว่า มันคือองค์กรที่ฝ่ายค้านก็แทรกแซงไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลก็แทรกแซงไม่ได้

มีแต่ใครบางคน บางกลุ่มที่แทรกแซงได้ โดยอ้างโวหารคุณงามความดี ความรักชาติบ้านเมือง ความสามัคคี การไม่สร้างความแตกแยก การหลีกเลี่ยงความรุนแรงบลาบลาบลา
(ตั้งใจเขียนติดกันเป็นพืดไม่เว้นวรรค เพราะถ้อยคำเหล่านีมันหลั่งไหลมาโดยไม่ต้องใช้สมองเพราะถูกกรอกใส่หูมาตั้งแต่เกิด)


นี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

นี่คือความรุนแรงทางอุดมการณ์ที่ดำเนินอยู่ในสังคมไทยที่คนกลุ่มหนึ่งสถาปนาความดีขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่ออำพรางกระบวนการขัดขวางการเติบโตของอุดมการณ์ประชาธิปไตย แช่แข็งสติปัญญาของสังคมไม่ให้เติบโต ถนอมไว้ให้แคะแกรน ตื้นเขิน ฉาบฉวย เห็นอวิชชาคือคุณธรรม สร้างคนโง่ที่คิดว่าตนเองฉลาดให้ดกดื่นเต็มเมือง สร้างอุปสรรคมิให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ถกเถียงในสังคม ขัดขวางสิทธิ เสรีภาพในการพูด คิด ตั้งคำถาม สถาปนาตนเองเป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เป็นเอเย่นต์ขาใหญ่ของภาคประชาชน

ส่วนประชาชนตัวจริงที่สู้เพื่อประชาธิปไตยโดยไม่ผ่านขาใหญ่ของภาคประชาชน จะถูกเรียกว่าควายแดงบ้าง ถูกทักษิณซื้อบ้าง โง่บ้าง ถูกนักการเมืองหลอกบ้าง ไม่รู้จักว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไรบ้าง ฯลฯ

ส่วนฉันเรียกคนเหล่านี้ว่าคนขาใหญ่ คนล้มชาติ ล้มประชาธิปไตย 



.