http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-04-06

“ยึดมั่น-ถือมั่น” โดย สรกล อดุลยานนท์

.

“ยึดมั่น-ถือมั่น”
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 19:02:09 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 6 เม.ย. 2556 )


ทุกครั้งที่มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ผมจะนึกถึงคำพูดของ "จรัญ ภักดีธนากุล" ขึ้นมาทุกครั้งไป

ขออนุญาตย้อนอดีตหน่อยครับ
เพื่อไม่ให้ใครดูถูกว่าคนไทยลืมง่าย

ก่อนวันลงประชามติว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการ "ดีเบต" กันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2550 
"จรัญ" อยู่ในฝั่ง "เห็นด้วย" เพราะเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มากับมือ

และนี่คือคำพูดของ "จรัญ" วันที่เป็น "รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ"
ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ในวันนี้

ลองทบทวนความทรงจำกันอีกครั้ง

"ผมเองในฐานะได้รับมอบหมาย จากคณะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับให้สรุป ผมก็ต้องสรุปอย่างนี้ครับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรายอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด
แต่เรามองว่า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น.. ..ชัดเจน ..แน่นอน

จุดที่สองครับ การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที
คมช. สิ้นสภาพทันที

ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ เราทำแบบเมื่อปี 2540 
เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ 
เสนอแก้ไข “มาตราเดียว” แบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่

ถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้

ท่านครับ ท่านไม่มีอะไรไปบังคับเขาได้นะครับ! ไม่มีเลย นี่เป็นความคาดหวังของเรา แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่เราคาดละครับ อะไรจะเกิดขึ้น

แต่ถ้าเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดีจะเลว เราได้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประเทศ เราได้อำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประชาชน 
แล้วหลังจากนั้นครับ เราช่วยกันเถิดครับ ช่วยกันพาประเทศนี้เข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ที่เราทุกคนอยากได้อีกครั้งหนึ่งเถิดครับ"


ใครที่ฟังในวันนั้นจะยอมรับเลยว่า "จรัญ" พูดด้วยน้ำเสียงที่จริงจังและจริงใจมาก

ทุกคนเชื่อว่า "จรัญ" คิดอย่างนั้นจริงๆ

คือ 1.ให้ "รับร่าง" ไปก่อน เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยคืนมา

และ 2.รับแล้วค่อย "แก้ไขใหม่" แบบปี 2540 เพราะการเสนอแก้ไขง่ายมาก

แต่ "ความเชื่อ" ของเขาถูกต้องเพียงแค่ครึ่งเดียว
คือ "รับร่างไปก่อน"

ส่วนการแก้ไขใหม่ง่ายๆ ไม่จริง เพราะแก้ไขยากมาก 
จะแก้ไขมาตราเดียว เพื่อทำแบบ ส.ส.ร.ปี 2540 ก็ไม่ได้ 
จะแก้ไขรายมาตราก็มีคนกล่าวหาว่าจะล้มล้างระบอบประชาธิปไตย


ผมนึกถึงคำพูดของ "จรัญ" อีกประโยคหนึ่งในวันเดียวกัน

"สิ่งที่ผมพบว่าเป็นปัญหาจริงๆ อยู่ที่ความยึดมั่น ถือมั่น ของพวกเรากันเอง"

วันนี้ผมเชื่อแล้ว!!

เพราะมีบางกลุ่ม "ยึดมั่น-ถือมั่น" ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามแก้ไข

ถ้าไม่ใช่พวกเดียวกัน 



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

www.youtube.com/watch?v=BSPdbucYl94
รับๆไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง ตอนที่ 2 ( Published on Apr 26, 2012 )



www.youtube.com/watch?v=Gqlws1rXbkc
สุดยอดของการแถ จรัญ ภักดีธนากุล ( Published on Jun 8, 2012 )




.