http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-07-23

ฟ้อนผี-โหนพุทธ โดย คำ ผกา

.

คำ ผกา : ฟ้อนผี-โหนพุทธ
ในมติชน ออนไลน์ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:03:00 น.
(www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1374488240)
จาก บทความ ฟ้อนผี-โหนพุทธ มติชนสุดสัปดาห์ 19 ก.ค. 56 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1718 หน้า88


มีอยู่เรื่องหนึ่งที่คาใจฉันมานานมาก ไม่เพียงแต่คาใจแต่ยังเป็นปัญหาเชิงจริยธรรมที่หาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ นั่นคือ ฉากในการฟ้อนผีมดครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

ฟ้อนผีมดคืออะไร เท่าที่ฉันรู้ (แบบไม่ใช่นักมานุษยวิทยา) ผีมด แปลว่าผีที่ดูแล คุ้มครอง ปกปักรักษา เป็นผีจากบรรพบุรุษฝ่ายหญิง ซึ่งคนในสายตระกูลจะตัดสินใจกันว่า "หิ้งผี" ของสายตระกูลจะอยู่บ้านใคร ถึงเวลาก็ไปไหว้ผีบรรพบุรุษกัน

นอกจากไหว้ผีก็จะมีการจัดฟ้อนผีมด ซึ่งแต่ละตระกูลไม่ได้จัดทุกปี แต่เนื่องจากมีกันหลายตระกูล แต่ละปีจึงมีงานฟ้อนผีมดให้เราไปเข้าร่วมตลอด

การเข้าร่วมมีตั้งแต่ "ไปดู" หรือมีความเกี่ยวดองเป็นญาติ ไปช่วยจัดงาน ช่วยจัดสถานที่

สำหรับเด็กๆ อย่างฉันการไปดูฟ้อนผีมด มันสนุกตรงที่ได้ไปเห็นคนแต่งตัวแปลกๆ คนแต่งตัวแปลกๆ เหล่านั้นมาจากไหน เข้าใจว่า เจ้าภาพเชิญ "ร่างทรง" ต่างๆ มาร่วมงาน ยิ่งเจ้าภาพร่ำรวยใหญ่โตมากก็จะสามารถเชิญร่างทรงผู้ทรงอิทธิพลมาร่วมได้มาก

ถามว่าใครคือร่างทรงผู้มีอิทธิพลมากหรือน้อย ก็ต้องดูจาก "ผี" ที่ตนเป็นร่างทรง ซึ่งส่วนมากเป็นผีของ "เจ้า" ผู้ครองนครต่างๆ ในอดีต

เรียกได้ว่าการไปทำความรู้จักชื่อ "เจ้าผู้ครองแว่นแคว้น" ผ่านร่างทรงเหล่านี้ อาจทำให้เด็กอย่างฉัน "มึน" กับภูมิศาสตร์การเมืองอีกชุดหนึ่งอันไม่ได้ถูกสอนไว้ในแบบเรียนเลย เนื่องจากเมืองม่าน เมืองมอญ เมืองลำพูน เมืองละกอน และอีกสรรพตระกูลเจ้าผู้ครองนครที่เกิดมาก็ไม่เคยได้ยินชื่อ

ทั้งไม่มีอันใดเกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์ประเทศไทยที่ฉันคุ้นเคยเลยแม้แต่น้อย



บรรดา "เจ้า" เหล่านี้จะแต่งตัวเป็น "เจ้า" กันมาเต็มที่ "เจ้า" ผู้ชายใส่เสื้อไหม โสร่งตาตารางไหม โพกผ้าผูกโบว์ทิ้งชายห้อยข้างหู เป็น "เจ้าเมืองพม่า" (จำไม่ได้ว่ามี "เจ้า" ผู้หญิงหรือเปล่า) ใส่แหวนพลอย แหวนทับทิมวงใหญ่ (แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นเพียง "คอสตูม")

ที่น่าตื่นตาตื่นใจคือ "เจ้า" เหล่านี้จะแต่งหน้า ทาลิปสติก ทุกอย่างในเนื้อตัวจะแพรวพราว เหนือจริงไปหมด ขัดแย้งกับปรัมลานฟ้อนที่เป็นลานดิน กับบ้านช่องอันไม่น่าจะเป็นสถานที่ที่ "เจ้า" พึงมาสังสันทน์กัน

และที่ฉันทึ่งมากคือ จริต กิริยาของบรรดา "เจ้า" เหล่านี้ จะต้อง "ดัด" ให้เหมือน "เจ้า" (ในจินตนาการของร่างทรงซึ่งแท้จริงคือ ชาวบ้าน และชาวนา) ทั้งการเดินที่จะเนิบช้า ทอดน่อง หลังตรง อกแอ่น การกรีดนิ้ว สูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การแตะศอกทักทาย "เจ้า" ด้วยกันอย่างให้เกียรติ ยกย่อง และเรียกกันและกันว่า "เจ้า" (จะว่าไปภาษากายคล้ายลิเก หรือภาษาที่คนภาคเหนือสมัยนี้ใช้พูดกับ "เจ้านายฝ่ายเหนือ" ก็คลับคล้ายคลับคลาว่า ดัดๆ แปลงๆ มาจากภาษาที่ "เจ้าร่างทรง" ในฟ้อนผีมดเขาใช้คุยกัน เช่น คำว่า เจ้าพ่อนั้น เจ้าแม่นี้)

เด็กอย่างฉันไปยืนดูก็อัศจรรย์ใจว่า ลุงทา ป้าแก้ว ลุงมี เมื่อวาน วันนี้กลายเป็น "เจ้า" ไปซะเฉยๆ อย่างนั้น (คิดๆ แล้ว งานฟ้อนผีมดนี่เหมือนรวมญาติเป็นการประชุม UN ของบรรดา "เจ้า" แห่งแว่นแคว้นก่อนเข้าสู่ยุคของรัฐชาติสมัยใหม่) มารวมกันแล้ว บวงสรวง ไหว้ผี แก้บนกันแล้วก็จะเริ่มฟ้อน มีวงดนตรีมาเล่นดนตรีที่คึกคักเร้าใจอย่างยิ่ง

"เจ้า" ซึ่งเริ่มดื่มกันมาประมาณหนึ่งก็จะออกไปฟ้อนในลีลาที่เหมือนถูก "ทรง" ด้วยบางสิ่งบางอย่างจริงๆ คือ ฟ้อนแบบลืมตัวลืมตน

ระหว่างนี้ คนดูก็อยู่ข้างนอกวิพากษ์วิจารณ์ "เจ้า" คนนั้นคนนี้ กินเหล้าไป ทักทายญาติมิตรไป แต่ระวังว่า เราอาจจะถูกผีเข้าทรงเมื่อไหร่ก็ได้ทุกเมื่อ

มีคนหลายคนที่ถูกผีเข้า จะมีอาการบางอย่างที่เป็นที่รับรู้ว่า "ผีเข้าแล้ว" เมื่อมีคนนอกปรัมถูกผีเข้า ร่างทรงเจ้าก็จะวิ่งมาถอดผ้าคล้องไหล่บ้าง ผ้าโพกหัวบ้าง ไปคล้องให้ หรือไปโพกหัวให้ จากนั้นก็กล่าวทักทาย "เจ้า" องค์นั้นอย่างคุ้นเคยก่อนจะชวนเข้าไปฟ้อนด้วยกัน

ใครก็ตามที่ถูกผีเข้าก็ถูกนับเป็นเจ้าร่วมตระกูลไป และบางคนก็ต้องกลายเป็นร่างทรงหรือที่ภาษาเหนือเรียกว่า "ม้าขี่" ไปตลอดชีวิตเลยก็พบ



จุดที่สนุกที่สุดของฟ้อนผีมดคือช่วงเย็นที่ทุกคนเมากันมากๆ แล้ว ทีนี้ทั้งผีทั้งคนทั้งเจ้าร่างทรงก็จะฟ้อนกันอีรุงตุงนังฟั่นเฟือน

แต่เรื่องที่คาใจฉันคือ น้ากะเทยสองคนของฉันมักจะผีเข้ากับเขาในช่วงชุลมุนนี้ ก่อนจะสถาปนาตนเองเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน รักษาโรค พ่นคาถาใส่น้ำให้กลายเป็นน้ำมนต์ให้คนจ่ายเงินซื้อไปดื่มไปอาบ บอกหวย และอีกสารพัด ให้คนมาหมอบไหว้ เชิดชู จนกว่าผีจะ "ออก"
จากนั้นพวกเขาก็จะกลับบ้านไปหัวเราะกันอย่างครื้นเครงที่ "หลอก" คนได้ พร้อมทั้งนั่ง invent ประดิษฐ์คาถาใหม่ๆ ตลกๆ สำหรับงานอื่น หรือคิด "ท่า" เวลา "องค์ลง" ใหม่ๆ ให้ดูน่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้น


จุดนี้เองที่ทำให้ฉันมีคำถามเชิงจริยศาสตร์ : สิ่งที่น้าของฉันทำเป็นการต้มตุ๋น หลอกลวงหรือไม่?

ชาวบ้านที่มากราบไหว้รู้หรือไม่ว่านี่คือการแสดง? และ/หรือ เราควรจะเรียกพิธีฟ้อนผีมดทั้งหมดว่าคือ ปาหี่ หลอกลวง ผีไม่มีจริง

ชาวบ้านที่อ้างตัวว่าเป็น "เจ้า" เหล่านั้นก็ไม่ใช่ "เจ้า" ไม่นับว่า ชื่อเสียงเรียงนามของเจ้าต่างๆ นานาที่เรียกกันก็ไม่มีในบันทึกประวัติศาสตร์


เท้าความมายาวมากและเกือบจะไม่เกี่ยวอะไรกับสิ่งที่จะเขียนต่อไปเพื่อที่จะบอกว่า เราจะแยกแยะการแสดงบทบาท, พิธีกรรม, ความเชื่อ, ตำนาน ออกจากการโกหกหลอกลวงได้อย่างไร? ทำไมเราจึงเชื่อว่ามีเทวดาปลอมตัวลงมาในไร่แตงโมแล้วแกะสลักพระแก้วมรกต จากแตงโมในไร่ที่บังเอิญไม่ใช่แตงโมแต่เป็นมรกต!!!!

ประเด็นของฉันคือ "การสร้างตำนาน" ให้กับตนเองเป็นการโกหกหรือไม่ ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่เขา "สร้างขึ้น" นั้นมันทำงานอย่างไรในสังคม

เพราะจะว่าไปแล้ว การ "กุเรื่อง" หรือการสร้าง "อุบาย" เพื่อหวังผลทางสังคมน่าจะเป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับมนุษยชาติ เพียงแต่สิ่งที่เป็นตำนานในยุคหนึ่งอาจกลายเป็นอาชญากรรม หากเอามาตรฐานของอีกยุคหนึ่งไปตัดสิน

เช่น หากเอาคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ "ความจริง" ของโลกสมัยใหม่ไปดูฟ้อนผีมด บรรดาร่างทรงในปรัมพิธีคงถูกจับข้อหาหลอกลวงปลอมตัวกันหมด



"ผมขอมีชีวิตอยู่เพื่อทำความดี" (ดร.นพ.ปิยวงศ์ เศรษฐวงศ์)
"รวงข้าวโน้มไปหาโบสถ์เพื่อฟังพระธรรม" (http://morning-news.bectero.com) 
"ผมเลือกข้างแล้ว ผมเลือกข้างพระพุทธเจ้า" (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ)


ในยุคเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้ว "ตำนาน" ที่เอาไว้ "เครดิต" ให้คนในสังคมเชื่อถือคือการมีปริญญาบัตร และจะอิชาบาละโกะยิ่งขึ้นหากเป็นปริญญาบัตรจากต่างประเทศ และมีหลายๆ ปริญญายิ่งดี สังเกตว่าพระเอกนิยาย หนัง ละครสมัยนั้นนอกจากจะต้องเป็นคุณชายสูบไปป์แล้วยังต้องเป็นนักเรียนนอกอีกด้วย แต่ไม่ปรากฏว่า พระเอกหรือนางเอกสมัยนั้นต้องเข้าวัด ฟังธรรม หรือฝักใฝ่ในพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ

จำเนียรกาลผ่านไป ล่วงเข้าปรัตยุบันสมัย (ดูขลังมั้ย แต่ไม่รู้สะกดถูกหรือเปล่า) สังคมไทยยังคลั่งวุฒิปริญญาบัตรกันเหมือนเดิม ยิ่งใครบอกว่ามาจากเคมบริดจ์ อ๊อกซ์ฟอร์ด ฮาร์วาร์ด คนไทยจะเชื่อไว้ก่อนว่าเก่งว่าเจ๋งเป็นเทพ

แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นปริญญาและมหาวิทยาลัยดังเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องประกาศตัวให้ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนา ปฏิบัติธรรม เข้าวัดป่า เป็นศิษย์พระพุทธทาส หลวงพ่อชา หรือฮิปๆ หน่อยก็ต้องเป็นศิษย์ของ ว.วชิรเมธี ที่สอนอะไรคมมากๆๆๆ ตลอดเวลา เช่น

"รถทุกคันล้วนมีเบรก รถทุกคันล้วนมีท่อไอเสีย คนทุกคนต้องมีเบรกคือสติ ต้องมีท่อไอเสียคือการปล่อยวาง"

โห...คมจี๊ดดดดดดดดดดดดบาดใจกันไปตามๆ กัน



หันมามองการตลาด การ "ปั้น" คนเข้าสู่วงโคจรของการเป็นเซเลบริตี้ไทย หนทางลัดที่สุดที่จะนำพาคุณไปสู่การเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารชั้นนำ, เป็นวิทยากรขององค์กรที่จัดงานเก๋ๆ อย่าง "เวทีปลวกพลังบุก" (คิดตั้งนานว่าคือการเล่นกับคำว่า "ปลุกพลังบวก"), เป็นแบบอย่างที่ดีของวัยรุ่นหรือ role model, เป็นบุคคลที่ได้ชื่อว่าทำงานอุทิศตนเพื่อสังคม-สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้คือการหมั่นพูด jargon ธรรมะเก๋ๆ เช่น มุทิตาจิต, กุศลจิต อิทธิปัจจยตา
ฯลฯ และอย่าลืมโพสภาพตัวเองนุ่งขาวห่มขาว นั่งพับเพียบสนทนาธรรมกับพระชื่อดังที่เป็นไอดอลของสังคม


ตอนนี้ฉันเลิกสงสัยและปลดภาระทางจริยศาสตร์ต่อการฟ้อนผีมดแล้ว แต่หันมาสงสัยอาการ "โหน" พุทธศาสนาอย่างเข้มข้นในสังคมการตลาดไทยในปัจจุบันสมัยแทน



.