http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-26

ภูฏานกับอนาคตของGNH โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

.
เพิ่มบทความก่อนหน้า - คนสวิสกับโสเภณี โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ภูฏานกับอนาคตของดัชนีมวลรวมความสุข
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1380105244
วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:55:37 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 25 ก.ย.2556 )


ราชอาณาจักรภูฏานเป็นประเทศเล็กๆ ไม่มีทางออกทะเล ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยล้อมรอบด้วยประเทศยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 แห่งทวีปเอเชียคือ อินเดียทางใต้และจีนทางเหนือ ซึ่งการรักษาเอกราชของประเทศจึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่ง
ในขณะที่ประเทศทิเบตที่ตั้งอยู่ทางเหนือพรมแดนติดกับภูฏานก็ถูกจีนยึดครองใน พ.ศ.2493 และประเทศสิกขิมที่อยู่ทางทิศตะวันตกพรมแดนติดกับภูฏานเช่นกันก็ถูกอินเดียยึดครองไปใน พ.ศ.2518


ภูฏานเป็นภาษาสันสกฤตแปลว่า "แผ่นดินบนที่สูง" แต่คนภูฏานเรียกดินแดนของพวกเขาว่า "ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า" ภูฏานมีเนื้อที่ประมาณ 38,394 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่ขนาดจังหวัดนครราชสีมากับอุบลราชธานีรวมกันเท่านั้นแหละ) มีประชากรประมาณ 750,000 คน
ภูฏานเป็นประเทศที่ถูกจัดโดยสหประชาชาติว่าเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country-LDC) ที่มีอยู่ 14 ประเทศในทวีปเอเชียโดยวัดจากความยากจน, ทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอทางด้านโภชนาการ, สุขภาพ, การศึกษากับจำนวนผู้รู้หนังสือ และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรที่มีราคาปรวนแปรสูง เป็นต้น

ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของภูฏานเริ่มขึ้นใน พ.ศ.2450 เมื่อราชวงศ์วังชุกขึ้นเถลิงอำนาจเป็นพระราชาธิบดีปกครองภูฏานแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปกครองภูฏานภายใต้พระราชาธิบดีทั้ง 2 รัชกาลสงบราบรื่นดี หลังจากนั้น พระราชาธิบดีจิกมี ดอร์จิ วังชุก กษัตริย์รัชกาลที่ 3 ของราชวงศ์วังชุก พระองค์ทรงเป็นผู้นำสมัยใหม่ นำความทันสมัยของโลกมาสู่ภูฏาน ทรงปรับปรุงประเทศจนได้รับสมญานามว่า "พระบิดาแห่งภูฏานยุคใหม่" พระองค์ทรงนำภูฏานเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้สำเร็จใน พ.ศ.2514
(สำคัญมากนะครับสำหรับประเทศเล็กๆ ที่จะต้องเป็นสมาชิกสหประชาชาติเพื่อป้องกันการถูกรุกรานหรือถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยักษ์ใหญ่ ประเทศไทยของเราเองก็ดิ้นรนเข้าเป็นสมาชิกของสหประชาติเมื่อ พ.ศ.2489 และโมนาโกก็พยายามเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติจนสำเร็จใน พ.ศ.2536 เช่นเดียวกับภูฏานนั่นเอง)



พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2517 เป็นพระราชาธิบดี องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์วังชุก ทรงนำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อปี พ.ศ.2541 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการแผ่นดินจากแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยให้มีหัวหน้ารัฐบาลและสภาคณะมนตรีทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจการปกครองและลดการรวมศูนย์ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

ภูฏานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกแล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ.2548 โดยศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ กว่า 150 ประเทศ รวมทั้งของไทยด้วย เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดอำนาจหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ และอำนาจบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรี ระบบรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 75 คน และวุฒิสภา 25 คน ส่วนพรรคการเมืองนั้นกำหนดให้มีเพียง 2 พรรคเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังกำหนดวาระการครองราชย์ของพระราชาธิบดีให้อยู่ในตำแหน่งจนถึงอายุ 65 พรรษา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภูฏานต้องการลดบทบาทของพระราชาธิบดี และต้องการให้พรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น


ประเทศภูฏานจัดการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2550 ซึ่งจะเป็นวาระที่ภูฏานมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครบ 100 ปี

พระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ยังเป็นผู้เสนอและนำแนวทางของความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness, GNH) เป็นการมองการพัฒนาประเทศที่ไม่ได้เน้นตัวเลขในการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Gross Domestic Product, GDP) แต่เน้นมุมมองเรื่อง "ความสุข" ที่แท้จริงของสังคมเป็นหลัก
ปัจจุบันแนวคิด GNH กำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมในหลายๆ ประเทศ เนื่องจากเล็งเห็นว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มี GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) เป็นเกณฑ์นั้นมักนำมาซึ่งผลกระทบในทางลบมากขึ้นทุกที


เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2548 ซึ่งเป็นวันชาติภูฏาน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญและประกาศจะทรงสละราชบัลลังก์ให้กับมกุฎราชกุมาร จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ในปี พ.ศ.2549

ภูฏานจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2551 มีพรรคการเมืองสองพรรคคือพรรคภูฏานสันติภาพและรุ่งเรือง (DPT) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นเหนือพรรคประชาธิปไตยประชาชน (PDP) ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมด้วยที่นั่งในรัฐสภา 45:2 ซึ่งในช่วง 4 ปีของการบริหารงานของพรรค DPT จึงเน้นเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) มากและได้เผยแพร่ออกไปทั่วโลก


แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่สองของภูฏานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2513 ปรากฏว่าเกิดการพลิกล็อกครั้งใหญ่เนื่องจากว่าพรรค PDP ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้รณรงค์หาเสียงที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามแนวทุนนิยม นั่นคือ การเน้นการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติ (GDP) มากกว่าความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH)

ปรากฏว่าพรรค PDP ได้รับที่นั่งในรัฐสภา 32 ที่นั่ง ส่วนพรรค DPT ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเดิมได้รับที่นั่งในรัฐสภาเพียง 15 ที่นั่งเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของภูฏานคือ นายซีริง โทบเก อายุ 47 ปี ผู้จบปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งพิตสเบิร์กและปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยรับราชการเป็นอธิบดีกรมอาชีวศึกษา ก่อนที่จะมาเล่นการเมืองโดยเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภามาตลอด 4 ปี ก่อนที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปีนี้เอง

นายซีริง โทบเก ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว AFP อย่างชัดแจ้งว่า GDP ต้องมาก่อน GNH
เพราะว่าการเสียเวลาพูดถึงความสุขมวลรวมประชาชาติมากๆ โดยไม่ทำงานนั้นทำให้ประเทศภูฏานไม่ใส่ใจในปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าคือหนี้สาธารณะของภูฏานได้เพิ่มขึ้นรวดเร็วมากจนเกิดการขาดแคลนเงินตราระหว่างประเทศ อัตราการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการว่างงานของคนหนุ่มสาวและการคอร์รัปชั่นที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัญหาหลัก 4 ประการนี้ ทางการภูฏานต้องเร่งจัดการเป็นการเร่งด่วน


ยิ่งกว่านั้น นายกรัฐมนตรี ซีริง โทบเก ยังกล่าวอย่างประชดประชันว่า GNH คือ "Government Needs Help" ต่างหาก



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
บทความที่เกี่ยวข้อง

คนรุ่นใหม่ในภูฏานต่อต้าน 'GNH'
by Sutthiporn 
. . 27 มิถุนายน 2556 เวลา 08:22 น.
อ่านที่ http://news.voicetv.co.th/global/73745.html



+++
บทความก่อนหน้า

คนสวิสกับโสเภณี
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1377688762
วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:32:15 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน 28 ส.ค. 2556 )


คนสวิสโดยทั่วไปแล้วเป็นคนประเภทปฏิบัตินิยม (pragmatism)
คือเป็นคนประเภทที่ไม่ยึดถือเอาคำสอนของศาสนาเป็นมาตรฐานวัดว่าอะไรถูกอะไรผิด แบบว่าคุณธรรม จริยธรรมของศาสนา โดยเฉพาะของศาสนาคริสต์นั้นเป็นเรื่องเหลวใหลอย่างสิ้นเชิงไปเลยทีเดียว


ดังนั้น คนสวิสจึงประกาศตั้งตัวเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งทั้งปวงในทวีปยุโรปมาร่วม 500 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยสงคราม 30 ปีโน่น สงคราม 30 ปี เป็นสงครามใหญ่ระหว่างรัฐต่างๆ ในยุโรปตะวันตก (พ.ศ.2161-2191) โดยสาเหตุเกิดจากความขัดแย้งภายในศาสนาคริสต์ระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์และนิกายโรมันคาทอลิกในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) แต่ความขัดแย้งทางอำนาจ ทางการเมืองภายในจักรวรรดิก็เป็นส่วนสำคัญด้วย ในที่สุดสงครามก็ขยายออกไปเป็นความขัดแย้งของอาณาบริเวณต่างๆ ทั่วยุโรปในช่วงการต่อสู้ทั่วไปสงคราม 30 ปี เป็นสงครามที่ต่อเนื่องมาจากสงครามความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ในการเป็นมหาอำนาจในยุโรป และในที่สุดก็บานปลายไปเป็นสงครามที่ไม่มีเหตุผลใดที่เกี่ยวกับศาสนาเลยในที่สุด

การเป็นกลางของชาวสวิสเกิดจากความปฏิบัตินิยม โดยเฉพาะชายชาวสวิสจำนวนมากมีอาชีพเป็นทหารรับจ้าง (Mercenary) บริการทางทหารให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งความเป็นทหารมืออาชีพ (Professional) ของทหารรับจ้างสวิสเป็นที่นิยมของประเทศต่างๆ ในยุโรปมานานแล้ว แม้ในปัจจุบันทหารของนครรัฐวาติกันก็ยังใช้ทหารรับจ้างชาวสวิสอยู่จนทุกวันนี้

ซึ่งผลก็คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ก็อยู่สงบสุขดี แต่คนสวิสก็ไปรับจ้างเป็นทหารรบทั่วยุโรป จนมีคำพูดที่ติดปากชาวยุโรปว่า "ที่ไหนไม่มีเงิน ที่นั่นไม่มีคนสวิส"


การออกเสียงประชามติ (Referendums) กับชาวสวิสนั้นเป็นของคู่กัน
เนื่องจากที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีการลงประชามติในระดับท้องถิ่น ระดับกังตอง (มลรัฐ) และระดับชาติทุกปี ซึ่งการลงประชามตินี้มีบังคับอยู่ในรัฐธรรมนูญนะครับ


เนื่องจากการออกเสียงประชามติเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ดีกว่ายอมแต่ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ซึ่งบรรดาผู้แทนราษฎรนั้น เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปแล้วส่วนใหญ่จะคำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนเสียเป็นส่วนใหญ่


อย่างเรื่องโสเภณีนี่นะครับ เป็นเรื่องสำคัญในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีการออกเสียงประชามติให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะให้มีโสเภณีอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อที่จะป้องกันการค้ามนุษย์ ป้องกันการแพร่กระจายของกามโรคและโรคเอดส์ และยังเป็นการกำจัดองค์กรอาชญากรรม (ขบวนการแมงดาที่หากินกับโสเภณี) ไปในตัวด้วย ที่สำคัญคือ รัฐสามารถเก็บภาษีจากโสเภณีและมีสวัสดิการให้กับโสเภณีที่เป็นอาชีพที่ถูกต้องและมีศักดิ์ศรีตามกฎหมาย

ในทวีปยุโรปมีประเทศที่มีโสเภณีและซ่องโสเภณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย 7 ประเทศ คือเดนมาร์ก, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์, ออสเตรีย, สวิตเซอร์แลนด์, กรีซ และตุรกี ส่วนประเทศที่ให้โสเภณีถูกต้องตามกฎหมายแต่ห้ามมีซ่องโสเภณีมีอยู่ 16 ประเทศ คือ ฟินแลนด์, โปแลนด์, เช็ก, สโลวัก, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, อิตาลี, สเปน, โปรตุเกส, บัลแกเรีย, อังกฤษ, ไอร์แลนด์, สโลวาเกีย, เอสโตเนีย, ลัตเวีย และฮังการี

มี 3 ประเทศที่น่าสรรเสริญเป็นอย่างยิ่ง เพราะออกกฎหมายที่ก้าวหน้าและยุติธรรมที่สุดคือ นอร์เวย์, สวีเดน และไอซ์แลนด์ ที่ถือว่าโสเภณีผิดกฎหมาย แต่หากมีการละเมิดกฎหมาย ผู้ผิดคือลูกค้าครับ ไม่ใช่ตัวโสเภณี



คราวนี้มีเรื่องที่น่าสนใจจากสำนักข่าวเอเอฟพี คือ ในสวิตเซอร์แลนด์ การค้าประเวณีเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย โสเภณีส่วนใหญ่ทำงานในซ่องและเอเยนซี่ขายบริการ แต่ผู้หญิงบางส่วนจะเตร็ดเตร่หาลูกค้าตามริมถนน ทำให้ชาวบ้านในเมืองซูริก สวิตเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะย่าน Sihlquai ซึ่งเป็นแถบใจกลางเมืองย่านถนนสายโลกีย์ของเมืองซูริกร้องเรียนว่า เซ็งกับภาพอุจาดตาของกระบวนการต่อรองระหว่างโสเภณีกับลูกค้า ดังนั้น จึงได้มีการออกเสียงประชามติกันเรื่องย้ายไปสร้างซ่องแบบไดร์ฟอิน (เหมือนโรงภาพยนตร์กลางแจ้งที่ขับรถเข้าไปดูหนังในรถในซอยลาดพร้าว 130 สมัยก่อน) แต่แบ่งเป็นช่องๆ (ดูรูป) ให้อยู่ที่ชานเมือง โดยเทศบาลเมืองซูริก ออกค่าใช้จ่ายจากเงินภาษีของชาวซูริกเอง

เรื่องนี้ได้ผ่านการออกเสียงประชามติของชาวเมืองซูริกแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ทางเทศบาลนครซูริกจึงได้ลงมือสร้างสถานบริการทางเพศรูปแบบใหม่ ที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "คูหาเซ็กซ์ (sex boxes)" มีกำหนดทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2556 นี้เอง โดยซ่องโสเภณีแบบไดร์ฟ อิน นี้ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมเก่าแห่งหนึ่งทางตะวันตกของเมืองซูริก

สำหรับผู้ชายที่ต้องการใช้บริการแบบนี้ต้องขับรถเข้ามาคนเดียวเท่านั้น โดยขับผ่านประตูเข้ามาเพียงลำพัง ก็จะได้รับการสนองความต้องการทางเพศจากหญิงโสเภณีประมาณ 40 คน ที่ประจำอยู่ และพอตกลงราคากันได้ ทั้งสองคนก็จะขับรถเข้าไปยังช่องสี่เหลื่ยมลักษณะคล้ายกับห้องล้างรถ เพื่อมีเพศสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ ด้วยห้องดังกล่าวติดอุปกรณ์เตือนภัยเอาไว้ ก็ทำให้โสเภณีสามารถแจ้งกับตำรวจได้อย่างรวดเร็ว หากตกอยู่ในอันตรายจากลูกค้าหน้ามืดทั้งหลาย มาตรการใหม่จะช่วยเจ้าหน้าที่สอดส่องดูแล และจัดระเบียบโสเภณีที่ถูกต้องตามกฎหมาย


มาตรการที่ทางเทศบาลนครซูริกสร้างซ่องไดร์ฟอินขึ้นนี้ เพื่อที่จะรับประกันความปลอดภัยแก่หญิงโสเภณี กำจัดเครือข่ายอาชญากรรมค้ามนุษย์ และลดบทบาทของการค้าประเวณีอย่างผิดกฎหมาย

อ้อ! ซ่องโสเภณีไดร์ฟอินนี้ไม่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดนะครับ แล้วก็ไม่มีตำรวจประจำการอย่างถาวร แต่จะมอบหน้าที่ดูแลนี้แก่เจ้าหน้าที่ทางสังคม กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแทน เป็นการช่วยให้ลูกค้าโสเภณีที่หน้ามืดแต่หน้าบางด้วย เข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวกใจ

คูหาเซ็กซ์นี้จะเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 19.00-05.00 น. โดยมีข้อกำหนดว่า ผู้ใช้บริการต้องขับรถผ่านประตูเข้าไปเพียงคนเดียวเท่านั้น



ที่เมืองซูริกนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา บรรดาโสเภณีทุกคนต้องมีใบอนุญาตเดินเร่ขายบริการ โดยต้องมีใบอนุญาตการทำงานและใบประกันสุขภาพเสียก่อน และเสียภาษีจำนวน 5 ฟรังก์สวิสต่อคืนด้วย ขณะเดียวกัน ทางด้านลูกค้าหน้ามืดในซูริกก็สามารถมองหาหญิงโสเภณีได้เพียง 3 จุดที่กำหนดไว้ ได้แก่คูหาเซ็กซ์ที่เพิ่งสร้างเสร็จดังกล่าว แล้วก็จะสร้างเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง โดยแห่งที่สองจะตั้งอยู่ใกล้ๆ ถนนหลวง ส่วนอีกแห่งคือ ในย่านเมืองเก่าที่มีไว้บริการคนที่ไม่มีรถยนต์ต้องเดินเท้าเข้ามาใช้บริการ

ดังนั้น นับแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2556 เป็นต้นไป นักเที่ยวหน้ามืดคนใดไปซื้อหาบริการทางเพศนอกพื้นที่ที่จัดให้ จะมีโทษปรับเป็นเงิน 50 ฟรังก์สวิส

ครับ ! คนสวิสนี่เขาเป็นพวกปฏิบัตินิยมจริงๆ



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊คกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.