http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-09-02

การล้อเลียน(parody)พี่มาก และการขัดขืนอำนาจครอบงำ โดย ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

.

การล้อเลียน (parody) พี่มาก และการขัดขืนอำนาจครอบงำ
โดย ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1378096558
มติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 13:15:22 น.



อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือประท้วงซึ่งเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายในขบวนการภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกช่วงสงครามเย็น หรือขบวนการเยาวชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศเซอร์เบีย ยูเครน และจอร์เจีย รวมถึงกลุ่มประท้วงต่อต้านสงครามอิรักในยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ
ในเอเชียและแอฟริกา การใช้อารมณ์ขันควบคู่กับการประท้วงบนท้องถนนรูปแบบอื่นๆ ปรากฏในพม่า ไทย (กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง) ตูนิเซียและอิยิปต์ (ปฏิวัติอาหรับ) รวมถึงซูดาน

โดยทั่วไป “การเสียดสี”(satire) เป็นรูปแบบอารมณ์ขันที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มประท้วงคลื่นลูกใหม่ เพราะมีศักยภาพในการเชือดเฉือนและอาจลดทอนความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามในสายตาสาธารณชนได้
กระนั้นก็ดี นักวิจัยจำนวนหนึ่งเห็นว่า “การล้อเลียน” (parody) เป็นเครื่องมือประท้วงที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน ความต่างหลักอยู่ที่ความแนบเนียนของการต่อต้านอำนาจครอบงำ
ขณะที่การเสียดสีส่งสารประท้วงอย่างโจ่งแจ้ง การล้อเลียนคือการสวมทับ ผิดดัด ตัดแต่งสารัตถะของชุดความคิด ความเชื่อ ค่านิยมหรือกระทั่ง “ชุดความจริง” ที่สืบต่อกันสู่ร่นลูกหลาน



การล้อเลียนปรากฏเริ่มแรกในงานวรรณกรรมและศิลปะ ในภาษาอังกฤษคำว่า “ล้อเลียน” คือ parody มีรากมาจากภาษากรีก para หมายความว่า “นอกเหนือ” (beside) และ ode คือ “เพลง” แปลตรงตัวว่า “นอกเหนือ/ออกไปจากเพลง” ในยุคแรกๆ “parodies” มีนัยถึง เพลงที่ร้องผิดแผกไปจากการขับเพลงเพลงโคลงตามขนบกรีก โดยเพลงล้อเลียนกลับทำนองและเนื้อร้องของเพลงต้นฉบับ โดยแทนเนื้อหาของเพลงซึ่งเป็นมหากาพย์แบบเชิดชูวีรบุรุษด้วยมหากาพย์ฉบับพิลึก เปลี่ยนวีรบุรุษให้เป็นตัวตลก เป็นต้น

ในบริบทร่วมสมัย การล้อเลียนเป็นช่องทางวิพากษ์ระบบคุณค่าความคิดที่ค้ำจุนอำนาจชนชั้นนำ เช่นในแคมเปญประท้วงของกลุ่ม “ออทปอร์” ในเซอร์เบีย นักกิจกรรมนำธงที่สัญลักษณ์ของกลุ่มไปคลุมอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของประเทศตามเมืองต่างๆ และจัดพิธี “ลงนาม” แบบสมมุติให้บุคคลทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นสมาชิกของกลุ่มออทปอร์

ที่ทำเช่นนี้เพราะผู้นำประเทศเซอร์เบียขณะนั้นมักอ้างประวัติศาสตร์และวาทะของวีรบุรุษชาวเซอร์เบีย โดยหวังให้สร้างความชอบธรรมแก่นโยบายชาตินิยมของตน นักกิจกรรมของออทปอร์จึงต้องการชี้ชวนให้ผู้คนในเซอร์เบียเห็นว่าบุคลากรทางประวัติศาสตร์ (ผ่านอนุสาวรีย์) ที่ถูกสมอ้างโดยผู้นำอำนาจนิยมแท้ที่จริงแล้วอยู่ข้างออทปอร์ หรือหากคิดลึกซึ้งไปกว่านั้นคือสิ่งที่เชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อาจถูกหยิบฉวยใช้เพื่ออำนวยประโยชน์ทางการเมืองได้ไม่ยาก


จากกรณีข้างต้น การล้อเลียนทำงานขัดขืนอำนาจโดยพยายามเลียนแบบวัตถุทางวรรณศิลป์ กลุ่มคน หรือระบบคิดความเชื่อ ทว่าในกระบวนการล้อเลียน เนื้อหา (content) ดั้งเดิมของสิ่งที่เป็นเป้าหมายของการล้อถูกถอดออก ขณะที่รูปแบบเดิม (form) ยังคงอยู่ เนื้อหาที่ถูกใส่แทรกเข้ามาใหม่มักไม่มีความเกี่ยวข้องหรือกระทั่งมีนัยขัดแย้งกับกับรูปแบบที่เหลืออยู่ ผลคืออาการผิดฝาผิดตัว จับแพะชนแกะ จนเป้าหมายการล้อเลียนนั้นกลายเป็นสิ่งขำขัน (เช่นในการแต่งเพลงล้อเลียน ทำนองของเพลงต้นฉบับยังเหมือนเดิม ทว่าเนื้อเพลงมักถูกเปลี่ยนให้เพี้ยนและตลก)

ในทางทฤษฎี ชุดความคิดความเชื่อที่ถูกล้อเลียนมักสูญเสียแก่นสารซึ่งช่วยธำรงความเป็นเนื้อเดียวกันและความเป็นเหตุผล จนความน่าเชื่อถือของชุดความคิดความเชื่อนั้นสั่นคลอน หน้าตาของวาทะกรรมตัดแต่งนี้จึงดูเพี้ยนๆ (absurd) หรือกระทั่งปรากฏสารทางการเมืองซึ่งกระแทกแดกดันเนื้อหาดั้งเดิมของต้นฉบับที่ให้กำเนิดผลิตผลของการล้อเลียน  วิธีการเช่นนี้บั่นทอนมิให้ชุดความคิดความเชื่อซึ่งเป็นเป้าแห่งการล้อเลียนได้รับผลสมอ้างว่า ตนสะท้อนความจริงที่จริงที่สุด (truth claim) ดั้งเดิมที่สุด (the most authentic)



ภาพยนตร์รายได้กว่าพันล้านบาทเรื่อง “พี่มาก” คือศิลปะการล้อเลียนแบบหาตัวจับได้ยาก
ที่เด่นชัดที่สุดคือการลอกต้นฉบับอย่าง “แม่นากพระโขนง และปรับโฉมใหม่โดยให้เป็นเรื่องราวของแม่นากจากคำบอกเล่าของพระเอกคือพี่มาก ทว่าอานุภาพของการล้อเลียนในภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่วิพากษ์ระบบคุณค่าความคิดในสังคมไทยหลายประการ (ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจของทีมงานสร้างหรือไม่ก็ตาม) โดยเฉพาะเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของแนวคิดชาติไทยและความจงรักภักดีต่อชาติแบบโงหัวไม่ขึ้น
เช่น หนังเริ่มเรื่องด้วยสงครามอันเป็นเหตุให้พี่มากต้องจากนางนาคมา ทว่าความศักดิ์สิทธิ์ของสงครามเพื่อชาติก็ถูกล้อจนกลายเป็นความขบขันระหว่างเพื่อนฝูงและในหมู่ผู้ชม ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพี่มากกลับบ้านเจอนางนาค ถึงกลับเอ่ยปากว่าขณะรบ ตนไม่เคยคิดถึงสยามเลย คิดถึงแต่แม่นาก

นอกจากนี้หนังยังจงใจล้อเลียนการโหยหาวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปในภาพยนตร์ย้อนยุค หรือตำนวนวีรบุรุษชาติไทย
เช่น ผู้แสดงทั้งหมดไม่ใช้ภาษาไทยโบราณ (หรือกระทั่งพยายามล้อความพยายามใช้ภาษาโบราณ) ซึ่งขัดกับบริบททางประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของหนัง รวมถึงการแสดงฉากสมัยใหม่ อย่างร้านเหล้าดองที่มีเด็กเชียร์แขก หรือฉากงานวัดซึ่งปรากฏผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยจำนวนมาก รวมถึงกระป๋องน้ำอัดลม! หนังพี่มากจึงดูคล้ายไม่เข้าที่เข้าทางกับกลิ่นอาย “ความเป็นไทยแบบโบราณ” ของหนังเรื่องนางนากฉบับดั้งเดิม

ประเด็นนี้เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนหัวใจของหนังเรื่องนางนาค จากที่ผีแพ้ให้กลายเป็นผีกับคนอยู่ร่วมกันได้ การลอก-ล้อเลียนปรากฏในหลายแง่มุม ประการแรกคือการนิยามว่าอะไรคือ “ความเป็นอื่น” และ “คนอื่น” ขณะที่หนังแม่นาคฉบับดั้งเดิมแสดงอย่างชัดเจนว่าแม่นาคคือผี และฉะนั้นแปลกแยกจากคนอื่นๆ ในชุมชนของมนุษย์ หนังเรื่องพี่มากไม่เพียงแต่สร้างฉากที่ทำให้ประเด็นนี้คลุมเครือ แต่ยังเล่นกับความรู้สึกคนดูให้สงสัยว่าที่จริงแล้วใครเป็นผีกันแน่

ประการที่สองคือหนังชี้ให้เห็นว่า “ความเป็นอื่น” หรือในที่นี้คือ “ผี” – อะไรที่เรากลัว – คลุมเครือไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ความพยายามกำหนดให้ชัดเจนว่าใครคือ “ผี” กันแน่กลับสร้างปัญหาเสียเอง เช่นสุดท้ายแล้วเอและพี่มากถูกสงสัยว่าเป็นผี ทั้งที่ทั้งสองเป็นเพื่อนของคนที่เหลือ จนพยายามกำจัดบุคคลทั้งสอง

ประการที่สาม การเล่นกับความรู้สึกคนดูเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่าท้ายที่สุดแล้วคนที่กล่าวหาว่าคนอื่นเป็นผีอาจต้องหันมาตรวจสอบ “สมมุติฐาน” (presumption) ของตนเกี่ยวกับคนอื่น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ที่ผีเป็นผีก็เพราะสมมุติฐานของเราสร้างมัน หากผีคือกลุ่มคนที่เรากลัว กลุ่มคนเหล่านี้เป็นภัยคุกคามในสายตาของชุมชน สังคม หรือรัฐ-ชาติ เพราะเขาเป็นผลผลิตจากความกลัวของเราเอง

ประการสุดท้ายคือ นักทฤษฎีการเมืองจำนวนหนึ่งเห็นว่าสังคมการเมืองจะเป็นปึกแผ่นได้ต้องสร้างเส้นแบ่งระหว่างมิตรกับศัตรู
ฉะนั้นจึงเกิดกระบวนการนิยามว่าคนกลุ่มใด หรือชาติใดเป็นภัยคุกคามต่อผู้คนในสังคมของตน “ความกลัว” เป็นกลไกหลักเพื่อขับเน้นชุดความคิดนี้ เมื่อกลัว “คนอื่น” คนในสังคมก็พร้อมร่วมใจกันต่อสู้เพื่อป้องกันตน ในหลายสถานการณ์ กระบวนการเช่นนี้นำไปสู่การระดมมติมหาชน และสร้างความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรงต่อ “คนอื่น” ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามคนในสังคมหรือชาติ ขณะเดียวกันก็กลายเป็นใบอนุญาตให้ผู้นำจัดการ “กำจัด” ภัย

หนังเรื่องพี่มากท้าทายชุดความคิดเช่นนี้ด้วยการเชื้อชวนให้วิพากษ์สมมุติฐานของเราเกี่ยวกับกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าต่างจากเรา หรือกระทั่งเป็นโจรผู้ร้าย เป็นภัยที่สร้างความหวาดกลัว (ในที่นี้คือผีแม่นาก) ยิ่งไปกว่านั้นยังแสดงให้เห็นว่า “ผี” หรือคนอื่นซึ่งเป็นภัยคุกคามไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่กลับมีความเป็นมนุษย์ มีรัก มีเสียใจ และห่วงหา
ฉากสุดท้ายของหนังยังแหวกขนบเดิมด้วยการอนุญาตให้ผีกับคนอยู่ร่วมกันได้ ประหนึ่งจะบอกเราว่า “พวกเรา” อยู่ร่วมกับ “พวกเขา” ได้  
หนังพี่มากยังทำลายมนตราของความกลัวคนอื่นด้วยการสร้างฉากขำขันขั้นจังหวะฉากผีแม่นากหลอก ในแง่นี้ เสียงหัวเราะทำหน้าที่สกัดมิให้ความกลัวผีก่อตัว


การล้อเลียนในหนังพี่มากต่อต้านขัดขืนอำนาจอย่างไร?

ขณะที่กลุ่มประท้วงทั่วไปใช้การล้อเลียนเพื่อลดความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายชนชั้นนำ หนังเรื่องพี่มากเติบโตในวัฒนธรรมกระแสหลักโดยไม่มีวาระเพื่อการประท้วงทางการเมืองในการประท้วงที่ชัดเจน แต่เพราะนี่คือภาพยนตร์กระแสหลัก มหาชนจึงตอบรับอย่างล้นหลาม
“การถอดไส้” ของหนังเรื่องนี้ – โดยเฉพาะการเปลี่ยนแก่นของต้นฉบับหนังแม่นากให้สะท้อนความเป็นไปได้ของการก้าวข้ามความกลัว จนสามารถอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่ถูกนิยามว่าเป็นภัยคุกคามได้ – อาจทำหน้าที่รบกวนความเชื่อบางอย่างของสังคมไทย เช่นใครคือโจรใต้ ใครคือผู้บ่อนทำลายชาติ และสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ของสังคม เป็นต้น


นี่อาจทำให้เราตั้งตำถามต่อไปว่าทุกครั้งที่เริ่มระแวง ตั้งข้อสงสัยว่าใครเป็น “ผี” ของสังคม เราอาจต้องเริ่มถามก่อนว่า เราเป็นผู้ให้กำเนิด “ผี” หรือไม่
การล้อเลียนในหนังพี่มากอาจช่วยบ่มเพาะศักยภาพในการตั้งคำถามเช่นนี้ของผู้คนในสังคมไทย และบั่นทอนพลังของวาทกรรมที่ลากเส้นแบ่งมิตรและศัตรูแบบตายตัว



.