http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-11-24

อารยะขัดขืนอีกแย้ว โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

อารยะขัดขืนอีกแย้ว
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ใน www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNNE5USTJOemMxTnc9P
วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 11:35 น.

(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2556 หน้า 25)
ภาพจากเวบบอร์ด มิใด้เกี่ยวข้องกับ มติชนหรือผู้เขียน


อารยะขัดขืนคือคำแปลของภาษาอังกฤษว่า civil disobedience ซึ่งนักเรียนอักษรศาสตร์ต้องรับไปด้วยความพะอืดพะอม เพราะมีรูปเหมือนคำสมาส ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเอาสองภาษามาสมาสกันได้ ถ้าแปลว่าขัดขืนอย่างอารยะ ก็ฟังเป็นไทยกว่า แม้ความเป็นคำนามดูจะหายไปก็ตาม

ผมจู้จี้กับเรื่องนี้เพราะ “อารยะ” มีความสำคัญมากในศัพท์นี้ ทั้งที่ในภาษาอังกฤษ ผมเข้าใจว่า civil ในที่นี้หมายถึงอะไรที่ไม่ใช่รัฐ มากกว่าหมายถึงนาครธรรม (civility) แต่โดยรากศัพท์สองคำนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน จะแปลว่าอารยะก็ได้ เพราะฝรั่งเชื่อว่าอารยธรรมมากับความเป็นเมืองหรือ “นาคร” และที่จริงอารยธรรมก็เป็นรากศัพท์เดียวกันในภาษาฝรั่งอีกนั่นแหละ

อารยะสำคัญอย่างไรในการทำอารยะขัดขืน ผมหวังว่าผู้อ่านจะเห็นได้เองข้างหน้า


คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำฝูงชนที่ประท้วงรัฐบาลอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยกระดับการประท้วงไปสู่การทำอารยะขัดขืนสี่แนวทางด้วยกัน

1. หยุดจ่ายภาษี แต่มาขยายความในภายหลังว่าให้ชะลอการจ่ายภาษี

2. หยุดงานและหยุดเรียนทั่วประเทศ

3. ชักธงชาติขึ้นทุกบ้านเป็นสัญลักษณ์การประท้วง

4. เป่านกหวีดใส่นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกในเมืองไทยที่อ้างการกระทำของตนว่าเป็นอารยะขัดขืน ผู้ประท้วงรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ก่อนรัฐประหารก็อ้างการกระทำของตนว่าเป็นอารยะขัดขืนเช่นกัน พันธมิตรฯ ก็เคยอ้างการละเมิดกฎหมายของตนว่าเป็นการทำอารยะขัดขืน

แต่มันใช่หรือครับ?

หลักข้อแรกของการทำอารยะขัดขืนซึ่งคุณสุเทพหรือใครอื่นที่อยากทำควรสำเหนียกไว้ด้วยก็คือ สิ่งที่ทำนั้นเป็นการละเมิดกฎหมาย แต่เพราะกฎหมายไม่ชอบธรรม หรือเพราะรัฐทำสิ่งที่เสียหายมากจนต้องประท้วงด้วยการละเมิดกฎหมาย แต่ผู้ประท้วงไม่ต้องการทำลายรัฐ อันเป็นรากฐานสำคัญของ “อารยะ” ถึงประท้วงรัฐก็ยอมรับอำนาจของรัฐ และความจำเป็นที่รัฐจะต้องดำรงอยู่ต่อไป ด้วยเหตุดังนั้นจึงยินดีรับโทษด้วยความยินดี นักปฏิบัติอารยะขัดขืนเห็นว่า การรับโทษนั่นแหละยิ่งทำให้ผู้คนมองเห็นความไม่ชอบธรรมของรัฐมากขึ้น จนออกมาร่วมประท้วงจำนวนมาก กลายเป็นพลังที่สามารถกำกับควบคุมให้รัฐยุติการกระทำที่ไม่ชอบธรรมนั้นได้

ผมไม่ทราบว่า คุณสุเทพยอมรับหลักการนี้แค่ไหนเพียงไร แต่อยากเตือนว่า นักปฏิบัติอารยะขัดขืนที่เข้าคุกหรือโดนยิงเป้า แล้วก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ราษฎรอย่างกว้างขวาง มีจำนวนน้อยมากในโลก เท่าที่ผมนึกออกก็มีกรณีที่เห็นได้ชัดคือท่านมหาตมะคานธี และ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง แต่ที่เห็นไม่ชัดอาจมีอีกก็ได้ (เพราะมักแยกไม่ออกระหว่างนักปฏิบัติอารยะขัดขืนกับนักปฏิวัติ เช่น โฮเซ่ ริซาล แห่งฟิลิปปินส์) ส่วนใหญ่ของนักปฏิบัติอารยะขัดขืน มักรับโทษไปคนเดียว ดังเช่นเดวิด โธโรส์ เจ้าตำรับชาวอเมริกัน

ในอนาคต คุณสุเทพอาจมีชื่อในประวัติศาสตร์ แต่ยังไม่สามารถทำให้ประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ในตอนนี้ เพราะถึงมีรัฐประหาร เขาก็คงไม่ชักสายล่อฟ้าอภิสิทธิ์ขึ้นอีก แค่ไม่มีอภิสิทธิ์ ยังไม่รู้ว่าจะปรามการจลาจลได้อย่างไร


ยิ่งคิดถึงผู้เข้าร่วมประท้วง ผมยิ่งค่อนข้างเชื่อว่า ส่วนใหญ่คงไม่อยากจะหยุดการชำระภาษี เพราะมีโทษปรับเป็นอย่างน้อย หากชำระเกินเวลาที่รัฐกำหนดไว้ อย่าลืมสิ่งที่เบนจามิน แฟรงกลิน กล่าวไว้นะครับว่า สิ่งที่แน่นอนในชีวิตมนุษย์นั้นมีอยู่สองอย่างคือความตายกับภาษี

อันที่จริง ภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐที่จะดำเนินการอะไรต่างๆ ทั้งที่ชอบธรรมและไม่ชอบธรรม การหยุดชำระภาษีจึงเท่ากับปลดอาวุธของรัฐได้ราบเรียบอย่างแน่นอน และนักประท้วงรัฐทั่วโลกก็คิดเรื่องนี้มาหลายศตวรรษแล้ว แม้ไม่ได้คิดประท้วงรัฐเลย ก็ไม่อยากเสียภาษีอยู่ดีแหละครับ

คนที่ไม่รู้ว่าจ่ายภาษีครบหรือไม่ และออกมาพูดว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่พลเมืองนั้น ผมคิดว่าพลาดประเด็นไปถนัด ก็เพราะเป็นหน้าที่ซึ่งรัฐกำหนดขึ้นล่ะสิครับ จึงเอามาขัดขืนอย่างอารยะได้

แต่การไม่เสียภาษีบำรุงการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของรัฐโดยไม่ต้องรับโทษนั้นมีวิธีครับ หากเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ซึ่งใจไม่ถึงทำไม่ได้ นั่นก็คืออย่ามีรายได้หรือมีกำไรในการค้าสิครับ รวมทั้งไม่ซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ เพื่อไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ไม่ง่ายครับ แต่มีคนใจถึงทำมาแล้ว นั่นคือ นายเดวิด โธโรส์ ที่กล่าวถึงไปแล้ว เขาเลิกทำงาน แล้วออกไปอยู่ดงหนองน้ำ Walden คนเดียวทั้งปี กินอาหารตามธรรมชาติ ไม่มีรายได้ที่จะนำมาประเมินภาษีได้ รวมทั้งไม่ซื้อหาอะไรมาบริโภคอีกด้วย เขาเห็นว่ารัฐเอาเงินภาษีไปทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านเล็กๆ ไม่ชอบธรรม การเสียภาษีจึงเท่ากับร่วมมือกับรัฐในการประกอบอาชญากรรมระหว่างประเทศไปด้วย

นายโธโรส์ทำอะไรเหมือนบรรพบุรุษของคนทั้งโลกเคยทำมาแล้ว คือเมื่อทนเสียภาษี ถูกเก็บส่วยและเกณฑ์แรงงานไม่ไหว ก็หนีออกไปอยู่ในที่ซึ่งมือของรัฐเอื้อมไปไม่ถึง แต่รัฐสมัยใหม่ที่นายโธโรส์มีชีวิตอยู่มือมันยาวมาก ไม่มีที่ไหนจะหนีรอด จึงต้องยากลำบากถึงเพียงนั้น เพื่อให้พ้นมือของรัฐไปได้

ผมไม่เชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมประท้วงกับคุณสุเทพสักคนเดียวที่พร้อมจะหยุดจ่ายภาษีด้วยวิธีอารยะขัดขืน เพราะมันแพงไปในทุกทาง แพงค่าปรับ และแพงชีวิตเกินกว่าคนทั่วไปจะรับไหว



ผมอดคิดถึงการประท้วงธนาคารของคนจนฟิลิปปินส์ไม่ได้ ดูเหมือนธนาคารเรียกเก็บเงินค่ารักษาบัญชีอะไรทำนองนั้น คนจนจึงประท้วงด้วยการถอนเงินและฝากเงินที่เคาน์เตอร์กันทั้งวัน จนธนาคารแทบทำอะไรไม่ได้ นอกจากบริการลูกค้าที่ถอนๆ ฝากๆ อยู่ทั้งวัน นี่คืออารยะขัดขืนจริง และทำได้ในโลกสมัยปัจจุบัน ยังมีวิธีอารยะขัดขืนที่คนจนทั่วโลกคิดขึ้นอีกหลายวิธี ล้วนเด็ดๆ และเป็นการขัดขืนอย่างอารยะทั้งนั้น เพราะอารยะคือเกราะป้องกันตัวของคนจนคนไร้อำนาจ อาวุธของคนจนจึงล้วนเป็นอารยาวุธทั้งสิ้น

แต่อาวุธที่อารยะเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากผู้นำคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ขึ้นไปร้องตะโกนบนเวที แล้วให้ปรบมือหรือเป่านกหวีดรับเป็นมติ อาวุธอารยะเกิดขึ้นจากการประชุมร่วมกัน คิดร่วมกัน ช่วยกันแก้ไขข้อบกพร่องและอุดช่องโหว่ต่างๆ จึงลงมือปฏิบัติการร่วมกันให้ได้ผล การดำเนินการแบบประชาธิปไตยนั้นเป็นหัวใจสำคัญของขบวนการคนจน ไม่ใช่การนำของวีรบุรุษเอกชนคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียว

ยกเว้นแต่มีผู้นำระดับมหาตมะคานธี แต่คนอย่างคานธีไม่ได้เกิดมีขึ้นได้บ่อยๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน กระบวนการประชาธิปไตยจึงมีความสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทำอารยะขัดขืน เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า ในรัฐปัจจุบัน การทำอารยะขัดขืนโดยปัจเจกบุคคล เป็นเรื่องที่ยากเกินไป จำเป็นต้องทำเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่พอสมควร กลุ่มก้อนนั้นจะรวมตัวกันติดเป็นเวลานานได้ ก็คือการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมเท่านั้น ทุนอุดหนุนการชุมนุมก็ตาม, วาทศิลป์ของผู้นำก็ตาม, ความบันเทิงบนเวทีก็ตาม ฯลฯ มาแทนที่การมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมไม่ได้

เพราะดูยังไงๆ ก็เป็นการประท้วงของคุณสุเทพและแฟนานุแฟนของ ปชป. อยู่ดี ไม่ใช่อารยะขัดขืน

การหยุดงานและหยุดเรียนก็มีราคาเหมือนกัน หากผู้ประกอบการทั้งหลายพากันปิดงานประท้วง ราคาที่ต้องจ่ายก็คือ อาจผลิตสินค้าได้ไม่ทันออเดอร์ ในขณะที่พนักงานไม่มีราคาต้องจ่าย ยกเว้นแต่ลูกจ้างรายวัน (ซึ่งมีจำนวนมหึมาในแรงงานไทย) แต่หากให้พนักงานแต่ละคนหยุดงานโดยสมัครใจ คงทำได้จำนวนน้อยเท่านั้น เพราะพนักงานส่วนใหญ่คือคนที่ต้องเกรงใจนายจ้าง คนที่นายจ้างเกรงใจมีจำนวนน้อย แม้แต่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ ก็มีเฉพาะบางหน่วยที่ไม่ต้องกลัวนายเท่านั้น เช่นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บางคณะ หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตบางหน่วย ก็อย่างที่บอกแล้วว่ามันมีราคาที่ประมาณลำบาก เรี่ยไรเงินยังพร้อมจ่ายมากกว่า เพราะรู้แล้วว่าจะจ่ายเท่าไร

ผมไม่ทราบว่าเหตุใดผู้นำการประท้วงจึงเลือกวิธีนี้ในการทำอารยะขัดขืน เพราะเป็นวิธีที่หวังผลได้น้อย อยากจะเดาว่าประเมินกำลังของตนเองผิด เหมือนการนำคนเดียวในที่อื่นและสถานการณ์อื่น

การประเมินผิดเป็นจุดอ่อนของระบบนำคนเดียวเสมอ นับตั้งแต่นโปเลียนมาถึงฮิตเลอร์ สตาลิน เหมาเจ๋อตง คุณทักษิณ และคุณสุเทพ


ส่วนชักธงชาตินั้น ผมมองไม่ออกว่าขัดขืนอะไร ประเทศนี้ใช้ธงชาติกล่อมให้ประชาชนลืมความอยุติธรรมและความยากลำบากมานานแล้ว ยิ่งชักยิ่งชอบ ผมเห็นหลายบ้านชักธงชาติคู่กับธงตราประจำรัชกาลมานานแล้ว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาชักเพื่อร่วมประท้วง หรือเขาชักอยู่เป็นประจำ ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เสนอให้นุ่งกางเกงประท้วงเป็นสัญลักษณ์ล่ะครับ พรึบเลย นับเป็นการขัดขืนที่ “อารยะ” จริงๆ เลยทีเดียว คือเอากิจวัตรปรกติมาเป็นสัญลักษณ์ของการขัดขืน เสียแต่ว่า คุณยิ่งลักษณ์จะรู้ไหมเนี่ย ว่าถูกขัดขืนไปแล้ว


มาถึงการเป่านกหวีดใส่นักการเมืองพรรคเพื่อไทย คิดอย่างไรก็คิดไม่ออกว่า การรังแกผู้อื่นเป็นอารยะขัดขืนไปได้อย่างไร มหาตมะคานธีตั้งกฎการเดินขบวนที่แม้แต่สาวกใกล้ชิด (เช่นท่านเนห์รู) ก็ทำไม่สำเร็จ นั่นคือเมื่อตำรวจอินเดียซึ่งใช้ไม้กระบองยาวเป็นอาวุธ (ลาธิ) ยกขึ้นจะตีหัวผู้เดินขบวน ท่านแนะว่า อย่าแม้แต่ยกมือรับกระบองเพื่อป้องกันศีรษะ (อันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์) เพราะการเคลื่อนไหวเพื่อรับกระบอง สอดรับกับการใช้ความรุนแรง อันเป็นเหตุให้ตำรวจยิ่งใช้ความรุนแรงมากขึ้น นี่เป็นสุดโต่งของอารยะขัดขืน แต่เห็นหลักการของอหิงสาซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ของอารยะขัดขืนได้ชัดดี

ถึงยกเรื่องอารยะขัดขืนออกไป การเป่านกหวีดใส่ปฏิปักษ์ก็ทำได้ยากในวัฒนธรรมไทย ครูของผมคนหนึ่งคือ ศาสตราจารย์เฮอเบิร์ต ฟิลลิปส์ พูดถึงบุคลิกภาพของชาวนาไทย (ซึ่งอาจรวมถึงคนไทยทั่วไปด้วย ไม่มากก็น้อย) เรื่องหนึ่งไว้ว่า คนไทยไม่ชอบการเผชิญหน้าตรงๆ (face-to-face conflict) แต่เลี่ยงไปเกาะกลุ่มนินทา บัตรสนเท่ห์ หรือโจมตีปฏิปักษ์ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เห็นคู่ขัดแย้งอย่างโจ่งแจ้ง

การเป่านกหวีดเป็นการเผชิญหน้าตรงๆ คนถูกเป่าก็เห็นหน้าคนเป่าอย่างถนัด ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่อยากทำ ยกเว้นในสถานการณ์ที่มีผู้เป่านกหวีดมากเสียจนหน้าของผู้เป่าถูกกลบไปในฝูงชน เสียงบ่นของ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ถูกนักการเมืองเป่านกหวีดใส่นั้นน่าสนใจนะครับ ท่านบอกว่าก็คนรู้จักกันมานานๆ ทั้งนั้นไม่น่าทำอย่างนี้เลย คุณจาตุรนต์ลดการประท้วงมาเป็นเรื่องส่วนบุคคล และด้วยเหตุดังนั้น จึงกลายเป็นการเผชิญหน้าตรงๆ คนไทยฟังแล้วคงเห็นว่า อ้าว ไม่ใช่เรื่องบ้านเมืองหรอกหรือ ที่แท้ก็เรื่องหมากัดกัน กูไม่เกี่ยวดีกว่า

ผมอยากช่วยคงความหมายของ civil disobedience มาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่สำเร็จสักที เหตุผลสำคัญคงอยู่ที่ว่า civil disobedience เกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นต้องมีสำนึกในเรื่อง civil society อย่างชัดเจนและเต็มเปี่ยมกว่านี้ การเกาะกลุ่มกันเพื่อแย่งอำนาจรัฐจึงถูกบิดเบือนความหมายเป็น civil disobedience ได้ง่ายด้วยประการฉะนี้



.