http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-11-13

พิชญ์: จากม็อบต้านโกง ถึงระบอบต้านโกงแบบไทยๆ

.

จากม็อบต้านโกง ถึงระบอบต้านโกงแบบไทยๆ
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ 
madpitch@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1384249824
วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 07:00:29 น.

( ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน อังคาร12พ.ย.2556 )


เรื่องราวที่อยากจะเขียนถึงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของปฏิกิริยาของการผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของสภาผู้แทนฯนั้นมีมากมาย แต่เรื่องที่น่าจะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งนั่นก็คือเรื่องของ "ม็อบต้านโกง"

หรือจะให้กล่าวอีกอย่างก็คือ เราจะพบว่า การต้านกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น มีลักษณะของความซับซ้อนเพราะร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนฯนั้น ในความรับรู้ร่วมกันของสังคมก่อนที่จะผ่านสภานั้น เป็นเรื่องของการพยายามนิรโทษกรรมบรรดาคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ถูกม้วนเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และก่อนที่จะมีประเด็นการถกเถียงเช่นวันนี้ ก็มีแต่เรื่องราวสำคัญที่เป็นข่าวอยู่เรื่องเดียวหลักๆ ก็คือว่า ตกลงทหารจะหลุดหรือไม่ (วันนี้เรื่องนี้เงียบไป) เพราะแกนนำการชุมนุม และผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่านั้นต่างก็เชื่อมั่นว่าตนนั้นถูกต้องและพร้อมจะสู้คดี

แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเนื้อหาของตัวร่างกฎหมายในขั้นกรรมาธิการ และเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ เรื่องราวก็เปลี่ยนไปจากเรื่องราวของการนิรโทษกรรมมาสู่เรื่องของระบอบต้านโกงเป็นเนื้อหาหลัก ด้วยความเชื่อที่ว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน คนโกงก็จะได้รับการนิรโทษ และเรื่องของการโกงในสังคมไทยก็จะกลายเป็นเรื่องที่รับได้


ทั้งที่ในเรื่องของการต่อต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ยังมีเรื่องของการคัดค้านในอีกด้านหนึ่งด้วย นั่นก็คือ หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน ก็จะทำให้คนที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่าผู้ชุมนุมนั้นหลุดรอดไปด้วย แต่เรื่องราวในฝั่งนี้ถูกนำเสนอในแง่ของความแตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับพรรค หรือในแง่ของการถูกหลอกของคนเสื้อแดงเสียมากกว่า


ขณะที่ข่าวการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมในแบบต้านโกงนั้นถูกนำเสนอในแง่ของม็อบที่จุดติด และพลังจำนวนมหาศาลของมวลมหาประชาชน ด้วยภาพสีสันของข่าวและความสอดคล้องกันของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม

โดยไม่ได้ตั้งข้อสงสัยถึงลักษณะที่อาจจะขัดกันเองหลายๆ ประการของม็อบที่น่าจะเรียกง่ายๆ ว่า "ม็อบต้านโกง" เช่นเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเช่นนี้แล้ว ทางออกของการนิรโทษกรรมคืออะไร? เพราะเรื่องนี้ควรจะกลับไปตั้งหลักที่ เรื่องของการนิรโทษกรรม ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความปรองดอง แต่สุดท้ายก็มาจบลงที่เรื่องของการต้านโกง การไม่นิรโทษคนโกง และการไม่ปรองดองกับคนโกง


หรือการที่แกนนำของม็อบเองนั้นก็เคยเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงมาก่อน หรือระบอบที่มาจัดการคนโกงอย่างการทำรัฐประหารเองนั้นก็นำมาซึ่งความเคลือบแคลงสงสัยเพราะว่าผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากระบอบรัฐประหารก็ถูกกล่าวหาว่าโกงเช่นกัน


คําถามที่สำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำไมการต้านโกงของประเทศนี้จึงเป็นเรื่องที่ใหญ่โตเสียจนทำให้คุณค่าในส่วนอื่นๆ ของสังคมนั้นสามารถถูกลดทอนลงได้ อาทิ เรื่องของสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวหรือการพิจารณาในแง่ของการให้อภัยสำหรับคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกม้วนตัวเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง หรือในแง่ของประชาธิปไตย-ที่ข้อกล่าวหาเรื่องของการโกง ทำให้การทำรัฐประหารซึ่งเป็นการทำลายกฎหมายและระบบนิติรัฐ-นิติธรรม รวมทั้งระบอบการเลือกตั้งและประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นได้ (ยิ่งโดยเฉพาะกับคนหลายคนที่ยอมรับว่าไม่ต้องการการรัฐประหาร แต่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะหนทางปกติในการต้านโกงนั้นทำงานไม่ได้)

ถ้าเราไม่ด่วนสรุปกันจริงๆ ว่า ม็อบต้านโกงนั้นเป็นเรื่องที่เท่ากับม็อบต้านคุณทักษิณ เราก็คงต้องมานั่งคิดมากอยู่ว่าสังคมไทยรับไม่ได้กับการโกงเอาเสียเลย หรือสังคมไทยนั้นรับไม่ได้กับการโกงอะไรบ้าง

หรือถ้าคิดอีกทีว่า ถ้าเรากล้าฟันธงไปเลยว่า ถ้าม็อบต้านโกงกับม็อบต้านคุณทักษิณนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน เราก็ต้องมานั่งคิดว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อยถึงรับคนอย่างคุณทักษิณไม่ได้เอาเสียเลย

พูดอีกอย่างก็คือ ระบอบต้านโกงแบบบ้านเรานั้นมีชีวิตที่เติบโตขึ้นอย่างใหญ่โต มีตรรกะของมันเอง และมีพัฒนาการไปสู่เรื่องที่ใหญ่โตขึ้นไปกว่านั้นคือ ระบอบต้านโกงนั้นมิได้มีความสำคัญในด้านของเนื้อหาสาระว่าการโกงคืออะไร

แต่ยังรวมไปถึงการทำหน้าที่ทางการเมืองของการกล่าวหาคนโกงที่สามารถรองรับการละเมิดกฎเกณฑ์ปกติของการจัดการการโกงได้ด้วย
ซึ่งหมายถึงว่าเอาเข้าจริงแล้ว เมื่อเรากล่าวหาว่าการโกงนั้นเป็นเรื่องของการไม่ทำตามกฎเกณฑ์ แต่ท้ายที่สุดเราก็จัดการ-การไม่ทำตามกฎเกณฑ์ด้วยการล้มกฎล้มเกณฑ์ด้วยอำนาจนอกระบบเช่นกัน โดยเฉพาะการทำรัฐประหาร และที่สำคัญจะพบว่าการทำรัฐประหารในสองครั้งหลังคือเมื่อ 2534 และ 2549 นั้นก็มีเรื่องของการโกงเป็นข้ออ้างสำคัญในการทำรัฐประหาร และมีกระบวนการจัดการการโกงในลักษณะพิเศษทั้งสองครั้ง


ทีนี้เมื่อมาพิจารณาในเรื่องของการโกง เราคงต้องตั้งคำถามก่อนว่า การโกงมีกี่แบบ และแบบไหนที่สังคมไทยรับไม่ได้มากที่สุด

ผมอยากจะลองตอบว่า การโกงน่าจะมีอยู่สักสี่แบบ หรือสี่กลุ่มใหญ่ นั่นก็คือ ชาวบ้าน นักธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมือง

การโกงของชาวบ้านนั้นไม่ค่อยเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างกัน หรือเป็นเรื่องที่สามารถใช้อำนาจรัฐในการไล่จับได้

การโกงของเอกชนก็เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่สุดก็คงจะมีสองเรื่องคือ โกงประชาชน และโกงภาษี ซึ่งก็จะรุนแรงมากขึ้นไปกว่าการโกงของชาวบ้าน

การโกงของข้าราชการในอดีตนั้นจับได้ยาก และประชาชนไม่ค่อยได้รับความเชื่อมั่น เพราะข้าราชการเขาเป็นผู้ปกครองประเทศเสียเอง แต่ในระยะหลังเมื่อมีองค์กรที่ตรวจสอบ หรือมีสื่อต่างๆ เรื่องของการโกงของข้าราชการนั้นก็ถูกตรวจสอบมากขึ้น


การโกงของนักการเมืองนั้นเป็นการโกงที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในความรู้สึกของเรา อันนี้จะว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับนักการเมืองก็อาจจะไม่ได้ เพราะนักการเมืองนั้นเมื่อโกงก็จะรุนแรงที่สุดในความหมายที่ว่า เขาเข้ามาสู่อำนาจรัฐ (หรือร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ) จึงจับได้ยาก และหากนักการเมืองนั้นมาจากนักธุรกิจและโกงให้ธุรกิจตนเองด้วยก็จะยิ่งทำให้กลไกการตรวจสอบมันทำงานได้ยาก

และที่สำคัญนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงนั้นถูกมองว่าร้ายที่สุดก็เพราะว่าเมื่อนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าโกงนั้น-มาจากประชาชนด้วย ก็จะยิ่งทำให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นเปราะบางเข้าไปใหญ่ ทั้งจากคนที่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยเอง และสำหรับคนที่ไม่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยนั้น
การมีนักการเมืองจากประชาชนแล้วถูกกล่าวหาว่าโกงนั้น ยิ่งเข้าทางของการเป็นเงื่อนไขที่บอกว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะปกครองตัวเอง และมันไม่ยุติธรรมในความหมายที่ว่ามันไม่สอดคล้องกับความจริงอันแสนจะงดงามที่ว่าคนแต่ละคนควรจะทำหน้าที่ตามคุณสมบัติ/คุณลักษณะของตนเอง (ขณะที่ความยุติธรรมอาจจะมีความหมายในแง่อื่นๆ อีก เช่นความเท่าเทียมกันในเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น แต่สิ่งนี้ไม่ได้รับการพิจารณา)

นอกจากนั้น การโกงของนักการเมืองนั้นเลวร้าย เพราะว่านักการเมืองนั้นสามารถสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ได้ด้วย เพราะเขาไม่ใช่แค่คนคุมกฎเหมือนข้าราชการ แต่เขาสามารถเขียนกฎหมายใหม่ได้ด้วย


คนที่รักประชาชนเอามากๆ ก็จะยิ่งรับนักการเมืองที่โกงไม่ได้ เพราะเชื่อว่านี่คือปัญหาศีลธรรมที่สูงที่สุดอันหนึ่ง เพราะการโกงของนักการเมืองนั้นไปเปลี่ยนแปลงประชาชนให้ยอมรับการโกงต่อไป จึงเป็นอันตรายต่อประชาชนในระยะยาว ทั้งนี้ เพราะโดยทั่วไปการโกงนั้นถูกมองมาตลอดอยู่แล้วว่าเกิดได้เพราะวัฒนธรรมบางอย่าง-อาจจะมองว่าการโกงบางเรื่องนั้นรับได้ และยิ่งการโกงมีมากขึ้น และมีการลดแลกแจกแถมหรือแลกเปลี่ยนกันอีก การโกงก็จะไปเปลี่ยนวัฒนธรรมให้รับการโกงได้มากขึ้น และทำร้ายประชาชนในระยะยาว ซึ่งส่งผลมากกว่าในเรื่องทางเศรษฐกิจเข้าไปอีก



เท่าที่เขียนมาทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำให้กระจ่าง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งด้วย นั่นก็คือ ระบอบต้านโกงที่ดำรงอยู่นั้นไม่ใช่ว่าไม่มี แต่อาจจะทำงานไม่ได้เต็มที่ แต่เราก็อาจจะต้องพิจารณาว่า ที่ทำไม่ได้เต็มที่นั้นเพราะว่าระบบเราไม่เข้มแข็ง หรือเพราะว่าวิธีคิดเรื่องของการต้านโกงนั้นมันก็มีประเด็นท้าทายสำคัญอยู่ในนั้นกันแน่? (หรือทั้งสองอย่าง?)

กล่าวคือ หากพิจารณาให้ดี ระบอบต้านโกงโดยเฉพาะระบอบต้านโกงที่มุ่งไปที่นักการเมืองนั้นปรากฏตัวอย่างชัดเจนนับตั้งแต่มีการปฏิรูปการเมือง ที่มุ่งเน้นที่จะจัดการนักการเมืองที่โกงให้ได้ ดังที่จะพบในกรณีของการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะหนึ่งในองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงองค์กรอื่นๆ ที่มีมาก่อน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือที่มาทีหลัง เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (2542) กรมสืบสวนคดีพิเศษ (2545) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ท.) ในยุคหลังรัฐประหาร และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน


งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของอาจารย์ประเทือง ม่วงอ่อน แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ชี้ให้เห็นว่าระบอบการจัดการการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเมื่อนับงบประมาณรวมกันแล้ว (ไม่นับในส่วนของศาล) มีสถานะเท่ากับกระทรวงย่อมๆ หนึ่งกระทรวง ซึ่งหมายถึงว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มงบประมาณขึ้นเรื่อยๆ ในทุกองค์กร นอกจากนั้น ยังมีลักษณะที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง และทับซ้อนของอำนาจหน้าที่ ไม่รวมถึงความลักลั่นของการทำงานเช่นการไล่จับนักการเมืองท้องถิ่น แต่ก็ของบประมาณและความร่วมมือไปที่หน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นด้วยในกรณีของจังหวัดกับองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่จับเขาด้วยและขอการสนับสนุนด้านงบประมาณกับเขาด้วย

ประเด็นท้าทายที่สำคัญอีกประเด็นที่อาจารย์ประเทืองชี้ให้เห็น ก็คือ ระบบการต้านการทุจริตฯในประเทศไทยนั้นมีลักษณะที่ถูกจัดตั้งมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมของรัฐบาลบางยุคสมัยเช่นกัน โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการพยายามนิยามความดีและคุณธรรมที่องค์กรต่างๆ เชิดชู

หรือกล่าวอีกอย่างเมื่อพิจารณาจากงานวิจัย ก็คือการอ้างอิงถึงความดีและคุณธรรมนั้นบ่อยครั้งทำหน้าที่เป็นฐานความชอบธรรมของการมีระบอบต้านโกง ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไปไกลถึงการมองว่าประชาชนนั้นยังขาดการศึกษา หรือไม่พร้อมที่จะดูแลตนเอง ดังคำสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้านโกงเหล่านั้นในงานวิจัยของอาจารย์ประเทือง ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ท้าทายต่อความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยในภาพรวมด้วย
และเรามักจะไม่ค่อยนึกกัน ว่าสุดท้ายแล้วหากระบอบต้านโกงนั้นทำงานใหญ่โตขึ้นจนกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียเอง โดยที่ไม่มีใครตั้งคำถามว่าระบอบได้พัฒนาขึ้นมาเสียจนสามารถจัดการทุกคนทุกเรื่องได้โดยไม่ต้องยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว ระบอบต้านโกงก็อาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาไปด้วย

ยิ่งในกรณีที่ระบอบต้านโกงที่เกิดขึ้นในวันนี้ยิ่งกว้างขวางไปกว่ากลไกตามรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงานระบอบต้านโกงที่ทำงานอยู่ โดยเฉพาะเมื่อเรื่องต้านโกงการเป็นการช่วงชิงกันในแง่ของการกล่าวหาทางการเมือง และการรณรงค์ด้านจิตสำนึกมากกว่าการให้ความสำคัญกับกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ระบอบการต้านโกงแบบไทยๆ ที่มีลักษณะปฏิบัตินิยมสูง (คือมุ่งไปที่ผลโดยอาจไม่สนใจกระบวนการ)เช่นนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายต่อความเป็นธรรมและอาจเต็มไปด้วยอคติอีกมากมายที่เรานึกไม่ถึงก็อาจเป็นได้



.
___________________________________________________________________________________

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.