http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-05-09

รัฐบุคคล กับ รัฐบุรุษ .. จับตา “ป๋าเปรม” กับกระแสเจรจา

.

รัฐบุคคล กับ รัฐบุรุษ “ป๋า” กับ “คุณสายหยุด” เมื่อทหารเก่า 94 คุยกับทหารแก่ 92 จับตา “ป๋าเปรม” กับกระแสเจรจา
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1399651033
. . วันศุกร์ที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 23:02:09 น.
( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ2-8 พ.ค.57 ปี34 ฉ.1759 หน้า16 )


รายงานพิเศษ

ทุกดวงไฟกำลังฉายส่องไปที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อีกครา

แล้วก็ต้องจับจ้องที่ พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ คณะรัฐบุคคล อีกครั้ง

แม้ว่า พล.อ.เปรม จะรีบสยบกระแส การเข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ตามที่ พล.อ.สายหยุด ออกมาให้ข่าว หลังจากการเข้าพบ พล.อ.เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ เมื่อบ่าย 25 เมษายน ด้วยการระบุว่า "คุณสายหยุด เข้าใจผิด" แล้วก็ตาม

แต่ก็เกิดความกังขา ในบทบาทและจุดยืนของ พล.อ.เปรม ว่า จากวันล้มระบอบทักษิณ ด้วยการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงวันนี้ พล.อ.เปรม ยังเป็นคนเดิมอยู่หรือไม่

เพราะแค่การให้เชิญ พล.อ.สายหยุด ไปพบที่บ้าน ก็ถูกมองว่า มีนัยสำคัญ และเป็นการให้ความสำคัญกับคณะรัฐบุคคล

เพราะแม้จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกัน แต่การเชิญ พล.อ.สายหยุด ซึ่งเพิ่งเสนอในนาม "คณะรัฐบุคคล" ให้ พล.อ.เปรม เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชวินิจฉัย เพื่อแก้ปัญหา ก่อนเกิดสุญญากาศทางการเมือง โดยเฉพาะการขอนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 นั้นถูกมองว่า หากป๋าเปรมไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือสนใจ ก็คงไม่ต้องเชิญ พล.อ.สายหยุด มาพบพูดคุย

อีกทั้งก่อนหน้านี้ มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า การที่ พล.อ.สายหยุด ออกมาเสนอแบบนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเขี่ยลูก หรือชง เพื่อให้ พล.อ.เปรม เล่นต่อหรือไม่


อย่าลืมว่า การก่อตั้ง คณะรัฐบุคคล หรือ Man of the State นั้น ก็ถูกมองว่า มีชื่อที่สื่อถึงรัฐบุรุษ หรือ Stateman อย่าง พล.อ.เปรม

อีกทั้งแกนนำที่ก่อตั้ง และอยู่เบื้องหลัง ก็เป็นทหารเก่า ที่ได้ชื่อว่า เป็นพวกต่อต้านระบอบทักษิณ และเคยเป็นสายพันธมิตรฯ เก่า และพยายามดึงอดีตผู้บัญชาการเหล่าทัพ เข้าร่วม เพื่อให้คณะรัฐบุคคล ดูยิ่งใหญ่และมีน้ำหนัก

ทั้งการเชิญ พล.อ.วิมล วงศ์วานิช อดีต ผบ.ทบ. พล.ร.อ.วิเชษฐ์ การุณยวณิช อดีต ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ อดีต ผบ.ทอ. มาร่วม

แต่ก็มีข่าวออกมาเสมอว่า ทั้ง 3 ผบ.เหล่าทัพ มาร่วมด้วยความเกรงใจ หลายครั้งถูกนำแค่ชื่อมาร่วม แต่ตัวไม่ได้มา

จนต้องมีการเชิญพบปะหารือแล้วมีการปล่อยคลิปออกมาเพื่อยืนยันว่า อดีตผู้นำทหารนี้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐบุคคลด้วย โดยแนวทางในการแก้ปัญหาทางการเมืองของคณะนี้ ถูกมองว่า ต้องการให้กองทัพเป็นหลัก และการรัฐประหาร

แต่เมื่อ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ไม่ให้ความสำคัญ โดยระบุว่า เป็นแค่คนแก่ที่ไม่มีอะไรทำหลังเกษียณ มานั่งกินกาแฟคุยกันเรื่องชาติบ้านเมือง ก็เสนอแนวคิดต่างๆ แต่ทว่า พวกท่านไม่ใช่ผู้รับผิดชอบแล้ว แต่ก็เข้าใจว่า เป็นความหวังดีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง

จึงทำให้ทิศทางของคณะรัฐบุคคล เบี่ยงมาที่ พล.อ.เปรม โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.เปรม แบ่งรับแบ่งสู้ การเป็น "คนกลาง" ในการเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. มาเจรจากัน ด้วยคำพูดที่ว่า "เขาจะยอมฟังผมหรือ เพราะผมเองก็ยังโดนเหมือนกัน"

รวมทั้งเมื่อ พล.อ.เปรม ไม่ได้ตอบปฏิเสธการเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง หากเกิดสถานการณ์จำเป็น

ที่สำคัญคือ การที่ พล.อ.เปรม เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังไกลกังวล เมื่อ 16 เมษายนที่ผ่านมา แม้จะเป็นการถวายรายงานตามปกติ แต่ก็มีการปล่อยข่าวลือออกมามากมาย ว่ามีเรื่องการหาทางออกของบ้านเมือง

พล.อ.เปรม จึงกลับมาเป็นความหวังของฝ่ายที่ต้องการล้มระบอบทักษิณ อีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.สายหยุด ย่องเข้าพบป๋าเปรม

จนส่งผลให้ นายเรืองไกร ลือกิจวัฒนะ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบเรื่องเงินประจำตำแหน่งของ พล.อ.เปรม เดือนละ 114,000 บาท นั้นว่า มีกฎหมายรองรับหรือไม่ ทั้งๆ ที่มีพระราชกฤษฎีกาออกมารองรับตั้งนานแล้วก็ตาม

แต่ประโยคที่ว่า "คุณสายหยุด เข้าใจผิด" ของ พล.อ.เปรม ที่ยืนยันว่าแค่รับฟัง พล.อ.สายหยุด เท่านั้น ก็ทำให้ พล.อ.เปรม ถูกมองว่า กำลังปฏิบัติการ ลับลวงพราง อยู่หรือไม่



ต้องยอมรับว่า บทบาทของ พล.อ.เปรม หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน ในการต่อต้านระบอบทักษิณนั้น ถูกมองว่า ลดความเข้มข้นลง ตั้งแต่การให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เข้าพบ

จนมาถึงยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็พยายามขยับเข้าใกล้ พล.อ.เปรม แล้ว พล.อ.เปรม ก็ดูมีท่าทีเป็นมิตร หรือเอ็นดูนายกรัฐมนตรีหญิง อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

จนในสายอำมาตย์ หวาดระแวงว่า พล.อ.เปรม จะวางมือและวางเฉย จนต้องเตรียมหาหัวขบวนอำมาตย์คนใหม่ ที่ก็เล็งไปที่ บิ๊กแอ้ด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ลูกป๋า และอดีตนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหาร


แต่หากให้ความเป็นธรรมกับ พล.อ.เปรม แล้ว กรณีการเชิญ พล.อ.สายหยุด มาพบที่บ้านครั้งนี้ เพราะต้องการรับฟังแนวคิด และอยากรู้ว่า คณะรัฐบุคคล คืออะไร มีใครบ้าง เนื่องจากทำให้ พล.อ.เปรม ตกเป็นข่าวใหญ่มาหลายครั้ง พล.อ.เปรม จึงอยากรู้เป้าประสงค์

อีกทั้งเป็นเพื่อนกับ พล.อ.สายหยุด อยู่แล้ว การเชิญมาพบ จึงไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเสียหายใดๆ

แต่ทว่า ท่าทางของ พล.อ.เปรม อาจทำให้ พล.อ.สายหยุด เข้าใจไปเองว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่ตนเองพูดและเสนอ ทั้งการพยักหน้า ยิ้ม หรือเม้มปาก

แต่คนใกล้ชิดป๋าแล้วก็น่าจะรู้ดีว่า เป็นบุคลิกลักษณะของป๋า ที่เมื่อรับฟังอะไรแล้วก็จะพยักหน้า ที่ไม่ได้หมายถึงการเห็นด้วย แต่หมายถึง การรับฟัง รับทราบ ว่าได้ยินที่พูดแล้ว

อีกทั้ง พล.อ.เปรม นั้นอายุ 94 ปีแล้ว ก็ย่อมมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ที่จะต้องตะโกนให้เสียงดังในระดับหนึ่ง แถมเมื่อคู่สนทนา คือ พล.อ.สายหยุด ที่อายุไล่เลี่ยกัน ก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารพูดคุยกันได้ เพราะต่างก็ไม่ได้ยินชัดนัก แต่ทว่า ป๋าเป็นฝ่ายถาม พยักหน้ารับฟัง แต่ พล.อ.สายหยุด เป็นฝ่ายพูดและอธิบายเสียเป็นส่วนใหญ่ ตลอดเวลาราว 1 ชั่วโมง

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.สายหยุด เข้าใจว่า พล.อ.เปรม เห็นด้วยกับทุกสิ่งที่เขาเสนอ จนออกมาให้ข่าว ถึงขั้นที่ว่า พล.อ.เปรม เห็นด้วยกับแนวทางของคณะรัฐบุคคล และจะทำหน้าที่ของรัฐบุรุษ และให้ร่างพระบรมราชโองการ ขึ้นมาเพื่อทูลเกล้าฯ ที่ทำให้ พล.อ.เปรม ถูกวิจารณ์อย่างหนัก


แม้ว่า พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ นายทหารคนสนิท จะออกมาชี้แจงทันทีที่ พล.อ.สายหยุด ให้ข่าวว่า เป็นแค่การรับฟังเท่านั้น ไม่ใช่การเห็นด้วย ไม่ใช่การตอบรับหรือปฏิเสธ ก็ตาม

แต่เพราะคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สายหยุด ได้เป็นการปลุกความหวังให้กับฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ อย่างมาก

แต่ก็ทำให้ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนของ พล.อ.สายหยุด กับ พล.อ.เปรม สั่นคลอนไปบ้าง ตรงที่ พล.อ.เปรม ปฏิเสธว่า "คุณสายหยุดเข้าใจผิด"

ด้วยเพราะในเวลานี้มีอีกกระแสที่สะพัดในกองทัพ ที่โยงกับการที่ พล.อ.เปรม เข้าเฝ้าฯ เมื่อ 16 เมษายน ว่า บทบาทของ พล.อ.เปรม ไม่ได้เป็นไปดั่งที่คณะรัฐบุคคล คาดหวัง

โดยมีการเชื่อมโยงกับการพลิกบทบาทของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศตนเป็นคนเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออก โดยขอไปพบ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. เป็นคนแรกๆ เมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่ บก.กองทัพไทย

แม้ว่าการหารือกันเกือบ 2 ชั่วโมง จะถูกเปิดเผยออกมาแค่ 3 ประเด็น คือ พล.อ.ธนะศักดิ์ สนับสนุนบทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในการเดินสายเจรจาหาทางออก และยืนยันบทบาทของกองทัพ ที่จะยึดตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ และปัญหาการเมืองก็ต้องแก้ด้วยการเมือง

ที่อาจหมายถึง การที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ยืนยันว่ากองทัพจะไม่แทรกแซงการเมือง ไม่ก่อการปฏิวัติรัฐประหาร และสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง

ด้วยเพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า บทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในครั้งนี้ เป็นสัญญาณของการนำไปสู่การลงเลือกตั้ง 20 กรกฎาคม อย่างมีเงื่อนไขหรือไม่ เพราะเป็นจุดที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ แยกวงออกมาจากนายสุเทพ และ กปปส.

ด้วยเพราะข่าวที่สะพัดนั้น อ้างผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยเจรจา และให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด รวมทั้งการร้องขอไม่ให้ทำให้สถาบันแตกแยก หรือนำมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง เพราะประชาชนคนไทยทุกคนก็คือประชาชนของพระองค์ท่าน

จนทำให้มีการจับตาไปที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. ที่ในเวลานี้ ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง เชื่อว่า ศาลจะต้องตัดสินให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พ้นสภาพนายกรัฐมนตรีรักษาการ ที่จะทำให้คนเสื้อแดงไม่พอใจ ออกมา แล้วมีความวุ่นวาย จนนำไปสู่การรัฐประหารแน่นั้นด้วย ว่า ศาลอาจไม่ตัดสินในทางที่จะนำมาซึ่งปัญหาเช่นนั้นก็เป็นได้

อีกทั้งเมื่อครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้พบปะหารือกับ ผบ.เหล่าทัพ ก่อนการประชุมสภากลาโหม เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้ให้ความสบายใจว่า ทหารจะทำหน้าที่ของทหารอย่างที่สุด ขอให้นายกฯ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเช่นกัน หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกตัวว่า หากต้องถูกศาลหรือ ป.ป.ช. ตัดสินให้พ้นจากนายกรัฐมนตรี ก็ต้องการให้คนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนั้น เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีคนกลาง หรือคนนอก

ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ., พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกลาโหม ที่ร่วมหารือนั้นต่างเห็นพ้องกันว่า การเลือกตั้ง เป็นทางออกเดียว โดยกองทัพพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้ง และ กกต. เพื่อให้เลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ก็ต้องการให้ กกต. รัดกุมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งโมฆะอีก



บทบาทของนายอภิสิทธิ์ ในการเจรจา ทำให้ฝ่ายรัฐบาล และโดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขานรับ และชื่นชม โดยพร้อมพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์นี้ ทำให้เกิดความหวังของการหาทางออก ท่ามกลางการจับตามองว่า นายอภิสิทธิ์ จะนำพลพรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง แต่ต้องมีการทำสัตยาบันกันว่า ใครเป็นรัฐบาลจะต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศ ใน 1 ปี แล้วยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ตามที่หลายฝ่ายเสนอหรือไม่

โดยเฉพาะกองทัพนั้นสนับสนุนการเลือกตั้งที่มีรายงานข่าวด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ก็พูดหยั่งเชิง และเสนอแนะให้นายอภิสิทธิ์พิจารณาเรื่องการลงเลือกตั้ง ในโอกาสที่พบกันเมื่อ 28 เมษายนที่ผ่านมา


อีกทั้งในเวลานี้ กระแสการต่อต้านกลุ่ม กปปส. ในกองทัพ เริ่มมีมากขึ้น หลังจากที่เกิดเหตุการ์ด กปปส. แจ้งวัฒนะ ยิงและทำร้ายร่างกาย พ.อ.วิทวัส วัฒนกุล จนทำให้เกิดการปล่อยใบปลิวอิเล็กทรอนิกส์ ปลุกกระแสรักศักดิ์ศรีทหาร เพราะที่ผ่านมา มีทหารหลายคน รวมทั้งของ บก.กองทัพไทย และ ทบ. เอง ก็ถูกการ์ด กปปส. และ คปท. ยิง จนบาดเจ็บปางตาย แต่ทางกองทัพก็ไม่มีปฏิกิริยาใด นอกจากยอมรับว่า เป็นการเข้าใจผิด ที่ยิ่งทำให้ทหารในกองทัพไม่พอใจ เพราะระยะหลังการ์ด กปปส. จะยิงใครก็ได้ง่ายๆ

งานนี้พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ที่ไม่ออกมาแสดงปฏิกิริยาในการปกป้องลูกน้อง ทั้งยังการปิดข่าว เหตุ บก.กองทัพไทย ถูกยิงกระจกแตกอีกด้วย จนที่สุด การ์ด กปปส. ก็ต้องเข้ามาที่ บก.กองทัพไทย และขอขมาต่อ พล.ท.สีหนาท วงศาโรจน์ เจ้ากรมข่าวทหาร ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พ.อ.วิทวัส แทน โดยที่มีการนำภาพการขอขมา ลงเว็บไซต์ บก.กองทัพไทย เพราะต้องการให้เรื่องยุติ โดยลงคำชี้แจงของการ์ดที่ว่า เข้าใจผิดเพราะคิดว่า พ.อ.วิทวัส เป็นคนที่จะก่อเหตุเนื่องจากเวทีแจ้งวัฒนะ เพิ่งถูกยิงเอ็ม 79 ใส่ ท่ามกลางการจับตามองว่า จะมีการดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุดหรือไม่

เพราะต้องยอมรับว่า กองทัพเกรงใจ กปปส. เกรงใจนายสุเทพ มาตลอด จนทำให้ถูกมองว่าเอนเอียงเข้าข้าง แต่ความสัมพันธ์ที่ยังดีและใกล้ชิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ทำให้กองทัพถูกมองว่า เกรงใจนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม หญิง ด้วยเช่นกัน

เข้าทำนองที่ว่า กองทัพ ไม่ช่วย แต่ก็ไม่ทำร้าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปล่อยให้ "สถานการณ์" เป็นตัวตัดสิน ท่ามกลางความหวาดระแวงที่ว่า วิกฤตินี้จะจบด้วยการรัฐประหารอีกครา

และบทบาท พล.อ.เปรม ที่ไม่ใช่แค่การนั่งแต่งเพลง ร้องเพลง ในบ้านสี่เสาฯ ท่ามกลางการเมืองที่ร้อนระอุเท่านั้น แต่ทว่า มีความเคลื่อนไหว ภายใต้เสียงเพลงนั้นอยู่ตลอดเวลา



...........................................................
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly


.