http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-02-23

ยุทธวิธีหาเรื่อง..ยุทธวิธีหาคะแนน 1,060,000 ฯ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ยุทธวิธีหาเรื่อง...ยุทธวิธีหาคะแนน 1,060,000
วิธีหาผู้ว่าฯ เพื่อแก้ปัญหากรุงเทพฯ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361546408 . . 23 ก.พ. 2556  09:00:25 น.
จากคอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มติชนสุดสัปดาห์ 22-28 ก.พ. 2556 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1697 หน้า 20


ถึงวันที่ คน กทม. ต้องเลือก...
การบริหารพัฒนาเมือง หรือ เล่นการเมือง


8 ปีกับ 4 เดือน ที่ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ส่งผู้ว่าฯ สองคนมาบริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) นับแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2547 ผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ชนะเลือกตั้งครั้งแรก และลงแข่งอีกครั้งในปี 2551 ขณะที่เกิดเหตุการณ์ยึดทำเนียบ ปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช แต่เมื่อชนะกลับอยู่ได้เพียงเดือนเดียวก็ต้องลาออกเพราะ ปปช. ชี้มูลความผิดคดีรถดับเพลิง

ช่วงนั้นการเมืองใหญ่กำลังวุ่นวาย มีการยึดสนามบิน ปลดนายกฯสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยุบพรรคพลังประชาชน เปลี่ยนขั้วรัฐบาล ตั้งรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร ได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เมื่อธันวาคม 2551 หลังจากเป็นรัฐบาลไม่นาน ก็มีการเลือกตั้ง กทม. ในเดือนมกราคม 2552 และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ได้รับเลือกตั้ง เป็นผู้ว่าฯ กทม.
ปชป.จึงได้บริหาร กทม. อย่างต่อเนื่องและมีผลอย่างที่ทุกคนได้เห็นในทุกวันนี้



ผลงาน 8 ปีกว่าของ ปชป. ทำให้ประชาชนต้องตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารหรือไม่?

ถ้าดูจากการสำรวจความเห็นประชาชน จากสถาบันต่างๆ ที่อยากเลือก ผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 3 มีนาคมนี้ ยังมีแนวโน้มที่เป็นไปได้ทั้งสองทาง

1. ถ้าคนกรุงอยากเปลี่ยนแปลง อยากทดลองฝีมือของคนใหม่ พล.ต.อ.ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะมีโอกาสมากที่สุด พงศพัศที่ดูแล้วน่าจะเก่ง เพราะเรียนเก่งได้ที่ 1 มาตลอด เป็นนักเรียนทุนไปเรียนถึงปริญญาเอกมาจากเมืองนอก พูดเก่ง ท่าทางคล่องแคล่ว ถึงเวลาทำงานจริง จะมีฝีมือบริหารเมืองได้แค่ไหน ทำได้สักกี่เปอร์เซ็นต์ของที่พูด เพราะถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ ก็ต้องมีแรงหนุนจากรัฐบาลแบบเต็มลูกสูบ ดังนั้น จึงไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ถ้าทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่พูดไว้ 
ถ้าคนกลางๆ ในกรุงเทพฯ พากันออกมาใช้สิทธิมากๆ เขาก็มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

2. แต่ถ้าคนกรุงเทพฯ เกิดกลัวเงายักษ์ ทักษิณ ชินวัตร ในหนังตะลุงที่ ปชป. เชิดออกมา เหมือนคนรุ่นก่อนเคยกลัวผีคอมมิวนิสต์ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องทนอยู่แบบ 8 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งวิกฤติการเมือง วิกฤติของเมืองใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต มีถนนที่เต็มไปด้วยรถติด มีทางเท้าที่เต็มไปด้วยแผงลอยร้านค้า มีคลองที่เต็มแต่น้ำเน่า

แม้ปัญหาเหล่านี้จะไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่ายในเร็ววัน แต่ก็ต้องมีคนคิดวิธีแก้ไข กล้าแก้ไข กล้าลงทุน กล้าทำงานใหญ่ เพื่อลดปัญหาและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนกรุงเทพฯ มิใช่ทำงานประจำไปวันๆ และสร้างปัญหาสะสมให้มากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ ปี

ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสเดียวเพราะอำนาจยังอยู่ในมือประชาชน การตัดสินใจเลือกอย่างมีเหตุผลเป็นวิธีเดียวที่จะเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น ถ้าพลาด ก็รอไปอีก 4 ปี



ปชป. ปรับยุทธวิธี ช่วงสุดท้าย

ผลสำรวจจากโพลหลายสถาบันและของภายในคู่แข่งขันต่างๆ พบว่า คุณชายสุขุมพันธุ์ที่สนับสนุนโดย ปชป. มีคะแนนตามหลัง พล.ต.อ.พงศพัศ จากเพื่อไทยมาโดยตลอด หลังจากทีมงาน ปชป. ประเมินว่ากำลังทางอากาศสู้ไม่ได้แน่นอน แต่ก็ยังมีความหวังเพราะผลการวัดทุกช่วงเวลาแม้ไล่หลังอยู่ แต่ถูกนำไม่ห่าง จึงมีการปรับยุทธวิธี ที่สังเกตได้ดังนี้

1. การหาเสียงด้วยการชูนโยบายทุกวันนี้เป็นการหาเสียงภาคบังคับ แต่คงเปลี่ยนเป็นคะแนนได้ไม่มาก เนื่องจาก ปชป.ไม่มีผลงานเด่นในอดีตที่ สะดุดใจ จนคนจำได้ แถมยังมีเรื่องบกพร่อง และปัญหาและคดีความค้างคามากมาย ตลอด 8 ปี พอเสนอนโยบายอะไรไป ชาวบ้านก็บอกว่า อยู่มา 4 ปี-8 ปี ทำไมไม่ทำ จะมาคิดทำอะไรตอนนี้ 
บอกว่าจะติดกล้องเพิ่มก็โดนต่อว่าเรื่องกล้องปลอม จะทำอุโมงค์ระบายน้ำเพิ่ม คนก็ไม่เชื่อว่าจะใช้แก้น้ำท่วมได้

สรุปว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในการบริหาร เพราะไม่เห็นผลงาน การให้คุณชายชูนโยบายทุกวันนี้จึงเป็นงานประจำ ให้มีภาพและเป็นข่าว

2. เสริมจุดอ่อนเรื่องตัวบุคคล มีคนบางกลุ่มสรุปว่าที่คะแนนไม่ดี เป็นเพราะตัวคุณชายเอง แต่ไม่เคยโทษพฤติกรรมหรือแนวทางการเมืองของพรรคตลอด 6-7 ปี ที่ผ่านมา ว่าทำให้ประชาชนรู้สึกอย่างไร ในการหาเสียงช่วงนี้ บางจุดจึงใช้คนอื่นเช่นผู้ว่าฯ อภิรักษ์ นายกฯ อภิสิทธิ์หรือ ส.ส. จากภาคใต้ โดยคิดว่าจะได้คะแนนเท่ากับหรือดีกว่า ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ในเชิงปริมาณอาจใช่ แต่มองอีกด้านหนึ่งเหมือนลดความสำคัญผู้สมัครลงไป
ที่จริงคุณชายพูดชัดเจนว่าที่อยู่ในพรรคทุกวันนี้ ไม่หนีไปไหน เพราะเชื่อมั่นอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย และที่บอกว่าอย่ามาดูถูกผม เพราะคุณชายไม่เคยคิดหักหลังพรรค แม้จะน้อยใจต่อเสียงดูถูกดูแคลนของคนบางกลุ่มที่นินทาลับหลัง ไม่ว่าเรื่องการกินการอยู่ การนอน ความคิด การพูดจา คุณชายอาจรู้สึกเจ็บใจที่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่แล้ว เสี่ยงช่วยจนพลิกกลับมาชนะการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ได้หลายเขต แต่ผ่านมาถึงวันนี้ คนพวกนั้นกลับลืมความสามารถและความช่วยเหลือครั้งนั้นไปแล้ว

ทีมงานแก้ไข โดยใช้แกนนำพรรคที่เด่น ดัง หล่อ เข้าเสริมการหาเสียง และให้ผู้อาวุโสของพรรค ภาพในจอทีวีทุกวันนี้จึงเห็นการโชว์ตัวอภิสิทธิ์และอภิรักษ์มากขึ้น อาจจะมากกว่าผู้สมัครเสียอีก

3. ต้องหาเสียงจากจุดแข็ง คือใช้การเมือง สร้างความนิยมในกลุ่มคนที่มีแนวทางการเมืองเดียวกัน เก็บคะแนนจากคนที่เลือกข้างแล้ว ช่วงเวลานี้จึงคล้ายกับการเลือกตั้งใหญ่ จำเป็นต้องใช้ไม้เด็ดทางการเมือง ภายใต้วาทกรรม เผาบ้านเผาเมือง ทักษิณจะยึดกรุงเทพฯ หรือกล่าวหาอะไรที่แรงๆ แบบไม่ให้แก้ตัวทัน ซึ่งคาดว่าจะใช้แผนนี้ ก่อนเลือกตั้ง 2-3 วัน

ซึ่งดูเหมือน สุเทพ เทือกสุบรรณ จะทำหน้าที่ในการทดลองแผนนี้แล้ว โดยหวังว่าจะทำให้คนกรุงเทพฯ ลืมฝีมือบริหารช่วง 8 ปีกว่าของ ปชป. หวังให้คนกรุงเลือกโดยใช้การแบ่งสีแบ่งข้างมากกว่าให้ดูผลงานและนโยบายและตัวบุคคล

4. รุกทำคะแนนจากการจัดตั้ง หกสิบกว่าปีของการวางรากฐานพรรค ปชป. ตั้งแต่ นายควง อภัยวงค์ จนถึงปัจจุบัน รากฐานการจัดตั้งของพรรคที่เก่าแก่ที่สุด คือกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในชุมชนเก่าแก่ของเมืองกรุง การทำคะแนนในวันจริงจากสายงานของพรรคเป็นจริงที่สุด แน่นอนกว่ากระแสการเมืองซึ่งไม่รู้ว่าที่ชอบ ที่เชียร์ ถึงวันจริงจะออกมาลงคะแนนหรือไม่

ที่สำคัญคราวนี้ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า จะหวังตัวช่วยอื่นๆ คงมีโอกาสน้อย ดังนั้น จึงมีการระดมกำลังหัวคะแนน และกำลังจัดตั้งอย่างเต็มที่

สมาชิกพรรค, ส.ส., ส.ก. และ ส.ข. ของ ปชป. มีเป็นจำนวนมาก และได้ทำงานกับชุมชนต่างๆ ให้บริการมาแล้ว ติดต่อกัน 8 ปี จนรู้จักกันแบบเทศบาลต่างจังหวัด เอาเก้าอี้ไปช่วยเวลามีงาน มีงบประมาณช่วยปัญหาชุมชน พาไปสัมมนาชายทะเล ฯลฯ สภาพแบบนี้เหนือกว่าเพื่อไทยมาก นี่อาจเป็นการใช้ทรัพยากรใกล้เคียงหรือมากกว่า ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2554 ถ้านับเฉพาะเขต กทม.


โดยสรุป ปชป. เชื่อว่าการประโคมเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านวาทกรรมต่างๆ จะดึงคะแนนฐานเสียงเดิมไว้ ซึ่งแน่นอนว่าฐานเสียงเชิงอุดมการณ์แบบบลูสกายไม่ไปไหนแน่ 

ทีมวิเคราะห์ประเมินว่าจะมีประมาณ 5 แสน ส่วนการใช้คะแนนจัดตั้งจากชุมชนต่างๆ คนส่วนนี้มีจำนวนไม่น้อย น่าจะได้คะแนนเป็นหลักแสน แต่คะแนนส่วนนี้ อาจซ้ำซ้อนกับคะแนนบลูสกาย 
วันนี้ทีมงานหาเสียง ปชป. ทำงานหนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ผลจะเป็นอย่างไรไม่รู้

ช่วงสุดท้ายของการศึก ปชป. กำลังท้าทายคนกรุงเทพฯ ให้ใช้ความคิดตัดสินใจเลือกระหว่างความกลัวทักษิณกับความต้องการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ (แต่คนบางกลุ่มอาจกลัว ปชป. มากกว่าก็ได้)



เพื่อไทยยังขายความเชื่อมั่น ขายนโยบาย

การแพ้หรือชนะของพงศพัศ มีผลโดยตรงต่อการบริหารงานของรัฐบาลในขอบเขต กทม. และปริมณฑล เพราะสภาพจริงของพื้นที่ทั้งหมดเหมือนเมืองเดียวกันแล้ว เวลารถติดก็ติดข้ามจังหวัด การแก้ปัญหาต่างๆ จึงต้องคิดแบบต่อเนื่อง

ซึ่งตรงนี้แหละที่ทั้งคนกรุง และจังหวัดรอบๆ หวังให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ และรัฐบาลแก้ไข การโฆษณานโยบายจึงได้ผล แต่คนรอบ กทม. ไม่มีสิทธิลงคะแนน อย่างมากก็ช่วยเชียร์ให้คนรอบข้างเห็นด้วย

วันนี้เพื่อไทยเดินตามยุทธศาสตร์ และทำทุกอย่างไปตามแผน ตามขั้นตอนที่วางไว้ ทีมวิเคราะห์มองว่าเพื่อไทยจะขี่กระแสไปจนถึงวันหย่อนบัตร มีการปรับยุทธวิธีเพียงเล็กน้อยที่ทำได้ตอนนี้คือ

1. เพิ่มบทบาทนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในการหาเสียง เช่นเดียวกับแกนนำ ปชป. ดังนั้น พงศพัศ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะต้องเรียกร้องให้คนกรุงเทพฯ ออกมาลงคะแนนให้มากที่สุด เพื่อดึงคะแนนคนกลางๆ และคนที่อยากเปลี่ยนแปลง กทม.

2. เน้นการโชว์นโยบาย ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ทำได้ และจะทำในอีกไม่นานนี้ แม้ยากก็จะประสานกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ได้ ถ้าถามประชาชน วันนี้พวกเขาจะบอกว่า พงศพัศอาจจะขยัน แต่ทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพื่อไทยที่จะสนับสนุนจนนำนโยบายมาปฏิบัติได้สำเร็จ นี่เป็นสิ่งที่เหนือกว่า ปชป. และจะทำคะแนนจากคนกลางๆ ได้มากขึ้น

3. การใช้กำลังภาคพื้นดินเพียงเพื่อกระตุ้นการลงไปลงคะแนน ส่วนคะแนนจัดตั้งหวังจาก ส.ส., ส.ก., ส.ข. ได้บ้างแต่มีกำลังน้อยกว่า ปชป. หลายเท่า หวังจากเสื้อแดงได้อีกจำนวนหนึ่งแต่จะได้มากน้อยแค่ไหนไม่รู้ เพราะตอนนี้มีการงอนกันเล็กน้อย ที่จริงทุกคนก็รู้ว่าถ้าชนะจะเป็นผลดีทางการบริหารและการเมือง ดังนั้น คะแนนจากส่วนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน

4. เฝ้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ให้บริสุทธิ์ ยุติธรรมที่สุด จับตาทุกหน่วยเลือกตั้งทุกช่วงเวลา โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงสุดท้าย และต้องระวังการถูกวางยา ทุกรูปแบบ จะได้ไม่มีการมาฟ้องร้องกันทีหลัง

เลขาฯ พรรค คุณภูมิธรรม เวชยชัย และกรรมการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องเลือกตั้ง กทม.ทำอย่างเต็มกำลังได้เท่านี้ แม้นายกฯ ยิ่งลักษณ์และ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ เพราะนี่เป็นการเลือกตั้งผู้บริหารเมืองใหญ่ จึงต้องฝากการชี้ชะตาไว้กับความคิดของคน กทม. ซึ่งมีการศึกษาสูงสุด รับรู้ข่าวสารมากสุด

เพียงแต่ต้องคอยลุ้นว่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิมากพอที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่



ประเมินผลการศึก กทม. ช่วงสุดท้าย

ประเมินผู้มาใช้สิทธิ 53-62% ประมาณ 2.3-2.6 ล้านคน แม้ดูว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้คึกคัก แต่ทีมวิเคราะห์ดูจากข้อมูลการเลือกผู้ว่าฯ ในอดีต เทียบกับการเลือกตั้งใหญ่ 2554 ที่คึกคักมากกว่า ดังนั้น การประเมินความตื่นตัวของผู้มาใช้สิทธิขั้นสูงจึงน่าจะอยู่ที่ 60% ไม่ใช่ 70% อย่างที่ กกต. ตั้งเป้า

แม้คนกรุงเทพฯ มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ อยู่จังหวัดเดียว 4 ล้านกว่าคน แต่ที่ผ่านมามีเพียงครั้งเดียว ที่คะแนนของผู้ชนะถึงล้าน เป็นของผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช จึงเป็นสถิติที่ไม่สวยเท่าไรสำหรับ กทม. ครั้งนี้จึงหวังว่าคนจะมาใช้สิทธิถึง 60% และได้ผู้ว่าฯ ที่คะแนนเกินล้านอีกครั้ง

ที่จริงตลอดทั้งชีวิตคนเราจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่กี่ครั้ง และการใช้เหตุผลในการเลือกจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดอนาคตและวิถีชีวิตของประชาชนทั้งหมด แต่พวกเราชอบคิดว่านี่เป็นสิทธิของเราจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ซึ่งถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะถ้าไม่ใช้อาจมีคนอื่นมาใช้แทน หรือผลการเลือกอาจเปลี่ยนไป อาจทำให้นโยบายที่ดีไม่เกิด เช่นรถไฟฟ้าที่จะผ่านหน้าบ้านไม่ได้สร้าง ไม่อยากได้ Sky walk 30,000 ล้านก็อาจจะได้


คะแนนของผู้สมัคร

คาดว่าผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. น่าจะมีคะแนน 1,060,000-1,200,000 คะแนน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้สิทธิ 

คะแนนของผู้สมัครอิสระ บวกกับคะแนนกับตัวประกอบอื่นน่าจะมีถึง 6-700,000 คะแนน
คะแนนของผู้สมัครอิสระ มีความหมายทางการเมือง เพราะพันธมิตรหนุนเต็มตัว ส่ง ประพันธ์ คูณมี ลงเป็นรองผู้ว่าฯ ถ้าได้คะแนนถึง 300,000 ถือว่าแจ่ม เป็นการปูฐานทางการเมืองของผู้สมัครนั้น และแสดงว่า พันธมิตร ยังมีคนเชียร์อยู่ ตอนนี้วิเคราะห์ตามโพลจะได้คะแนน 180,000-200,000 ถึงวันเลือกอาจได้มากขึ้น

มีวิธีการวิเคราะห์และคำนวณคะแนนทุกตำแหน่งมีหลักการเหตุผลที่อธิบายได้ ซึ่งต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์และผลการสำรวจของสำนักต่างๆ



ความรู้สึกของประชาชน...

"เราชื่นชมผู้สมัครทุกคนที่มาร่วมในการแข่งขันแบบประชาธิปไตย เราไม่ได้ดูถูกใคร แต่เราให้โอกาส มา 4 ปี 8 ปี แล้ว ยังไม่รู้สึกว่าบ้านเมืองดีขึ้น ไอ้เรื่องที่แย่ๆ ไม่อยากไปพูดถึง คราวนี้ควรให้โอกาสคนอื่นลองทำดูบ้าง อย่าเอาความกลัวทักษิณ หรือความขัดแย้งการเมือง มาขู่ชาวบ้านเลย คนที่ชนะเลือกตั้งไม่ใช่พวกปล้น กทม. มีแต่ชนะเลือกตั้งแล้วถูกปล้น ปล้นทั้งประเทศก็ทำมาแล้ว"

"แต่พวกเราเป็นคนธรรมดาที่อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น เราไม่ใช่คนโง่ รู้จักดูคน ดูผลงาน ดูพรรค ดูนโยบาย รู้ว่าอะไรพอทำได้บ้าง อะไรทำได้ยาก พวกเราไม่เคยหวังว่าจะได้คนที่เก่งกาจมาเนรมิตเมืองในฝัน"

ภายในช่วงเวลาสั้นๆ พวกเราอยากได้คนเก่งพอประมาณ มีความตั้งใจ อดทนที่จะแก้ปัญหา ไม่โกง มีกำลังสนับสนุนที่จะทำงานตามนโยบายให้ได้ซักครึ่งเดียวก็พอ"



.
Admin ไม่สามารถเข้าถึงบทความประจำที่นำเสนอมาร่วม 2ปีเสียแล้ว จึงจะไม่ได้เสนอครบถ้วนเหมือนเคย ..ขออภัยผู้ติดตามทุกท่านด้วย