http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-04-25

แผนซ้อนแผน ชิงรัฏฐาธิปัตย์..ไม่มีชัยชนะบนความตาย โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

แผนซ้อนแผน ชิงรัฏฐาธิปัตย์..ไม่มีชัยชนะบนความตาย
โดย มุกดา สุวรรณชาติ
  คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1398404038
. . วันศุกร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 12:42:53 น.

( ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ประจำ 18-24 เม.ย.57 ปี34 ฉ.1757 หน้า 20 )


ตั้งแต่ปี 2548 มีคนคิดอยากเป็น รัฏฐาธิปัตย์ อย่างต่อเนื่อง ยาวนาน เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ จึงวางแผนคิดการใหญ่
แต่แนวทางที่เดิน สร้างปัญหามากมายให้กับตนเองและประเทศ
เมื่อแผนแรกพลาด ก็ใช้แผนสองแก้
ยิ่งผิด ยิ่งแก้ ความขัดแย้งยิ่งขยาย



เลือกแนวทางชิงรัฏฐาธิปัตย์...
ถูกหรือผิด


แผนแรกที่ผิดพลาดของกลุ่มอำนาจเก่า คือการตัดสินใจทำการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ต้องเรียกว่าเป็นการดันทุรัง ฝืนโลก
แต่ประชาชนก็ไม่ยอมรับรัฏฐาธิปัตย์...ของคณะ คมช. จึงต้องรีบเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็แพ้เหมือนเดิม

ผิดคราวนี้สร้างศัตรูขึ้นเป็นล้านๆ คน สูญเสียการยอมรับจากนานาชาติ


ต้องใช้แผนสองที่วางซ้อนไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ในปลายปี 2551 เพื่อโค่นรัฐบาลและยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นการดึงเอาตุลาการ และองค์กรอิสระ มาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมือง ความยุติธรรมก็ต้องเปลี่ยนไปตามสี ตามฝ่าย

รัฏฐาธิปัตย์ แปลงขั้วในค่ายทหาร โดนต่อต้านอีกครั้ง และก็แก้ไขโดยการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธสงครามในปี 2553

ความผิดพลาดครั้งนี้ จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการยอมเปิดการเลือกตั้ง ในปี 2554 และก็แพ้อีกครั้ง


8 ปีผ่านไปพวกเขาสรุปว่า การใช้แผนยึดอำนาจด้วยกำลังและกฎหมาย เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะได้อำนาจจริง

แต่การยอมรับการเลือกตั้งหลังถูกกดดันเป็นแนวทางที่ผิด เพราะแพ้ทุกครั้ง
ดังนั้น ต้องยึดอำนาจอีกครั้ง แต่จะไม่ยอมให้มีเลือกตั้งอีกแล้ว


นักวิเคราะห์มองว่าเดินแนวทางผิด แต่เสนาธิการกลุ่มอำนาจเก่ามองว่าถูก อาจเป็นเพราะมีจุดยืนต่างกัน พวกเขามีผลประโยชน์มหาศาลต้องปกป้อง ทำให้คิดเสี่ยงกับความเสียหายโดยรวมของประเทศ



แผนชั้นที่หนึ่ง
เป่านกหวีด ให้มะม่วง รัฏฐาธิปัตย์ หล่น


แผนยึดอำนาจครั้งที่สาม เป็นแผนกึ่งจริง กึ่งหลอก ที่เหมือนเดิมคือไม่ปลูกมะม่วง แต่จะสอยมะม่วงบ้านคนอื่นซึ่งไม่ง่าย จึงต้องคิดแผนการช่วงชิงรัฏฐาธิปัตย์ ซ้อนไว้หลายแผน หลายขั้น

1. ขั้นแรกเแผนทดสอบหยั่งกำลังตลอดทั้งปี 2556 ฝ่าย นปช. ไม่ตอบโต้   เมื่อโอกาสเปิดตอน พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอย กำลังแนวร่วมที่เตรียมไว้หลายปี (และผ่านการวัดปริมาณเมื่อครั้งเลือกผู้ว่าฯ กทม.) ก็ถูกระดมออกมา

มีหลายช่วงเวลาที่มวลชนออกมามาก จนแกนนำ กปปส. คิดอยากจะยึดอำนาจจริงๆ

แกนนำบางคนที่แอบซ่อนอยู่ข้างหลังรีบโดดขึ้นเวที เพราะคิดว่าอีกไม่เกิน 3 วัน ชนะแน่นอน

แต่เป้าหมายของมวลชนส่วนใหญ่คือคัดค้านการนิรโทษกรรมสุดซอย
พอเปลี่ยนไปไล่รัฐบาล คนก็น้อยลง และโดนแก้เกมด้วยการยุบสภา
เมื่อไปขัดขวางการเลือกตั้งใหม่ คนยิ่งน้อยลงไปอีก


สุดท้ายก็คิดจะจบด้วยการปิดกรุงเทพฯ ปิดถนน ปิดเมือง ปิดสถานที่ราชการ เลียนแบบกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดสนามบิน แต่ สนธิ ลิ้มทองกุล ในวันนั้นอ่านสถานการณ์เฉพาะหน้าขาดกว่าสุเทพ และแกนนำ กปปส. วันนี้

หันไปสำรวจอีกครั้ง ก็พบว่าคนที่แขวนนกหวีดเหลือน้อยมากแล้ว การยึดอำนาจด้วยตนเองเป็นไปไม่ได้


2. ขั้นที่สองเมื่อชายชุดเขียวก็ไม่ออกมาช่วย มีแค่มือปืนป๊อปคอร์น ใครๆ ก็รู้ว่าต้องใช้องค์กรอิสระและศาลธรรมนูญทำการปลดนายกรัฐมนตรี หรือปลดนายกฯ และ ครม. ทั้งคณะ

เช่น เรื่องการย้ายเลขา สมช. เพื่อให้เกิดช่องว่างในอำนาจการบริหาร

ขณะที่อำนาจนิติบัญญัติเกิดช่องว่างเหลือเพียงวุฒิสภาซึ่งยังไม่สมบูรณ์การชี้ขาดใดๆ ที่ต้องใช้อำนาจของรัฐสภาอาจทำไม่ได้ แต่เรื่องใดที่ใช้อำนาจวุฒิสภาก็อาจมีการจัดการ เช่น การถอดถอนนายกฯ หรือประธานรัฐสภา

สุเทพจึงต้องนัดมวลชน กปปส. มาชุมนุมใหญ่ หลังสงกรานต์ในจังหวะที่ศาลและองค์กรอิสระจะมีการประกาศชี้มูลความผิดหรือตัดสินเพื่อปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และ ครม. แต่หลังจากถูก นปช. เปิดชื่อขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าและยอมรับอย่างเปิดเผยว่าจะเป็นนายกฯ ด้วยวิธีพิเศษ และไม่มีใครยอมรับเป็นตัวแทนที่จะเสนอชื่อนายกฯ คนใหม่ขึ้นไปให้โปรดเกล้าฯ

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีคนกลางๆ มารับงาน นอกจากคนภายในกลุ่มที่ร่วมวางแผนกันมา

สุเทพจึงสรุปว่า...จะเกิดช่องว่างของอำนาจรัฐและ กปปส. ถือว่ามีกำลังมากที่สุด ลุงกำนันในฐานะที่เป็นคณะที่ยึดอำนาจจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตั้งนายกรัฐมนตรี ตั้งสภานิติบัญญัติของประชาชน จะออกกฎหมายยึดทรัพย์ จับกุมลงโทษ ฯลฯ ปฏิรูปการเมืองการปกครอง

ส่วนเรื่องการกำหนดเวลา ว่าจะไม่เกินสิ้นเดือนเมษายน จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมาบังคับ ความเหมาะสมของสถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด

ถ้าเป็นปี 2551 ก็จะจบแบบนี้ แต่ปีนี้ 2557 การต่อต้านมีแน่

นี่จึงเป็นแค่แผนชั้นแรก



แผนชั้นที่สอง
โค่นต้นมะม่วง... ด้วยขวานคู่


3. ขั้นที่สาม เมื่อเป่านกหวีดจนหมดลม แต่มะม่วงไม่หล่น ก็ต้องใช้ขวานองค์กรอิสระหรือศาลรัฐธรรมนูญ โค่นต้น แล้วฉวยโอกาสอ้างตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์

แม้ไม่เป็นที่ยอมรับ แต่ก็จะหาพรรคพวก กปปส. ที่เป็นข้าราชการ มารายงานตัว และใช้สื่อสร้างกระแสให้คนยอมรับ

ถ้ากำลังที่ต่อต้านไม่เพียงพอและมีแรงหนุนจากอำนาจลึกลับก็มีโอกาสฟลุก ที่จะมีอำนาจปกครองไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้มีครบทั้ง อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และอำนาจตุลาการ

แผนนี้จะบีบบังคับให้ นปช. และแนวร่วมอื่นๆ ต้องจัดกำลังขึ้นมาต่อต้าน (ซึ่งเตรียมนัดกันแล้ว) ตามหัวเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ ต่างฝ่ายก็อ้างเป็นตัวแทนประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เรียกร้องให้ประชาชนส่วนใหญ่และนานาชาติยอมรับอำนาจการปกครองของตนเอง

จะมีการปะทะเกิดขึ้นในหลายเมืองโดยเฉพาะรอบๆ กรุงเทพฯ


4. ขั้นที่สี่ ถึงเวลาที่ต้องใช้ขวานอันที่สองของทหาร เพราะความวุ่นวายจากการปะทะของคนสองกลุ่ม สามารถเกิดได้หลายระดับและมีเขตพื้นที่กว้างขวาง คาดว่าจะเกิดในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดจะมีหลายเมือง และค่อยขยายออกไป

ถนนหนทางที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ อาจใช้ไม่ได้เพราะการปะทะกัน

การทำธุรกิจทั้งภาคบริการและอุตสาหกรรมก็จะหยุดชะงัก

ดังนั้น ก็จะถึงจุดที่ทหารจะต้องออกมาแก้ไขสถานการณ์ โดยอาจจะประกาศกฎอัยการศึกและเคลียร์พื้นที่ขัดแย้งให้เกิดความสงบ จากนั้น ก็จะประกาศไม่ยอมรับอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของทั้งสองฝ่าย และขอตั้งนายกฯ พิเศษ (อีกคนหนึ่ง) เพื่อเข้ามาแก้ปัญหา

ดังนั้น อาจมีช่วงเวลาหนึ่งที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน


5. ถึงขั้นนี้การมีนายกฯ จากการแต่งตั้ง ก็จะเป็นจริง (แต่จะอยู่ได้นานกี่วันไม่รู้) และนายกฯ แต่งตั้งก็ประกาศว่าก็จะอยู่ชั่วคราวเพื่อเคลียร์สถานการณ์ให้สงบ ประกาศปรับปรุง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง เลือกตั้งใหม่ในเร็ววัน จะมีการตั้งสภาใหม่อีกครั้งซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นสภาชั่วคราวเพื่อความสามัคคีและการปฏิรูป เมื่อแผนเดินมาถึงตรงนี้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของ กปปส.

แต่แผนสองที่วางไว้ก็ใช่ว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย เพราะคนไทยยุคใหม่ไม่ใช่คนโง่ การประกาศว่าจะปฏิรูปการเมืองหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีบทเรียนมาแล้วหลังพฤษภาทมิฬ 2535 ครั้งนั้นต้องใช้เวลาถึง 5 ปี

ดังนั้น เรื่องที่จะยอมให้มีรัฐบาลชั่วคราว สภานิติบัญญัติชั่วคราว โดยการตั้งกันเองจึงไม่มีใครยอมให้ถูกหลอกง่ายๆ



เมื่อหมดหนทางปฏิรูป
แม้ไม่มีแผนก็เหลือแต่การปฏิวัติ


6. โอกาสเดียวที่จะตกลงกันได้คือเมื่อสลายอำนาจของสองฝั่งได้ เคลียร์เหตุการณ์ให้สงบลงได้ต้องประกาศการเลือกตั้งตัวแทนการปฏิรูปจากประชาชนทั้งประเทศทันที เพื่อหารัฐบาลและสภาเพื่อการปฏิรูปโดยให้แล้วเสร็จไม่เกิน 60 วัน ผ่านการเลือกจากประชาชนทั้งประเทศ

แต่กลุ่มอำนาจเก่า ไม่มีทางยอมเลือกตั้ง เพราะผิดแนวทาง

ดังนั้น ผู้ยึดอำนาจด้วยกำลัง ก็จะยืนยันที่รักษาอำนาจและตั้งตนเองเป็นรัฏฐาธิปัตย์ กลุ่มของสุเทพจะยอม แต่ของฝ่ายประชาธิปไตยและคนเสื้อแดง จะไม่ยอม เมื่อไม่เลือกตั้ง ก็ต้องต่อสู้


7. ปฏิวัติประชาชนจริงๆ จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ การปฏิวัติประชาชนที่สุเทพเคยประกาศ หลุดจากมือ กปปส. ไปนานแล้ว จะไปเกิดอีกครั้งในกองกำลังของฝ่ายประชาธิปไตย

แม้ไม่ได้วางแผนซ้อนเพื่อการปฏิวัติ แต่การปฏิวัติก็จะเกิดขึ้น

เพราะในความเป็นจริง การชิงรัฏฐาธิปัตย์ ไม่สามารถตัดสินด้วยการแข่งกันชุมนุมสำแดงพลังว่าใครมากกว่า ไม่สามารถตั้งแถว ชักเย่อ ว่าใครชนะ ถ้ายอมรับกติกาได้ ก็ใช้การเลือกตั้งก็ตัดสินได้นานแล้ว เมื่อไม่ยอมรับกติกาก็สู้แบบไร้กติกา


การต่อสู้จะขยายไปเรื่อยๆ คำว่า จบ คำว่าเด็ดขาด ไม่มีทางเกิดขึ้น การมีสองอำนาจจะมีดำรงอยู่และจากมวลชนธรรมดาต่างฝ่ายก็จะมีทหารเป็นของตัวเองสภาพการเป็นอยู่ของสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะเดือดร้อนมาก จนต้องอพยพไปต่างจังหวัด แบบเบาๆ ที่เห็นคือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ที่จะเกิดในอนาคตจะหนักกว่านั้นหลายเท่า กินพื้นที่กว้างขวางหลายสิบจังหวัด ไม่มีความปลอดภัยใดๆ ให้กับประชาชนแม้แต่กำลังทหารที่เคลื่อนออกนอกพื้นที่

ถ้าการต่อสู้ยังดำเนินอยู่ ไม่ว่าฝ่ายใดก็จะไม่สามารถปกครองทั้งประเทศได้ ส่วนประชาชนมีมากเจ๊งมาก มีน้อยเจ๊งน้อย



ความสงบจะเกิดจากการเจรจาเท่านั้นแต่ไม่มีใครสามารถไปบังคับใครให้รักกันได้ เหลือเพียงความยากลำบาก ความเดือดร้อน ความตาย จะบีบบังคับให้คนทุกฝ่าย ทุกชั้น เริ่มหันมามองแนวทางประนีประนอม แล้วก็จะบีบบังคับให้ทุกฝ่ายเปิดการเจรจา

ถ้าไม่ยอมยุติสงคราม คนไทยทั้งประเทศจะเหมือนอยู่ในรถบัสท่องเที่ยวที่กลิ้งตกเหวลึก  ในกองเลือดและซากศพ จะไม่มีใครนึกถึงจุดหมาย ชายทะเล และเกลียวคลื่น นอกจากจะหนีให้พ้นความตาย



................................
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly




.