http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-04-07

เงาและเครื่องมือ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เงาและเครื่องมือ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1396869412
. . วันจันทร์ที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:30:01 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 7 เมษายน 2557 )


คุณ "ใบตองแห้ง" ตั้งคำถามหลังประกาศผลเลือกตั้ง ส.ว.ว่า เสื้อแดงหายไปไหน และตั้งข้อสังเกตว่าคงไม่มีใครรู้ว่าผู้สมัครรายใดที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย
ตรงกันข้ามกับผู้สมัครใน กทม.ของ กปปส.ซึ่งได้รับการแนะนำบนเวทีเลยว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถควบคุมตรวจสอบการทุจริตของรัฐได้ดี

อันที่จริง พลพรรคเสื้อแดงไม่ได้ส่งให้ผู้สมัครของเพื่อไทยเข้าสู่ตำแหน่งนับตั้งแต่การเลือกตั้งใหญ่ใน พ.ศ.2554 มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หรืออื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ก็น่าสังเกตด้วยว่า ผู้สมัครในนามของพรรคเพื่อไทยหรือผู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากเพื่อไทย ชนะในการเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง แม้แต่นายกเทศมนตรีของเมืองใหญ่ในภาคใต้บางแห่ง ก็มีรายงานว่าได้รับการสนับสนุนจากเพื่อไทย


ดูเหมือนจะแสดงว่า พลังในการจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้งของเสื้อแดงนั้น (หากจะมี) ก็มีผลเฉพาะในระดับท้องถิ่น เมื่อผู้สมัครมีความสัมพันธ์โดยตรงกับองค์กรและเครือข่ายของเสื้อแดงในท้องถิ่นเท่านั้น ไม่สามารถขยายไปเชื่อมโยงกันในระดับที่กว้างกว่านั้นได้มากนัก ตรงกับที่นักร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คาดหวังไว้ว่า หากจัดการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตรวมเบอร์ เขตเลือกตั้งก็จะใหญ่เกินกว่าองค์กรประชาชนในท้องถิ่นจะสามารถเป็นพลังชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้

ผมควรเตือนไว้ด้วยว่า การจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้ง กับการจัดองค์กรเพื่อการอื่น (เช่นต่อต้านเขื่อน, โรงไฟฟ้า, บ่อขยะ, โรงงาน, หรืออนุรักษ์ป่าชุมชน ซึ่งมีผลกระทบต่อท้องถิ่นโดยตรง) นั้น แตกต่างกันมาก ว่าไปแล้ว เรายังไม่เคยเห็นการจัดองค์กรภาคประชาชนในท้องถิ่นเพื่อการต่อรองผ่านการเลือกตั้งเลย เพราะโครงสร้างการบริหารของรัฐรวมศูนย์เสียจนการต่อรองผ่านการมี ส.ส.ของผลประโยชน์ท้องถิ่นเดียว ไม่มีผลต่อการวางนโยบายสาธารณะแต่อย่างไร

พรรคเพื่อไทยและพลังประชาชนได้คะแนนอย่างท่วมท้นจากเสื้อแดง ไม่ใช่โดยผ่านการจัดองค์กรของภาคประชาชนหรือของพรรค (ขบวนการเสื้อแดง) แต่เป็นการตอบสนองของประชาชนต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าทางการเมือง ฉะนั้นหากปราศจากการปลุกปั่นให้เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าทางการเมือง ผมเชื่อว่าในระยะยาวแล้ว พรรคการเมืองอื่น (ยกเว้น ปชป.) ก็อาจแทรกเข้ามาใช้ขบวนการเสื้อแดงในท้องถิ่น เพื่อเป็นฐานคะแนนของตนเองได้เหมือนกัน


ทั้งหมดที่ผมพูดมาถึงตรงนี้ ก็เพื่อจะบอกว่า เอาเข้าจริงทั้งขบวนการเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยนั้น อ่อนแอทางการเมืองระดับชาติอย่างมาก คือมากกว่าที่เสื้อแดงและเพื่อไทยประเมินตนเอง และมากกว่าที่ศัตรูของเสื้อแดงและเพื่อไทยประเมินให้

หากยุบสภาแล้ว มีการเลือกตั้งโดยปกติ เพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะร่าง พ.ร.บ.เหมาเข่งเหยียบย่ำเสื้อแดงซึ่งคือเหยื่อที่แท้จริงมากเสียกว่าเหยียบย่ำศัตรูทักษิณ การจัดองค์กรของขบวนการซึ่งหลวมอย่างมากอยู่แล้ว แทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ หลังร่าง พ.ร.บ.ถูกนำเข้าสภา แต่ผมออกจะเชื่อด้วยว่า คะแนนเสียงของเพื่อไทยซึ่งสูญเสียไปในหมู่เสื้อแดงจะไม่ตกแก่พรรค ปชป. แต่จะตกแก่พรรคเล็กอื่นๆ ต่างหาก และนั่นคือเหตุผลหลักที่ กปปส.ไม่ยอมกลับบ้านหลังยุบสภา

(ขอออกนอกเรื่อง เพื่อเตือนพวก "อำมาตย์" ไว้ด้วยว่า อย่านึกเป็นอันขาดว่าจะสามารถใช้พรรคการเมืองใดเป็น "เครื่องมือ" ของตนเองได้ฝ่ายเดียว ในโลกนี้ไม่มีใครเป็นไขควงของใครได้ตลอดไป พรรคการเมืองก็อาจใช้ความอ่อนโลกของ "อำมาตย์" เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคตนเองได้เหมือนกัน เช่นในที่สุดเครือข่ายอำมาตย์กลับต้องเดินตามเกมของ กปปส.มากกว่ากลับกัน)



ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า ขบวนการเสื้อแดงไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อจัดองค์กรสำหรับการเลือกตั้ง แต่เกิดขึ้นเพื่อคัดค้านการรัฐประหารใน พ.ศ.2549 และเรียกร้องสิทธิความยุติธรรมให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งสองเป้าหมายดึงดูดผู้สนับสนุนได้จำนวนมาก ทั้งแฟนและไม่ใช่แฟนทักษิณ เหตุการณ์หลังจากนั้นยิ่งทำให้

ขบวนการเสื้อแดงมีการรวมตัวกันอย่างกว้างขวาง โดยไม่จำเป็นต้องจัดองค์กรเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคใด แต่ก็นับเป็นโชคดีของขบวนการเสื้อแดงที่การเลือกตั้งถูกทำให้ไร้ความหมายลงไปเรื่อยๆ ความจำเป็นที่จะต้องจัดองค์กรเพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งจึงไม่มี

สรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ พลังของขบวนการเสื้อแดงมาจากความอยุติธรรมที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นในสังคม ผมอยากจะย้ำว่าเป็นความอยุติธรรมตื้นๆ ด้วย กล่าวคือไม่ใช่ลึกระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-การเมือง เช่นลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างภาษี, การถือครองที่ดิน, หรือการกระจายอำนาจและทรัพยากรสู่ชนบทอย่างแท้จริง ฯลฯ อันอาจกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ขบวนการเสื้อแดงไม่เคยเรียกร้องสิ่งเหล่านี้ ได้แต่เรียกร้องให้เคารพการตัดสินใจทางการเมืองของตนผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น

ดังนั้น หากประเทศไทยมีการเลือกตั้งไปตามปกติ โดยไม่มีอำนาจอื่นมาขัดขวางการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน ผมเชื่อว่าขบวนการเสื้อแดงก็จะค่อยๆ หมดพลังทางการเมืองลงไปเอง พรรคการเมืองที่สนับสนุนคุณทักษิณอาจได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ แต่ก็จะไม่มีพลังมวลชนหนุนหลังอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จะถูกองค์กรอิสระและวุฒิสภาถ่วงดุลอำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น (โดยไม่ต้องเบี้ยวให้เสียความเป็นธรรม) หากไม่ปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับของสังคมในเวลาอันควร ก็จะแพ้เลือกตั้งไปไม่นานเอง


ไม่ใช่แต่ขบวนการเสื้อแดงเท่านั้น แม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็หาได้มีความเข้มแข็งทางการเมืองเรื่องเลือกตั้งมากนัก ปราศจากบรรยากาศแห่งความอยุติธรรมที่ครอบงำการเมืองมาหลายปี ผู้คนคงไม่พากันเทคะแนนให้พรรคเพื่อไทย (หรือพลังประชาชน) อย่างที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยมีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจอย่างมาก ร้ายไปกว่าเฉพาะกิจด้วยซ้ำ เพราะ "กิจ" ที่ตนคิดว่าต้องทำเป็นการเฉพาะนั้นคืออะไร ผมสงสัยว่าพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ แม้แต่ที่ได้รับเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้นเพราะอะไร ผมก็สงสัยเหมือนกันว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยรู้ และไม่เคยพยายามจะวิเคราะห์ด้วยข้อมูลความรู้ว่า เหตุผลที่ทำให้ชนะเลือกตั้งนั้นคืออะไร เป็นเหตุผลที่มีความยั่งยืนทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน

เพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองตัวแทนของคนกลุ่มไหนกันแน่ หากคิดว่าเป็นตัวแทนของผลประโยชน์คนชนบท เหตุใดจึงไม่รอบคอบกับนโยบายที่หวังจะได้คะแนนจากชนบท เช่นโครงการรับจำนำข้าว หากคิดจะหาคะแนนจากคนชั้นกลางระดับล่าง เหตุใดจึงไม่มีเป้าหมายระยะยาวแก่โครงการรถคันแรกมากไปกว่าเพิ่มยอดขาย ฯลฯ ถึงที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทยเก็บคะแนนจากคนที่ไม่พอใจการจัดการทางการเมืองของชนชั้นนำเท่านั้น โดยตนเองก็ไม่มีแผนการเปลี่ยนแปลงการจัดการทางการเมืองใดๆ ขึ้นมาทดแทน

พรรคการเมืองแบบนี้ตั้งอยู่ไม่ได้หรอก หากชนชั้นนำไม่ช่วยสร้างเงื่อนไขทางการเมืองจนคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเลือกพรรคที่แทบไม่มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองเอาเลยเช่นพรรคเพื่อไทย



เช่นเดียวกับขบวนการเสื้อแดง หากการเมืองไม่ถูกแทรกแซงด้วยความฉ้อฉลต่างๆ อย่างไร้ยางอาย ผมเชื่อว่าขบวนการนี้จะค่อยๆ สลายตัวลงไปในเวลาไม่นาน เพราะผู้คนจำนวนมากหยุดเคลื่อนไหวร่วมไปกับขบวนการ เนื่องจากไม่มีเหตุที่จะอยากเข้าไปร่วม และขบวนการเองก็ไม่ประสบความสำเร็จที่จะแปรเปลี่ยนตนเองเป็นขบวนการที่มีการจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้ง เช่นความพยายามของเสื้อแดงบางกลุ่มในภาคเหนือที่จะเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยจัดไพรมารี่โหวตในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่ก็ถูกเจ๊ในพรรคเพื่อไทยขัดขวาง เพราะการเปิดให้ประชาชนในเขตเลือกตั้งกำหนดตัวผู้สมัครของพรรค ย่อมทำลายอิทธิพลของเจ๊อย่างแน่นอน

แต่เจ๊เพื่อไทยไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ขวางอำนาจประชาชน เสื้อแดงโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวไปในทิศทางที่จะแปรเปลี่ยนขบวนการของตนไปสู่การจัดองค์กรเพื่อการเลือกตั้งด้วย ได้แต่เลือกพรรคเพื่อไทยไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะเผชิญกับการขัดขวางประชาธิปไตยของชนชั้นนำได้ในช่วงนี้

ผมไม่ทราบว่า ชนชั้นนำไทยได้นำการต่อสู้ทางการเมืองไปสู่ความไม่สร้างสรรค์เช่นนี้ได้อย่างไร เพราะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยแก่การรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำเองในระยะยาว สิ่งที่มองเห็นว่าเป็น "ศัตรู" ของตนนั้น เอาเข้าจริงก็เป็นแค่เงา
การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์และอำนาจที่แท้จริงของชนชั้นนำยังมาไม่ถึง เมื่อมาถึงในอนาคต ชนชั้นนำไทยจะรักษาผลประโยชน์และอำนาจได้ก็โดยระบบที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชอบธรรมต่างหาก แต่การเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามในปัจจุบัน กลับไปทำลายโอกาสที่จะรักษาระบอบที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชอบธรรมลง ซึ่งเป็นผลร้ายต่อชนชั้นนำมากกว่า (อย่าลืมว่าชนชั้นนำคือคนส่วนน้อยของสังคมเสมอ)


กลับมาสู่เรื่องเครื่องมือใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่า ชนชั้นนำไทยวางใจกับเครื่องมือคือพรรคแมลงสาบเกินไป จนลืมไปว่าพรรคแมลงสาบก็มีเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของชนชั้นนำเสมอไป



.