http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-08-25

งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1)
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408953644 
. . วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19:10:05 น.
( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 25 สิงหาคม 2557 )


ผมไม่คิดว่าคำสนทนาของท่านนายกรัฐมนตรีนอกตำแหน่งอานันท์ปันยารชุนกับคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ควรค่าแก่การวิจารณ์ตอบโต้ เพราะคำพูดที่ขัดแย้งกันเองแต่ต้นจนปลายเช่นนั้นไม่มีสาระที่ควรได้รับความใส่ใจจากใคร อย่างไรก็ตาม ความเห็นที่เป็นพื้นฐานความคิดของข้อถกเถียงไร้สาระนั้นกลับน่าสนใจกว่า เพราะเป็นวิธีคิดพื้นฐานที่อยู่ปลายจมูกของคนไทยจำนวนหนึ่งมานานแล้ว และผมอยากตอบโต้วิธีคิดพื้นฐานเหล่านั้น จึงขอยกเอาคำกล่าวของคุณอานันท์มาเป็นจุดเชื่อมไปสู่วิธีคิดพื้นฐานดังกล่าว เพราะเป็นวิธีคิดที่ไม่ไกลไปกว่าปลายจมูกเหมือนกัน หากการเขียนทำให้เข้าใจผิดว่าล่วงเกินคุณอานันท์เป็นการส่วนตัว ก็ขออภัยไว้ด้วย เจตนามิได้เป็นเช่นนั้น

คุณอานันท์แสดงความฉงนว่าคนไทยรักฝรั่งเสียเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ "ฝรั่งไม่ใช่พ่อใช่แม่" ของเรา ยังไม่ทันขาดคำดีคุณอานันท์ก็ยกความเห็นของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านหนึ่ง ซึ่งเขียนบทความซึ่งคุณอานันท์เชื่อว่านักการเมืองฝรั่งไม่เคยอ่าน ฝรั่งคนนั้นคิดว่าการรัฐประหารมีทั้งดีและเลว เกณฑ์สำหรับใช้วัดก็คือ หากรัฐประหารเพื่อทำให้ประชาธิปไตยเจริญเติบโตขึ้นก็ถือว่าดี หากเป็นการรัฐประหารที่ทำลายประชาธิปไตยก็ถือว่าไม่ดี แล้วท่านก็ยกตัวอย่างรัฐประหารที่ดีคือในกรณีของโปรตุเกศ, กรีก, และตุรกี กับอีกเกณฑ์หนึ่งคือ รัฐประหารแล้วกลับสู่ประชาธิปไตยได้เร็วช้าเพียงไร

ด้วยความอนุเคราะห์ของเพื่อนนักรัฐศาสตร์สองท่าน (อาจารย์เวียงรัตน์ เนติโพธิ์ และ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ) จึงทำให้สามารถหมายได้ว่าข้อเขียนฝรั่งที่คุณอานันท์อ้างถึงนั้นคือ Ozan O. Varol, "The Democratic Coup d Etat," ในวารสาร Harvard International Law Journal, 53/2, 2012 ผู้เขียนไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ด แต่เป็นรองศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยกฎหมายแห่งหนึ่งในชิคาโก (ที่พูดนี่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง มิได้หมายความว่าศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดเท่านั้นที่พูดอะไรไม่เคยผิด)

ผมไม่แน่ใจว่าคุณอานันท์ได้อ่านบทความนี้เองหรือไม่ หรือได้อ่านละเอียดหรือไม่ การรัฐประหารที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการรัฐประหารเชิงประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 7 ประการ เช่น ต้องล้มล้างระบอบเผด็จการ, ตอบสนองต่อเสียงคัดค้านต่อต้านรัฐบาลนั้น, ผู้นำของระบอบเผด็จการปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจ, กองทัพได้รับความเคารพนับถือจากประชาชน ฯลฯ

ถ้าคุณอานันท์ได้อ่านอย่างละเอียดพอสมควร ก็หมายความว่า คุณอานันท์เชื่อตามที่กลุ่ม กปปส.อ้างว่า รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาลเผด็จการ ไม่ได้รับการต้อนรับจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ปฏิเสธที่จะลงจากตำแหน่งแม้ได้ประกาศยุบสภาไปแล้ว เพียงเท่านี้ก็ทำให้วิจารณญาณด้านการเมืองของคุณอานันท์เป็นที่พึงระแวงสงสัยอย่างยิ่ง ว่ายังมีความเที่ยงธรรมอยู่หรือไม่


อันที่จริงนาย Varol ยังอ้างงานศึกษาเชิงประจักษ์ว่า นับตั้งแต่หลังสงครามเย็นเป็นต้นมา 74% ของการรัฐประหารในโลกล้วนตามมาด้วยการเลือกตั้งทั้งสิ้น แต่สถิติเชิงประจักษ์ไม่มีความหมายอะไร ยิ่งมาอยู่ในมือของนักวิชาการที่มองอะไรเลยจมูกไปไม่ได้ไกลอย่างนาย Varol เพราะเขาแยกการรัฐประหารโดยกองทัพที่เขาศึกษาให้หลุดออกไปจากบริบททางสังคมทั้งหมด จึงมองไม่เห็นว่ามีพลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำกับการรัฐประหารอยู่เบื้องหลัง ทำให้การรัฐประหารบางครั้งถูกเขานิยามได้ว่าเป็นประชาธิปไตย และบางครั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

การรัฐประหารสามกรณีที่เขาพูดถึงคือโปรตุเกส, กรีก และอียิปต์นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะทหารนั่งคิดกันเหนือขวดเหล้าในค่ายทหารว่า ยึดอำนาจเผด็จการเสียทีเถิดวะ แล้วนำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย แต่มันมีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมในสามประเทศนั้น อันเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทำให้เผด็จการไม่อาจครองอำนาจอยู่ต่อไป โดยไม่ยอมปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจได้ กองทัพ "เลือก" ที่จะเข้าข้างประชาชนในจังหวะที่ไม่เหลือทางเลือกมากนักต่างหาก นาย Varol ไม่ได้สนใจเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-สังคมเหล่านี้เลย หากสนใจศึกษาการเมืองที่พิจารณาบริบทอย่างรอบด้าน ก็ควรอ่าน Samuel Huntington, The Third Wave, Democratization in the Late Twentieth Century ศาสตราจารย์ฮาร์วาร์ดตัวจริงคนนี้ ตั้งข้อสังเกตกับปรากฏการณ์ระดับโลกว่า ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในด้านต่างๆ ระดับโลกนั้น ทำให้ระบบเก่า (ในหลายๆ รูปแบบ และรวมเผด็จการทหารด้วย) ล้าสมัย หรือไม่อาจตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ จึงเกิดคลื่นลูกที่สามซึ่งมีพลังผลักประชาธิปไตยให้ขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วไป ไม่เฉพาะในยุโรป มีอีกส่วนหนึ่งที่ Huntington ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับดินแดนนอกยุโรปด้วย (เช่น 14 ตุลาในประเทศไทย)

คุณอานันท์พูดเองในตอนท้ายของการสนทนาว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีความหมายแต่การเลือกตั้ง ยังมีค่านิยมและอื่นๆ ของสังคมและนักการเมืองเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยอยู่ด้วย แล้วการรัฐประหารล่ะครับ ถ้าคิดให้เลยจมูกออกไปเหมือนประชาธิปไตย มีแต่กองทัพอย่างเดียวได้หรือ


นาย Varol ไม่ปฏิเสธว่า เมื่อกองทัพยึดอำนาจด้วยข้ออ้างประชาธิปไตยได้แล้ว ก็มักจะร่างรัฐธรรมนูญที่แฝงฝังอำนาจ, ผลประโยชน์, และบทบาทของกองทัพไว้ในระบบปกครองใหม่ (แต่คุณอานันท์ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลย) ปัญหามาอยู่ที่ว่าประชาธิปไตยที่ปลอดจากอำนาจอันไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนเช่นนี้จะหมดไปได้อย่างไร นาย Varol ไม่ได้กล่าวถึง เพียงแต่แจกแจงวิธีแฝงฝังอำนาจกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญว่ามีกี่ชนิดเท่านั้น เรื่องนี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นไปใหญ่ว่า พัฒนาการของประชาธิปไตยที่มาจากการรัฐประหารนั้น จะก้าวหน้าต่อไปได้หรือไม่เพียงไร ไม่ได้ขึ้นกับการตัดสินใจของกองทัพ เพราะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคมที่มีพลังมากกว่าเหล่านายพลเป็นผู้กำหนด

ตัวอย่างใกล้ตัวก็ได้ เมื่อพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะตัวท่านเองคงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ-สังคมที่เกิดขึ้นว่า รูปแบบการครองอำนาจของกองทัพผ่านตัวท่านนั้น ล้าสมัยไปแล้ว ในส่วนกองทัพขณะนั้นหาได้มีปัญญาญาณที่จะเห็นอย่างนั้นได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดรัฐประหาร รสช.ซึ่งต้องจบลงอย่างนองเลือดและน่าอับอายแก่กองทัพ



วิจารณญาณทางการเมืองอันน่าแคลงใจของคุณอานันท์วินิจฉัยว่ารัฐบาลเผด็จการทหารของโปรตุเกส,กรีกและอียิปต์ ไม่ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น คุณอานันท์จึงยืนยันในตอนท้ายการสนทนาว่า การรัฐประหารของกองทัพในครั้งนี้เป็นแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือความไม่โปร่งใส, ไร้ประสิทธิภาพ, และความวุ่นวายเป็นจลาจลภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่างหาก ความแตกต่างระหว่างรัฐบาลเผด็จการทหารกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในทรรศนะของคุณอานันท์ ไม่ได้อยู่ที่สิทธิเสรีภาพของพลเมือง (ขนาดปล่อยให้ประท้วงระดับจลาจลในท้องถนนได้) ไม่ได้อยู่ที่การยอมอยู่ใต้การตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่รัฐสภามาจนถึงองค์กรอิสระ และไม่ได้อยู่ที่การยอมลงจากอำนาจเมื่อต้องเผชิญการประท้วงขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่ไหนไม่มีใครทราบ นอกจากวินิจฉัยส่วนตัวของคุณอานันท์เองในฐานะ "ผู้ใหญ่" เท่านั้น เกณฑ์การวินิจฉัยของ "ผู้ใหญ่" ไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนเหตุผลและข้อเท็จจริง ซึ่งทำให้คนอื่นสามารถตรวจสอบหรือคัดค้านได้ ระบบนี้แหละครับที่พวกเสื้อแดงเรียกว่า "อำมาตยาธิปไตย" อันเป็นระบบที่มีอยู่จริงในเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ครอบงำความคิดของผู้ใหญ่จนมองไม่เห็นว่ามันมีอยู่ เพราะไม่เคยรู้สึกตัวได้ถึงขนาดนี้ (แต่ก็น่ายินดีที่บัดนี้มันครอบงำได้แต่เฉพาะ "ผู้ใหญ่" เท่านั้น)

ท่าทีในทำนองวินิจฉัยของ "ผู้ใหญ่" ปรากฏในเรื่องอื่นๆ ของการสนทนาอยู่อีกมาก และหนึ่งในนั้นที่คุณอานันท์พูดย้ำอยู่เสมอก็คือ "โลกของความเป็นจริง" ฟังดูเหมือนเป็นประสบการณ์ของ "ผู้ใหญ่" เท่านั้นที่อาจมองเห็นได้ แต่มันคืออะไรหรือครับ ท่ามกลาง "มายา" และ "มายาคติ" ที่ครอบงำมนุษย์อยู่อย่างหนาแน่นนี้ มีใครที่ไม่ใช่ศาสดาของศาสนาใดสามารถอ้างได้เต็มปากว่า เขาได้ฟันฝ่าออกไปพบ "โลกของความเป็นจริง" ได้แล้ว หากคิดง่ายๆ เพียงว่า "โลกของความเป็นจริง" คือตรงกลางระหว่างสุดขั้วของสิ่งที่ปฏิบัติได้ (practicality) กับอุดมคติ (ideal) จุดตรงกลางที่เป็นไปได้ที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่หาพบได้ง่ายๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม และจากประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ มีคนทั้งที่เป็นปัจเจกและสังคม ได้บรรลุสิ่งที่เคยถือว่าเป็นอุดมคติ ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงมาแล้ว ตัวอย่างใกล้ตัวก็เช่นพระพุทธเจ้า และระบอบประชาธิปไตยเป็นต้น



ประชาธิปไตยเป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนการประเมินศักยภาพของมนุษย์ไว้สูง แต่มันก็ปฏิบัติได้จริงในหลายสังคม เผด็จการก็เป็นอุดมคติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งประเมินศักยภาพของมนุษย์ไว้ต่ำเกือบเท่าสัตว์ แต่มันก็ปฏิบัติได้จริงเป็นบางครั้งในบางสังคม เพราะอะไร เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและอธิบายกันอย่างสลับซับซ้อน อันไม่อาจทดแทนได้ด้วยบัญญัติของ "ผู้ใหญ่" ว่าด้วย "โลกของความเป็นจริง"

ผมไม่ทราบว่าคุณอานันท์ประเมินศักยภาพของคนไทยไว้แค่ไหน แต่ก่อนจะประกาศการค้นพบ "โลกของความเป็นจริง" จำเป็นต้องวิเคราะห์ศักยภาพของคนไทยและสังคมไทยให้แตกเสียก่อน เพราะ "โลกของความเป็นจริง" ของคุณอานันท์อาจไม่ตรงกับของคนอื่นก็ได้

คุณอานันท์กล่าวว่า ทหารไม่ได้อยากทำรัฐประหาร ที่ตัดสินใจทำก็เพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ด้วยเหตุดังนั้น ท่านจึง "เห็นใจ" (sympathize) ทหาร ผมไม่ทราบว่าท่านตั้งใจใช้คำนี้ หรือตั้งใจให้หมายถึง "เข้าใจ" (comprehend, understand) หากเป็นคำหลังผมก็เห็นด้วย และคิดว่านักวิชาการโดยทั่วไปก็เห็นด้วย อย่าว่าแต่ทหารที่ทำรัฐประหารเลย แม้แต่พระเทวทัต เราก็ควรทำความเข้าใจ-ต่อตัวท่าน และต่อเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรม ที่แวดล้อมท่านอยู่-แต่เราคงไม่มีวัน "เห็นใจ" พระเทวทัต

แต่เพราะไป "เห็นใจ" เสียแล้ว จึงจำเป็นต้องให้ความชอบธรรมแก่การรัฐประหารด้วยประการต่างๆ เช่นการเมืองถึง "ทางตัน" โดยไม่ต้องรับรู้ว่า "ทางตัน" นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แม้มีการยุบสภาซึ่งเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่ใช้กันเป็นปกติในระบอบประชาธิปไตย ทางออกนี้ก็ถูกขัดขวางด้วยวิธีรุนแรง และเหตุผลอื่นๆ ซึ่งฟังดูเหมือนคุณอานันท์เพิ่งกลับจากเคมบริดจ์เมื่อก่อนรัฐประหารเพียงวันเดียว แต่เหตุผลทั้งหมดเหล่านี้ หากเห็นด้วย ก็เท่ากับถือว่ากองทัพเป็นองค์กรทางการเมืองที่ตั้งอยู่นอกโลก จึงปราศจากความพัวพันเชิงอำนาจ, เชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, เชิงเกียรติยศ, เชิงเครือข่าย ทั้งที่เป็นของตนเองหรือกับใครในเมืองไทยเอาเลย

ต้องใช้ความไร้เดียงสาถึงเพียงไหน จึงอาจคิดได้ว่าใน "โลกของความเป็นจริง" มีกองทัพอย่างนี้อยู่จริงในประเทศใดประเทศหนึ่งของโลก



ผมไม่ปฏิเสธว่า การรัฐประหารเป็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง แต่เป็นวิธีการที่จำเป็นหรือไม่ ในสถานการณ์อย่างไรจึงจำเป็น และสถานการณ์อย่างไรที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ ในขณะเดียวกันกระบวนการประชาธิปไตยก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีและข้อจำกัดในตัวเองเหมือนกัน เป็นไปได้ในสถานการณ์ใดและเป็นไม่ได้ในสถานการณ์ใด ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันได้เช่นกัน

ไม่ใช่เถียงกันหน้าดำหน้าแดงนะครับ แต่เถียงกันด้วยข้อมูลที่กว้างขวางและเหตุผล เพื่อประเมินเลือกว่าควรจะใช้วิธีการใดกันแน่ในการแก้ปัญหา ไม่เฉพาะแต่ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งต้องทำความเข้าใจให้กระจ่างเท่านั้น ยังต้องคิดเลยไปถึงผลข้างเคียง และผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวข้างหน้าด้วย เช่นที่เชื่อว่าเป็นทาง "ตัน" ทางการเมืองนั้น รัฐประหารแล้วจะทำให้หายตันได้ หรือทำให้ความตันเปลี่ยนรูปไปเท่านั้น

ต้องใช้ความไร้เดียงสาถึงเพียงไหน จึงอาจคิดได้ว่ากองทัพได้นั่งลงเถียงกันในลักษณะนี้ ก่อนลงมือทำรัฐประหาร


..................................

(ต่อ) นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2) อ่านที่  http://botkwamdee.blogspot.com/2014/09/n-x-taps2.html



.