.
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (2)
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409548590
. . วันจันทร์ที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 13:29:24 น.
( ที่มา: มติชนรายวัน 1 กันยายน 2557 )
(ตอนเดิม - นิธิ เอียวศรีวงศ์ : งานศพผิดวัดครั้งใหม่ (1) อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2014/08/n-x-taps1.html )
(ต่อ)
เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย คุณอานันท์กล่าวถึง "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ดูเหมือนเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งของการทำรัฐประหาร นั่นคือประชาธิปไตยของไทยไม่สมบูรณ์ และการรัฐประหารคงจะนำประเทศไปสู่หนทางเริ่มต้นที่จะบรรลุประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้
คุณอานันท์อาจแตกต่างจากคนอื่นตรงที่สามารถบอกได้เลยว่า อังกฤษและสหรัฐนั้น ได้บรรลุ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ในปี ค.ศ.อะไร เช่นอังกฤษเพิ่งบรรลุเมื่อ 1928 เพราะยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกับผู้ชาย ส่วนสหรัฐเมื่อทศวรรษ 1960 เมื่อยอมรับสิทธิอันเท่าเทียมของคนผิวสี
แล้วมัน "สมบูรณ์" จริงหรือครับ ลองถามคนดำและคนขาวจำนวนมากในเมืองเฟอร์กูสัน มิสซูรีในตอนนี้ พวกเขาคงโวยวายว่าไม่จริง ถึงต้องออกมาประท้วงในท้องถนน ไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากในสหรัฐออกมา "ยึด" หรือ occupy โน่นนี่เต็มไปหมดหลายเมือง ด้วยข้ออ้างถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสุดขั้วในสังคมตนเอง การหลั่งไหลของชาวมุสลิมเข้าไปตั้งหลักแหล่งภูมิลำเนาในยุโรปตะวันตก เผยให้เห็นอคติต่อชาติพันธุ์และศาสนาของคนในระบอบ "ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์" ทั่วไปในเกือบทุกประเทศ รวมทั้งอังกฤษด้วย
ไม่มีหรอกครับ ประชาธิปไตย "ที่สมบูรณ์" ในโลกนี้ เราอาจนิยามประชาธิปไตยด้วยอุดมคติ เช่น ใช้คำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส-เสรีภาพ เสมอภาพ และภราดรภาพก็ได้ หรือของลิงคอล์น-รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนก็ได้ หรือของนิธิ-อำนาจต่อรองที่เท่าเทียมกันของทุกคนและทุกกลุ่มในทุกเรื่อง แต่นี่เป็นอุดมคติเท่านั้น ประชาธิปไตยไม่ได้ทำงานด้วยอุดมคติ หากทำงานด้วย "สำนึก" ครับ โดยเฉพาะสำนึกของประชาชนทั่วไป ขึ้นชื่อว่าสำนึกก็ไม่อยู่คงที่แน่นอน บางสำนึกก็หลุดหายไปหรือได้รับความสำคัญน้อยลง บางสำนึกก็เกิดขึ้นใหม่เนื่องจากสังคมแปรเปลี่ยนไปตลอด แต่สำนึกใหม่เหล่านี้มักถูกบิดเบือน ขวางกั้น หรือทำลายโดยผู้มีประโยชน์ปลูกฝัง (vested interest) อยู่เสมอ
ยกตัวอย่างสิทธิสตรีก็ได้นะครับ ในการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้น ผู้หญิงมีบทบาทอย่างมาก โดยเฉพาะเมียพ่อค้าและแม่บ้านชนชั้นแรงงานซึ่งต้องซื้อขนมปังในราคาแพงขึ้นตลอด พากันออกมาก่อจลาจลต่างๆ ในปารีสเพื่อประท้วงผู้ปกครอง (ทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และผู้นำการปฏิวัติในเวลาต่อมา) ผมไม่ทราบว่าเมื่อผู้นำปฏิวัติพูดถึงเสมอภาพ เขาคิดถึงผู้หญิงหรือไม่ แต่สิทธิทางการเมืองของผู้หญิงก็ถูกจำกัดมาตั้งแต่ระยะแรกๆ และอาจเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามจะจำกัดอำนาจทางการเมืองของมวลชนด้วย
หลังจากผู้หญิงได้สิทธิเท่าเทียมทางการเมืองในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ในประเทศประชาธิปไตยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงก็หาได้รับความเสมอภาพเหมือนผู้ชายในทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไม่ ผู้หญิงก็ไม่รู้สึกอะไรจนกระทั่งสำนึกใหม่มาเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเกิดการเคลื่อนไหวใหม่ที่จะเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมแก่ผู้หญิงในมิติอื่นๆ ด้วย จนถึงทุกวันนี้ความเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีก็หาได้ยุติลง เพราะยังเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ "สำนึก" ของผู้คน ไม่ว่าหญิงหรือชาย
สำนึกใหม่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเกิดพร้อมกับอัตลักษณ์ใหม่ ซึ่งก็เป็น "สำนึก" อีกชนิดหนึ่ง เช่น เพศที่สามไม่เคยมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของตนเอง แต่เมื่อเกิดสำนึกใหม่ถึงตัวตนที่มีอยู่จริงของเพศที่สาม ปลดเปลื้อง "ตราบาป" ต่างๆ ออกไปได้แล้ว ก็เกิดอัตลักษณ์ใหม่ที่ทำให้ต่างจากผู้หญิงหรือผู้ชาย เกิดอัตลักษณ์ใหม่ก็ทำให้คิดถึงสิทธิเสมอภาพของตนเองได้ กลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อเรียกร้องสิทธิเสมอภาพของเพศที่สาม
สำนึกใหม่และอัตลักษณ์ใหม่เป็นอนิจจังครับ เกิดดับได้ไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุดังนั้นประชาธิปไตยจึงไม่เคย "สมบูรณ์" สักที และเพราะไปคิดถึงความสมบูรณ์ที่หยุดนิ่งเช่นนี้แหละครับ ที่ทำให้สลิ่มไทยจำนวนไม่น้อยไม่เข้าใจ "สำนึก" ที่เปลี่ยนไปแล้วของมวลชนระดับล่าง ปรารถนาให้คนเหล่านั้นไม่ใส่ใจการเมืองระดับชาติเหมือนเดิม เลือกผู้แทนมาอย่างเบี้ยหัวแตก เพื่อให้สลิ่มสามารถจัดตั้งและควบคุมรัฐบาลได้เหมือนเดิม
เราจึงอาจมองรัฐประหารได้สองอย่าง หนึ่งคือมองอย่างคุณอานันท์ว่า เพราะประชาธิปไตยไทยไม่ "สมบูรณ์" จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาทำให้ "สมบูรณ์" หรือมองแบบผมก็คือประชาธิปไตยไทยในระยะนี้ มีพลวัตที่แรงและเร็วเกินปัญญาและประสบการณ์ของชนชั้นนำจะปรับตัวได้ จึงต้องใช้อำนาจนอกระบบมาหยุดพลวัตของประชาธิปไตยไว้ที่กรอบแคบๆ ตามเดิม
อีกเรื่องหนึ่งที่คุณอานันท์พูดถึงคือ "ทฤษฎีฝรั่ง" ที่คนไทยมักนิยมยกย่องจนเหมือนเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่ (ความโดยนัยยะ ไม่ใช่คำพูดคำต่อคำ) แต่ตั้งแต่เกิดจนบัดนี้ ผมยังไม่เคยเห็นใครโต้เถียงกับ "ทฤษฎีฝรั่ง" เท่าฝรั่ง หากผมเห็นด้วยกับฝรั่งที่โต้แย้งทฤษฎีฝรั่งที่คุณอานันท์ไม่ชอบ ผมยังเห็นฝรั่งเป็นพ่อเป็นแม่อยู่หรือไม่ โดยสรุปก็คือความเห็นอันไร้สาระเช่นนี้ไม่ได้เป็นของคุณอานันท์คนเดียว แต่เป็นของผู้มีการศึกษาไทยอีกมาก รวมทั้งนายพลที่ทำรัฐประหารด้วย
ที่เรียกว่า "ทฤษฎี" คืออะไร พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ "มุมมอง" นั่นเอง ไม่ว่าเราจะศึกษาอะไรก็ตาม เราต้องมี "มุมมอง" อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อาจโดยไม่รู้ตัวอย่างที่คนไทยทั่วไปมักไม่รู้ตัว เพราะปราศจากมุมที่จะมองเลย ก็ไม่เห็นอะไร สิ่งที่เราศึกษานั้น มองจากมุมนี้ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง มองจากอีกมุมหนึ่งก็มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง มุมที่จะมองจึงมีความสำคัญอย่างมาก
มุมที่จะมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้น เป็นมุมที่นำไปมองอะไรอื่นด้วยมุมเดียวกันได้อีกมาก เช่น ทฤษฎีแรงโน้มถ่วง อาจใช้มองเทหวัตถุอื่นๆ ได้ทั้งจักรวาล ไม่จำกัดเฉพาะลูกแอปเปิลและดวงจันทร์เท่านั้น แต่ "มุมมอง" นี้ก็มีข้อจำกัดซึ่งการค้นพบในสมัยหลังชี้ให้เห็น เช่น ที่ไม่ใช่เทหวัตถุก็อาจตกอยู่ใต้อำนาจของแรงโน้มถ่วงได้เช่นแสง เป็นต้น การเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เล็กมากๆ เช่น อะตอมหรือในนิวเคลียสของอะตอม ก็เคลื่อนที่ด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงนิวเคลียร์ ทฤษฎีหรือมุมมองของฝรั่งคนแรกจึงมีข้อจำกัด กล่าวคือใช้มองบางอย่างได้ แต่มองบางอย่างไม่ได้ (นี่ก็พ่อแม่ฝรั่งเป็นคนชี้ให้เห็นอีก)
แต่น่าประหลาดที่คนไทยผู้มีการศึกษาจำนวนมากมักไม่คิดว่าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นมุมมองอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ จึงสามารถรับทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้โดยไม่ต้องเกรงว่าพ่อแม่ของตนจะเปลี่ยนสัญชาติไป วิทยาศาสตร์โชคดีกว่าสังคมศาสตร์ตรงที่ว่า ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งโลก (หรือทั้งเอกภพ?) ในขณะที่ปรากฏการณ์ทางสังคมแปรผันไปตามแต่ละสังคมและยุคสมัย แต่ก็ไม่ต่างอะไรจากการสร้างทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์รวบรวมข้อเท็จจริงจากสังคมต่างๆ จำนวนมาก เพื่อ "สังเกตการณ์" ว่าในประเด็นที่เขาสนใจนั้นมีอะไรที่เหมือนกัน และมีอะไรที่ต่างกัน แล้วค้นหาพลัง (หรือบางคนเรียกว่า "กฎ") ที่กำกับควบคุมให้ปรากฏการณ์กลุ่มนั้นๆ เหมือนกันหรือต่างกัน แล้วจึงเสนอมุมมองใหม่ที่ทำให้สามารถใช้เป็นมุมสำหรับมองปรากฏการณ์กลุ่มนี้ในสังคมทั่วๆ ไปได้ มีอำนาจอธิบายเพิ่มขึ้น และมีอำนาจพยากรณ์ได้ระดับหนึ่ง แม้ไม่แม่นยำเหมือนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ทฤษฎีก็มีความหมายเพียงเท่านี้ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หากใครนับถือแล้วจะต้องเสียผู้เสียคนไป
ไม่ปฏิเสธว่า ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ของฝรั่งนั้น มักสำรวจจากสังคมฝรั่งเสียเป็นส่วนใหญ่ (ปัจจุบัน เนื่องจากฝรั่งหันมาสนใจสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งมากขึ้น ทฤษฎีรุ่นใหม่จึงอาจเป็นผลจากการสำรวจที่กว้างขวางกว่าเก่า) ดังนั้น เมื่อนำมาใช้อธิบายสังคมที่ไม่ใช่ฝรั่งก็อาจมีปัญหา ผมได้ยินเสียงบ่นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยเห็นนักวิชาการไทยชี้ให้ชัดว่า ปัญหาที่ว่านั้นคืออะไรและอยู่ตรงไหน เพราะเอาเข้าจริง นักวิชาการไทยก็มีความรู้ในเชิงประจักษ์กับสังคมตัวเองไม่มากนัก จึงมองเห็นได้ไม่ชัดว่า มันมีข้อยกเว้นในทฤษฎีฝรั่งอะไรบ้างเมื่อนำมาอธิบายสังคมไทย
ดังนั้น เมื่อเอาทฤษฎีประชาธิปไตยมาอธิบายการเมืองไทย ปัญญาญาณของไทยจึงมีแต่กุดๆ แค่ว่าไม่เหมาะกับสังคมไทย เพราะเป็นทฤษฎีฝรั่งเท่านั้น สังคมฝรั่งกับไทยไม่เหมือนกัน เขามีเวลาปรับตัวนานกว่าเราเป็นศตวรรษ บล่ะๆๆๆ กลวงๆ ไปอย่างนั้น
คนไทยจึงถูกสาปให้ยืนอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ เพราะปัญญาญาณของชนชั้นนำไทยและนักวิชาการไทยกุดอยู่ที่ปลายจมูก หากจะแหลมออกมาบ้างก็เป็นแค่นกหวีด
เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากพูดถึงคือเลือกตั้ง ได้ยินกันมานานแล้วว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว บางคนก็พูดเลยไปถึงว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งไปโน่นเลย ความหมายก็คือเราอาจเป็นประชาธิปไตยโดยไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ อย่างที่นักปราชญ์ไทยชอบยกรัชสมัยที่เชื่อกันว่า "ดี" บางรัชสมัย (เช่นรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง) ว่านั่นก็เป็นประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้งเลย
แต่ในปัจจุบัน มีใครหรือครับที่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย แม้แต่คนเสื้อแดงก็ไม่ได้พูดอย่างนั้น รัฐบาลที่ตั้งขึ้นในค่ายทหารต่างหากที่ยืนยันว่าตัวมาจากการเลือกตั้ง และได้รับเสียงสนับสนุนจากสภา จึงมีความชอบธรรมเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย คนเสื้อแดงเองเสียอีกที่บอกว่า การเลือกตั้งและเสียงสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขที่กองทัพแทรกแซงเช่นนั้น ไม่สามารถให้ความชอบธรรมทางการเมืองของประชาธิปไตยได้
แม้กระนั้น การเลือกตั้งก็เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย เพราะเป็นกลไกที่ให้อำนาจประชาชนในการกำกับควบคุมฝ่ายบริหาร ก็จริงแหละครับว่า จะกำกับควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพจริง ยังต้องมีกลไกอื่นๆ อีกด้วย เช่น สื่อที่ทำงานอย่างเที่ยงตรงตามอาชีวปฏิญาณของตนเอง ความรู้ที่ทำให้เท่าทันอำนาจทางการเมืองทุกฝ่าย (แม้แต่ฝ่ายที่ไม่ได้เปิดหน้าเล่นการเมือง) ความรู้ที่จะทำให้มองเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านในระยะสั้นและระยะยาว พื้นที่สาธารณะหลายรูปแบบที่เปิดให้คนต่างกลุ่มสามารถแสดงตัวตนของตัว รวมทั้งถูกคนอื่นตรวจสอบได้อย่างเท่าเทียมกัน ฯลฯ ถ้ากลไกอื่นเหล่านี้มีคุณภาพ ก็ยิ่งทำให้กลไกการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเมื่อกลไกอื่นยังไม่พร้อม จึงต้องระงับการเลือกตั้งไว้ก่อน เพราะยิ่งระงับการเลือกตั้ง กลไกอื่นก็ยิ่งไม่พัฒนาขึ้นมาให้พร้อมสักที
ทำไมหรือครับ ก็เพราะกลไกเหล่านี้ทำงานร่วมกัน ยิ่งเลือกตั้งดำเนินไปได้อย่างมั่นคงสม่ำเสมอ กลไกอื่นก็ยิ่งพัฒนาขึ้น เช่น พื้นที่การต่อรองที่เท่าเทียมกัน ซึ่งมีลักษณะหลากหลายมากขึ้น จึงเปิดให้แก่คนที่มีปูมหลังต่างกันเข้าถึงได้ทั่วหน้ากว่าเดิม พื้นที่เช่นนี้มีมากขึ้นก็ทำให้คนใช้วิจารณญาณได้กว้างไกลขึ้นในการลงบัตรเลือกตั้ง อย่ามองอะไรเป็นขั้วตรงข้ามที่ไม่สัมพันธ์กันเลย ทั้งสองขั้วเป็นกระบวนการเดียวกัน เมื่อรัฐประหารขั้วใดขั้วหนึ่งไปแล้ว อีกขั้วหนึ่งก็เหี่ยวเฉาไปเอง กลายเป็นความสงบแห่งชาติอย่างที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ในเชิงรูปธรรม หากการเลือกตั้งหลังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุบสภาสามารถดำเนินไปได้เป็นปรกติ แม้จะถูกบอยคอตจากพรรคฝ่ายค้านบางพรรค สังคมไทยและพรรคฝ่ายค้านบางพรรคก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า หนทางเอาชนะทางการเมืองนั้น ไม่มีวิถีทางอื่นนอกจากแสวงหาความสนับสนุนจากประชาชน (อย่างฉลาด) ย่อมจำเป็นอยู่เองที่ต้องหันกลับมาเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เลิกโยนเก้าอี้ในสภา หรือเลิกขว้างสิ่งของใส่ประธาน เข้าร่วมในพื้นที่สาธารณะที่ปลอดความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อเสนอความเห็นและการติติงที่สร้างสรรค์แก่สังคม คนไทยก็จะมองเห็นทางเลือกของนโยบายสาธารณะได้อีกหลายแบบ
คุณอานันท์คิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ประชาธิปไตยไทยจะเข้มแข็งขึ้นหรืออ่อนแอลง ทั้งๆ ที่ "ความพร้อม" อีกหลายด้านของสังคมไทยในการเป็นประชาธิปไตยยังไม่มีหรือยังไม่พัฒนาไปไกลพอ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย