http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-09-05

..“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” เรียบเรียงโดย สฤณี อาชวานันทกุล

.

ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (1)
โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ใน http://thaipublica.org/2014/08/bankers-illusions-1/
. . 7 สิงหาคม 2014


ละสายตาจากเรื่องยุ่งๆ ของการเงินที่ยังไม่ยั่งยืนในไทยชั่วคราว หันมาดูสถานการณ์ของภาคการเงินนอกบ้านเรากันบ้าง

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์กับวิกฤตยูโรโซนที่ทำให้ทั้งโลกปั่นป่วนเมื่อหลายปีก่อนเริ่มทุเลาความรุนแรง หายไปจากพาดหัวในหน้าสื่อ แต่หลังฉากการถกเถียงเรื่องการปรับปรุงระบบกำกับดูแลภาคธนาคารก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น ถึงแม้คนที่อยู่นอกภาคการเงินอาจมองไม่เห็น

ในบรรดาข้อเสนอที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่า “จำเป็น” ต้องทำที่สุดเพื่อปรับปรุงระบบธนาคารและลดความเสี่ยงที่มันจะฉุดลากเศรษฐกิจโลกไปอยู่ปากเหวอีก คือการเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำที่ธนาคารต้องมี เป็น “เบาะกันกระแทก” ลดความเสี่ยงที่จะล้มจากการมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน หรือที่เรียกเป็นภาษาทางการว่า capital requirement

ข้อเสนอนี้มีเหตุมีผลอย่างยิ่ง แต่ยากมากที่จะเกิดเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากจะต้องฝ่าด่านการล็อบบี้อย่างไม่ขาดสายของธนาคารยักษ์ใหญ่ระดับโลกแล้ว ผู้เสนอยังต้องถอดรื้อกำแพงแห่งมายาคติที่นายธนาคารหลายคนสร้างขึ้นมาให้คนหลงเชื่อ และอีกหลายคนก็สับสนคิดไปเองว่ามายาคติคือความจริงเพราะท่องตามๆ กันมาช้านาน

มายาคติที่กีดกันการปรับปรุงระบบกำกับดูแลธนาคารคืออะไร? หนังสือที่ตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด และเขียนอธิบายให้คนนอกวงการธนาคารเข้าใจง่ายที่สุด คือ The Bankers’ New Clothes (“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ตั้งชื่อเลียนนิทานดังเรื่อง “เสื้อใหม่ของพระราชา” เพราะสื่อนัยเดียวกัน) เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังสองคน คือ ดร. อนัท แอดมาที (Anat Admati) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ดร. มาร์ติน เฮลวิก (Martin Hellwig) จากมหาวิทยาลัยบอนน์ในเยอรมนี














ที่มาภาพ: http://blog.tagesanzeiger.ch/wp-content/uploads/sites/11/2013/02/Nevermind_HeAd.jpg

นอกจากจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสามารถล้นเหลือในการ “ย่อย” เรื่องยากๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ผู้เขียนทั้งสองยังมีบทบาทโดยตรงในวิวาทะและเวทีถกเถียงเชิงนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลภาคการเงินการธนาคาร โดยแอดมาทีเป็นสมาชิกคณะกรรมการที่ปรึกษาการคลี่คลายเชิงระบบ สถาบันประกันเงินฝากอเมริกัน (FDIC Systemic Resolution Advisory Committee) ส่วนเฮลวิกนั้นเป็นประธานคนแรกของคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการความเสี่ยงเชิงระบบยุโรป (European Systemic Risks Board) หน่วยงานภายใต้สหภาพยุโรป ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมาหลังวิกฤตยูโรโซน

แอดมาทีกับเฮลวิกตั้งใจเขียน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” ในภาษาง่ายๆ ให้คนธรรมดาเข้าใจ เพราะอยากให้ทุกคนในสังคมได้มีส่วนร่วมในเวทีอภิปราย และอยากถอดรื้อมายาคติอีกประการที่ว่า ประเด็นทางการเงินการธนาคารเป็นเรื่อง “สลับซับซ้อน” ที่ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญและด็อกเตอร์ทั้งหลายเท่านั้น

เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ แอดมาทีกับเฮลวิกอยากให้ทุกคนตื่นตัวว่า ระบบธนาคารยังอันตรายและเปราะบางไม่ต่างจากก่อนเกิดวิกฤต แต่วิธีแก้เชิงนโยบายไม่ถูกนำไปใช้อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เรารู้แล้วว่าควรแก้ไขอย่างไร สาเหตุสำคัญก็เพราะมายาคติที่ยังครอบงำวิธีคิดของผู้ดำเนินนโยบายและนายธนาคารจำนวนมาก

หนังสือเล่มนี้ได้รับการกล่าวขวัญและสรรเสริญอย่างมากมายตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 แต่โชคร้ายที่มายาคติต่างๆ ที่ผู้เขียนเพียรชี้ให้เห็นในหนังสือ ก็ยังคงครอบงำวิวาทะเรื่องการกำกับดูแลธนาคารต่อไป ส่งผลให้แอดมาทีกับเฮลวิกตัดสินใจ “อัพเดท” เนื้อหาในหนังสือ ด้วยการเขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “The Parade of the Bankers’ New Clothes Continues: 23 Flawed Claims Debunked” (พาเหรดของเสื้อใหม่นายธนาคารยังดำเนินต่อไป: บทหักล้างข้ออ้าง 23 ข้อที่ไม่ถูกต้อง) ให้ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์ของหนังสือ ( http://bankersnewclothes.com/wp-content/uploads/2013/06/parade-continues-June-3.pdf )



มายาคติหลักๆ และข้อหักล้างมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนจะคัดสรร แปลและเรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

มายาคติ 1: ทุน (capital) คือเงินที่ธนาคารกันเอาไว้เป็น “เงินสดสำรอง” เหมือนกับเงินสดที่เราๆ ท่านๆ กันไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

ผิดเพราะอะไร? ทุนในภาคธนาคารนั้นเป็นแหล่งทุนประเภทหนึ่ง สามารถนำไปใช้ปล่อยกู้และลงทุนได้ ไม่ต้องเก็บไว้เฉยๆ เพียงแต่ภาคธนาคารเรียกทุนนี้ว่า capital ขณะที่ธุรกิจอื่นเรียกว่า “ส่วนของผู้ถือหุ้น” หรือ equity แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ว่า ธนาคารปกติใช้ทุนของตัวเองไม่ถึงร้อยละ 10 ในการลงทุนต่างๆ ขณะที่ธุรกิจอื่นมักจะต้องใช้ทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ในการลงทุน นอกจากนี้ บริษัทที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากยังแทบไม่มีหนี้สินใดๆ เลย


มายาคติ 2: ข้อเสนอให้ธนาคารกันเงินสดสำรองเท่ากับร้อยละ 15 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารนั้น ไม่ทำให้ธนาคาร “ปลอดภัย” กว่าเดิม เช่นเดียวกัน ข้อเสนอให้เพิ่มระดับทุนขั้นต่ำของธนาคารเป็นร้อยละ 15 ก็จะไม่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ๆ ในภาคการธนาคารเหมือนกัน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนความสับสนระหว่างทุนของธนาคาร (capital) กับเงินสดสำรอง (cash reserve) ดังที่กล่าวไปข้างต้นในมายาคติ 1

ทุนของธนาคารไม่ใช่เงินสดสำรอง แต่เป็นแหล่งทุนของธนาคาร ข้อกำหนดเรื่องทุนสำรองนั้นไม่ได้บังคับว่าธนาคารจะต้องถือสินทรัพย์อะไรบ้าง ไม่ได้บังคับว่าธนาคารต้องเพิ่มเงินสดสำรองในมือ (คือเอาไปปล่อยกู้แสวงกำไรไม่ได้) ในเมื่อข้อกำหนดปัจจุบัน และแม้แต่ภายในข้อเสนอในระบบ Basel III ปล่อยให้ธนาคารมีทุนขั้นต่ำเพียงร้อยละ 3 ของสินทรัพย์ทั้งหมด การเพิ่มข้อกำหนดนี้เป็นร้อยละ 15 (ดังเช่นร่างกฎหมาย Brown-Vitter ในอเมริกาเรียกร้องให้บังคับกับธนาคารที่ใหญ่ที่สุดหกแห่งในประเทศ) ก็จะทำให้ธนาคารปลอดภัยกว่าเดิมมาก ตัวเลข 15% นี้ยังต่ำกว่าสัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์ที่ถือกันว่า “ปกติ” สำหรับบริษัทในธุรกิจอื่นที่แข็งแกร่งทางการเงินด้วยซ้ำไป เมื่อมีส่วนทุนมากขึ้น ธนาคารก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุนได้มากกว่าเดิมมาก ลดความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาทางการเงินถึงขั้นจะล้มละลาย ร้อนให้รัฐต้องมาอุ้ม

ในทางกลับกัน ข้อกำหนดเรื่องเงินสดสำรองในมือ (reserve requirement) มีประโยชน์ในแง่ความปลอดภัยน้อยกว่าข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำ (capital requirement) มาก ยกเว้นว่ามันจะสูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าธนาคารหนึ่งมีเงินฝาก (เป็นหนี้สินของธนาคาร เพราะเป็นเงินของผู้ฝากเงิน) 97,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 3,000 ล้านบาท (เท่ากับว่ามีหนี้สิน 94,000 ล้านบาท) การมีเงินสดสำรองในมือ (นับเป็นสินทรัพย์) อยู่ 15,000 ล้านบาทก็จะไม่ช่วยให้ธนาคารรอดเลย ถ้าขาดทุน 4,000 ล้านบาทจากหนี้เสียและผลขาดทุนจากการลงทุนอื่นๆ เพราะผลลัพธ์จะกลายเป็นว่ามีสินทรัพย์ 96,000 ล้านบาท ล้มละลายเพราะส่วนทุนติดลบ (3,000-4,000 = -1,000 ล้านบาท) เช่นเดียวกับที่เจ้าของบ้าน “จมน้ำ” (under water) ถ้าหากภาระการผ่อนบ้านมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าของบ้าน (คนอเมริกันจำนวนมากจึงยอมให้ธนาคารยึดบ้านในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์)

แต่ถ้าหากธนาคารมีเงินฝาก 85,000 ล้านบาท มีส่วนทุน 15,000 ล้านบาท มันก็จะสามารถซึมซับผลขาดทุน 4,000 ล้านบาทได้อย่างสบายๆ โดยไม่เสี่ยงที่จะล้มละลายแต่อย่างใด


มายาคติ 3: ข้อเสนอให้ธนาคารเพิ่มสัดส่วนทุนขั้นต่ำนั้นเพียงแต่ตั้งอยู่บนทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ (Modigliani-Miller theorem) ซึ่งใช้กับโลกจริงไม่ได้เพราะสมมุติฐานของทฤษฎีนี้ไม่สมจริง

ผิดเพราะอะไร? ทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ บอกว่าภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ ส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับส่วนทุนของบริษัทใดก็ตาม (เช่น ไม่ว่าจะเลือกใช้หนี้ 80 ทุน 20 หรือหนี้ 10 ทุน 90 ฯลฯ) จะไม่ส่งผลต่อมูลค่าของบริษัทและต้นทุนในการระดมทุน (cost of capital)



แต่แอดมาทีกับเฮลลิกชี้ชัด (ผ่านการยกตัวอย่างมากมายในหนังสือ) ว่า ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ในตลาดการเงินที่ทำงานได้ดี อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยง (ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงระดับนั้น) ของหลักทรัพย์อะไรก็ตาม (เช่น หุ้น) ที่ออกโดยบริษัท ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับทุน พูดอีกอย่างคือ ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเมื่อเทียบกับส่วนทุน ความเสี่ยงของบริษัทก็ยิ่งสูง นักลงทุนก็จะยิ่งเรียกร้องอัตราผลตอบแทนสูงๆ ในการลงทุน

ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงอะไรก็ตามที่พูดถึงอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Equity ย่อว่า ROE) ที่นักลงทุนต้องการ ราวกับว่ามันสถิตเสถียรไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นอิสระจากส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนของบริษัท จึงเป็นข้อถกเถียงที่บกพร่องระดับฐานคิดเลยทีเดียว

ใน “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” แอดมาทีกับเฮลวิกอธิบายเงื่อนไขในโลกจริงอีกหลายข้อที่หักล้างสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมหนี้กับทุนไม่สำคัญ เช่น กฎหมายภาษีอาจทำให้บริษัทอยากใช้หนี้มากกว่าทุนก็ได้


อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนทั้งสองก็ย้ำว่า มายาคติข้อนี้หักล้างข้อเสนอว่าธนาคารควรมีทุนขั้นต่ำมากกว่าเดิมไม่ได้ เพราะข้อเสนอนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนไม่สำคัญ แต่ตั้งอยู่บนการเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ จากการมีส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนระดับต่างๆ ของธนาคาร แอดมาทีกับเฮลวิกสรุปว่า การให้ธนาคารใช้หนี้สินมหาศาลเมื่อเทียบกับส่วนทุนในการดำเนินธุรกิจนั้น เป็นต้นทุนมหาศาลที่สังคมต้องแบกรับโดยไม่ได้ประโยชน์ใดๆ เลย.



++

ถอดรื้อมายาคติที่ไม่ยั่งยืน : บทเรียนจาก “เสื้อใหม่ของนายธนาคาร” (จบ)
โดย สฤณี อาชวานันทกุล

ใน http://thaipublica.org/2014/09/bankers-new-clothes-2
. . 4 กันยายน 2014


ตอนที่แล้วผู้เขียนเริ่มสรุป “มายาคติ” – กับดักทางความคิดบางประการที่ยังครอบงำวงการการเงินการธนาคารกระแสหลัก และกีดขวางการปฏิรูปภาคการเงินโลก จากบทความขนาดยาวเรื่อง “The Parade of the Bankers’ New Clothes Continues: 23 Flawed Claims Debunked” (พาเหรดของเสื้อใหม่นายธนาคารยังดำเนินต่อไป: บทหักล้างข้ออ้าง 23 ข้อที่ไม่ถูกต้อง – ดาวน์โหลดฟรีจากเว็บไซต์หนังสือ http://bankersnewclothes.com/wp-content/uploads/2013/06/parade-continues-June-3.pdf ) โดยนักเศรษฐศาสตร์การเงินชื่อดังสองคนที่กำลังมีบทบาทสูงมากในวิวาทะเรื่องการปฏิรูปภาคการเงิน ได้แก่ ดร. อนัท แอดมาที (Anat Admati) และ ดร. มาร์ติน เฮลวิก (Martin Hellwig) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Bankers’ New Clothes (“เสื้อใหม่ของนายธนาคาร”)


แอดมาทีกับเฮลิวิกเป็นสองหัวหอกในกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาเรียกร้องให้องค์กรกำกับดูแลภาคการธนาคารระดับโลกและระดับชาติจัดการปฏิรูปภาคการธนาคารอย่างมีความหมายและยั่งยืนกว่าที่แล้วมา โดยเฉพาะด้วยการเพิ่มระดับ “ทุนขั้นต่ำ” ที่ธนาคารต้องมีเมื่อเทียบกับหนี้สินทั้งหมด

นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้เชื่อว่า ตราบใดที่ยังไม่แก้กฎกติกาเช่นนี้ ตราบนั้นโลกก็จะยังคงมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมเสี่ยงเกินเลยของภาคธนาคารต่อไป

ตอนที่แล้วสรุปมายาคติข้อ 1-3 วันนี้มาว่ากันต่อด้วยมายาคติสำคัญๆ ข้ออื่น



มายาคติ 4: การค้นพบหลักๆ ของวิชาการเงินธุรกิจ (corporate finance) เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การระดมทุนนั้นนำมาใช้กับธนาคารไม่ได้ เพราะธนาคารไม่เหมือนบริษัทอื่น

ผิดเพราะอะไร? ผู้เขียนทั้งสองอธิบายในมายาคติ 3 (ดูตอนก่อนหน้านี้) ไปแล้วว่า ข้อพิสูจน์กรณีเฉพาะของทฤษฎี โมดิกลิอานี-มิลเลอร์ (Modigliani-Miller theorem) ที่นายธนาคารชอบยกมาอ้างว่า ส่วนผสมระหว่างหนี้กับส่วนทุนไม่ส่งผลใดๆ ต่อมูลค่าของบริษัทและต้นทุนในการระดมทุนนั้น เป็นจริงเฉพาะในกรณีที่อยู่ใต้ “สมมุติฐานพิเศษ” บางประการเท่านั้น ในขณะที่ “ข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้คือ ในตลาดการเงินที่ทำงานได้ดี อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนต้องการขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยง และระดับความเสี่ยง (ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่สะท้อนความเสี่ยงระดับนั้น) ของหลักทรัพย์อะไรก็ตาม (เช่น หุ้น) ที่ออกโดยบริษัท ก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้สินกับทุน พูดอีกอย่างคือ ยิ่งบริษัทมีหนี้มากเมื่อเทียบกับส่วนทุน ความเสี่ยงของบริษัทก็ยิ่งสูง นักลงทุนก็จะยิ่งเรียกร้องอัตราผลตอบแทนสูงๆ ในการลงทุน”

แอดมาทีกับเฮลวิกเปรียบเปรยว่า การปฏิเสธว่าข้อค้นพบที่สำคัญที่สุดของทฤษฎีนี้เป็นสากล ใช้ได้กับทุกบริษัททุกธุรกิจ ก็เหมือนกับการปฏิเสธว่ากฎแรงโน้มถ่วงกำกับทุกสิ่งบนโลกด้วยการอ้างว่าอากาศมีแรงต้าน

อันที่จริง ตรรกะของโมดิกลิอานี-มิลเลอร์ ใช้ได้ดีมากกับส่วนทุนและการกู้ยืมของธนาคารในตลาดสินเชื่อและตลาดพันธบัตร ธนาคารมีปฏิสัมพันธ์กับนักลงทุนกลุ่มเดียวกันกับที่ซื้อหุ้นและพันธบัตรของบริษัทอื่น นักลงทุนเหล่านี้ตีมูลค่าหุ้นและพันธบัตรของธนาคารในบริบทของพอร์ตลงทุนรวมของตัวเอง โดยใช้หลักเกณฑ์ชุดเดียวกันในการประเมินการลงทุนทั้งหมด ตรรกะที่ว่าต้นทุนและความเสี่ยงในการระดมทุนของนักลงทุนขึ้นอยู่กับส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุนของธนาคารนั้น ใช้ได้กับกรณีที่ธนาคารกู้ยืมเงินมาจากสถาบันการเงินอื่นเช่นกัน

ผู้เขียนทั้งสองย้ำว่า ธนาคารเหมือนกับบริษัทอื่นทุกบริษัทตรงที่มีเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น เลือกได้ว่าจะใช้ส่วนทุนของผู้ถือหุ้นเท่าไร จะกู้ยืมเงินเท่าไร เหมือนกับบริษัทอื่นตรงที่มีแนวโน้มจะประสบปัญหาทางการเงินหรือแม้แต่ถึงขั้นล้มละลายเมื่อมีหนี้สินสูงมโหฬาร มีส่วนทุนนิดเดียว

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ รวมถึงการบิดเบือนและความไร้ประสิทธิภาพจากการมีหนี้สินสูงเกินไปนั้นก็พบเห็นในวงการธนาคารไม่น้อยกว่าวงการอื่น คนที่เถียงว่าธนาคาร “ไม่เหมือนธุรกิจอื่น” และพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้หนี้สูงๆ ในการดำเนินธุรกิจธนาคารนั้น มักจะละเลยหรือทำเป็นมองไม่เห็นการบิดเบือนและความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น – แล้วพอธนาคารเกิดปัญหา ผู้เสียภาษีหรือสังคมก็มักจะเป็นผู้ที่ต้องแบกรับความเสียหาย


มายาคติ 5: ธนาคารเป็นสถาบันพิเศษเพราะมันผลิต (หรือสร้าง) เงิน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนการใช้คำว่า “เงิน” อย่างผิดความหมาย แนวคิดที่ว่าธนาคาร “ผลิต” หรือ “สร้าง” เงินได้นั้น ตั้งอยู่บนการสังเกตว่า เราๆ ท่านๆ สามารถแปลงเงินฝากให้เป็นเงินสดได้อย่างง่ายดาย ด้วยการไปถอนเงิน และคนก็มองว่าเงินที่ฝากไว้ในธนาคารนั้นคล้ายกับเงินสด สามารถใช้เงินฝากในการใช้จ่าย เช่น ด้วยการเซ็นเช็คสั่งจ่าย หรือรูดบัตรเครดิต ด้วยเหตุนี้ นักเศรษฐศาสตร์การเงินจึงเรียกเงินสดในมือและยอดเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์รวมกันว่า “ปริมาณเงิน”

อย่างไรก็ตาม การที่บัญชีออมทรัพย์ถูกรวมไว้ในดัชนีสำคัญของเศรษฐศาสตร์มหภาคนั้น ไม่ได้หมายความว่ายอดบัญชีออมทรัพย์เหมือนกันกับเงินสด ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ เงินฝากคือ “หนี้” รูปแบบหนึ่ง – หนี้ซึ่งผู้ฝากเงินเป็นเจ้าหนี้ ธนาคารเป็นลูกหนี้ ธนาคารมีพันธะที่จะต้องจ่ายเงินคืนแก่ผู้ฝากเงิน เมื่อไรก็ตามที่เขาหรือเธออยากถอนเงินคืน ถ้าหากธนาคารไม่มีเงินมาคืน ปัญหาก็จะเกิด ในทางตรงกันข้าม เงินสดในรูปของเหรียญและธนบัตรที่ธนาคารกลางพิมพ์ออกมากระจายในระบบนั้นไม่ใช่ “หนี้” ของใครเลย

จากมุมมองของธนาคาร ความแตกต่างประการสำคัญระหว่างเงินฝากและหนี้สินประเภทอื่นไม่ใช่ว่าเงินฝาก “คล้ายเงิน” แต่เป็นประเด็นที่ว่า ธนาคารส่งมอบบริการต่างๆ แก่ผู้ฝากเงิน อาทิ การจ่ายเงินผ่านเช็คธนาคารและบัตรเครดิต หรือเครื่องกดเงินสดอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) ซึ่งทำให้ลูกค้าถอนเงินได้ตลอดเวลา ความต้องการฝากเงินของประชาชนขึ้นอยู่กับบริการเหล่านี้ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารเสนอ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่ธนาคารจะล้มละลายหรือไม่มีเงินคืนผู้ฝาก


มายาคติ 6: การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำตามกฎหมาย (equity requirement) จะลิดรอนความสามารถของธนาคารในการคืนเงินฝากและชำระหนี้ระยะสั้นประเภทอื่นที่มีสภาพคล่องและใช้ได้เสมือนกับเงิน

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนสมมุติฐานผิดๆ ว่า ส่วนทุนของธนาคารนั้นคงที่และมีจำกัด ไม่อาจทดแทนหนี้สินของธนาคารได้ด้วยการเพิ่มทุนในทางที่ไม่กระทบกับ “ระดับสภาพคล่องสำรอง” ที่ต้องมี แต่ในความเป็นจริง ธนาคารสามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการนำกำไรสุทธิไปลงทุนเพิ่ม หรือออกหุ้นเพิ่มทุน ไม่ต่างจากบริษัทในธุรกิจอื่น ยิ่งมีส่วนทุนเพิ่ม ธนาคารก็จะยิ่งสามารถรับเงินฝากได้มากขึ้น ถ้าหากผู้กำกับดูแลเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำที่ต้องมี การมีส่วนทุนมากขึ้นก็จะทำให้ธนาคารสามารถเก็บเงินฝากและหนี้ “เปี่ยมสภาพคล่อง” ระยะสั้นเอาไว้ได้เหมือนเดิม ไม่ใช่ว่าต้องมีน้อยลง

การมีส่วนทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับหนี้สินจะทำให้ธนาคารสามารถเพิ่มสภาพคล่องได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะส่วนทุนที่มากขึ้นจะทำให้หนี้สินของธนาคารได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากเจ้าหนี้

ด้วยเหตุนี้ ลักษณะ “เปี่ยมสภาพคล่อง” หรือ “คล้ายเงิน” ของเงินฝากและหนี้ระยะสั้นจะดีกว่าเดิม ถ้าธนาคารมีหนี้สินน้อยลง มีส่วนทุนมากขึ้น


มายาคติ 7: การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำนั้นไม่เหมาะสม เพราะต้นทุนการระดมทุนของธนาคารจะเพิ่มขึ้น

ผิดเพราะอะไร? มายาคติข้อนี้ตั้งอยู่บนการสังเกตพื้นๆ ว่า ผลตอบแทนจากทุน (ที่นักลงทุนต้องการ) นั้นสูงกว่าผลตอบแทนจากหนี้ (ที่เจ้าหนี้ต้องการ) แต่ในความเป็นจริง ผลตอบแทนจากทุน หนี้ หรือหลักทรัพย์ใดๆ ก็ตามที่นักลงทุนหรือเจ้าหนี้ต้องการนั้น ขึ้นอยู่กับ “ส่วนผสม” ระหว่างหนี้กับทุนของแต่ละบริษัท ถ้าธนาคารมีส่วนทุนมากขึ้น อัตราผลตอบแทนที่นักลงทุนและเจ้าหนี้ต้องการก็จะน้อยลง (เพราะธนาคารมีความเสี่ยงน้อยลง)

แอดมาทีกับเฮลวิกชี้ว่า สาเหตุหลักจริงๆ ที่ต้นทุนรวมในการระดมทุนของธนาคารอาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ทางการเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำ คือ ถ้าหากธนาคารต่างๆ มีทุนมากขึ้น ธนาคารก็จะได้ประโยชน์น้อยลงจากการรับประกันและเงินอุดหนุนต่างๆ นานาของรัฐ ซึ่งเข้ามา “อุ้ม” ด้วยเงินภาษีของประชาชน!

ในการถกเถียงเชิงนโยบาย ประเด็นสำคัญอยู่ที่การเปรียบเทียบต้นทุนกับประโยชน์ต่อสังคมจากการที่ธนาคารใช้ส่วนผสมของหนี้และทุนในระดับต่างๆ เนื่องจากความเปราะบางของระบบการเงินนั้นมีต้นทุนสูงและก่อความเสียหายมหาศาล
ฉะนั้นผู้เขียนทั้งสองจึงสรุปว่า ประโยคที่ถูกต้องคือ “การเพิ่มระดับทุนขั้นต่ำตามกฎหมายจะลดต้นทุนต่อสังคมจากการที่มีระบบการเงินไร้ประสิทธิภาพ ระบบที่สถาบันการเงินกู้ยืมเงินเกินตัว และดังนั้นกฎนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อสังคม”


....................................
ขอเชิญผู้อ่าน อ่านต้นฉบับจาก http://thaipublica.org ซึ่งมีภาพประกอบและลิ้งค์เอกสารมากมาย



.