.
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน : พจนานุกรมภาค 2
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409918313
. . วันศุกร์ที่ 05 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 21:00:36 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 5 ก.ย. 2557 )
( ภาพจากเวบบอร์ด ไม่เกี่ยวกับผู้เขียนและมติชน )
หลัง คสช.ยึดอำนาจการปกครองได้ไม่นาน ได้มีคำสั่งย้ายนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดพ้นเก้าอี้ทันที พร้อมกับให้นายตระกูล วินิจนัยภาค รองอัยการสูงสุด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
ดังนั้น จึงไม่ควรมีข้อสงสัยใดๆ ถึงบทบาทของอัยการสูงสุดคนใหม่ ว่าจะเป็นคนของระบอบทักษิณ คนของรัฐบาลเพื่อไทย อะไรแบบนั้น
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ในการวิเคราะห์วิจารณ์ ความเห็นของอัยการในคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หลังคณะทำงานของอัยการ พิจารณาสำนวนคดีจำนำข้าวของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ชี้มูลความผิดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตจนรัฐเสียหาย
แล้วอัยการมีความเป็นเอกฉันท์ว่า สำนวนคดีของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาได้
ความเห็นของคณะทำงานอัยการดังกล่าว ได้เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนเซ็นคำสั่งว่าสำนวนของ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์
สรุปว่ายังไม่สามารถดำเนินคดีทางอาญาต่ออดีตนายกฯปู ตามที่ ป.ป.ช.สรุปเสนอได้
จึงต้องเน้นย้ำว่า อย่ามองความวินิจฉัยของอัยการในกรณีนี้ ด้วยข้อหาระบอบทักษิณอะไรอีกเป็นอันขาด
ต้องพิจารณาจากสาระ มากกว่าด้วยอคติ ซึ่งอัยการได้ชี้ถึงข้ออ่อนของสำนวน ป.ป.ช. 3 ประเด็น
1.โครงการรับจำนำข้าว เป็นโครงการของรัฐบาลที่แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ดังนั้นจึงควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่
2.ควรทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความว่า ภายหลังจากที่ได้ถูกท้วงติงจาก ป.ป.ช. และ สตง.แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร
3.ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า พบการทุจริตในขั้นตอนใดและมีการทุจริตอย่างไร นอกจากนั้นมีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (TDRI) ว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวนปรากฏว่ามีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น
อ่าน 3 ข้อนี้แล้ว พอเห็นภาพได้ว่าสภาพของสำนวน ป.ป.ช.นั้น ไม่สมบูรณ์อย่างไร
โดยเฉพาะในข้อ 3 เรื่องงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เป็นเรื่องที่สร้างความขบขันไปทั่วมาแล้ว เมื่อ ป.ป.ช.เปิดประเด็นนี้ออกมา
องค์กรอิสระกับการเล่นงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น เคยอาศัยพจนานุกรมมาแล้ว นี่อาศัยงานวิจัยเพิ่มเข้ามาอีก
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ถ้าไม่มีการริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์วิจัยเอาไว้ เช่น ผลการศึกษาเรื่องมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตนฟันธงว่า ป.ป.ช.จะไม่สามารถชี้มูลความผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เลย
ฟังแล้วแปลได้ว่า งานวิจัยคือหัวใจสำคัญสุดของพยานหลักฐานในสายตา ป.ป.ช.
ไม่เท่านั้น นายวิชายังบอกว่า การทำงานของ ป.ป.ช.ต่อจากนี้จะใช้สหสาขาวิชาศาสตร์ คือ การผนึกกำลังระหว่างนิติศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลมากยิ่งขึ้น
ฟังแล้วอดนึกไม่ได้ต้องนึกถึงไสยศาสตร์
++
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน: ไม่มีคดี 99 ศพ
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1409292079
. . วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16:02:56 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 29 ส.ค. 2557 )
บางคนอาจจะได้คำตอบแล้วว่า ทำไม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนี้ห่มเหลืองเป็นพระสุเทพ รวมไปถึงคนแวดล้อมในสังกัดประชาธิปัตย์ จึงพูดมาตลอดว่า ไม่ขอรับการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะคดี 99 ศพ
คนเหล่านี้ยืนยันตลอดว่า พร้อมจะต่อสู้คดี ถ้าผิดจริงก็พร้อมจะติดคุก
เช้าวันที่ 28 สิงหาคม คงมีคำตอบแล้วว่า ทำไมเขาจึงกล้าพูด
เช้าวันที่ 28 สิงหาคม เป็นวันที่อภิสิทธิ์และพระสุเทพ รวมทั้งทีมกฎหมายของประชาธิปัตย์ มีความสุขที่สุด
เพราะศาลอาญา มีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ นายอภิสิทธิ์และพระสุเทพเป็นจำเลย
ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83, 84 และ 90 จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุม นปช.เมื่อปี 2553
หรือที่เรียกกันว่าคดี 99 ศพ
โดยคำพิพากษาศาลอาญาระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 2 ที่ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมโดยใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นการออกคำสั่งในฐานะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
แต่การปฏิบัติต้องทำไปตามที่กฎหมายบัญญัติและไม่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะไม่ใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนปืนจริง การใช้อำนาจของจำเลยทั้ง 2 จึงเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหาใช่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลอาญาไม่
ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจรับคำฟ้องของโจทก์ จึงพิพากษายกฟ้อง
ฟังคำพิพากษาจบ คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก
แต่ญาติมิตรของประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ล้มตายหลายสิบศพ ย่อมรู้สึกตรงกันข้าม
ผลจากคำพิพากษานี้ เท่ากับว่า คดี 99 ศพในส่วนที่เป็นคดีอาญา ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
จะตกไปทันที
ดังนั้นที่ต้องรอดูต่อไปก็คือ สำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นโจทก์ ต้องดำเนินการยื่นอุทธรณ์ เพื่อยืนยันว่าเป็นคดีความผิดทางอาญา ไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
พร้อมๆ กับญาติพี่น้องของผู้ตายส่วนหนึ่งที่ยื่นขอเป็นโจทก์ร่วม คงยื่นอุทธรณ์เช่นกัน
แต่หากการอุทธรณ์ไม่เป็นผล
คดีจะต้องส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป
รับแล้วจะรวดเร็วเหมือนคดีที่ฟากของพวกยิ่งลักษณ์หรือไม่ ยังไม่รู้
หรือจะเหมือนคดีอื่นของคนชื่ออภิสิทธิ์ที่อยู่ในมือ ป.ป.ช. ก็คือติดน้ำท่วมไม่เลิกหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
อีกทั้งสุดท้าย ถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่มีมูล ก็เป็นอันจบ คนที่ตายไป 99 ศพก็จบชีวิตไปโดยไม่มีใครต้องรับโทษ
หรือถ้า ป.ป.ช.ชี้ว่ามีมูลความผิด ก็ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง
แต่จะเป็นการฟ้องตามมาตรา 157 คือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อหาเปลี่ยน โทษเปลี่ยน
แต่ที่สำคัญคือ จะไม่มีคดีฆาตกรรม 99 ศพ มีแค่คดีผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
++
สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน: เบ็ดเสร็จสุดโต่ง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407501496
. . วันศุกร์ที่ 08 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:30:00 น.
( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 8 ส.ค. 2557 )
แม้ว่า "เขมรแดง" จะปิดฉากตัวเอง หมดสิ้นอำนาจและสูญสลายไปกว่า 30 ปีแล้ว แต่โลกยังไม่ลืมเลือน ตำนานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และคิลลิ่งฟีลด์ยังคงเป็นที่กล่าวขวัญกันไม่สิ้นสุด
ขณะเดียวกัน ยังมีการดำเนินคดีกับผู้นำของกลุ่มเขมรแดงที่ยังคงหลงเหลือและมีชีวิตอยู่บางส่วน ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เนื่องจากมีกำจัดศัตรูทางชนชั้น ศัตรูทางการเมือง จนมีผู้คนต้องเซ่นสังเวยไปหลายล้านชีวิต
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ศาลพิเศษด้านอาชญากรสงครามกัมพูชา ที่มีสหประชาชาติสนับสนุน เพิ่งอ่านคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตนายนวน เจีย และนายเขียว สัมพัน หลังจากการพิจารณาคดีมายาวนาน
แต่ผู้นำเขมรแดงทั้งสองก็อายุปาเข้าไป 80 กว่าจะ 90 แล้ว การถูกจำคุกตลอดชีวิตก็คงอีกไม่ยาวนานนัก
ส่วนผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น พล พต, เอียง ซารี, ซอน เซน, ตา ม็อก ล้วนจากลาโลกไปหมดแล้ว
คงมีจำเลยเหลือให้เอาผิดได้แค่ไม่กี่คนเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ก็มี นายคังเก็ก เอียว หรือ "สหายดุช" อดีต ผบ.เรือนจำตวลสเลง ถูกตัดสินจำคุกหลายปีเป็นรายแรก
เรือนจำตวลสเลง เป็นคุกอำมหิตที่คนทั้งโลกรู้จักกันดี ทุกวันนี้ทางการกัมพูชายังรักษาเอาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม เพื่อเพิ่มอารมณ์สยดสยองและหดหู่
เช่นเดียวกับทุ่งสังหาร อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต มีกะโหลกมนุษย์มากมายมหาศาลเก็บใส่ตู้กระจกให้ดูไปขนลุกไป
เป็นอนุสรณ์เตือนความทรงจำต่อคนทั้งโลก ว่าอย่าได้ดำเนินตามเส้นทางนี้กันอีก
เส้นทางการปกครองและมุ่งสร้างสังคมตามอุดมการณ์อันสุดโต่ง ใช้การบังคับเข่นฆ่า เพื่อทำให้เป้าหมายในการสร้างประเทศที่ปราศจากชนชั้นบรรลุเร็วที่สุด โดยไม่อยู่บนความเป็นจริง
เขมรแดงก็คือ พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ซึ่งจับอาวุธลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลของนายพลลอน นอล อันเป็นกลุ่มอำนาจฝ่ายขวาซึ่งมีสหรัฐให้การสนับสนุน
ในช่วงระยะเดียวกันนั้น กระแสคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้กำลังมาแรง มีการนำมวลชนตั้งกองกำลังปฏิวัติล้มรัฐบาลฝ่ายขวาที่อิงสหรัฐ ทั้งในเวียดนาม ลาว จนได้รับชัยชนะพร้อมๆ กันในช่วงประมาณปี 2518
แต่ถัดจากนั้น เขมรแดงมาแรงสุด เพราะนโยบายการสร้างสังคมปราศจากชนชั้นแบบสุดโต่ง เดินแนวทางเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ชูอุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ
กวาดต้อนประชาชนออกจากเมืองหลวงและเมืองใหญ่ เพื่อไปใช้แรงงานในชนบท กำจัดศัตรูทางชนชั้นแบบถอนรากถอนโคน
ก่อนหน้าเขมรแดงจะได้รับชัยชนะ ประชาชนกัมพูชาเผชิญกับรัฐบาลที่บริหารประเทศแบบเละเทะ ตามลักษณะของผู้มีอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย แต่พอฝ่ายคอมมิวนิสต์ชนะ ก็เจออำนาจแบบเด็ดขาดสุดขั้ว คือ ยากลำบากทำงานหนักอย่างเสมอภาคกันหมด
มีเรื่องเล่าว่า ขนาดจีนซึ่งเป็นลูกพี่ เสนอให้การช่วยเหลือเครื่องมือด้านเกษตรกรรมในการสร้างประเทศ เช่น รถแทรกเตอร์ แต่ผู้นำเขมรแดงตอบกลับไปว่าขอให้ส่ง "จอบ" มาแทนแล้วกัน
เขมรแดงจึงเป็นตัวอย่างของกลุ่มอำนาจเบ็ดเสร็จสุดโต่ง มีอุดมการณ์มีความมุ่งมั่นจะสร้างสังคมใหม่ให้ได้
แต่เป็นอุดมการณ์ที่ทำตามความเชื่อของคนกุมอำนาจกลุ่มเดียว คิดแทนประชาชนทั้งหมด และใช้อำนาจอย่างสุดขั้วเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
จึงกลายเป็นตำนานที่โลกต้องจารึกเอาไว้ เพื่อไม่ให้กลุ่มอำนาจในประเทศไหนๆ เดินตามอีก
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย