http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-08-14

เอาอีกแล้ว..ปฏิรูปประเทศ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

.

เอาอีกแล้ว...ปฏิรูปประเทศ
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ madpitch@yahoo.com
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1376385158
วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556 เวลา 07:30:04 น.
ที่มา :  มติชนรายวัน 13 สิงหาคม 2556 


ผมจำไม่ค่อยจะได้แล้วว่าในชีวิตนี้มีคำพูดและความพยายามในการปฏิรูปประเทศกันมากี่หนแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าบ้านนี้เมืองนี้จะชื่นชอบการปฏิรูปประเทศเป็นพิเศษ

ทั้งที่บางทีคำว่า "ปฏิรูป" นั้นก็อาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน หรือบางทีคนใช้คำนี้เองก็อาจจะไม่เข้าใจเอาเสียเลยว่าปฏิรูปนั้นแปลว่าอะไร แต่เมื่อใช้คำว่าปฏิรูปแล้วมันดูดี ก็น่าจะหยิบมาใช้อยู่

ก็เพราะยังเชื่อว่าตนเองนั้นมีเจตนาดีที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและต้องการความร่วมมือร่วมใจกันของหลายฝ่าย




ทีนี้เรื่องที่ควรจะตั้งคำถามก่อนที่จะเริ่มปฏิรูปประเทศก็คงจะมีกันอยู่หลายๆ คำถามนั่นแหละครับ

หนึ่ง เราได้เคยสรุปบทเรียนและติดตามกันบ้างไหมว่าการปฏิรูปประเทศในแต่ละครั้งที่ผ่านมานั้นประสบความสำเร็จอย่างไร และมีอะไรที่ยังเป็นประเด็นท้าทายอยู่ ทั้งในแง่ที่อ้าง/ต้องการจะทำแต่ทำไม่ได้ หรือมันมีผลบางประการที่ไม่ได้คาดหมายเกิดขึ้นจากการปฏิรูปประเทศ ที่นำไปสู่ปมปัญหาใหม่ๆ ที่ตามมา

อาทิ เราเคยพูดถึงการปฏิรูปประเทศที่เรียกตามพระราชดำรัสของรัชกาลที่ห้าว่า "Government Reform" หรือการปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง ซึ่งนำมาสู่บูรณภาพดินแดน เอกราชและอธิปไตย และเครื่องมือเครื่องไม้ใหม่ที่เรียกว่า ระบบราชการ แต่ในวันนี้เราก็รู้ว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในท้ายที่สุด รวมทั้งระบบราชการอย่างกองทัพ และกระทรวงมหาดไทยเอง ก็ถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงต่อไปอีก ทั้งจากการกำหนดภารกิจของตนเอง ตั้งแต่การ "กำหนด-ต่อสู้กับศัตรู" และการ "บำบัดทุกข์บำรุงสุข" ของประชาชน


หรือเมื่อเราพูดถึงการปฏิรูปการเมืองในสมัย 2540 เราก็พบว่ามีความตื่นตัวและความเปลี่ยนแปลงของประเทศมากมายในการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน และผลักดันให้ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีเหตุมีผลมากขึ้น แต่เราก็รับรู้ว่าประเด็นท้าทายในการปฏิรูปการเมืองในครั้งนั้นก็มีอยู่หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ไม่ได้เป็นไปตามที่สัญญาเอาไว้ และการหลบเลี่ยงที่จะอยู่ภายใต้กฎกติกาของการปฏิรูป ไม่ว่าจะจากการคอร์รัปชั่นที่สลับซับซ้อน หรือการปฏิเสธที่จะใช้กลไกภายในรัฐธรรมนูญเองในการแก้ปัญหาทางการเมือง แต่ไปใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งได้แก่การผลักดันจนทำให้เกิดการทำรัฐประหารขึ้นในปี 2549

และก็จะอดกล่าวถึงไม่ได้ในกรณีของการพยายามในการปฏิรูปประเทศอีกครั้งในยุคสมัยหลังการกระชับพื้นที่และความขัดแย้งของสังคมหลังจากมีคนตายไปเกือบจะร้อยคนภายใต้การนำของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งมีการตีฆ้องร้องป่าว รวมทั้งผูกพันงบประมาณจำนวนมหาศาลเข้ากับคณะกรรมการสองชุดที่นำโดยคุณอานันท์ ปันยารชุน และหมอประเวศ วะสี ซึ่งสุดท้ายเราก็จำกันไม่ได้แล้วว่าประเด็นหลักๆ ของการปฏิรูปในรอบล่าสุดนั้นคืออะไร เว้นแต่จะ "พอเดาทางได้" ว่าหาก "หมอประเวศและทีมงาน" อยู่ในการขับเคลื่อนประเทศในชุดไหน ในเรื่องไหน เรื่องราวก็จะออกมาในลักษณะของการขับเคลื่อนประเทศทุกองคาพยพ ดึงการมีส่วนร่วม ลดอคติ และเร่งกระจายอำนาจเพราะประชาชนพร้อมแล้ว (แต่ว่าต้องพร้อมในแบบที่หมอประเวศและทีมงานเชื่อว่าพร้อม จะพร้อมแบบอื่นไม่ได้ เช่นพร้อมกันเองบนท้องถนน หรือพร้อมกันเองบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าทีวีดาวเทียม หรือพร้อมกันนอกโครงการ "ตระกูล ส." อะไรทำนองนี้)

กล่าวโดยสรุป จะเดินไปข้างหน้าด้วยคำว่าปฏิรูป ก็ต้องทบทวนก่อนว่าปฏิรูปครั้งที่แล้วๆ มานั้นทำอะไรกันไปบ้างแล้ว ไม่เช่นนั้นคำว่าปฏิรูปก็จะเป็นถ้อยคำที่ค่อนข้างจะ "กลวงเปล่า" ที่พร้อมจะกลายเป็นเรื่องของพื้นที่ที่ช่วงชิงกันกำหนดนิยามหรือผลักดันเรื่องราวที่อาจจะไม่ค่อยจะเข้าใจหรือร่วมมือกันมากนัก



สอง คำถามที่สำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองในรอบนี้ก็คือ โครงสร้างการเมืองของประเทศนี้ไม่ได้เอื้อให้ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งมาเล่นการเมืองแบบปฏิรูปได้แล้ว เพราะว่าผู้ใหญ่จำนวนนั้นอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อื่นๆ ในสังคมนี้

อธิบายให้ชัดเจนก็คือ การไปเชิญคนอย่างคุณชวน หลีกภัย หรือคุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมาร่วมขบวนนั้น ไม่ใช่ว่าจะไปโทษว่าท่านเหล่านี้ไม่มาร่วมงาน แต่ต้องตระหนักว่าการเมืองแบบรัฐสภานั้น อดีตนายกรัมนตรีเองก็ยังสามารถมีบทบาทในรัฐสภาได้อยู่ เขายังไม่ได้วางมือจากตำแหน่งเหล่านั้น และก็ไม่ได้มีสัญญาณว่าคนเหล่านี้จะไม่ได้พยายามทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดในตำแหน่งเหล่านั้น

เรื่องเดียวกันนี้สามารถอธิบายตำแหน่งของผู้ใหญ่คนอื่นๆ ในบ้านในเมือง อาทิ ที่ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เป็นต้น ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้คงจะยุ่งกับการเมืองได้ลำบาก (แม้ว่าบางท่านจะถูกกล่าวหาว่ายุ่งกับการเมืองก็ตาม)

ดังนั้น การนำเสนอวิธีคิดว่าควรเอาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาช่วยกันทำงานในองค์กรใหม่นี้จึงไม่น่าจะสามารถเข้าถึงตัวผู้ใหญ่ที่มีอำนาจจริงๆ ในบ้านเมืองวันนี้ได้สักเท่าไหร่ ด้วยว่าตำแหน่งที่ตัวเองมีอยู่ก็ไม่ได้ทำให้มาเข้าร่วมได้ง่ายนัก

เว้นแต่ว่าการเชื้อเชิญให้เกิดการปฏิรูปประเทศในรอบนี้จะทำไปในลักษณะที่เป็นการไป "ส่องไฟ" ถึงตัวผู้ใหญ่เหล่านั้นทีละคนว่ามีท่าทีอย่างไรในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกับความพยายามในรอบนี้ ซึ่งเรื่องน่าสนใจสำหรับผมจึงไม่ใช่เรื่องของการตอบรับ

แต่เป็นเรื่องของการให้เหตุผลในการปฏิเสธเสียมากกว่า

และเรื่องที่น่าสนใจก็คือ คนหน้าเดิมๆ ที่มีการเปิดเผยชื่อขึ้นมาในอุตสาหกรรมปฏิรูปนั้นจะมีใครกันบ้างนั่นแหละครับ



สาม แก่นสารสาระของการปฏิรูปน่าจะมีประเด็นอะไรบ้าง?

1. การปฏิรูปประเทศไม่ควรจะเป็นเรื่องของคำถามสำเร็จรูป หรือความใฝ่ฝันอะไรให้มันยิ่งใหญ่มากนัก เพราะประเทศชาตินั้นมีหน่วยงานที่ว่าด้วยการวางแผนอยู่มากมายอยู่แล้ว และวิธีคิดเรื่องการวางแผนนั้นก็ถูกใช้ราวกับยาสามัญประจำบ้าน ทั้งที่การวางแผนในสมัยใหม่นี้เขาพัฒนาทฤษฎีไปอีกมากมาย โดยเฉพาะที่ว่าด้วยเรื่องของการสร้างฉันทามติร่วมกัน หรือการผลักดันให้เกิดความแตกต่างหลากหลายมากกว่าเนื้อหาสาระและเหตุผลชุดเดียวของกลุ่มคนที่ครอบงำกลุ่มอื่นๆ

การปฏิรูปประเทศจึงน่าจะเป็นเรื่องของการตั้งคำถามว่าจะแปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่มีแนวโน้มของการทำลายล้าง และการใช้กำลัง (หรืออ้างว่าจะใช้กำลัง) ให้มาอยู่ในกระบวนการสันติได้อย่างไร

นั่นหมายถึงการยอมรับว่าความขัดแย้งในสังคมเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่มองว่าสังคมนั้นจะต้องมีอภิมหาเหตุผลแห่งความดีงามหนึ่งเดียวที่ทุกคนจะต้องก้มหัวให้ร่วมกัน เว้นแต่เรื่องของการจำกัดให้มิติของความขัดแย้งแตกแยกนั้นอยู่ภายใต้กระบวนการที่มีส่วนร่วมและไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา

2. การปฏิรูปประเทศควรจะมุ่งเน้นไปที่การยอมรับมิติการมีส่วนร่วมและการทำงานที่มีอยู่เดิม แต่ทำให้ข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมนั้นลดลง อาทิ การยอมรับการเลือกตั้ง การทำงานในรัฐสภา การเมืองบนท้องถนน และการเมืองในสื่อทางเลือกใหม่ๆ โดยมองว่าแต่ละภาคส่วนเดิมนั้นก็มีคุณค่าอยู่ด้วย แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการประสานสอดคล้องกัน ไม่ใช่คิดแต่จะทำแต่หน่วยงานใหม่ๆ แล้วก็อ้างว่าของใหม่ไฉไลกว่าเดิม และ "จริงแท้" กว่าเดิม

3. การปฏิรูปประเทศควรผลักดันประเด็นที่คิดว่ากระบวนการที่มีอยู่เดิมนั้นเกิดการสะดุดติดขัด และควรมีลักษณะของการทำงานที่มีเงื่อนเวลาที่ชัดเจน ซึ่งในวันนี้สิ่งที่ยังคาอกคาใจของคนทุกฝ่ายสำหรับผม โดยที่กระบวนการที่มีอยู่เดิมไม่สามารถให้หลักประกันได้ว่าจะมีความเข้าใจและทางออกร่วมกัน นั่นก็คือ เรื่องของ "ความยุติธรรม" เพราะการเมืองในวันนี้วนเวียนอยู่ในเรื่องของการอ้างถึงความยุติธรรมและการไม่ได้รับความยุติธรรม หรือการไม่ยอมรับคำอธิบายเรื่องความยุติธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง นับเนื่องมาจากเรื่องของนโยบายสาธารณะ รวมทั้งความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ต่อตัวบุคคล หรือคณะบุคคล

และที่ทำให้เรื่องมันมีทางออกยากขึ้นก็คือ สถาบันที่เชื่อว่าจะผดุงเอาไว้ซึ่งความยุติธรรมเองที่มีอยู่บ่อยครั้งก็ไม่เป็นที่ยอมรับ เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย หรือไม่สามารถที่จะอธิบายจนเป็นที่เข้าใจและยอมรับได้ว่าความยุติธรรมนั้นคืออะไร

ดังนั้น หากจะปฏิรูปประเทศในรอบนี้ การพูดถึงความยุติธรรม ซึ่งย่อมจะโยงไปถึงเรื่องความเป็นธรรมและความเท่าเทียมน่าจะเป็นเรื่องราวที่สำคัญ

4. การปฏิรูปประเทศไม่ควรมีลักษณะของการจัดแถวจัดระเบียบว่ามีลักษณะเดียวที่ถูกต้อง หรือจะต้องเน้นเรื่องความสามัคคีพร้อมเพรียงหนึ่งเดียวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการจัดแถวแบบที่ชอบอ้างถึง "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่ทุกฝ่ายร่วมใช้อำนาจกันโดยไม่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการคิดต่าง หรือการชอบอ้างว่าประชาชนนั้นจะต้องเข้าร่วมกลไกใหม่ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะหลากหลายและยืดหยุ่น แต่สุดท้ายก็เป็นการกำกับและสร้างวินัยให้ประชาชนมีเงื่อนไขการมีส่วนร่วมในแบบเดียวคือต้องเข้าร่วมเครือข่ายภาคีภายใต้กระบวนการที่คนฉลาดไม่กี่คนวางแนวทางให้เดิน

แต่ต้องหมายถึงการส่งเสริมความหลากหลายและส่งเสริมแนวทางต่างๆ ให้นวัตกรรมทางการเมืองนั้นเกิดได้โดยไม่ทำให้ทุกอย่างอยู่ในระเบียบแห่งความถูกต้องหนึ่งเดียวเสียมากกว่า



สี่ เราจะปฏิรูปการเมืองได้หรือไม่ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องใกล้ตัวด้วย นั่นก็คือการสื่อสารสาธารณะ และท่าทีของฝ่ายที่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่มีอยู่แต่เห็นไม่ชัดเช่น สื่อ  และที่เห็นชัดเช่น พรรคฝ่ายค้าน

ถ้ายังจำบทเรียนเรื่องของการจุดประเด็นเรื่องความปรองดองและรายงานเรื่องการปรองดองที่จัดทำขึ้นจากสถาบันพระปกเกล้าได้ เราก็คงจะจำได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับข้อเสนอต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในเล่ม

รวมทั้งถ้าเรายังลืมไปแล้วว่ากระบวนการจัดทำเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนและงานวิจัยที่รัฐบาลมอบหมายให้สถาบันการศึกษาทำมาในเรื่องของความปรองดองว่า ตกลงผลออกมาหรือยัง? เราก็คงจะเดินกันไม่ได้ง่ายนักหรอกครับ


แต่กระนั้นก็ตาม การปฏิรูปก็ยังเป็นคำที่มีเสน่ห์อยู่ดี แต่มันมีเสน่ห์ตรงที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เพราะใครๆ ก็มีแนวทางเป็นของตนเองเสียล่ะมั้งครับ



.