http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2556-01-28

นิธิ: อนาคตของ“ม็อบ”และของ“ชาติ”

.

นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตของ“ม็อบ”และของ“ชาติ”
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 10:50:38 น.
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1359343654
( ที่มา  บทความกระแสทรรศน์  นสพ.มติชน รายวัน 28 ม.ค. 2556 )



จนถึงนาทีนี้ ผมยังมองไม่เห็นว่า การเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันรัฐบาลให้ไม่รับอำนาจของศาลโลก (ในกรณีที่กัมพูชาร้องขอให้ศาลโลกตีความคำตัดสิน) จะขยายตัวเป็นวิกฤตทางการเมือง

จริงอยู่ศาลโลกยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆ ออกมา จะรับตีความตามคำร้องของกัมพูชาหรือไม่ และถ้าตีความจะกระทบต่อข้อพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้แน่ แต่ดูเหมือนคาดกันในเมืองไทยเสียแล้วว่า ศาลโลกจะตีความคำร้องไปในทางที่ทำให้ไทยต้องถอยออกมาจากพื้นที่พิพาท

เหตุใดจึงเกิดการคาดเดาเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาล โดยผ่านคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ที่ส่อไปในทางที่ระแคะระคายว่า การตีความจะไม่เป็นคุณแก่ไทย แต่จะถึงกับต้องถอยออกจากพื้นที่พิพาทหรือไม่ รมต.ไม่ได้กล่าวชัดนัก สรุปว่า "เจ๊งกับเจ๊า" คือถึงไม่ถอย ก็ตกอยู่ในสภาพเก่าคือ ยังต้องสงวนพื้นที่นั้นไว้เป็นพื้นที่พิพาทต่อไปเหมือนเดิม

แต่อีกส่วนหนึ่งที่คาดเดาอย่างนั้นก็เพราะการเมืองภายใน พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ในศาลโลก แต่ก็ไม่ได้แนะนำว่าควรต่อสู้ให้เต็มที่กว่าที่ได้เต็มที่อยู่แล้วเวลานี้อย่างไร เช่น จะให้เพิ่มผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศชาวต่างชาติขึ้นอีก ปลดคนที่จ้างไว้แล้วออก หาคนใหม่แทน หรืออะไรก็ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่นอนก็คือ ประชาธิปัตย์ไม่ตกขบวนที่จะเก็บคะแนนเสียง อย่างที่ไม่เคยยอมตกขบวนตลอดมา


น่าสังเกตว่าประชาธิปัตย์ยังมีสติดีพอที่จะไม่เรียกร้องเท่ากับกลุ่ม "แนวร่วมหัวใจรักชาติ" (หนังสือพิมพ์ The Nation เรียกว่าเสื้อเหลืองเลย) คือให้ถอนตัวจากศาลโลก, คณะกรรมการมรดกโลก, หรือเรียกร้องให้ทหารยกกำลังไปตั้งแนวตามชายแดน อย่างน้อยประชาธิปัตย์ก็คงรู้ว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ล้วนไม่น่าทำทั้งนั้น เพราะไม่เป็นประโยชน์อย่างใดต่อประเทศไทยเลย

แต่ที่น่าสนใจกว่าประชาธิปัตย์คือท่าทีของฝ่ายทหารต่อกรณีนี้

ผบ.สส.พูดว่า "...หน่วยงานด้านความมั่นคงก็รู้สึกกังวลว่า เรื่องนี้ (คือการเคลื่อนไหวของแนวร่วมฯ) จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ตามแนวชายแดน... ต่างคนต่างต้องสู้ในหนทางที่สันติ ถ้ารบกันมันง่าย แต่คนที่ได้รับความสูญเสียคือประชาชน แล้วจะทำอย่างไรตามแนวชายแดนก็ไม่สงบ" ส่วน ผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์ว่า "... (การเคลื่อนไหว) อย่าให้เกิดความรุนแรง อย่าให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลาย หรือให้ใครนำไปใช้ประโยชน์ โดยอย่านำไปเป็นคดีทางการเมือง... จะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยไม่ละเมิดกติกา... ถ้าหลีกเลี่ยงการรบกันได้ก็ดี..."

สรุปก็คือ "ขาใหญ่" ทางการเมืองยังลังเลที่จะใช้ประเด็นกัมพูชาเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง
ปชป.ยังรอดูท่าที ส่วนกองทัพนั้น เข้าใจว่ามีแผนรับมือไปในทางการทูตมากกว่าการทหาร ฉะนั้นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจึงเป็นการดำเนินการของแกนนำอย่างอิสระ หากจุดประเด็นนี้ได้ติด ก็จะมีมวลชนติดตามอีกมากและกลายเป็นอำนาจนอกระบบอีกอย่างหนึ่งไว้ต่อรองทางการเมืองได้ (เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ตาม)



ท่าทีของ ปชป.และกองทัพในขณะนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากแกนนำสามารถดึงมวลชนเข้าร่วมได้จำนวนมหึมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาในอนาคต หลังจากที่ศาลโลกประกาศคำตัดสินการตีความแล้ว จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำตัดสินเท่ากับขึ้นอยู่กับพลังมวลชนที่แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวจะสามารถระดมมาได้

หากแกนนำประสบความล้มเหลวที่จะดึงมวลชนจำนวนมหึมาออกมาหนุน แม้สมมุติให้การตีความของศาลโลก มีผลกระทบต่อเส้นเขตแดน กล่าวคือ ไทยต้องยอมสละพื้นที่พิพาทอย่างถาวร (ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ อย่างเลวที่สุดน่าจะเป็นให้การคุ้มครองชั่วคราวแก่กัมพูชา เพื่อจัดการปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก) ผมคิดว่า ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ก็ไม่น่าจะปะทุเป็นการปะทะกันที่ชายแดน หรือถึงกับต่างเรียกทูตกลับ
ขาใหญ่ทางการเมืองทั้งไทยและกัมพูชาต่างเห็นร่วมกันว่า การพิพาทถึงขั้นใช้อาวุธและระงับความสัมพันธ์ล้วนทำให้ขาดทุนกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย
คำแถลงของนายกฯฮุน เซน ต่อเรื่องนี้ (น่าประหลาดที่สื่อกระแสหลักไม่รายงานเลย ผมได้ข้อมูลจากสำนักข่าวประชาไท) ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชาห่วงใยกับข้อพิพาททางทะเลมากกว่า และเร่งรัดรัฐบาลไทยให้เจรจาอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป (ในขณะที่รัฐบาลประชาธิปัตย์เองกลับใช้วิธีเจรจาลับที่ฮ่องกง และคุนหมิง) เพราะทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อน เช่น ขุดน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติได้ ไทยอาจใจเย็นในเรื่องนี้ได้ เพราะไทยได้สำรวจและขุดเจาะในอ่าวไทยไปมากแล้ว ในขณะที่กัมพูชายังไม่อาจนำทรัพยากรใต้ทะเลมาใช้ได้เลย

หากไม่มีม็อบขนาดใหญ่ ฝ่ายไทยก็น่าจะรักษาท่าทีอย่างเดิมต่อไป นั่นคือ หาหนทางที่จะเจรจาต่อรองกันทางการทูต และไม่มีเหตุที่จะยกทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ไปตั้งประจันหน้าที่ชายแดน
และในบรรยากาศอย่างนี้ ก็ไม่มีเหตุผลอีกเช่นกันที่ทางฝ่ายกัมพูชาจะเคลื่อนกำลังเข้าประชิดชายแดน หรือปล่อยให้หน่วยทหารตามชายแดนยิงปืนใหญ่ผิดเป้าเข้ามาตกทางฝั่งไทย

และถ้าเป็นอย่างนั้น ไทยจะเสียดินแดนเกินหนึ่งตารางนิ้วหรือไม่
ผมอยากตอบว่าไม่ ดินแดนที่เป็นของไทยอย่างแน่นอน ด้วยการรับรองจากนานาชาติ จะไม่เสียไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว แต่พื้นที่ตามชายแดนบางส่วน ซึ่งเป็นของไทยหรือไม่ก็ไม่แน่นั้น เราอาจต้องสละอธิปไตยออกไป หรือสูญเสียอำนาจในการกำกับควบคุมไป
พูดอย่างนี้ด้วยความรักชาติ แต่ไม่รักชาติในลักษณะเดียวกับม็อบพันธมิตร หรือ "แนวร่วมหัวใจรักชาติ"


คนเรามีวิธีรักชาติได้หลายวิธี

ต้องเข้าใจก่อนว่า เส้นเขตแดนของทุกประเทศในโลกนี้ไม่ได้เป็นสิ่งประทานจากพระเจ้า ล้วนเกิดขึ้นได้ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเป็นความสัมพันธ์เชิงสงครามระหว่างสองรัฐหรือหลายรัฐ อาจเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความยินยอมของประเทศ "ขาใหญ่" ในโลกนี้

เวียดนาม, มาเลเซีย, และอินโดนีเซีย หาได้มีเส้นเขตแดนอย่างปัจจุบันไม่เมื่อประกาศเอกราช หดหายไปบ้าง มีเพิ่มขึ้นบ้าง แม้แต่ในยุโรป เส้นเขตแดนของหลายประเทศในปัจจุบันก็ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รวมทั้งมีประเทศเกิดใหม่อีกหลายประเทศ อันเป็นเหตุให้ประเทศเก่ากว่าเช่นโซเวียตหดตัวลงไปหรือหายไปเลย

และด้วยเหตุดังนั้น เส้นเขตแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศจึงไม่ชัดเจนไปทุกจุด ถ้าเราใช้วิธีรบเพื่อสถาปนาเส้นเขตแดนตามที่เราเห็นควรทั้งหมด ป่านนี้คงยังไม่ได้ทำอะไร นอกจากรบกับเพื่อนบ้านทุกประเทศ วิธีที่เรากับเพื่อนบ้านใช้ตลอดมาก็คือ เจรจาตกลงกันโดยสันติ ในกรณีที่ตกลงกันได้ ก็วางหมุดลากเส้นกันให้ชัด เขาอาจยื่นเข้ามาในประเทศเราบ้าง เราอาจยื่นเข้าไปในประเทศของเขาบ้าง ฝ่ายละไม่กี่ ตร.กม.
กรณีที่ตกลงกันไม่ได้ ก็วางไว้ก่อนถือเป็นดินแดนที่ยังไม่มีเจ้าของแน่ชัด ในปัจจุบัน เรากับมาเลเซียก็มี No Man's Land แบบนี้อยู่บางส่วน 
หรือมิฉะนั้นก็อาจเลิกเถียงกันเรื่องอธิปไตย แต่มาแบ่งผลประโยชน์กันบนดินแดนที่เป็นปัญหาดีกว่า อย่างที่เราทำกับมาเลเซียในทะเล และหวังว่าจะทำกับกัมพูชาบ้าง



มีเพียงกรณีเดียวที่ขัดแย้งกันเรื่องดินแดน แล้วต้องนำขึ้นสู่ศาลโลก นั่นคือ กรณีกัมพูชาสมัยที่เจ้าสีหนุเป็นผู้นำ ถ้ากลับไปพลิกประวัติศาสตร์ช่วงนั้นดู ก็จะพบด้วยความประหลาดใจว่า ไทยเองเป็นฝ่ายไม่ยอมเจรจา ทั้งภายใต้รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้กัมพูชาไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากขึ้นศาลโลก มีคำอธิบายในสมัยหลังว่าเพราะรัฐบาลทั้งสองได้รับคำแนะนำผิดๆ ว่า การครอบครองปราสาทพระวิหารของไทยนั้นถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศแน่

ดังนั้น หากเราต้องสูญเสียอำนาจเหนือพื้นที่ชายแดนอันเป็นปัญหาบางส่วนที่ยังตกลงกันไม่ได้ เราไม่ได้สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนนั้น เนื่องจากเรายังไม่มีอธิปไตยที่แท้จริงเหนือพื้นที่ตรงนั้น อย่างที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า อธิปไตยเหนือพื้นที่ชายแดนนั้น พระเจ้าไม่ได้ประทานลงมา แต่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการตีความของศาลโลก ผมยืนยันได้ว่า เราไม่ได้สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนส่วนใดสักตารางนิ้วเดียว


ศาลโลกสำคัญอย่างไร อาจไม่สำคัญแก่เรามากนัก แต่เราสะบัดก้นออกมาไม่ได้ หรือเอาหูทวนลมกับคำวินิจฉัยก็ไม่ดี

ศาลโลกมีความสำคัญแก่ "ระเบียบของโลก" ที่เราไม่อาจสะบัดก้นหนีไปไหนได้ "ระเบียบของโลก" นี้ อาจสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ของมหาอำนาจเพียงไม่กี่ประเทศ แต่เขาก็มีอำนาจที่จะบังคับให้ประเทศเล็กๆ อย่างเราต้องเคารพเชื่อฟัง "ระเบียบของโลก" ที่เขากำหนดขึ้น เช่น ข้อพิพาทระหว่างประเทศเล็กๆ ทั้งหลาย ไม่เฉพาะแต่เรื่องพรมแดน แต่อื่นๆ อีกจิปาถะย่อมมีเสมอ หากต้องให้มหาอำนาจแทรกเข้ามาทุกเรื่อง ก็เสี่ยงที่จะเกิดสงครามใหญ่ เพราะแต่ละมหาอำนาจก็คงแทรกเพื่อประโยชน์ของตนเอง อันอาจขัดแย้งกับประโยชน์ของอีกมหาอำนาจหนึ่ง "ระเบียบของโลก" จึงต้องสร้างกลไกอันหนึ่งที่คอยระงับความขัดแย้งเช่นนี้ โดยมหาอำนาจไม่ต้องมาเกี่ยว ศาลโลกเป็นหนึ่งในกลไกประเภทนี้ อาจเป็นกลไกที่ไม่ได้เรื่องก็ได้ แต่เป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่มีความสำคัญต่อ "ระเบียบของโลก"

การสะบัดก้นจากศาลโลก หรือทำหูทวนลม จึงเท่ากับเรากำลังบ่อนทำลาย "ระเบียบของโลก" ผมจึงไม่คิดว่าคนที่ได้ประโยชน์จาก "ระเบียบของโลก" จะปล่อยให้เราลอยนวล ไม่ถึงกับยกกำลังทหารมาบังคับเราหรอกครับ ไม่ถึงแม้แต่จะตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเราด้วยซ้ำ แต่เครื่องมือในการสั่งสอนประเทศเล็กๆ นั้นมีมากกว่านั้นอีกมาก ซึ่งไม่ส่งผลดีแก่เราแน่ๆ

ชูกำปั้นขึ้น ตะโกนว่ารักชาติ หรือสร้างอนาคตที่ดีแก่ลูกหลานของเราในเงื่อนไขที่เป็นจริง อย่างไหนจะเป็นประโยชน์แก่ชาติกว่ากัน



.