http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-06-21

ที่เก่า-เวลานี้ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

.
ประชาชาติวิเคราะห์ - ถอดรหัส“สุเทพ” คว่ำบาตรจัดรัฐบาลแห่งชาติ“ทักษิณ” วิเคราะห์มีแต่เสียมากกว่าได้

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - 

วรศักดิ์ ประยูรศุข : ที่เก่า-เวลานี้
ในมติชน ออนไลน์  วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


เริ่มมีเสียงพูดถึงรัฐบาล "เทพประทาน 2" กันขึ้นมาอีกแล้ว 
เป็นความต่อเนื่องจากข่าวที่อดีตเลขาธิการพรรค ปชป.ออกมาแฉว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่งคนมาเชิญพรรค ปชป.ร่วมรัฐบาล 
พรรคเพื่อไทยปฏิเสธ พร้อมกับเย้ยหยันว่าเป็นเรื่องจี้เส้น

วิเคราะห์กันว่า หมากตานี้ของ ปชป. นอกจากสร้างความหวาดระแวงระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดงแล้ว
ยังมุ่งทิ่มกลางความสัมพันธ์พรรคแกนนำรัฐบาล 
กับพรรคร่วมรัฐบาล
จะได้ผลแค่ไหนยังไม่รู้ แต่ถ้าเกิดความแตกร้าวในพรรครัฐบาล ฝ่ายที่ได้ประโยชน์จะเป็นใครก็พอเข้าใจกันได้
แต่จะถึงกับทำให้เกิดการย้ายขั้วเปลี่ยนสูตรรัฐบาลอีกหรือไม่ มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายปัจจัย

สูตรพื้นฐานของการตั้งรัฐบาล ก็คือ พรรคเสียงข้างมาก จะเกินครึ่งของสภาหรือไม่ก็ตาม จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล 
ส่วนจะจัดตั้งสำเร็จหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่สำเร็จ ก็จะเป็นโอกาสของพรรคอื่นๆ ดังที่เคยเกิดเหตุการณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นำพรรคกิจสังคมที่มี 18 เสียงตั้งรัฐบาล โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นนายกฯเอง 
หรือในปี 2529 พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากสุด แต่พรรคชาติไทยกับพรรคกิจสังคมจับมือกัน ประกาศตัวเป็นเสียงข้างมาก (กว่า)
สนับสนุน "ป๋าเปรม" เป็นนายกฯ
ในยุคหลัง เกิด "งูเห่าโมเดล" ในปี 2540 และ 2551


ถามว่าการเมืองของปี 2555 ยังเอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการพิเศษ หรือวิธีซิกแซ็กนอกระบบหรือไม่
ในแง่ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่บริหารงานใกล้ครบ 1 ปี ในเดือนสิงหาฯนี้ มีจุดอ่อนจริง แต่ก็มี "จุดแข็ง" ที่ความชอบธรรม ทั้งฐานมวลชนและการยอมรับจากต่างประเทศ รวมถึงการเดินหน้าทำงาน 
ขณะที่คู่ต่อสู้คือฝ่ายค้านแม้จะดูเข้มแข็งในสภา 
แต่ความนิยมในวงกว้างยังฟื้นไม่ขึ้น

การรวมตัวของประชาชนนอกสภา โดยเฉพาะคนเสื้อแดง กลายเป็นปัจจัยตัวใหม่ ที่มีส่วนกำหนดการเมืองในภาพรวม
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ อำนาจพิเศษที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารและการเปลี่ยนแปลงแบบ "เฉพาะกิจ" ซึ่งในระยะแรกๆ เก็บเนื้อเก็บตัว เล่นมุขปรองดอง 
แต่เมื่อรัฐบาลรุกคืบเข้าไปใกล้ "กล่องดวงใจ" ทั้งแก้รัฐธรรมนูญ ชงร่าง กม.ปรองดอง กลุ่มนี้ก็เริ่มตอบโต้ 
มีปฏิกิริยาผ่านองค์กรเครือข่ายออกมาเป็นระยะๆ เก็บงานไปทีละดอกสองดอก

อาการเป๋ของรัฐบาล อาจเชิญชวนให้ถึงการต่อยอด 
แต่สถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมของการเมืองวันนี้ ปีนี้ เปลี่ยนไปจากเดิมมากแล้ว 
หลับหูหลับตานำเอาสูตรเดิมๆมาใช้ การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนนอกสภา กับฝ่ายอำนาจพิเศษจะเกิดขึ้นทันที 

ในสภาพที่มีความคับแค้นติดค้าง และต่างฝ่ายต่างรู้มือรู้ไส้ของกันและกัน
ใครก็ตามที่คิดจะนำพาการเมืองไปแถวๆ นั้น ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี 
หมดเนื้อหมดตัวได้ง่ายๆ



+++

ถอดรหัส“สุเทพ” คว่ำบาตรจัดรัฐบาลแห่งชาติ“ทักษิณ” วิเคราะห์มีแต่เสียมากกว่าได้
ใน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ . . updated: 20 มิ.ย. 2555 เวลา 17:04:30 น.


นานมาแล้วเมื่อ 15 ปีก่อน ยุคที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำรัฐบาลสลับกับพรรคความหวังใหม่ มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ-นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ผลัดกันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ยุคนั้นนักธุรกิจสาขาโทรคมนาคม ขึ้น-ลง เข้า-ออก ห้องรัฐมนตรีแบบเช้าถึง เย็นถึง

ข้าราชการในห้องนั้นเล่ากันว่า นักธุรกิจบางรายขนกระเป๋าใบใหญ่มาทิ้งไว้ แล้วก็จากไป บางรายขนไวน์มาทิ้งไว้คราวละหลายลัง บางคนเล่าว่า เงินสดจำนวน 3 ล้านต้องใส่กระเป๋าถึง 2 ใบ

นักธุรกิจระดับที่ปรึกษาใหญ่ของเจ้าของกิจการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่หมายเลขต้น ๆ ของประเทศไทย เคยเล่าเปรียบเทียบให้ฟังว่า การเจรจาโครงการสัมปทานกับนักการเมืองทั้ง 3 ราย ต้องใช้เทคนิคชั้นสูง และแต่ละคนล้วนเจรจายากยิ่งกว่ายาก

"การเจรจากับนายสุเทพง่ายที่สุด จบเร็วที่สุด ไม่ยืดเยื้อ" กุนซือใหญ่ค่ายมือถือรายหนึ่งเล่า หลังเจรจาจบ

อาจเป็นเหตุผลชุดนี้ ที่ทำให้ "ข่าว" ที่ "สุเทพ" เป็น "แหล่งข่าว" ที่อ้างกันว่ามีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ร่วมกับคนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตเจ้าของกิจการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย

ข่าวที่ออกจากปาก "สุเทพ" ชัดถ้อยชัดคำว่า "พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งคนมาติดต่อเพื่อขอทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย โดยยินดีที่จะมอบกระทรวงที่ต้องการให้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยุติการคัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดองฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นความจริง
แต่ผมเองได้ปฏิเสธไป
"

"ผมต้องการให้ความจริงปรากฏ อีกทั้งต้องการให้พรรคเพื่อไทยเลิกตีสองหน้า และขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการออกมาพูดเพื่อตีหัวเข้าบ้าน หวังเสี้ยมให้คนเสื้อแดงแตกกับ พ.ต.ท.ทักษิณ"

แม้ไม่มีชื่อผู้เข้าร่วมวงเจรจา แต่ "สุเทพ" บอกลักษณะทางเพศได้ว่า ผู้นำความจาก พ.ต.ท.ทักษิณมาเจรจา เป็นสุภาพสตรี 2 คน และสุภาพบุรุษ 1 คน

พร้อมระบุวันเวลาที่ชัดเจน คือวันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน 2555 หลังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ของรัฐธรรมนูญ 2 วัน
และหลังการคว่ำ พ.ร.บ.ปรองดองฯ 4 ฉบับไปแล้ว 3 วัน

สุเทพเล่าว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งคนใกล้ชิดที่ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล มาติดต่อให้ไปร่วมรัฐบาล พร้อมทั้งระบุให้เลือกกระทรวงที่ต้องการ เพื่อให้ไปร่วมรัฐบาลและช่วยบริหารบ้านเมืองด้วยความสงบ อีกทั้งมีการเสนอให้เป็นรัฐบาลแห่งชาติ โดยให้เลือกคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่คนในพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย

การข่าวนี้ เหตุไฉนถูกเปิดเผยขึ้นหลังการเจรจาผ่านไป 14 วัน หลังมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติไปแล้ว และยังมีน้ำหนักในกระดานข่าวการเมือง

หรือว่าการเจรจาที่ไม่จบ ล้มเหลวและไม่สำเร็จตามเป้าหมายของ 2 ฝ่าย ทำให้ฝ่ายยื่นข้อเสนอและฝ่ายที่ไม่รับสนอง ทำให้ต่างฝ่ายต่างต้องออกตัว แก้เกี้ยว กลบเกมการเมือง

แกนนำในพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งวิเคราะห์ตามน้ำว่า พ.ร.บ.ปรองดองฯ จะทำให้เพิ่มดีกรีการเมือง เมื่อรวมกับการเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงเดือนสิงหาคม และวาระ 3 ของรัฐธรรมนูญ จะยิ่งทำให้ทั้งศาลและรัฐบาลมีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยสายใต้ดิน คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ แบบสายตรง 24 ชั่วโมง ออกมาแก้ลำ ทำให้น้ำหนักเรื่องเจรจาจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับสุเทพและคณะลดลง

แหล่งข่าวที่เคยเดินเกมใต้ดินเรื่องปรองดอง ให้ความเห็นว่า "ไม่มีเหตุผล และเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการจัดรัฐบาล 2 พรรค ฝ่ายเพื่อไทยเชื่อว่า แม้ได้ร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งจบลง ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองสงบ เพราะทุกประเด็นขึ้นอยู่กับองค์กรอิสระ และกลุ่มอำมาตย์ ประชาธิปัตย์เป็นเบี้ยตัวหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณอ่านเกมออก จึงไม่เจรจาแน่นอน"

ฝ่ายเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า หาก พ.ต.ท. ทักษิณเจรจาร่วมกับสุเทพและคณะ จะไม่มีส่วนได้ แต่จะมีส่วนเสียดังนี้  
1.เสียแนวร่วมมวลชน เสื้อแดง และแนวร่วม นปช.
2.เสียฐานเสียง หัวคะแนนของเพื่อไทย ที่เคยลงคะแนน 14 ล้านเสียง 

3.สมาชิกพรรคเพื่อไทยจะรับไม่ได้ 
4.จะให้เอาพันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาลไปไว้ที่ไหน

"พ.ต.ท.ทักษิณจะรอดหรือไม่รอดในทางการเมือง ขึ้นอยู่กับมวลชนเสื้อแดง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์" แหล่งข่าวในเพื่อไทยออกตัว และอ่านเกมว่า แม้ว่าเอาประชาธิปัตย์เป็นพวก แต่หากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังต้าน ก็เป็นรัฐบาลต่อไม่ได้

แต่เมื่อนักการเมืองระดับ "สุเทพ" ผู้จัดการรัฐบาล เลขาธิการพรรคการเมืองอันดับ 2 ผู้มีบารมีและคอนเน็กชั่นพิเศษ ทุกระดับ ทั้งชนชั้นสูงและคนในกองทัพ ออกมาเปิดเผยเรื่องวงเจรจากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ระดับน้ำหนักจึงมากกว่า 50%

เพราะนักการเมืองเก๋า กับนักธุรกิจการเมือง เหมือนวัวเคยขาม้าเคยขี่ บางทีวงจรเจรจาอาจย้อนกลับไปเหมือนเมื่อ 15 ปีก่อนก็เป็นได้ แต่คราวนี้มีวาระปรองดอง และนิรโทษเป็นเดิมพันแทนวาระสัมปทานงานรัฐบาล

และมีก้างขวางคอระดับมหาอำมาตย์ เกมเกี้ยเซียะจึงพลิกคว่ำ



.