http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-10

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (5)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (5)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 37


ดูคล้ายกับว่าทั้งโลกกำลังเฝ้าคอยผลการเลือกตั้งทั่วไปของกรีซในวันอาทิตย์ที่ 15 มิถุนายน 2012 ว่าฝ่ายใดจะชนะ ระหว่างพรรคประชาธิปไตยใหม่ที่เป็นฝ่ายขวา ที่ยอมรับการเข้าโครงการไถ่ถอนและการมัธยัสถ์ กับพรรคพันธมิตรซ้ายแท้หรือพรรคซิริซาร์ ที่ก็ต้องการอยู่ในเขตยูโรหรือยูโรโซนต่อไป แต่ไม่ต้องการให้ใช้มาตรการมัธยัสถ์มากเกินไป 
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคแรกชนะไปอย่างหวุดหวิด สร้างความโล่งใจแก่ธนาคารกลางทั้งหลาย ตลาดหุ้นทั่วโลกพุ่งขึ้นรับ "ข่าวดี" นี้ ทั้งที่รู้ว่าผลการเลือกตั้งไม่ได้แก้ไขปัญหาพื้นฐานของวิกฤติหนี้ในกรีซแต่ประการใด

ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤติหนี้ในเขตยูโร ซึ่งปัจจุบันได้ลามไปถึง 4 ประเทศแล้ว ได้แก่ ไอร์แลนด์ กรีซ โปรตุเกส และสเปน และกำลังหายใจรดต้นคออิตาลีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหภาพยุโรป 
ซึ่งถ้าหากลามไปถึง ก็ยากที่จะแก้ไขไถ่ถอนได้ เพราะมันใหญ่เกินไป 
และน่าจะกระทบกับระบบโครงสร้างการเงินโลกอย่างยิ่ง


สหภาพยุโรปกับเขตยูโร

สหภาพยุโรป (European Union) มีพัฒนาการรวมตัวมานานหลายขั้นตอนตั้งแต่ปี 1958 จนกระทั่งได้อุบัติขึ้นตามสนธิสัญญามาสทริชต์ (Maastricht Treaty บังคับใช้ปี 1993) ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งหมด 27 ประเทศ และยังมีหลายประเทศสนใจเข้าร่วม เช่น ประเทศตุรกี
สหภาพยุโรปเป็นองค์กรที่รวมชาติสมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองการต่างประเทศ เข้าด้วยกัน ดังนั้น จึงเท่ากับเป็นการลดอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ไปรวมอยู่ที่อำนาจอธิปไตยของสหภาพ เพื่อแลกกับความมั่นคงและไพบูลย์ร่วมกัน

หน่วยงานสำคัญของสหภาพยุโรปประกอบด้วย
(ก) คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่ทำงานด้านบริหาร 
(ข) รัฐสภายุโรป (European Parliament) ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ 
และ (ค) ศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) ทำหน้าที่ทางตุลาการ
นอกจากนี้ ยังมีสภายุโรป (European Council) ประกอบด้วยประมุขของรัฐและรัฐบาลของประเทศสมาชิกทั้งหมด และบุคคลในตำแหน่งสำคัญ 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประธานสภายุโรป ผู้แทนสูงสุดฝ่ายการต่างประเทศ เป็นเหมือนคณะที่ปรึกษาของสหภาพ และช่วยให้การปฏิบัติงานและการรวมตัวกันเป็นไปได้ด้วยดี

ในสนธิสัญญามาสทริชต์มีข้อกำหนดในการสร้างสกุลเงินยูโรขึ้นด้วย
สหภาพยุโรปเริ่มปรากฏรอยร้าวเมื่อมีการผลักดันให้รวมตัวกันแน่นแฟ้นขึ้นโดยเฉพาะการใช้เงินสกุลยูโรที่เป็นจริงเพียงสกุลเดียว เมื่อประกาศใช้เงินยูโรวันที่ 1 มกราคม 1999 ปรากฏว่ามีประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปถึง 10 ประเทศที่ไม่ยอมเข้าร่วมในโครงการนี้ โดยข้ออ้างที่สำคัญคือการรักษาอำนาจอธิปไตยในการออกเงินตราของตนไว้
ในนี้ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ สวีเดนและเดนมาร์ก ที่เหลือเป็นประเทศในยุโรปตะวันออกที่เข้าร่วมหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ซึ่งจำต้องปฏิรูปเศรษฐกิจของตนไม่น้อย หากต้องการเข้าร่วมเขตยูโร ประเทศเหล่านี้ ได้แก่ ฮังการี โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก และบัลแกเรีย เป็นต้น
การที่อังกฤษไม่เข้าร่วมยูโรทำให้ความเข้มแข็งของเขตยูโรและสหภาพยุโรปอ่อนแอลงมาก


เขตยูโรหรือยูโรโซน ปัจจุบันประกอบด้วย 17 ประเทศมี เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เป็นแกน ประเทศอื่นที่สำคัญ ได้แก่ สเปน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ออสเตรีย โปรตุเกส กรีซ และฟินแลนด์ ที่เหลือเป็นประเทศเล็ก รวมมีประชากรราว 330 ล้านคน จากประชากรราว 500 ล้านของสหภาพยุโรป 
ทั้งสหภาพยุโรปและเขตยูโรมีวิวัฒนาการไปตามสภาพแวดล้อม ไม่ได้มีการออกแบบอย่างสมบูรณ์ไว้ตั้งแต่ต้น ทั้งสองสถาบันเกิดขึ้นในช่วงการฟื้นฟูยุโรปและสงครามเย็น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวก็อ่อนกำลังไปแล้ว

แรงขับเคลื่อน สหภาพยุโรป ที่สำคัญน่าจะได้แก่ 
(ก) ความปรารถนาในการสร้างยุโรปเดียวที่ฝังรากมานาน ซึ่งปัจจุบันก็ดูไม่ค่อยเป็นประเด็น นอกจากนี้ ข้ออ้างว่าหากไม่รวมตัวกันจะถูกสหรัฐและจีนกลืนกิน 
(ข) การร่วมกันผลักดันกระแสโลกาภิวัตน์หรือระบบทุนนิยมโลก ที่จำเป็นในช่วงสงครามเย็น และบังเกิดผลดีระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้ก็ได้เกิดวิกฤติทุนนิยมโลกขึ้น จนต้องมาทบทวนว่าระบบนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรดี 
(ค) การรวมตัวเพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ-การเมืองระหว่างประเทศที่เข้มข้นขึ้นทุกที ประเด็นนี้น่าจะยังมีพลังอยู่ ซึ่งสามารถจัดการเป็นอื่นๆ ได้

เขตยูโรยังมีวิวัฒน์ไม่เต็มที่ กระทั่งกล่าวได้ว่าเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มีสองสามประเด็น ได้แก่
(ก) การรวมเงินตราเป็นสกุลเดียว โดยไม่รวมตั้งรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งขึ้นมาอย่างสหรัฐย่อมยากที่จะบริหารและแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ 
(ข) กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้มักถูกละเมิด ที่สำคัญคือการแก้ไขสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณเมื่อเทียบกับจีดีพี ให้สูงขึ้นเป็นระยะ ทำให้ขาดวินัยทางการคลัง  
(ค) เศรษฐกิจในเขตยูโรมีการพัฒนาไม่สม่ำเสมอ ชาติที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแรง เช่น เยอรมนีและฝรั่งเศส จะได้รับประโยชน์ ส่วนชาติที่มีพื้นฐานอ่อนแอ เช่น กรีซ ก็เกิดปัญหาหนี้ท่วมตัว 
(ง) เกิดการประพฤติมิชอบซึ่งอาจถึงขั้นฉ้อฉลทางการเงิน มีการแต่งบัญชีหนี้สินประชาชาติหรือการขาดดุลงบประมาณให้น้อยลง เพื่อให้ดูดีเพื่อสามารถเข้าเป็นสมาชิกในเขตยูโร เช่น ในกรณีประเทศกรีซ เป็นต้น

วิกฤติหนี้ยูโรครั้งนี้เป็นเหมือนกำแพงใหญ่ที่กั้นขวางการวิวัฒน์ของทั้งสหภาพยุโรปและเขตยูโร ควรจับตาดูว่าจะก้าวข้ามไปได้หรือไม่ อย่างไร



สถานการณ์ทั่วไป 
ของวิกฤติหนี้ในเขตยูโร

เขตยูโรอาจแบ่งได้เป็น 3 ภูมิภาค คือ
(ก) ยุโรปใต้ ประกอบด้วยอิตาลี สเปน โปรตุเกส กรีซ มอลตา ไซปรัส วิกฤติหนี้เขตยูโรที่สำคัญเกิดในภูมิภาคนี้ 
(ข) ยุโรปเหนือได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และฟินแลนด์ เป็นต้น ภูมิภาคนี้ถือว่าเป็นแกนที่มีความเข้มแข็ง แต่ก็จะได้รับผลกระทบต่อวิกฤติครั้งนี้ค่อนข้างสูง 
และ (ค) ยุโรปตะวันออก ที่มีอยู่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ สโลวะเกีย สโลเวเนีย และเอสโทเนีย ประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ที่เรียกว่าวิกฤติหนี้เขตยูโรนี้ก็หมายถึง 2 ภูมิภาคแรกเป็นสำคัญ

ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 มีผู้สังเกตว่า 4 ประเทศในยุโรปใต้ ได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน มีสภาพทางเศรษฐกิจ-การเมืองคล้ายกัน เรียกกันว่ากลุ่ม PIGS เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2008 พบว่าเศรษฐกิจของ 4 ประเทศนี้ได้รับผลกระทบรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีไอร์แลนด์มาร่วมวงด้วย จึงได้มีเติมไอร์แลนด์เข้าในกลุ่มนี้ รวมเป็น PIIGS
ประเทศเหล่านี้มีลักษณะโครงสร้างทางการเงินคล้ายกัน นั่นคือมีงบประมาณแผ่นดินขาดดุลสูง เมื่อเทียบกับจีดีพี มีสัดส่วนหนี้สาธารณะเมื่อเทียบกับจีดีพีสูง และโดยทั่วไปมีอัตราการว่างงานสูงเมื่อเทียบกับประเทศในสหภาพยุโรป และอัตราค่าจ้างแรงงานในประเทศเหล่านี้ยังค่อนข้างสูง ใกล้เคียงกับประเทศเยอรมนี ขณะที่มีผลิตภาพต่ำกว่านอกจากนี้เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงขาลง ที่สำคัญยังเสียเปรียบดุลการค้า ที่กดดันต่อการเงินของประเทศอย่างหนัก 
วิกฤติหนี้ในเขตยูโรมีลักษณะทั่วไปว่า เริ่มต้นโดยการโจมตีที่กรีซและไอร์แลนด์ใกล้เคียงกัน (กรีซเข้าโครงการไถ่ถอนเดือนพฤษภาคม 2010 ไอร์แลนด์ เข้าโครงการไถ่ถอน เดือน พ.ย. 2010) จากนั้นลามสู่โปรตุเกส (เข้าโครงการไถ่ถอนเดือน พ.ค. 2011) อ้อยอิ่งอยู่พักหนึ่งก็เข้าโจมตีที่สเปนเมื่อราวกลางเดือนมิถุนายน 2012 
และมีข่าวว่าจะเข้าสู่อิตาลีในเวลาที่ไม่นานนัก


กรณีวิกฤติหนี้ในกรีซ 

กรณีวิกฤติหนี้ในกรีซจะกล่าวถึงใน 3 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. เหตุใดวิกฤตินี้จึงมีความสำคัญเป็นที่สนใจมาก
ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเนื่องจากวิกฤติหนี้กรีซเกิดขึ้นรุ่นแรก ตั้งแต่ปลายปี 2009 มีความรุนแรงสูงถึงขั้นรัฐบาลต้องผิดชำระหนี้ กระทั่งออกจากเขตยูโรซึ่งกระทบต่อความชื่อมั่นในเงินยูโรอย่างยิ่ง มีแนวโน้มที่จะขยายวงไปทั่วยุโรปตอนใต้ ทั้งวิกฤติยังขยายวงไปจนถึงการเมือง ทำให้รัฐบาลต้องล้มลงในท่ามกลางการลุกขึ้นสู้อย่างกว้างขวางของชาวรากหญ้ากรีก
กล่าวโดยย่อก็คือวิกฤติในกรีซได้กลายเป็นเหมือนสมรภูมิใหญ่ที่สหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องรบให้ชนะหรือ "เอาให้อยู่" ถ้าหากหยุดวิกฤติหนี้ในกรีซได้แล้ว ก็จะสามารถหยุดวิกฤติหนี้ในประเทศยุโรปใต้อื่น ได้แก่ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี 
ในการแก้ไขวิกฤตินี้ได้มี 3 องค์กรสำคัญร่วมแรงกัน นิยมเรียกว่ารถเทียมม้า 3 ตัว หรือทรอยก้า ประกอบด้วยสหภาพยุโรป ไอเอ็มเอฟ ซึ่งประเทศอยู่เบื้องหลัง ได้แก่ กลุ่ม 20 และธนาคารกลางยุโรป กล่าวได้ว่าเป็นการร่วมมือกันทั้งโลก ได้มีการตั้งกองทุน 2 กองที่มีเงินหลายแสนล้านยูโรเพื่อเข้าช่วยเหลือ ได้แก่ สำนักงานอำนวยความสะดวกเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility-EFSF) กองทุนกลไกสร้างความมั่นคงทางการเงินยุโรป (European Financial Stabilization Mechanism หรือ EFSM) การช่วยเหลือ เช่น กองทุนทั้ง 2 นี้ช่วยกันรีไฟแนนซ์พันธบัตร์รัฐบาลหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศที่เผชิญวิกฤติหนี้

ความร่วมมือจากธนาคารกลางและสถาบันการเงินระหว่างประเทศอย่างดีนั้น เกิดจากธนาคารขนาดใหญ่ในสหภาพยุโรป ต่างตกอยู่ในภาวะเสี่ยงในหนี้ของประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และอิตาลี กันจำนวนมาก 
เช่น ธนาคารสก๊อตของอังกฤษ ยอดเสี่ยง 146 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บาร์เคลย์ของอังกฤษ 123 พันล้านดอลลาร์ เครดิต อะกริโคลของฝรั่งเศส 192 พันล้าน บีเอ็นพี ปาริบาส์ของฝรั่งเศส 280 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารแห่งเยอรมนี 140 พันล้านดอลลาร์ (ยังมีธนาคารใหญ่ของเยอรมนีอีกหลายธนาคารที่เข้าเสี่ยงธนาคารละนับหมื่นล้านดอลลาร์) 
ธนาคารเดเซียของเบลเยียม 132 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารซันตันเดอร์ของสเปน 567 พันล้านดอลลาร์ธนาคารบีบีวา (BBVA) ของสเปน 552 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารสเปนปอปูลาร์ (Banco Popular Espanol) 182 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารยูนิเครดิต ของอิตาลี 541 พันล้านดอลลาร์
กลุ่มธนาคารอินเทซา ซันเปาโล ของอิตาลี 607 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารเอ็มพีเอสของอิตาลี 290 พันล้านดอลลาร์ ธนาคารแห่งไอร์แลนด์ 102 พันล้านดอลลาร์ และธนาคารพันธมิตรไอริช (Allied Irish Bank) 129 พันล้านดอลลาร์ (ดูบทความของ Simone Foxman ชื่อ 20 Banks That Will Get Crushed If The PIIGS Go Bust ใน businessinsider.com 251111) 
ดังนั้น การช่วยไถ่ถอนหนี้รัฐบาลดังกล่าวแท้จริงเป็นการไถ่ถอนธนาคารใหญ่ทั้งหลายนั่นเอง


2. วิกฤติเกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุ วิกฤติหนี้กรีซเกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัย ตั้งแต่เศรษฐกิจ-การเมือง จนถึงการเข้าเขตยูโร กล่าวย่อๆ ได้ดังนี้คือ 
(ก) การใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลมานานหลายสิบปี เช่นให้เงินเดือนข้าราชการ และค่า สวัสดิการสังคมสูง ขณะที่เก็บภาษีได้น้อย ส่วนสำคัญเกิดจากบรรดาเศรษฐีพากันหนีภาษี 
(ข) สงครามเย็น กรีซได้กลายเป็นสมรภูมิแรกของสงครามเย็น เกิดสงครามกลางเมือง (1946-1949) ระหว่างฝ่ายสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เกิดการบาดเจ็บล้มตายมากมาย หลังจากนั้นกรีซได้เป็นแนวหน้าของโลกเสรี รัฐบาลใช้จ่ายเงินมือเติบเพื่อสร้างความยินยอมในหมู่ประชาชน
(ค) รัฐบาลแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งสืบทอดมาจากรัฐบาลทหาร นับแต่ปี 1975 อำนาจการบริหารตกอยู่ในมือ 2 พรรคใหญ่และอยู่ในการควบคุมของคนไม่กี่ตระกูล เกิดการคอร์รัปชั่นระบาด การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ-การเมืองทำได้ยาก 
(ง) การเข้าร่วมเขตยูโรในปี 2001 ทำให้เงินหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป แต่ในนั้นมันเป็นฟองสบู่ด้วย และแตกในที่สุด


3. ปัจจุบันเป็นอย่างไร กรีซทำสัญญารับเงินช่วยเหลือร่วม 2 ครั้งมูลค่ากว่า 2 แสนล้านยูโร แต่ก็ดูไม่สามารถแก้วิกฤติได้ สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพียังสูงขึ้น ในปี 2013 คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 175 ภาษีที่รัฐบาลเก็บได้กว่าร้อยละ 25 ต้องนำมาชำระดอกเบี้ย ภาวะการว่างงานยังคงสูง เงินยังคงไหลออก ข้อเท็จจริงต่างๆ บ่งว่ากรีซไม่สามารถชำระหนี้ของตนได้ ที่เหลือก็ได้แต่นั่งภาวนา

มาตรการแก้ไขต่างๆ เป็นแต่เพียงการยืดเวลาของวิกฤติออกไปอีกเท่านั้น



.