http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-07

บ้านไม่ใช่วิมาน โดย คำ ผกา

.

บ้านไม่ใช่วิมาน 
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 89


ธเนศ วงศ์ยานนาวา เคยชวนตั้งประเด็นชวนคุยไว้นานหลายปีมาแล้วว่า คนไทยคิดว่าการมีบ้านเป็นของตนเองเป็นเรื่อง "สามัญธรรมชาติ" และการที่ใครสักคนไม่มีบ้านเป็นของตนเองนั้นดูเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลว 
และยังขยายความต่อไปว่า ในยุโรปหลายๆ ประเทศประชากรส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง มักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ให้เช่า แต่ความฝันเรื่องการมี "บ้าน" นั้นเป็นอเมริกันเอามากๆ

ตอนนั้นฟังแล้วมึนๆ งงๆ ไม่เข้าใจ ยุโรปก็ไม่เคยไป นึกภาพไม่ออกว่าเป็นได้อย่างไรที่คนเราจะไม่ทะเยอทะยานอยากมีบ้านหรือพึงใจแค่การอยู่ห้องเช่าตลอดชีวิต
เหตุที่ไม่เข้าใจเพราะฉันก็เป็นหนึ่งในคนไทยที่คิดว่าการมี "บ้าน" นั้นมี "ธรรมชาติ" เหมือนเราต้องมีจู๋ มีจิ๋ม ต้องกิน ขี้ ปี้ นอน แล้วใครๆ เค้าก็สอนว่า หนึ่งในปัจจัย 4 คือ "ที่อยู่อาศัย" นี่นา
ทั้งนี้ ลืมคิดไปว่าคำว่า "ที่อยู่อาศัย" นั้น เขาไม่ได้บอกสักหน่อยว่า "บ้าน" ดังนั้นที่อยู่อาศัยอาจหมายถึงอพาร์ตเมนต์ดีๆ ที่เราเช่าอยู่ก็ได้นี่นา


จนกระทั่งวันหนึ่งในวงสัมมนาเรื่อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฉันเองเป็นคนเอ่ยกับเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งว่า แฟลตดินแดงนั้นสร้างสมัยจอมพล ป. บ้านพักคนชราบางแคก็สร้างสมัย จอมพล ป. และนโยบายประชาสงเคราะห์ อันควรเรียกให้ถูกต้องว่า "สวัสดิการโดยรัฐ" นั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทุ่มเทและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการนิคมสร้างตนเอง การสร้างมหาวิทยาลัยทั้งมหาวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ การสร้างโรงเรียนประชาบาล ฯลฯ 
น้องคนนั้นฟังอยู่ก็บอกว่า "เออ แฮะ ผมไม่คิดเลยว่า จอมพล ป. เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Public Housing มาก"

เท่านั้นเองที่ฉันบังเกิด ปิ๊งๆๆๆ เป็นอีกคิวซัง ใช่เลยคำนี้เองที่จะไขปริศนาคาใจเรื่อง "บ้าน" คำว่า Public มันย่อมโยงให้นึกถึงคำว่า Public Transportation หากเราแปลคำนี้ว่า "การขนส่งมวลชน / สาธารณะ" เหตุใดเราไม่เรียก "การเคหะแห่งชาติ" ว่าเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่อง "การเคหะสาธารณะ"
สังคมไทยสนใจเรื่อง "การเคหะสาธารณะ" น้อยมาก เมื่อพูดถึง "แฟลตดินแดง" พลันนึกถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพต่ำสำหรับคนรายได้ต่ำ แต่ไม่ได้คิดว่า "เราคือหนึ่งในคนที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง และหากรัฐบาลมีนโยบายในการสร้าง การเคหะสาธารณะ อย่างจริงจัง มันจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ สร้างโอกาสให้คนชั้นกลางได้สะสมต้นทุนด้านอื่นๆ ในชีวิตเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง"

ถ้ายังนึกไม่ออกอีก ลองคิดว่า ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือน รับเงินเดือนระดับชนชั้นกลาง-กลาง ของแท้ สมมุติว่า 20,000 บาท อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หากเรามีการเคหะสาธารณะ ที่สร้างคอนโดมิเนียม หรือ อพาร์ตเมนต์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่มีคุณภาพดี เช่น จ้างสถาปนิกที่เก่งมากมาออกแบบตึกเพื่อตอบโจทย์ของการสร้างที่อยู่อาศัยบนต้นทุนที่ไม่แพง
ขณะเดียวกันมีหน้าที่ใช้สอยตอบสนองผู้อยู่อาศัย คำนึงถึงคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย ทำงานร่วมกับนักออกแบบภูมิทัศน์เมือง คิดเชื่อมโยงได้กับระบบขนส่งมวลชนของเมือง สวนสาธารณะของเมือง
และการใช้ "พื้นที่" ร่วมอื่นๆ ของคนใน "ย่าน" เดียวกัน เช่น การมีสนามกีฬา สระว่ายน้ำ สวนสาธารณะ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด ฯลฯ ตึกที่เป็นการเคหะสาธารณะนี้เป็นห้องเช่าราคาที่เหมาะสำหรับชนชั้นกลาง ผู้มีรายได้น้อย อุดหนุนโดยรัฐบาล



สังคมเมืองหรือพื้นที่เป็น Urban นั้นที่ดินมีมูลค่าสูง-พึงได้รับการจัดการโดยรัฐ และมีการบริหาร "ที่ดิน" เพื่อประโยชน์ของ "สาธารณชน" ให้มากที่สุด
เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยแนวตั้งที่มีคุณภาพสำหรับผู้มีรายได้น้อย 
(ส่วนใครอยากมีบ้านพร้อมที่ดินในเขตเมืองที่ราคาที่ดินสูงลิ่วก็รับภาระค่าใช้จ่ายอีกทั้งภาษีที่ดินและภาษีโรงเรือนในฐานะที่เป็นผู้ร่ำรวยที่อยากคงไว้ซึ่งความฟุ่มเฟือยในชีวิตอันเป็นสิทธิส่วนบุคคล)  
ส่วนการมีบ้าน มีที่ดินนั้นเป็นเรื่องของคนที่อยู่ใน "ชนบท" 
ผลลัพธ์คืออะไร ผลลัพธ์คือ มายาคติที่ว่าด้วย "คนจนต้องมีคุณภาพชีวิตแย่" จะหมดไป คนแม้จะมีรายได้น้อยแต่ก็สามารถเข้าถึง "คุณภาพชีวิต" ของมนุษย์ในสังคมเมืองพึงมี เงินรายได้ที่เหลือ อาจนำไปเรียนต่อ ซื้อหนังสือ เดินทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดโลกทัศน์ ดูหนังได้มากขึ้น ฯลฯ

แต่ความจริงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือ คนไทยถูกทำให้เชื่อว่า "การไม่มีบ้านเป็นของตนเองคือบาปสาหัส คือสัญลักษณ์ของความล้มเหลว ไม่เอาถ่าน หลักลอย ไม่มีความรับผิดชอบ"
บ้านหนึ่งหลัง รถหนึ่งคัน กลายมาเป็นหมุดหมายแห่งความสำเร็จในชีวิต ไม่เพียงเท่านั้นเรายังถูกสั่งสอนมาให้ "สะสม" และ "สร้างเนื้อสร้างตัว" เพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานของตนเอง (มิใช่ของสังคมโดยรวม) จะได้สบาย
คนไทยจึงเติบโตมาพร้อมกับความฝันที่จะมีบ้านของตัวเอง หากโชคดีมีแล้วหนึ่งหลังก็อยากมีหลังที่สอง ที่สาม หรือสะสมซื้อที่ดิน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยหวังให้เป็นมรดกแก่รุ่นลูกหลาน-ทำไว้ ลูกเต้าจะสบาย!

และไม่เคยคิดว่า ชีวิตของลูกหลานย่อมเป็นเรื่องของพวกเขาที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งด้วยตัวเอง และเหตุใดเราต้องยอมให้อนาคตขูดรีดเราถึงเพียงนั้น?


เมื่อคนไทยเชื่อและฝังหัวไปเสียแล้วนี่คือสัจธรรมของมนุษยชาติ และมนุษย์ทั้งโลกก็ย่อมเป็นเช่นนี้ไม่มีผิดเพี้ยน (ลืมดูข้อมูลไปว่าชนชั้นกลางในเมืองของประเทศอื่นที่ใส่ใจกับสวัสดิการสังคม ไม่นับเอา "บ้าน" เป็นความฝันของครอบครัว และไม่คิดเรื่องการซื้อบ้าน ทว่า กลับเห็นการเช่าอยู่ในการเคหะของรัฐนั้นเป็นเรื่องปกติ และการอยากมีบ้านเป็นเรื่อง "พิเศษ" หรือ "เกินเอื้อม" เว้นแต่การย้ายไปอยู่ "บ้านนอก")
เราคนไทยที่อาจเริ่มต้นเงินเดือนที่ 15,000 บาท จึงไม่ได้ถามตัวเองว่า พลันเมื่อคุณตัดสินซื้อบ้านหลังแรก ทำสัญญากู้เงินกับธนาคาร ผ่อนยาวนาน 30 ปี นั่นแปลว่า เราได้อุทิศชีวิตของเราครึ่งหนึ่งไปกับการเป็นหนี้ธนาคารและหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร

หลายคนอาจจะบอกว่า-เช่าบ้านไปไย เอาเงินค่าเช่ามาผ่อนบ้านดีกว่า แล้ววันหนึ่งบ้านก็เป็นของเรา
คำตอบคือกว่ามันจะเป็นของเราก็ใกล้ตายแล้ว และอาจไม่มีเรี่ยวแรงในการดูแลรักษาบ้าน 

ที่สำคัญกว่านั้น หากคุณเช่า "ห้องชุด" ของการเคหะสาธารณะของรัฐ คุณไม่ต้องแบกภาระผูกพันของหนี้สิน 30 ปี
นั่นแปลว่า คุณลดความกลัวเรื่องการตกงาน การถูกไล่ออกจากงาน คุณมีความกล้าเสี่ยงในชีวิตมากขึ้น เพราะหากตกงานอย่างมากก็ย้ายไปอยู่การเคหะสำหรับผู้ว่างงาน
นั่นแปลว่า หากคุณมีภาระที่ต้องผูกพันอยู่กับหนี้สินของธนาคารอันเกิดจากการซื้อบ้าน คุณจะไม่กล้าเสี่ยงที่จะ "ท้าทาย" อีกหลายอำนาจในสังคม 
เริ่มตั้งแต่ หากคุณเป็นพนักงานบริษัท คุณก็ไม่กล้าท้าทายอำนาจของเจ้านาย คุณอาจต้องทนเก็บกดอุดมการณ์ทางเมืองที่ไม่ตรงกับคนอื่นในบริษัทเพื่อความอยู่รอดของอาชีพ หรือหากคุณเป็นผู้กำกับฯ หนัง คุณอาจไม่กล้าทำหนังทดลอง ทำหนังอาร์ต เพราะภาระผ่อนบ้านมันค้ำคออยู่

ลึกลงไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่ภาระจากการผ่อนซื้อบ้านตลอดชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งคือมันพรากเสรีภาพหลายอย่างออกไปจากชีวิตของเราอย่างไม่น่าเชื่อ
คุณอาจจะไม่กล้าเดินทาง ไม่กล้าลงทุน หรือคุณอาจไม่มีแม้แต่เงินเก็บเพื่อจะออกไปท่องดูโลกบ้าง ด้วยสถานะชนชั้นโคตรจะกลางๆ อันนี้ที่ต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ ไม่นับว่าหากมีลูกแล้วต้องเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งภาระนั่นคือการศึกษาของลูก



ทั้งหมดนี้ฉันพูดถึงคนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งน่าจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของสังคมเมือง 
การขาด "การเคหะสาธารณะ" ปิดโอกาสมิให้คนเหล่านี้ได้ขยับเขย่งเอื้อมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและโอกาสที่ดีขึ้นในรุ่นลูกรุ่นหลานของเขา

เพราะรายได้เกือบครึ่งหนึ่งหมดไปกับภาวะเสี่ยงที่จะไม่มีที่อยู่อาศัยและไม่ได้รับบริการสาธารณะในเรื่องที่ควรได้รับ เช่น สนามกีฬา สระว่ายน้ำ ห้องสมุด และสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้คนได้ยกระดับปัญญาและจิตวิญญาณ มีเวลาว่างมานั่งคิด นั่งตั้งคำถามในเรื่องที่ออกไปจากขอบเขตของปัจจัยสี่ เช่น เรื่องความงาม สุนทรียะของชีวิต เรื่องการเมือง ที่สำคัญคิดเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของกู ของลูกกู ผัวกู เมียกู ครอบครัวกู ฯลฯ เท่านั้น

ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอยู่ทุกอณูนั้นสิ่งที่ต้องได้รับการพูดถึงอย่างจริงจังคือ "สาธารณะประโยชน์"ทั้งหลาย ตั้งแต่ การศึกษาสาธารณะ การสาธารณสุข การขนส่งมวลชนสาธารณะ สวนสาธารณะ ห้องสมุดสาธารณะ สนามกีฬาสาธารณะ สนามเด็กเล่นสาธารณะ ไปจนถึง การเคหะสาธารณะ 
เพราะนี่คือการ ร่วมใช้ทรัพยากร "ส่วนกลาง" อันเป็นการเกลี่ยความเหลื่อมล้ำในเบื้องแรก


คุณโสภณ พรโชคชัย เคยเขียนไว้ชัดเจนว่า คนไทยถูกทำให้เลอะเลือนว่า คนเรานั้นไม่ได้ต้องการ Home อย่างที่เขาหลอกให้เชื่อหรือฝัน (เพื่อปล้นอิสรภาพอย่างอื่นของคุณไป) แต่ต้องการแค่ Shelter หรือ "ที่อยู่อาศัย" และจากนั้น ชีวิตยังมีอะไรให้ทำให้ค้นหาอีกเยอะ

สำหรับคนที่มีรายได้ "จำกัด" สิ่งที่อาจจำเป็นมากกว่า "บ้าน" อาจเป็นการลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก หรือ มากกว่าการเอาเงินเกือบทั้งหมดไปผ่อนบ้าน คนเราอาจต้องการการดูละครดีๆ คอนเสิร์ตดีๆ หรือบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมอื่นๆ 
มองในแง่เศรษฐกิจจากคนไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์สักขี้เล็บ ฉันคิดว่าการทำให้คนเกือบทั้งหมดเอาเงินไปผ่อนบ้านเท่ากับเงินไปกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มทุน "ธนาคาร" แทนการสะพัดเงินไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ

แต่ก็นั่นแหละ เราเหล่าชนชั้นกลางต่างถูกหล่อหลอมมาให้คิดว่าการมีบ้านเป็นของตนคือสิ่งพิสูจน์คุณค่าของชีวิต จึงไม่เคยตั้งคำถามกับบทบาทของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วยนโยบายรัฐสวัสดิการ (ซึ่ง จอมพล ป. ใช้คำว่า ประชาสงเคราะห์)

ชีวิตที่ไร้คุณภาพและความแร้นแค้นของมนุษย์ใน "เมือง" จึงถูกอธิบายด้วยความล้มเหลวของปัจเจกบุคคลในการสร้างฐานะมากกว่าเป็นเพราะความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง

มีประชาธิปไตยที่แท้เมื่อไหร่ เราคงได้ "จัด" เรื่องนี้กันบ้าง-ภาษีที่ดินเอย ภาษีมรดกเอย-ไง!



.