http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-06

อภิญญา: [3]สงครามเสด็จและ 100 ปี โอรสนโรดม

.


สงครามเสด็จและ 100 ปี โอรสนโรดม
: ฮุน เซน-บทบาทแห่งการสถาปนาอำนาจใหม่ ก่อนการล่มสลายเขมรแดงและฟุนซินเปก
โดย อภิญญา ตะวันออก  คอลัมน์ อัญเจียขะแมร์ (กระฮอม)
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1663 หน้า 43


อย่างหาเช่นนั้นไม่ สิ่งที่พรรคราชานิยม-ฟุนซินเปกในปี 1997 เผชิญและเชื่อว่าตกอยู่ในภายใต้อำนาจรัฐท้องถิ่นที่นำโดยพรรคประชาชนกัมพูชา ฟุนซินเปกทุกฝ่ายพากันคิดเช่นที่ว่า 
สำหรับรณฤทธิ์ และอีกขุนศึกแถวหน้า นายโส ฮก รัฐมนตรีมหาดไทย ยึก บุนชัย และ โกรจ เยือน ผู้บัญชาการทหารและคนอื่นๆ ซึ่งต่างนั่งคาร่างอยู่บนหลังเสือ ไม่อาจหลีกเลี่ยงสถานการณ์

มันเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ยาก ถ้าเพียงแต่จะทราบด้วยว่า ผู้นำซีพีพีนั้นถึงกับทำแผนต่อสู้เฉพาะหน้าและเรียกมันอย่างตรงไปตรงมาใน ภาษาขะแมร์ว่า "สังเครียมเสด็จ" (สงครามเจ้า) 
ก็เมื่อพรรคฟุนซินเปกที่เต็มไปด้วยท่าทีแบบชนชั้นศักดินาที่ถูกรื้อฟื้นกลับ มาใหม่ อีกทั้งสมาชิกระดับสูงทั้งหลายก็ล้วนแต่เป็นเจ้านายทรงพระยศ "ตรง" (ทรง) เสียอีก
ไม่แปลกอะไรหากซีพีพีจะเรียกเช่นนั้น เพราะทั้ง 2 ก็รบกันบรรลัยวายวอดมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนกระทั่งมีรัฐบาลจากการเลือก โดยประชาชน
แผนยุทธศาสตร์ของ ฮุน เซน ก็สำแดงเรื่อยมาแต่แรก ตั้งแต่การจัดตั้งหน่วยมิตรหน่วยศัตรูในหมู่ผู้นำเขมรแดง ไปจนถึงสงครามเจ้าที่อยู่ในพรรคฟุนซินเปก
อันหมายถึงการกำจัดพรรคฟุนซินเปกด้วยนั่นเอง



สําหรับสายตาของผู้เขียน นายฮุน เซน ถือเป็น "บุรุษสามัญชนผู้ปราบเจ้า" ในยุคสังคมใหม่ที่ต้องใช้อำนาจทางการทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจจากเหล่าพ่อค้า วาณิชเขมร (และอาจมีชาวต่างชาติ) ที่พากันลงขันให้การสนับสนุนทางการเงินต่อการยึดอำนาจปราบเจ้าคนชุดท้ายใน ผู้นำรัฐบาลครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ มีสิ่งที่บ่งชัดอยู่แล้วว่าเจ้านายที่เป็นปฏิปักษ์กับ ฮุน เซน อย่างกรมขุนสิริวุธก็ถูกรังแก แต่เหตุที่นำพาให้ฟุนซินเปกประสบหายนะภายในเวลา 5 ปี และไม่อาจจะผ่านอดีตกาลอันเคยรุ่งเรืองอีกต่อไป สิ่งที่ถูกพิสูจน์ต่อมาทั้งหมดนี้ คือความไม่ตั้งมั่นต่ออุดมคติทางการเมืองที่พึงมีต่อประชาชน

เมื่อถูกยึดอำนาจและใช้เวลา 24 ชั่วโมงเดินทางไปตั้งหลักในบ้านหลังที่ 2 อย่างโดดเดี่ยวที่ฝรั่งเศส ประเทศที่กลับลำให้การสนับสนุนผู้ก่อรัฐประหาร นายฮุน เซน อย่างทันควัน

ไม่แต่ฝรั่งเศสประเทศเดียว รณฤทธิ์ยังพบกับความเจ็บปวดจากหมู่มิตรบางประเทศที่หันไปให้การสนับสนุน ฮุน เซน และลดบทบาทของตนจากผู้นำประเทศมาเป็น "แขกแปลกหน้าผู้มาเยือน"

ตัวอย่างที่ทำให้รณฤทธิ์พบกับความขมขื่นจากภาวะสูญเสียครั้งใหญ่ นั่นคือการที่เข้าไปเยือนสิงคโปร์และมาเลเซีย
โดยเฉพาะมาเลเซียนั้น รณฤทธิ์ถึงกับไม่ลืมท่าทีของ ดร.มหาธีร์นายกรัฐมนตรี ผู้แสดงท่าทีชัดเจนว่า แคร์ความรู้สึกของ นายฮุน เซน ผู้ใช้กำลังทหารเข้ายึดครองอำนาจ
ถ้ารณฤทธิ์จะเรียนรู้ตั้งแต่แรกถึงสมการสมยอมในผลประโยชน์ที่แลกเปลี่ยนทาง การเมืองคือปัจจัยสำคัญทางอำนาจ เขาจะไม่โอดครวญถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย

อย่างที่กล่าวแล้วว่า แม้แต่ประเทศไทย ที่แสดงออกต่อประชาคมโลกว่าไม่เห็นด้วยในการทำรัฐประหาร แต่อีกด้านในความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำต่อผู้นำนั้นเล่า รณฤทธิ์เองก็ประจักษ์แก่สายตาและให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศว่า รัฐบาลไทยโดย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นั้นมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ นายฮุน เซน และเป็นสายป่านทางธุรกิจและการเมืองที่ยาวนานเกินกว่าฟุนซินเปกจะเอื้อมถึง

รณฤทธิ์ยอมรับในความจริงข้อนี้ โดยว่า "ไม่แคยหวังท่าทีอันเป็นมิตรจาก พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ" ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงในว่า "ใกล้ชิดกับ ฮุน เซน ขนาดไหน"

แต่กระนั้น รัฐบาลไทยก็ไม่ถึงกับ "ทำอะไรโจ่งแจ้ง"



เมื่อมีอำนาจในรัฐบาล รณฤทธิ์อนุมัติโครงการสัมปทานหลายตัวที่มีสิงคโปร์และมาเลเซียได้รับผล ประโยชน์นั้นไปเต็มๆ โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินแห่งชาติอย่างรอยัลแอร์กัมโบจ์ด
รอยัลแอร์กัมโบจ์ดนั้น อดีตเคยเป็นกิจการในครอบครัวนโรดมตั้งแต่สังคมราชนิยม (1960-1970) เลิกกิจการเพราะถูกยึดอำนาจเป็นระบอบสาธารณรัฐโดย นายพลลอน นอน แต่ทันทีที่กลับมามีอำนาจไม่นาน ฟุนซินเปกพยายามจะรื้อฟื้นกิจการเก่าเก็บแต่อดีตเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้ง

แผนสร้างฝันของฟุนซินเปกเริ่มต้นในปลายปี ค.ศ.1992 ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ กล่าวกันว่า มีนักลงทุนไทยกลุ่มหนึ่งแถวถนนสีลมกรุงเทพฯ ที่ถูกชักชวนให้ร่วมสร้างฝันรัฐบาลใหม่กัมพูชาโดยการการลงขันให้เงินช่วย เหลือฟุนซินเปกจนได้รับชัยชนะ
ฟุนซินเปกขณะนั้น ตกรางวัลจากคำมั่นสัญญาว่า หากมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล สิ่งแรกที่กลุ่มทุนเหล่านี้จะได้รับคืน นั่นคือกิจการด้านการบินแห่งชาติ-รอยัลแอร์กัมโบจ์ด
แต่ทันทีที่ฟุนซินเปกได้ชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาล นักลงทุนไทยกลุ่มนี้ กลับไม่สามารถเข้าถึงตัวผู้นำพรรค ซึ่งครั้งหนึ่งเคยใช้เวลานั่งรอพวกเขาครั้งแล้วครั้งเล่าที่โรงแรมใน กรุงเทพฯ

ในวันที่ฟุนซินเปกกับสิงคโปร์ประกาศการลงทุนสายการบินแห่งชาติกัมพูชาด้วย เม็ดเงินมูลค่า 125 ล้านเหรียญสหรัฐ คือวันเดียวกับที่นักลงทุนไทยที่ลงขันให้ฟุนซินเปกถือโอกาสปรากฏตัวในงาน แถลงข่าว เพื่อตอกย้ำบทสรุปว่า พวกตนถูกหลอกใช้โดยผู้นำฟุนซินเปก
เมื่อเกิดเหตุรัฐประหาร และตามมาด้วยการเลือกตั้ง อย่างเดิมอีกครั้ง ฟุนซินเปกได้พยายามหากลุ่มสนับสนุนจากนักลงทุน
แต่คราวนี้ อย่างชัดเจนไม่เลือกค่าย กลุ่มทุนสิงโปร์ยกเลิกสัญญารอยัลแอร์กัมโบจ์ดและมาเลเซียรับไปทำในลำดับต่อมา

แต่ไม่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไปในความเชื่อของนักลงทุนต่างชาติ นั่นคือ สนับสนุนพรรคซีพีพีที่ดูแลพวกตนอย่างใกล้ชิดในช่วงยึดอำนาจ
รณฤทธิ์ตะหาก ที่ไม่เคยเข้าถึงภาพมายาทางการเมือง ดังนั้น ทันทีที่ต้องลงสมัครรับการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมา เป็นที่ทราบกันว่า รณฤทธิ์และพวกพยายามจะกลับมาสานสัมพันธ์กับกลุ่มทุนเก่าที่เขาทิ้งไป
แต่มันสายไปเสียแล้ว



หาก สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ จะตระหนักว่า เขามีชีวิตอยู่นอกเงาบดบังของบิดาและพบว่า และจะยึดอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนขณะอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส ภาวะแห่งความสิ้นไร้ไม้ตอกที่น่าอดสูนี้ คงไม่มีมาถึงตัวเขา

เนื่องจากรัฐประหารในสงครามเจ้าได้ทำให้เกิดการสังเวยชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวน มาก ไม่เพียงแต่กรกฎาคม 1997 แต่จะตามมาอีกในเขตอัลลองแวงของกลุ่มเขมรแดง
รณฤทธิ์นั้น กล่าวให้สัมภาษณ์ฮาริช เมห์ตาในหนังสือ Warrior Prince : Norodom Ranariddh, son of King Sihanouk of Cambodia ว่าเขาไม่เคยได้รับการแชร์ความรู้สึกเยี่ยงบิดาที่มีต่อบุตรในภาวะแห่งความ สูญเสีย
การพูดคุยทางโทรศัพท์หลังรัฐประหารผ่านไปแล้ว 2 วัน ราว 45 นาทีที่ออกมาจากพระกรุณาสีหนุประทับ ณ กรุงปักกิ่ง คือข้อวิจารณ์ว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ไม่เหมือนจากสมัยของพระองค์เมื่อปี ค.ศ.1970
เป็นการพาย้อนเวลาหาอดีตที่ประทุษร้ายรณฤทธิ์เป็นคำรบสอง ทั้งนี้ โดยแม้ว่า พ่อลูกนโรดมจะตกเป็นเหยื่อแห่งรัฐประหารเดียวกันก็ตาม แต่พระกรุณาสีหนุยังทรงตอกย้ำถึงความสำเร็จของพระองค์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากมหามิตรประเทศมากมาย
รณฤทธิ์รอคอยที่จะได้รับคำปลอบใจในการสนทนา แต่เขากลับประหลาดใจที่พบว่า พระองค์ไม่ทรงตำหนิในการกระทำของ นายฮุน เซน ไม่แม้แต่จะแสดงความเสียใจต่อเขาแม้ในการสนทนาครั้งที่สอง ที่ทำให้เขารู้สึกถึงความโดดเดี่ยวเย็นชาในชีวิตของตน

กรณีชีวิตรณฤทธิ์ ยังนำพาให้ผู้เขียนสนใจในประเด็นชะตากรรมของหมู่โอรสนโรดมในอดีต ตั้งแต่กษัตริย์นโรดมที่ 1 (ค.ศ.1860-1904) ผู้ถูกกระทำรัฐประหารเงียบจากมนตรีสามัญชนคนหนึ่งซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ข้าหลวงใหญ่ในรัฐบาลฝรั่งเศส
นับเป็นชะตากรรมร่วมยาวนานจากปัญหาการเมืองในต่างกรรมต่างวาระ ที่พัดพาโอรส "นโรดม" รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ให้ประสบชะตากรรมเดียวกัน 



.