http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-29

พระเวสสันดรละเมิดสิทธิมนุษยชน (?) โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : พระเวสสันดรละเมิดสิทธิมนุษยชน (?)
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:15:00 น. 


บางคนอ่านชาดกเรื่องพระเวสสันดรแล้วรับไม่ได้ เพราะเห็นว่า การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสรับใช้คนอื่นจะเป็นความดีได้อย่าง เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดๆ ยิ่งกว่านั้นหากคิดอย่างมีเหตุผลแล้ว การบริจาคลูกเมียให้เป็นทาสจะถือว่าเป็นความดี หรือบุญบารมีขั้นสูงจนส่งผลให้บรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะได้อย่างไร ถ้าพระเวสสันดรเป็นคนอเมริกันคงถูกลูกเมียฟ้องเอาผิดทางกฎหมายแน่ๆ

แต่บางทีคนที่คิดเช่นนี้ก็ลืมไปว่า เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้วมีสังคมอเมริกันหรือยัง หรือมีความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในโลกนี้หรือยัง!


ประเด็นคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรปรากฏในพระไตรปิฎก ซึ่งหมายความว่า เป็นเรื่องเล่าในกรอบความคิดทางวัฒนธรรมของสังคมศาสนาของชาวอารยันในชมพูทวีปเมื่อกว่าสองพันปีมาแล้ว พระเวสสันดรนั้นมีชีวิตอยู่ในสังคมที่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีอำนาจออกแบบความสัมพันธ์ทางสังคมและกำหนดคุณค่าทางจิตวิญญาณว่า สังคมต้องมีวรรณะ 4 คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เฉพาะความสัมพันธ์ในครอบครัว สามีเป็นเจ้าของภรรยาและลูก พูดอีกอย่างว่าเมียและลูกเป็นสมบัติของสามีหรือพ่อ การกำหนดสถานะเช่นนี้ทำให้มีข้อผูกพันตามมาว่า เมียและลูกมีหน้าที่ต้องทำตามความประสงค์ของสามีหรือพ่อ

ทีนี้ตัวพระเวสสันดรนั้นก็รับเอาคุณค่าทางศาสนา คือ "ความหลุดพ้น" มาเป็นอุดมการณ์สูงสุดของตนเอง และเนื่องจากผู้เล่าเรื่องนี้คือพุทธะซึ่งเป็นผู้ปฏิรูปวัฒนธรรมฮินดู (ปราชญ์อินเดียอย่าง รพินทรนาถ ฐากูร คนหนึ่งล่ะที่ยืนยันเรื่องนี้) ก็เลยกำหนดให้ความปรารถนาพุทธภูมิหรือการบรรลุโพธิญาณเป็นพุทธะเพื่อสอนสัจธรรมแก่ชาวโลกเป็นอุดมการณ์สูงสุดของพระเวสสันดร ผู้ซึ่งตั้งปณิธานว่า การให้ทานหรือการเสียสละคือความดี อันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ดังกล่าว

ฉะนั้น เมื่อมองตามกรอบคิดของวัฒนธรรมทางสังคมและคุณค่าทางจิตวิญญาณคือ "ความหลุดพ้น" และผู้หลุดพ้นคือ "บุคคลในอุดมคติ" ซึ่งเป็นที่พึ่งของสังคม อันเป็นอุดมการณ์สูงสุดทางศาสนาในยุคนั้น การเสียสละลูกเมียของพระเวสสันดร จึงเป็นการกระทำที่ดีงามน่าสรรเสริญ


ทำไมคนยุคนั้นถึงเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้ดีงามน่าสรรเสริญ? เราอาจเข้าใจโดยเปรียบเทียบความเสียสละเพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา เช่น บางคนอุทิศชีวิตเพื่ออุดมการณ์ที่เขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม จนต้องละทิ้งครอบครัวเข้าป่าจับอาวุธ ยอมติดคุก กระทั่งยอมสละชีวิต คนเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์นั้นต้องเสี่ยง อาจทำให้เขาต้องพลัดพรากครอบครัว อาจถูกสังคมประณาม ติดคุก ถูกอุ้ม กระทั่งถูกฆ่าตาย แน่นอนว่า สำหรับบางครอบครัวเมื่อขาดผู้นำ ทุกอย่างอาจพังทลายลง เราจะบอกว่าคนเช่นนี้เป็นคนไม่ดี เพราะไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวได้หรือ ผมคิดว่าเราคงไม่มองเช่นนั้น แต่เราคิดว่าคนแบบนี้น่านับถือ เพราะเขายอมสละทุกอย่างเพื่ออุดมการณ์ที่เขาศรัทธาซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

เรื่องพระเวสสันดร เราก็อาจเข้าใจได้ทำนองเดียวกันนี้ คนยุคนั้นเชื่อว่าศาสดาผู้ค้นพบและสอนสัจธรรม/ศีลธรรมเป็นคนอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขแก่สังคม เพราะศาสดามีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นเท่านั้น หมดภาระที่จะทำอะไรเพื่อตัวเอง ฉะนั้น คนที่ยอมสละทุกอย่างเพื่อจะเป็นศาสดา (พุทธะ) ในอนาคตอย่างพระเวสสันดร จึงเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญ เหมือนกับคนที่เสียสละครอบครัว แม้กระทั่งอิสรภาพของตนเองบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมในยุคสมัยของเรา ก็คือคนที่กระทำสิ่งที่ทำได้ยากและน่าสรรเสริญเช่นเดียวกัน


สมภาร พรมทา เสนอไว้ใน An Essay Concerning Buddhist Ethics (สรุปใจความได้) ว่า เราสามารถเข้าใจการบริจาคลูกเมียของพระเวสสันดรได้ด้วยการเข้าใจความเป็นมนุษย์ของเขา ("เขา" นี่แปลมาจาก “his” ไม่มีราชาศัพท์) เช่น เมื่อเห็นชูชกโบยตีลูกชายลูกสาว พระเวสสันดรโกรธมากเกือบจะไม่ยอมให้ลูกแก่ชูชกอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้นความเจ็บปวดจากความรักลูกก็ทำให้เขาทุกข์ทรมานใจเป็นทวีคูณ ความโกรธนั้นอาจหายไปได้ในเวลาไม่นาน แต่ความเจ็บปวดโศกเศร้าเพราะต้องสละลูกเมีย ทั้งที่รู้ถึงความทุกข์ทรมานของลูกเมียที่ต้องตกเป็นทาสของคนอื่นนั้นเป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งยากที่จะหายไปได้ แต่พระเวสสันดรก็ต้องทำตามอุดมการณ์ที่ตนเชื่อ

ลองเปรียบเทียบกับคนที่เลือกเดินบนเส้นทางอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในยุคสมัยของเรา เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในป่า ในคุก ทุกข์ทรมานจากการพลัดพรากพ่อแม่ คนรัก ลูกเมีย ออกจากป่ามาก็เจ็บปวดสับสนกับความพ่ายแพ้ อีกทั้งอาจรู้สึกผิดที่ตนเองละทิ้งความรับผิดชอบต่อครอบครัว เป็นต้น นี่คือความเป็นมนุษย์ที่เราเข้าใจได้ พระเวสสันดรก็มีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน แต่ก็ยอมเสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่ตนคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในยุคสมัยนั้น เช่นเดียวกับคนในยุคเราที่เสียสละเพื่ออุดมการณ์ที่พวกเขาคิดว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมในบริบทปัจจุบัน

แต่ที่สำคัญกว่าคือ ชาดกเรื่องพระเวสสันดรนั้น สอนว่า "ความถูกต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ" แม้ว่าจะต้องเสียสละและเจ็บปวดมากเพียงใดก็ตาม ดังคำกล่าวที่ว่า "พึงสละแม้ชีวิตเพื่อรักษาธรรม" มีชาดกจำนวนมากที่เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมหรือความถูกต้อง พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับ "วิถีที่ถูกต้อง" มาก เพราะคุณค่าชีวิตและอิสรภาพงอกงามออกมาจากการฝึกฝนตนเองตามวิถีที่ถูกต้อง (มรรค/ไตรสิกขา) พระเวสสันดรคือตัวอย่างของผู้ที่เดินทางยากในวิถี (means) สู่เป้าหมาย (end) ที่ตนเชื่อว่าถูกต้อง



สมมติว่า มียาวิเศษที่กินแล้วทำให้คนพ้นทุกข์กลายเป็นพุทธะได้ทันที พุทธศาสนาย่อมไม่สนับสนุนให้กินยาเช่นนั้นแน่นอน เพราะยาวิเศษไม่สามารถทำให้ชีวิตมีคุณค่าได้ คุณค่าของชีวิตเกิดจากการการใช้เสรีภาพเลือกทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ใช้ศักยภาพและความพยายามของเราเองอย่างเต็มที่ แม้จะต้องเผชิญอุปสรรคและความเจ็บปวดใดๆ ก็ตาม แต่โดยการดำเนินชีวิตตามวิถีที่ถูกต้องนั้นเอง ความหมายของชีวิต การเติบโตทางความคิด และจิตวิญญาณจึงอาจงอกงามปรากฏออกมาได้ ฉะนั้น วิถีกับจุดหมายไม่อาจแยกจากกัน

แต่ก็น่าเสียดาย หากจะมีการเข้าใจผิดๆ ว่า เรื่อง "ทาน" ของพระเวสสันดร และการทำบุญเชิงประเพณีต่างๆ เป็น "ยาวิเศษ" ดลบันดาลทุกสิ่งได้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความปรารถนาสุขส่วนตัว จนทำให้ค่านิยมทำดีของชาวพุทธจำกัดอยู่แค่ "การทำดีตามแบบแผนพิธีกรรม" เพื่อหวังผลดลบันดาลจากยาวิเศษให้ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นค่านิยม "ทำดีเสพติดยาวิเศษ" จนไม่ลืมตามาดูทุกขสัจจะของสังคม

และทำให้ชาวพุทธปัจจุบันไม่สนใจการ "ทำดีอย่างมีอุดมการณ์" หรือการเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม แม้ว่าตนเองต้องทนทุกข์ดังพระเวสสันดรทำเป็นแบบอย่าง ซึ่งเราอาจนำหลักคิดนี้มาปรับใช้อย่างสอดคล้องกับบริบทปัจจุบันได้ ไม่ใช่รับมาทั้งดุ้น หรือด่วนปฏิเสธอย่างขาดการทำความเข้าใจสาระสำคัญ!


______________________________________________

ลองอ่านอีกบทความ เพื่อเป็นอีกแง่มุม หรือปรับใช้ในภาคปฏิบัติ
ที่  "มรดกอกแตกของ 14 ตุลาฯ" โดย เกษียร เตชะพีระ  http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/14ks301.html



.