http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-28

ชนส่วนใหญ่และความเป็นไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

ชนส่วนใหญ่และความเป็นไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 32


Dru C Gladney ประกาศในหนังสือชื่อ Making Majorities ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการ ว่า "ชนส่วนใหญ่ [ในทุกชาติ] ถูกสร้างขึ้น ไม่ได้เกิดเอง... ไม่มีชนส่วนใหญ่ในแถบเอเชียแปซิฟิกหรือในโลกตะวันตก ไม่ว่าในทางจำนวน, ทางชาติพันธุ์, ทางการเมือง และในทางวัฒนธรรม สังคมต่างๆ ล้วนสร้างและหมายว่าใครเป็นชนส่วนใหญ่ ใครเป็นชนส่วนน้อย ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์, การเมือง และสังคมทั้งนั้น"

เอาล่ะสิครับ ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน จึงไล่อ่านบทความในหนังสือ ซึ่งพูดถึงกระบวนการสร้างชนส่วนใหญ่-ส่วนน้อย, ความสัมพันธ์ระหว่างสองกลุ่ม และความสัมพันธ์ของสองกลุ่มกับรัฐและความทันสมัย ในสังคมต่างๆ นับตั้งแต่สหรัฐ ไล่มาถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ไปจนถึงฟิจิ แล้วในที่สุดก็เห็นว่า เออจริงว่ะ

คนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเมื่อต้นรัตนโกสินทร์คงเรียกตัวเองว่า "คนไทย" สืบต่อมาจากเมื่อครั้งอยุธยา แต่ "คนไทย" ก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้นในจำนวนไพร่ฟ้าของพระเจ้าแผ่นดิน ทางเหนือสุดเรียกตัวเองว่ายวนหรือโยน (นักประวัติศาสตร์ล้านนาคนหนึ่งเคยบอกผมว่า คำว่า "คนเมือง" เพิ่งมาปรากฏในหลักฐานประวัติศาสตร์รุ่นหลัง-ผมเลยเดาเอาเองว่า เมื่อมี "ชาวเขา" อพยพมาอยู่มากขึ้นแล้วคือประมาณเมื่อ 150 ปี เป็นต้นมา)
ส่วนทางใต้สุดเรียกตัวเองว่า "มลายู" อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ เพราะแม้แต่คำนี้ที่ใช้ในความหมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ก็เพิ่งมาใช้กันมากขึ้นในระยะประมาณ 200 ปีมานี้เอง (ซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า) 
ส่วนประชาชนในแถบที่ไม่ใช่รัฐมลายูคงเรียกตัวเองว่า "คนไทย" เหมือนกันกระมัง ในขณะที่คนกรุงเทพฯ กลับไปเรียกเขาว่า "ชาวนอก" หรือเรียกตามชื่อเมืองเช่น "ชาวละคร" หรือ "ชาวตะลุง" แสดงว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้คิดว่าเป็น "พวก" เดียวกันกับเขา

ทางอีสานจนเลยข้ามแม่น้ำโขงไป ก็ดังที่รู้กันอยู่แล้วว่าเขาเรียกตัวเองว่า "ลาว" คำนี้เองก็น่าสนใจในตัวของมันเองด้วย เพราะกลายเป็นชื่อของชนส่วนใหญ่ในประเทศลาวภายหลัง และคงมีกระบวนการเฉพาะของตนเองที่จะสร้างชนส่วนใหญ่ขึ้นในประเทศของเขา



ที่พูดมานี้เป็นการผูกชื่อชาติพันธุ์ไว้กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นะครับ ซึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะเราไปรับการสร้าง "ชนส่วนใหญ่" ในท้องถิ่นต่างๆ ไว้โดยไม่ตั้งคำถามต่างหาก เพราะในความเป็นจริง มีคนที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่า "ไทย", "ลาว", "ยวน", "มลายู" ฯลฯ อยู่ตามภูมิภาคต่างๆ อีกมากมาย

เช่น จีน (ซึ่งก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าจีนเสมอไป แต่มักเรียกตามภาษาถิ่นของตัวมากกว่า) กะเหรี่ยง, เขมร, แสก, กูย, โท้, อุรักลาโว้ย, ม่าน, มอญ, เม็ง, ถิ่น, ลัวะ, ลื้อ, ยอง, ฯลฯ อีกมากมาย ทั้งนี้ ยังไม่นับการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพที่ดึงเอาคนจากที่ต่างๆ มาอยู่นอกภูมิภาคของตนเอง

แม้แต่ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่เราคุ้นเคยในเวลานี้ เช่น "ไท-ไต" ก็คงไม่ใช่ชื่อที่เขาเรียกตัวเอง ส่วนใหญ่ก็มักเรียกและถูกเรียกไปตามถิ่นที่อยู่, หรือสีของเสื้อผ้า (อย่างเดียวกับชาวเขา) เช่น ไทคำตี่, ไทอะหม, ไทน้อย, ไทใหญ่, ไทดำ, ไทแดง ฯลฯ คำว่า "ไท" ไม่จำเป็นต้องหมายถึงชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่น่าจะแปลว่า "คน" เหมือนที่ใช้ในภาษาอีสานทุกวันนี้ 
อย่างน้อยเขาต่างไม่รู้สึกว่าเป็น "พวก" เดียวกัน ไม่อย่างนั้นจะรบราฆ่าฟันกันหน้าตาเฉยอย่างไร (เช่น สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองรุมเมืองคัง-ก็ "ไท" ด้วยกันนะครับ หรือในทางกลับกันไทใหญ่เป็นกำลังสำคัญของกองทัพพม่าในการตีกรุงศรีอยุธยาทุกครั้ง) อีกทั้งไม่เคยมี "มหาราช" พระองค์ใดในกลุ่ม "ไท-ไต" ที่พยายามสร้างราชอาณาจักรขึ้นจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติพันธุ์เลย

แสดงให้เห็นว่าไท-ไทย ถูกสร้างให้เป็นชื่อกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเป็นชนส่วนใหญ่ของ "ชาติ" ในภายหลัง 
ข้าราษฎรของราชอาณาจักรอยุธยาและสืบมาอีกนาน คือประชากรหลากหลายกลุ่ม ที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกัน ทั้งในเชิงชาติพันธุ์, การเมือง และเศรษฐกิจ-สังคม



กระบวนการสร้าง "ชาติ" ในสมัย ร.5 เป็นต้นมา คือกระบวนการเดียวกันกับการสร้างและหมายชนส่วนใหญ่ของ "ชาติ" ไปพร้อมกัน ขยายการใช้ภาษากรุงเทพฯ ออกไปผ่านหนังสือราชการซึ่งต้องมีมากขึ้นเป็นธรรมดา เพราะการจัดการปกครองแบบใหม่ ใช้ภาษานี้เป็นภาษาของการศึกษามวลชนซึ่งริเริ่มขึ้นมาแต่แรก พัฒนาการพิมพ์ด้วยภาษาและอักษรของ "คนไทย" ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เกิดเป็นหนังสือและหนังสือพิมพ์ในภาษา "ไทย" ยิ่งหลังจากการสื่อสารใหม่ๆ เกิดขึ้น ภาษา "ไทย" ก็กลายเป็นความจำเป็น (พนักงานโทรเลขไทยคงส่งรหัสมอสส์ด้วยตัวอักษรยาวี, อักษรธรรม, หรือแม้แต่ไทยน้อย ไม่ได้) 
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึง "แฟชั่น" ประเภทต่างๆ นับตั้งแต่เพลงดนตรี, การแต่งกาย, เครื่องเล่น, มารยาท, ฯลฯ ซึ่งแม้มีกำเนิดมาจากวัฒนธรรมอื่น (เช่น กินข้าวด้วยช้อนและส้อม) แต่ก็ถูกหมายเรียกว่า "ไทย" ไปหมด 
ใครที่ใช้วัฒนธรรมใหม่เหล่านี้ ก็คือ "คนไทย" และเริ่มหมายคนอื่นที่ใช้วัฒนธรรมเดียวกันว่าเป็น "คนไทย" เหมือนกัน "ชนส่วนใหญ่" จึงค่อยๆ ถูกสร้างขึ้นในประเทศสยาม จนกระทั่งเมื่อเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ไทย" คนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นแปลกอะไร เพราะไปนึกว่าคนที่ไม่ใช่ "ไทย" คือ "ชนส่วนน้อย" ที่ควรจะกลืนตัวเองให้เป็น "ไทย" ไปในที่สุด 
ลืมไปว่าครั้งหนึ่งตัวเองก็ไม่ได้เป็น "ไทย" เหมือนกัน


คําว่า "มลายู" ในแถบที่เป็นประเทศมาเลเซีย, ฝั่งตะวันออกของสุมาตรา และบางส่วนของเกาะบอร์เนียว (กาลิมันตัน) ก็เหมือนกัน ปัจจุบันเราเรียกคนกลุ่มนี้ว่ามลายูหมด คือพูดภาษาเดียวกัน, นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน, และมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 
แต่ที่จริงแล้ว เมื่อย้อนกลับไปดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลับพบว่าเฉพาะประชาชนของรัฐมะละกาเท่านั้น ที่เคยเรียกตัวเองว่าเป็นชาวมลายู ยิ่งไปกว่านั้นคนยังอาจเปลี่ยน "ชนชาติ" (ซึ่งภาษามลายูในภายหลังเรียกว่า bangsa) ได้ด้วย ผมเข้าใจว่าเมื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในปัตตานี หันมานับถือศาสนาอิสลาม เขาก็ได้เปลี่ยนความเป็น "ชนชาติ" ฮกเกี้ยนของเขาไปแล้ว

ก่อนอังกฤษจะยึดครองแหลมมลายู ประชาชนในแถบนี้มองตัวเองว่าเป็นคนของสุลต่านองค์ไหน (คือของเมืองอะไร) เช่น เป็นชาวเปรัก, ชาวยะโฮร์, ชาวปัตตานี ไม่ได้คิดว่าตัวมีชาติพันธุ์มลายูร่วมกัน จีนและอินเดียซึ่งเข้ามาจำนวนมากในสมัยอังกฤษ ก็มักเรียกตัวเองตามภาษาถิ่นของตัวมากกว่าจะมีสำนึกร่วมกันว่าเป็น "จีน" เหมือนกัน คนจากคาบสมุทรอินเดียก็เช่นเดียวกัน ย่อมรู้สึกว่าตัวเป็นชาวกลิงก์, ชาวมัทราส, หรืออื่นๆ มากกว่า

(กรณีอินเดียไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะตอนนั้นยังไม่มี "อินเดีย" ในฐานะหน่วยการเมืองอันหนึ่งด้วยซ้ำ)



มลายูในฐานะชาติพันธ์ร่วมกันมาเกิดขึ้นจากคนต่างชาติครับ คนแรกคือ Munshi Abdullah นักเขียนที่กล่าวกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดภาษามลายูสมัยใหม่ เขาเป็นคนเชื้อสายอาหรับผสมอินเดีย งานเขียนของเขาปลุกสำนึกว่า ชาวพื้นเมืองที่เขาเรียกว่ามลายูนั้น ควรตื่นขึ้นมาขยันขันแข็ง เพื่อทำให้ชนชาติของตัวเข้มแข็งเหมือนชนชาติอื่นๆ (เช่น อังกฤษ) 
อับดุลลาห์ทำงานกับอังกฤษทั้งที่มะละกาและสิงคโปร์ และได้รับอิทธิพลทางความคิดจากงานของฝรั่งแยะ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ให้ความหมายใหม่แก่มลายูในฐานะชาติพันธุ์คืออังกฤษ ภายใต้ความคิดเรื่องการแบ่งคนออกเป็นเชื้อชาติ (race) ต่างๆ ซึ่งกำลังแพร่หลายในยุโรป อังกฤษทำสำมะโนประชากรในรัฐมลายู โดยแบ่งคนออกตาม "เชื้อชาติ" อย่างที่ฝรั่งจะพึงเข้าใจ คือชาวมลายู, จีน และอินเดีย 
มลายูจึงกลายเป็นที่ยึดถือว่าหมายถึงชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ร่วมกันของประชาชนชาวพื้นเมืองในแหลมมลายู 
แม้กระนั้น ก็ยังไม่ได้กลายเป็นชื่อของ "ชนส่วนใหญ่" ไปโดยปริยาย ยังต้องอาศัยการสร้างอุดมการณ์, ภาวะทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองอีกหลายอย่าง กว่าที่มลายูจะกลายเป็น "ชนส่วนใหญ่" อันที่จริงคงทราบอยู่แล้วว่า ก่อนได้รับเอกราชนั้น คนที่เรียกตัวว่ามลายูไม่ใช่ประชากรที่มีจำนวนมากสุดในมลายูของอังกฤษ (เพราะรวมสิงคโปร์ไว้ด้วย)

แม้ในการต่อสู้ทางการเมืองช่วงที่กำลังจะได้เอกราช พรรคฝ่ายซ้าย (ซึ่งในตอนนั้นใช้ชื่อว่า "พรรคชาตินิยมมลายู"-PKMM) ก็ยังเสนอว่า คนภายนอกที่หันมารับวัฒนธรรมมลายู เช่น รับภาษาและประเพณีแบบมลายู ย่อมเป็นพลเมืองเต็มขั้นของรัฐมลายูซึ่งจะเกิดในภายหน้า เหมือนกับสมัยโบราณที่ความเป็นชนชาติย่อมโยกย้ายถ่ายโอนกันได้ในชีวิตจริง พรรคนี้แยกสองคำออกจากกันคือ bangsa หมายถึงชนชาติซึ่งได้มาโดยกำเนิด และ kebangsaan หมายถึงความเป็น (พลเมืองของ)ชาติ 
แน่นอนว่าพรรค UMNO ซึ่งเป็นของเจ้าและขุนนางย่อมไม่เห็นด้วย และดังที่ทราบอยู่แล้วว่าพรรค UMNO ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งและปกครองมาเลเซียสืบมาจนทุกวันนี้ 
มลายูในฐานะ "ชนส่วนใหญ่" ของมาเลเซียจึงถูกสร้างขึ้น เช่นเดียวกับคนไทย, คนจีน (ฮั่น), คนญี่ปุ่น, เกาหลี, ฟิจิ และเติร์ก หรือคนเชื้อสายอังกฤษในสหรัฐ


ชนส่วนใหญ่ของชาติใดชาติหนึ่ง เป็นสิ่งสร้างทางสังคมทั้งนั้น กล่าวคือไม่มีอยู่จริง แต่คือคนที่ถูกเกณฑ์หรืออาสาสมัครให้เข้ามาจองแถวหน้าในชาติก่อนคนอื่น สร้างมาตรฐานที่คนอื่นต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้ยึดถืออัตลักษณ์เดียวกันเสียก่อน แล้วจึงได้ที่นั่งถัดกันมา

"ความเป็นไทย" จึงไม่ได้ระเหิดไปไหนในยุคโลกาภิวัตน์หรอกครับ แต่มันกลวง คือไม่มีอะไรในนั้นมาแต่ต้นแล้ว ถ้าจะดูเหมือนว่ามี ก็เพราะใครบางคนยัดลงไว้ในนั้น และก็ยัดด้วยเหตุผลทางสังคมและการเมืองในยุคหนึ่งๆ ฉะนั้น มันจึงเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ แล้วแต่เงื่อนไขทางสังคมและการเมืองซึ่งเปลี่ยนไป

ถ้าจะว่ามันระเหิดไปหมดก็ได้ เพราะหาอะไรที่เหมาะกับสังคมและการเมืองของโลกปัจจุบันยัดลงไปไม่ได้อีกแล้ว มันจึงยิ่งกลวงกว่าที่เคยกลวงมาแล้ว



.