http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-31

วิกฤติหนี้ลุกลาม: (8)ร้อนกันไปทั้งโลก โดย อนุช อาภาภิรม

.

วิกฤติหนี้ลุกลาม : ร้อนกันไปทั้งโลก (8)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 38


สถานการณ์วิกฤติหนี้ยุโรปขณะนี้ยังอยู่ในขั้นลุกลาม เหมือนไฟป่าที่ยังไม่มอดเชื้อ คาดหมายว่าคงต้องใช้เวลานับสิบปีกว่าจะดับไฟและฟื้นสภาพได้ การเปลี่ยนรัฐบาล การเลือกตั้งทั่วไป การประชุมสุดยอด เหล่านี้เป็นเพียงความพยายามทางอัตวิสัยในการเยียวยาแก้ไข ซึ่งที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นเพียงปรากฏการณ์ภายนอก การเจรจาที่สำคัญมักกระทำกันในที่ลับ 


ที่สถานการณ์อยู่ในขั้นลุกลามก็เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่

ก) ปริมาณหนี้ใหญ่มากเหมือนกำแพงยักษ์หรือขุนเขา ต้องใช้เวลานานถึงจะสามารถปัดกวาดหนี้เสียไปได้มากพอสมควรที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปเป็นปกติ 

ข) ในขณะที่กวาดล้างหนี้เก่าออกไป ก็มีการสร้างหนี้ใหม่ขึ้นมาอีกโดยการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล ธนาคารกลาง และธนาคารใหญ่ เข้าลักษณะกู้หนี้เพื่อชำระหนี้คล้ายแชร์ลูกโซ่ เมื่อเป็นเช่นนี้การจะล้างหนี้ให้หมดก็คงจะต้องใช้เวลานานมาก 

ค) เกิดปรากฏการณ์ทั้งการบริโภคต่ำไป (Under-consumption) และการผลิตล้นเกิน (Over-production) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
การบริโภคต่ำไปเนื่องจากชนชั้นกลางถูกทำให้ยากจน ช่องว่างทางเศรษฐกิจขยายตัว เงินและความมั่งคั่งไปกระจุกตัวที่เศรษฐีพันล้านที่บริโภคไม่ได้มาก
ในด้านการผลิตล้นเกินนั้น เห็นได้ชัดในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น ในจีนเกิดเมืองร้างสร้างใหม่หลายเมือง นอกจากนี้ ยังไปสร้างเมืองร้างที่บางประเทศในแอฟริกา เช่น แองโกลา อีกด้วย 
ในสหรัฐมีบ้านว่างไม่มีผู้อาศัยถึงเกือบ 20 ล้านหน่วย ขณะที่มีผู้ไม่มีบ้านอยู่ราว 3.5 ล้านคน (ดูบทความของ Diane Sweet ชื่อ 3.5 Million Homeless and 18.5 Million Vacant Homes in the US ใน occupyamerica.crooksandliar.com, 301211
ในการผลิตสินค้าสำคัญอื่นก็เข้าลักษณะการผลิตล้นเกินจำนวนมาก มีนักวิชาการบางคนคือ โรเบิร์ต เบรนเนอร์ นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมีชื่อเสียงของสหรัฐได้ชี้ว่าวิกฤติครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤติการเงินแต่เป็นวิกฤติการผลิตล้นเกิน โดยเฉพาะประเทศจีน (ดูคำสัมภาษณ์ของท่านผู้นี้ชื่อ Overproduction not Financial Collapse is the Heart of the Crisis : the US, East Asia, and the World ใน japsnfocus.org, 050609)

ง) ที่สำคัญมากก็คือธนาคารกลางในเขตยูโรและในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ดูจะหมดความสามารถในการแก้ปัญหาหนี้ขึ้นทุกที ทั้งนี้ ตามรายงานของธนาคารเพื่อการตกลงชำระบัญชี (Bank for International Settlements-BIS) ที่เป็นเหมือนธนาคารของธนาคารทั่วโลกได้รายงานประจำปีที่เผยแพร่เดือนมิถุนายน 2012 ว่า "ธนาคารกลางทั้งหลายกำลังถูกต้อนเข้ามุมจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเวลานาน ขณะที่รัฐบาลยังเดินลากขาและการปรับแก้ล่าช้า"
และว่า "ข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินทั้งแบบธรรมดาและไม่ใช่ธรรมดา เป็นเพียงการบรรเทาและมีข้อจำกัดของมัน" มาตรการอย่างเช่นการลดอัตราดอกเบี้ยจนต่ำมาก การพิมพ์ธนบัตรเพิ่มของธนาคารกลางยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดูเหมือนจะหมดเครื่องมือในการแก้ไขแล้ว (ดูบทความของ Jennifer Ryan ชื่อ Central Banks Face Limits Of Power As Crisis Persists ใน bloomberg.com, 250612)


วิกฤติหนี้ยุโรปได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมทั่วโลก การผลิตทางอุตสาหกรรมของสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2012 ลดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากการสั่งซื้อลดลงและการส่งออกก็ตกลงมาก
ดัชนีฝ่ายจัดซื้อของโรงงาน (Purchasing Managers" Index-PMI) ลดลงเหลือ 49.7 ต่ำกว่า 50 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ยังมีการเติบโต และที่สำคัญดัชนีฝ่ายจัดซื้อของจีนและของญี่ปุ่นก็ลดลงด้วย (ดูบทความชื่อ Europe crisis blow for world manufacturing ใน gulf-daily-news.com, 030712

ในช่วงวิกฤติ 2008 จีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนทำให้เศรษฐกิจแห่งชาติขยายตัวอย่างน่าพิศวง จนกล่าวกันว่าจีนสามารถแยกตัวจากวิกฤติของสหรัฐได้ และกลายเป็นเหมือนหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก ร่วมกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นมีอินเดีย บราซิล และรัสเซีย เป็นต้น
แต่เมื่อเผชิญวิกฤติหนี้ยุโรปซ้ำสองดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจีนต้องเผชิญการท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบหลายสิบปี 
การที่เศรษฐกิจจีนมีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างรวดเร็วนี้ มีบางสำนักวิเคราะห์ทางสถานการณ์โลกชื่อออกซ์ฟอร์ด อะนาลิติกา (ดู oxan.com) เห็นว่า ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรวดเร็วเป็นความเสี่ยงร้ายแรงที่สุดของโลกในปีนี้และปีหน้า

จึงควรจะได้กล่าวถึงเป็นกรณีใหญ่ของการลุกลามของวิกฤติหนี้ยุโรป




มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน 
: เหตุปัจจัยบางประการ

การเติบทางเศรษฐกิจของจีนอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 
การเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ได้ทำให้จีนพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา ยากจนและโดดเดี่ยว กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก ปลดปล่อยผู้คนจากความยากจนหลายร้อยล้านคน และกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ถูกรุมจีบ เป็นตลาดใหญ่ของการลงทุน ศูนย์กลางการเงินและการค้าสินค้าโภคภัณฑ์ของโลก และกำลังส่งทุนออกนอกอย่างเป็นจริงเป็นจัง 
จีนได้กลายเป็นประเทศโรงงานโลก เป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก ในยามที่สหรัฐ-ยุโรปและญี่ปุ่นอ่อนแรงในวิกฤติร้ายแรง

ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่อาทิตย์กำลังอัสดงที่โลกตะวันตก และสหภาพโซเวียตใกล้ล่มสลาย
ซึ่งเหตุการณ์นี้ประจวบกับการเกิดวิกฤติน้ำมันโลกหลายครั้ง ตั้งแต่ปี 1973 มา ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่างได้มีการย้ายฐานการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม มาอยู่ที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และที่สำคัญได้แก่ประเทศจีนที่ได้รับเงินลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ของโลกไว้

การที่จีนได้รับเลือกให้เป็นฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมของโลกน่าจะเกิดจาก

(ก) มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็ง ภายใต้การนำที่ค่อนข้างมีเอกภาพ มีเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

(ข) มีกองทัพคนงานที่อดทน ฉลาดเฉลียวและราคาถูก บรรษัทที่มาลงทุนทำการผลิตได้กำไรงาม

(ค) จีนมีทรัพยากรธรรมชาติมาก ทั้งถ่านหิน น้ำมัน และแร่ธาตุต่างๆ การที่ตะวันตกมายกให้จีนเป็นโรงงานโลกเท่ากับเป็นการยกภาระในการต้องใช้หรือแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติออกจากบ่าของตนมาวางไว้ที่จีน 
ที่สำคัญ จีนยังมีแร่ธาตุหายากที่จำเป็นสำหรับผลิตสินค้าไฮเทคตั้งแต่โทรศัทพ์มือถือ แบตเตอรี่ที่เก็บไฟได้มาก ไปจนถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโลหะผสมบางชนิด โดยจีนเป็นผู้ผลิตสู่ตลาดโลกเกือบทั้งหมด ซึ่งต้องสิ้นเปลืองพลังงานและมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมาก
นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านติดกันของจีน ได้แก่ มองโกเลียก็มีถ่านหินและแร่ธาตุมาก ปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกประเทศหนึ่งจากการขายทรัพยากรเหล่านี้ให้แก่จีน และหลายประเทศในเอเชียกลางก็มีทรัพยากรธรรมชาติมากอีกเช่นกัน เป็นแหล่งสนองวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมและพลังงานได้อีกนาน

(ง) จีนมีประชากรมาก เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ปัจจุบันจีนได้เป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดของโลก และอย่างอื่นๆ ก็จะตามมาอีก โดยเฉพาะในด้านอาหารและธัญพืช


มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีนกับวิกฤติหนี้โลก

จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในเดือนธันวาคม 2001 เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนได้บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลกซึ่งแกนกลางก็คือเศรษฐกิจของสหรัฐ-ยุโรป-ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ และได้มีส่วนสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้น  
ซึ่งในตอนแรกก็ดูส่งผลดีในการเติบโตทางเศรษฐกิจของขบวนโลกาภิวัตน์ 
แต่ภายหลังได้เกิดการเห็นว่าเป็นตัวสร้างความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติหนี้ในโลก 
ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้แก่จีนเป็นประเทศผู้ผลิต ส่วนสหรัฐและยุโรปเป็นประเทศผู้บริโภค

แต่สิ่งนี้ก็เป็นเพียงการกล่าวเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ที่ตัดกันชัด ที่จริงนั้นสหรัฐก็ยังมีอุตสาหกรรมที่ใหญ่มาก บางประเทศ ได้แก่ เยอรมนีก็เป็นประเทศผลิตสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปขายรายใหญ่ของโลก หรือโรงงานอุตสาหกรรมในจีนจำนวนมากเป็นของบรรษัทข้ามชาติในสหรัฐและยุโรป 
จากนี้มีการกล่าวกันว่าจีนเดินนโยบายขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยการส่งออก เลียนแบบญี่ปุ่น แต่ทำได้ยาวนานกว่าและในขนาดที่ใหญ่โตกว่า ส่วนสหรัฐและอังกฤษเป็นต้น อาศัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการบริโภค ตัวเลขการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีสูงมากถึงราวร้อยละ 70 ส่วนของจีนอยู่ที่การลงทุนและการผลิต

ภาวการณ์นี้เมื่อดำเนินไปนานเข้าก็ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในเศรษฐกิจโลกอย่างที่กล่าวกัน 
การดำเนินนโยบายเติบโตจากการส่งออกแบบจีนนี้ หาได้ยากที่ประเทศใดจะทำได้ และทำให้จีนรุ่งเรืองขึ้นโดยตลอดในท่ามกลางวิกฤติและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่สหรัฐง่วนทำอยู่เป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว และดูจะยังต้องทำต่อไปอีก 
สินค้าราคาถูกจากจีนมีส่วนช่วยให้สหรัฐและหลายประเทศในยุโรปดำเนินกิจการอย่างที่เคยทำต่อไปได้



วิกฤติหนี้โลก
กับปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน


ที่จริงแล้วแม้ว่าจะไม่มีวิกฤติหนี้ที่สหรัฐและยุโรป เศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มที่จะมีอัตราการขยายตัวลดลงในตัวของมันเองอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ กล่าวคือเมื่อหันมาเดินหนทางทุนนิยม มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมจำนวนมาก และพัฒนาให้ทันสมัยขึ้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมักสูง การยกระดับการพัฒนาประเทศจากระดับยากจนสู่ฐานะระดับปานกลางขั้นต้นนั้นไม่สู้ยาก เพราะว่าทำสิ่งใดก็ล้วนทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากด้วยกันทั้งนั้น  
แต่เมื่อระดับการพัฒนาถึงระดับกลางแล้วต้องใช้ความพยายามมากจึงจะเอาชนะการแข่งขันทั้งจากประเทศที่จนกว่าและรวยกว่า จึงพบว่ามีน้อยประเทศมากที่สามารถทะลุผ่านแนวต้านนี้กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้ เช่น กรณีของเกาหลีใต้ เป็นต้น

เมื่อประเทศพัฒนาถึงระดับปานกลางก็จะเผชิญกับปัญหาใหญ่ ได้แก่

(ก) ทรัพยากรร่อยหรอ เช่น จีนเคยส่งออกน้ำมัน ปัจจุบันต้องนำเข้าสุทธิ มีการขุดถ่านหินไปใช้มาก และต้องนำเข้าจากมองโกเลียและออสเตรเลียอีก 
(ข) คนงานเริ่มมีการเรียกร้องนัดหยุดงานมากขึ้น 
(ค) ผลด้านลบจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ช่องว่างในสังคมก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วย ก่อให้เกิดความขุ่นเคืองใจและการประท้วงอย่างกว้างขวางในจีน
(ง) ปรากฏข่าวว่ามีความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้นำของจีน ว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจให้กลายเป็นผู้นำในกระบวนโลกาภิวัตน์ หรือจะหันมาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ-สังคม เช่น ช่องว่างทางเศรษฐกิจดี  
(จ) เมื่อเจริญรุ่งเรืองขึ้น มักเป็นที่อิจฉาหวาดระแวงแก่มหาอำนาจเดิมที่จะเข้ามาขัดขวาง หากเป็นประเทศเล็กบางทีใช้มาตรการรุนแรงถึงขั้นล้มล้างระบอบปกครองที่ไม่เป็นผลเดีแก่ตน สำหรับประเทศจีนที่ใหญ่มาก ใช้การปิดล้อม


การที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวจากการส่งออก เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ก็ทำให้ต้องสูญเสียตลาดใหญ่ที่สุดที่สหภาพยุโรปและสหรัฐลงไป โดยที่ไม่มีตลาดใดจะเข้ามาแทนที่ได้ในเฉพาะหน้า ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะทำให้เศรษฐกิจของจีนจำต้องชะลอตัวตามไปด้วย และเนื่องจากเศรษฐกิจจีนได้กลายเป็นหัวรถจักรของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของจีนก็จะวนรอบกลายเป็นเหตุให้เศรษฐกิจในสหรัฐและสหภาพยุโรปเลวร้ายหนักขึ้นไปอีก ประเทศต่างๆ ที่เคยส่งวัตถุดิบหรือกึ่งวัตถุดิบให้จีนเพื่อผลิตหรือประกอบขึ้นเป็นสินค้า อย่างเช่นออสเตรเลียและไทยก็ย่อมเผชิญปัญหาตามไปด้วย 
ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ดึงกันไปมาทั่วโลกนี้ ถ้าหากไม่จัดการแก้ไขให้ทันการณ์ ก็จะแข็งตัวกลายเป็นโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกที่ปรับแก้ได้ยากยิ่ง

ตอนหน้าซึ่งเป็นตอบจบ จะกล่าวถึงการครุ่นคิดของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลบางคน และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์บางประการเพื่อการแก้ไขวิฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้



.