http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-15

เมื่อ “กวีธรรม” ใช้พุทธศาสนาเป็นอาวุธ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : เมื่อ “กวีธรรม” ใช้พุทธศาสนาเป็นอาวุธ
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:30:00 น.


เช้าวันที่ 12 ก.ค. มีอะไรหลายๆ อย่างผ่านเข้ามาสู่การรับรู้แล้วสะดุดให้ตั้งคำถาม แรกเลยผมดูรายการ "เก็บตกจากเนชั่น" คุณวีณารัตน์ถามว่า "คุณธีระเตรียมพร้อมหรือยังคะ พรุ่งนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินแล้ว" คุณธีระ ตอบว่า "ผมคงไม่ต้องเตรียมอะไร เพราะผมไม่ได้กินหญ้าและไม่ได้ถูกใครสนตะพาย"

บอกตามตรงว่า ผมไม่อาจรู้สึกชินชาหรือเฉยๆ กับคำพูดทำนองนี้ของ "สื่อ" ได้ แม้จะได้ยินบ่อยๆ ก็ตาม ผมยอมรับได้ที่สื่อเลือกข้าง หรือเล่าข่าวแล้ววิจารณ์ กระแนะกระแหนอีกฝ่ายพอหอมปากหอมคอเพื่อสร้างสีสันหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ยอมรับได้เพราะผมเข้าใจได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอยู่ การเลือกข้างมันมีอยู่ในทุกองค์กรลงไปถึงครอบครัวแล้ว ฉะนั้น จะให้วงการสื่อปลอดจากจากการเลือกข้างเพียงวงการเดียวก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะเลือกข้างอย่างไร "จรรยาบรรณสื่อ" ก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ โดยเฉพาะจรรยาบรรณพื้นฐานที่สุด สื่อจะละเมิด "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" ของคนอื่นไม่ได้


การแสดงท่าทีหรือคำพูด "เหยียดหยาม" ว่า คนที่คิดต่างจากตัวเองไม่มี "ความเป็นคน" หรือมี "ความเป็นควาย" มากกว่าที่จะเป็นคนอย่างที่ทำกันมากนั้น ถ้าเป็นการโพสต์ข้อความในเว็บต่างๆ ที่ใช้ชื่อปลอมก็ยังพอเข้าใจได้ แม้ไม่น่ายอมรับ แต่ก็ยังพอเข้าใจได้ว่า คนพวกนี้เขาใช้ "ชื่อปลอม" เขาจึงแสดงออกอย่างไม่ต้อง "เคารพศักดิ์ศรีของตัวเอง" ก็ได้ เพราะคนอ่านไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร แต่สื่อที่จัดรายการข่าวอย่างเป็นงานเป็นการซึ่งต้องการ "ภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ" จำเป็นต้องมี "ความเคารพตนเอง" ในมาตรฐานขั้นต่ำสุดคือ คุณต้องมีความเคารพตนเองด้วยการไม่แสดงออกถึงการเหยียดหยาม "ความเป็นคน" ของเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าเขาจะเห็นต่างจากคุณในเรื่องใดๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การใช้คำว่า "ควายแดง" ก็กลายเป็น "วาทกรรมการเมือง" ที่ใช้กันอย่างเป็น "ประเพณี" (tradition) ในฟากสีเหลืองหรือหลากสีมานานแล้ว
แต่ที่ผมคาดไม่ถึงคือ "กวีรัตนโกสินทร์" ซึ่งเป็นถึง "ศิลปินแห่งชาติ" เป็นกวีซีไร้ท์ ก็พลอยใช้วาทกรรมนี้กับเขาด้วย
ดังบทกวี "แม้วทำทุกอย่างล้างชาติ" ของ "ท่านอังคาร" หรืออังคาร กัลยาณพงศ์ ที่ตีพิมพ์ใน ASTV ผู้จัดการ ตอนหนึ่งว่า "มารยารักชาติใช้ ปวงชน งั่งแฮ แท้เพ่งประโยชน์ตน เท่านั้น ควายแดงต่างสับสน เซ่อซ่า แดกหญ้าไม่อั้น โง่รั้นไถนาฯ" (www.manager.co.th/politics/vienews.aspx?NewsID=9550000082878)

อาจารย์สมภาร พรมทา อ่านบทกวีนี้แล้ว บอกว่า "...ช่วงนี้ผมอ่านงานของท่านอังคารแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมกวีธรรมะบ้านเราเมื่อถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต ท่านจึงเปลี่ยนไปมากขนาดนั้น ท่านอังคารนั้นผมรักและนับถือท่านมาก เชื่อว่าท่านเป็นผู้ใฝ่ในทางธรรม ก่อนนั้นท่านเคยเขียนบทกวีทำนองว่า แผ่นดินนี้ไม่ใช่ของหงส์เท่านั้นหนา กาก็เป็นเจ้าของด้วย...(แต่บทกวีนี้ –ผู้เขียน) อ่านแล้วเศร้าใจ ว่าทำไมท่านผู้เฒ่าของเราจึงคิดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างนั้น ธรรมะน่าจะช่วยให้เราคิดกว้าง ลึก และไม่ด่วนสรุปอะไรจนกว่าจะศึกษาให้รอบคอบ ไม่ใช่หรือครับ ท่านอังคารและน้าเนาว์ (เนารัตน์ พงศ์ไพบูลย์-ผู้เขียน) นั้น ผมคิดว่าท่านเลื่อมใสท่านพุทธทาสมาก ก็น่าคิดว่าเกิดอะไรกับกวีธรรมะ..." (http://blogazine.in.th/blogs/buddhistciticen/post/3502)


ผมเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับ "กวีธรรม" เพราะเท่าที่ผมเข้าใจนั้น ธรรมชาติของกวีย่อมมีจิตใจที่ประณีตละเอียดอ่อนกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะในแง่ที่ละเอียดอ่อนต่อการเคารพ "ความเป็นมนุษย์" ของตนเองและผู้อื่น ยิ่งเป็น "กวีธรรม" ที่อ้างอิงคำสอนของพุทธะในการมองปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ความหมายของชีวิตและสังคมการเมืองด้วยแล้ว ปัญญาธรรม การุณยธรรม หิริโอตตัปปะ น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้กวีธรรมคิดกว้าง ลึก เปี่ยมด้วยความรู้สึกละเอียดอ่อน เคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นที่เห็นต่างอย่างลึกซึ้งหนักแน่น

ทว่ายิ่งได้อ่านคำสัมภาษณ์สื่อผู้จัดการของท่านอังคารข้างล่างนี้ ยิ่งน่าสังเวชใจ
"ส่วนคนที่รักทักษิณนั้นเขาลืมไปว่าเขามีสมอง แต่เขากลับเอาขี้เลื่อยไปยัดใส่สมองหมด จนกระทั่งไม่รับรู้อะไร พวกที่ไปนิยมชมชอบทักษิณนั้น ชอบที่จะให้ทักษิณปกครอง เปรียบยิ่งกว่าเกือกมันอีก คือเป็นขี้ตีนที่มันเหยียบอยู่ที่ส้นตีน แล้วยังจะเอาชาติไทยไปอยู่ที่ส้นตีนทักษิณอีกหรือยังไง? คนไทยนี่โง่ บ้า ให้ทักษิณกระทืบ" (http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000083753)


ความจริงแล้ว พุทธะสอนให้เราใช้ปัญญา ความหมายพื้นฐานของ "ปัญญา" ก็คือ "การมองเห็นตามเป็นจริง" ฉะนั้น ถ้าใช้ปัญญาเราก็ย่อมเห็นตามเป็นจริงว่า เสื้อแดงหรือคนที่เลือกข้างประชาธิปไตยหรือสนับสนุนทักษิณ ย่อมสามารถวิจารณ์ ตรวจสอบ ด่า หรือปฏิเสธทักษิณเมื่อใดก็ได้ (แต่ไม่อาจปฏิบัติในหลักการเดียวกันนี้ได้กับ "อำนาจจารีต" เลย) จึงไม่มีทางที่ประชาชนที่เลือกข้างเดียวกับหรือสนับสนุนทักษิณจะมีสถานะเสมือนดัง "ขี้ตีนที่มัน (ทักษิณ) เหยียบอยู่ที่ส้นตีน" ไปได้

ยิ่งกว่านั้น กวีธรรมท่านนี้ยังอ้างพุทธศาสนาอย่างใช้อคติ เช่น "...แล้วทำไมไม่ทำอะไรที่ดีๆ ทำไมไม่ฟังพระพุทธเจ้าบ้าง พระองค์ท่านตรัสสอนทุกอย่างไว้ครบถ้วน แล้วทักษิณมันสอนอะไร? มันสอนให้โลภอย่างเดียว คุณก็เลือกเอาสิ ระหว่างพระพุทธเจ้ากับชูชก หรือพระพุทธเจ้ากับเทวทัต คุณจะเลือกใคร?...
"ต้องถามว่าคนไทยอยากจะเป็นขี้ข้าใครล่ะ? ถ้าอยากเป็นขี้ข้าก็ลุกขึ้นมาทำใบมอบฉันทะ มอบวิญญาณให้เขาไปเลย การที่เราต้อง ?ตื่น? ขึ้นมานี่เท่ากับว่าเราต้องรู้สึก ต้องตระหนัก เราต้องรับผิดชอบต่อกระดูกสันหลังของเราเอง เราต้องปกครองตนเอง เพราะคุณเกิดมาเป็นมนุษย์ คุณไม่ใช่หมาในบ้านที่เขาเลี้ยงไว้นี่ คุณเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์มันยิ่งใหญ่มาก คุณจะเป็นพระอรหันต์ก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ เป็นสัตว์นรก เป็นเดรัจฉานก็ได้ ภพภูมิของคนนั้นเป็นกลาง แต่เลือกที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ อยู่ที่มนุษย์เอง ถ้าไม่ตื่นขึ้นมาก็อย่าเป็นมนุษย์เลย" (เพิ่งอ้าง)



นี่คือตัวอย่างของ "การใช้พุทธศาสนาเป็นอาวุธ" อย่างน่าเศร้าที่สุด มันเลยเถิดไปถึงการอ้างอิงพุทธะมาแบ่งแยกคนว่าจะเลือกใครระหว่าง "พุทธะกับทักษิณ" (เหมือนที่แบ่งแยกประชาชนว่าจะเลือกใครระหว่าง "สถาบันกับทักษิณ”) จะยอมเป็น "ขี้ข้า" ทักษิณต่อไปหรือ ทั้งที่ในความเป็นจริงทักษิณคือคนที่ประชาชนต่างพูดถึงเขาได้ทั้งด้านดีด้านเลว เป็นคนที่ประชาชนมีสิทธิ์จะเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ ไม่ใช่คนที่มีอำนาจใดๆ ที่จะมาบังคับให้ประชาชนเป็นขี้ข้า หรือให้จำต้องยอมศิโรราบตลอดไป แม้ไม่ได้มีสิทธิ์เลือก

ปรากฏการณ์ของกวีธรรม (หรือบรรดา "ปูชนียบุคคล" ที่มีภาพลักษณ์ใฝ่รู้พุทธศาสนา) ที่พยายามสอนให้ผู้คนใช้ปัญญาเห็นตามเป็นจริง และเห็นความจริงรอบด้าน เห็นความจริงทั้งหมด แต่พวกเขากลับนำพุทธศาสนามาอ้างอย่างมีอคติ จงใจ "ขับเน้น" ให้เห็นแต่ความเลว ความโง่ กระทั่งความไม่เป็นคนของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ทว่ากลับขับเน้นให้เห็นแต่ความถูกต้องดีงาม ประเสริฐเลิศเลออย่างไร้ที่ติของอีกฝ่าย นี่คือ "ความสุดโต่ง" อย่างยิ่งของบรรดาผู้ที่อ้างว่าพวกตนสมาทาน "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือ "ทางสายกลาง" ของพุทธะ

และนับเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อน "มายาคติ" อย่างยิ่งของวัฒนธรรมการศึกษา และการใช้ "พุทธศาสนาเป็นอาวุธ" ในบ้านเรา ที่ต้องทบทวน และวิพากษ์กันอย่างถึงราก!



.