http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-20

ประชามติ มือประคอง“ปู”?, ลึกแต่ไม่ลับ20ก.ค.55

.
คอลัมน์ ในประเทศ - ระทึก! ศาลนัดไต่สวน ถอนประกัน 25 เสื้อแดง ทะลวงเกราะ"รัฐบาลปู"
รายงานพิเศษ - ซี้-ย่ำ-ปึ้ก "เจี๊ยบ-ตู่-หรุ่น-เฟื่อง" "พวกเราเป็นหนึ่งเดียว" กับศึกไซเบอร์ และเคล็ด "เหนียว" ของ "บิ๊กโอ๋"
คอลัมน์ โล่เงิน - "อดุลย์ แสงสิงแก้ว" ผงาดเบอร์ 1 สีกากี จุดเปลี่ยนจัดทัพตำรวจ 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ประชามติ มือประคอง“ปู”?
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 9


เมื่อประเมินท่าทีที่รอบคอบไม่ผลีผลามของคณะรัฐมนตรี ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะ โดยมีมติให้ฟังผลคำวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แล้วมอบให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาศึกษาวิเคราะห์ ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
เช่นเดียวกับท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผ่านคำแถลงของ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย ว่า
"พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นด้วยที่ให้หารือกับพรรคร่วมและ ส.ว. ก่อน และเห็นว่าขั้นตอนจากนี้ไปจะต้องรอบคอบ เปิดให้แสดงความคิดเห็นกันก่อน ไม่ควรลุกลี้ลุกลน เมื่อพรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลจึงมีหน้าที่แก้ไขตามนโยบายที่แถลงไว้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น แนวทางจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับการหารือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นอำนาจหน้าที่การตัดสินใจของกรรมการบริหาร และ ส.ส.เพื่อไทย"
ทำให้ "ทางเลือก" ที่จะเดินหน้า "หักดิบ" ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ทันที แทบจะเป็น "ศูนย์"

ตอนนี้ จึงเหลือทางเลือกสำหรับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ 2 ทาง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำไว้
หนึ่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทีละมาตรา โดยรัฐสภา
สอง ทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่


ในประเด็นแรก มีเสียงสนับสนุนจากประธานรัฐสภา นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
โดยชี้ว่า สามารถดำเนินการได้เลยโดยรัฐสภา ไม่เสียเวลา และไม่ต้องเสียงบประมาณทำประชามติ กว่า 2 พันล้าน
แต่กระนั้น ก็เริ่มมีเสียงคัดค้านว่า ที่คาดว่าจะเร็ว ก็อาจจะไม่เป็นตามนั้น
เพราะอาจจะมีการใช้เกมในสภา ลากดึงจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขมาตราที่จะเอื้อต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเช่น แก้ไขมาตรา 309 ซึ่งจะไปล้มล้างคำสั่งของคณะปฏิวัติลงโดยสิ้นเชิง
เชื่อว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ ที่รุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน
ส.ส. หรือ ส.ว. ฝ่ายเสนอ จะถูกชี้หน้ากล่าวหา ว่าทำเพื่อประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องอย่างหนัก
ขณะเดียวกัน มวลชนนอกสภาก็คงไม่อยู่เฉย ต้องออกมาคัดค้านด้วยเช่นกัน
"วิกฤต" ก็จะหวนกลับมาอีก
ดังนั้น แม้จะเป็นการแก้ไขเพียง "มาตรา" ไม่กี่มาตรา ก็ไม่อาจรับรองได้ว่าจะไม่วุ่นวาย

ที่สำคัญไปกว่านั้น
การขับเคลื่อนโดย ส.ส.เพื่อไทย หรือ ส.ว. ที่สนับสนุนรัฐบาล เพียงลำพัง ก็เหมือนกับการ "กัน" ประชาชน หรือมวลชนที่สนับสนุน ให้เป็น "คนนอก" ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ทำให้ไม่มี ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก เป็นหลักพิง
ซึ่งอันตรายยิ่งสำหรับพรรคเพื่อไทย ที่ใช้ยุทธวิธีเดินเคียงคู่กับมวลชนเสื้อแดง มาโดยตลอด
การมาทิ้งมวลชนแล้วเดินหน้า "ทำเอง" โดยไม่เอาใจใส่ว่า ประชาชนหรือมวลชนต้องการอะไร ย่อมทำให้ถูกตั้งคำถามแน่นอน
เพราะประชาชนมีบทเรียนอันสำคัญมาหลายครั้ง ที่เมื่อปล่อยให้ นักการเมือง-พรรคการเมือง ขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอง ประชาชนมักจะไม่ได้ประโยชน์
อย่างในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
แม้ คณะกรรมการสมาฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภา จะเสนอให้แก้ไข 6 ประเด็น เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
ไม่ว่าที่มาของ ส.ว., การห้าม ส.ส. และ ส.ว. แทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร, การยุบพรรคการเมือง เพิกถอนสิทธิ์พรรคการเมืองนั้น
แต่เอาเข้าจริง ก็มีการแก้ไขเพียง 2 ประเด็น คือมาตรา 190 เรื่องการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา และมาตรา 93-98 เกี่ยวกับระบบและเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคทางกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ของนักเลือกตั้งเท่านั้น
ประชาชนแทบจะไม่ได้ประโยชน์

นี่คืออดีตที่ประชาชนยังจดจำได้
ดังนั้น การมาขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา โดย ส.ส.-ส.ว. เอง อาจจะขาดแรง "สนับสนุน" จากมวลชนของตนเองอย่างสำคัญ
ต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีแรงเสียดทานจาก ฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างหนัก การขับเคลื่อนโดยไม่พร้อมหรือขาดแรงหนุน โดยเฉพาะจากประชาชน ก็ยากที่จะสำเร็จลงได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จึงอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีพอ



เมื่อเป็นเช่นนี้ คำแนะนำให้ทำประชามติ ถามความเห็นจากประชาชนว่าสมควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือไม่ ของศาลรัฐธรรมนูญ จึงน่ารับฟัง
และเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ควรพิจารณา 
แม้จะมีบางฝ่ายตะขิดตะขวงใจ ว่าเป็นคำแนะนำที่เลย "ธง" ไปมากของศาลรัฐธรรมนูญ
แต่จากผลการสำรวจความเห็นของประชาชน ของสำนักโพลต่างๆ ปรากฏว่า ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ "สนับสนุน"
เพราะเห็นว่า มีลักษณะประนีประนอม 
เป็นการเดินสายกลางซึ่งไม่สุดโต่งเกินไป
ถึงจะต้องใช้เงินงบประมาณไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ในการดำเนินการ และต้องเสียเวลาเพื่อดำเนินการไม่น้อยกว่า 120 วัน
แต่นี่คือกระบวนการที่จะดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญ

หากประชาชนไม่เห็นด้วยก็ยุติ
แต่หากประชาชนเห็นด้วยว่าจะมีการปรับรื้อรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร 2549 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ที่ใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยึดโยงกับประชาชน ด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา
ก็มีความชอบธรรมสูงที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป 
"ประชามติ" เห็นด้วยจากประชาชน จะเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญลุล่วงไปอย่างราบรื่น

คําถามสำคัญจึงมาอยู่ที่ พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่ายังคงเชื่อมั่นกับประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ยังยืนเคียงข้างตนเองอยู่หรือไม่
แน่นอน หากตัดสินใจเดินหน้าทำประชามติ 
คงไม่ใช่มีฝ่ายสนับสนุนเท่านั้นที่จะออกมารณรงค์ 
ฝ่ายคัดค้านก็คงขับเคลื่อนต่อต้านอย่างเต็มที่ 
ซึ่งคงจะเป็นการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย อันดุเดือด เข้มข้น

แต่ผลไม่ว่าจะออกมาทางใด จะมีความชอบธรรม "อย่างสูงสุด" เพราะนี่คือ "ประชามติ" ของคนไทยจริงๆ
ถูกต้องแล้ว ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล จะรอบคอบกับการตัดสินใจ ว่าจะทำอย่างไรกับมติของศาลรัฐธรรมนูญ 
เพราะนี่คือ จุดชี้ขาดอันสำคัญ 
และหากตัดสินใจเลือกที่จะเดินไปบนทางที่มี "ประชามติ" เป็นเครื่องชี้ขาด
หากผลเป็นบวก ไม่ใช่เพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะราบรื่นขึ้นอย่างมากเท่านั้น
เสถียรภาพของรัฐบาล 
เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
จะมั่นคงแข็งแกร่งขึ้นอย่างสูง

แต่ถ้าเป็น "ลบ" ก็คงตัวใครตัวมัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเลือกแนวทางประชามติของประชาชนเป็น "มืออันอบอุ่น" ประคองตนเองหรือไม่ น่าติดตาม



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 8


"สภาผู้แทนราษฎร" ใกล้ได้ฤกษ์เปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไปแล้ว ในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เปิดปึ๊บมีศึกใหญ่ คล้ายระเบิดเวลา ยืนรอรับรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อยู่หลายลูกหลายขนาด ดอกใหญ่ยิ่งคือ "ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ" ซึ่งแน่นอนว่า พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำฝ่ายค้าน จะไม่ยอมปลดปล่อยโอกาสทอง ต้องยื่นซักฟอกล้านเปอร์เซ็นต์ 
"เป้าหมายหลัก" เป็นใครไปไม่ได้ ต้องมุ่งกระแทกกลางตัว "นายกฯ ยิ่งลักษณ์" พร้อมยื่นถอดถอน ในฐานะ "มือใหม่หัดขับ" การโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกในชีวิต ถือว่าเป็น "งานช้าง" 
ช่วงเวลา 3 วัน 3 คืน คนไม่เคยโดน จักต้องมานั่งสดับรับฟังบรรดาเขี้ยวลากดิน รุมกินโต๊ะ มีสิทธิ์ลมจับได้ง่ายๆ "ประชาธิปัตย์" มีธงล้มกระดานกันเลยทีเดียว สำหรับงานนี้

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ จ่อคิวไปด้วย ซึ่งหวังไว้ลึกๆ ว่า "หวยอภิสิทธิ์" อาจจะออกได้อีกคน
ก่อนศึกซักฟอก "ยิ่งลักษณ์" ระเบิด มีคิวใหญ่ ว่าด้วยการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต้องตัดสินใจชี้ขาดก่อน

คำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา 68 
แต่ตั้ง "ข้อเสนอแนะ" ว่า ถ้าจะแก้ไขทั้งฉบับ "ควรทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน" 
"พรรคเพื่อไทย" มีความเห็นแย้งแตกออกเป็น 2-3 ส่วน

ส.ส.กลุ่มเสื้อแดง+นปช.+หัวรุนแรง ต้องการดับเครื่องชนกันขั้นแตกหักให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย คือ ลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้โดยพลัน
เห็นว่า หาก ทำประชามติ หรือแก้ไขทีละมาตรา เท่ากับว่า ยินยอมพร้อมใจให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" มีอำนาจ "เหนือรัฐธรรมนูญ"

กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย รัฐมนตรี+ส.ส.ไม่ฝักใฝ่ นักเลือกตั้ง+สต๊าฟ ที่ปรึกษายิ่งลักษณ์ เลือกปฏิบัติ แบบค่อยเป็นค่อยไป คือเลื่อนการลงมติในวาระ 3 ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด โดยรอฟังคำเสนอแนะของ คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่คณะรัฐมนตรีกำลังสรุปคำวินิจฉัยของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ได้ศึกษาและวิเคราะห์ หาบทสรุปให้เรียบร้อยก่อน
กลุ่มนี้เห็นว่า ทางเลือกว่าด้วย การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปทีละมาตรา แม้จะใช้เวลานานก็ไม่ได้ชักช้ากว่าลงมติในวาระ 3 แล้ว เลือกตั้ง-แต่งตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างแต่ประการใด 
ประกอบกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ "ธง" มีการซุกซ่อนสาระหมิ่นเหม่ไว้ในหลายๆ จุด อาทิ นำพาไปสู่การคืนเงินให้กับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่พึงประสงค์ เพียงแต่ต้องการความเป็นธรรมกับคดีความที่ถูกกล่าวหา และนอกจากนั้น ยังมีการหมกเม็ด การล้างป่าช้าในคดียุบพรรคและถูกตัดสิทธิทางการเมืองคนละ 5 ปี ของ"ประชากร 109"ด้วย
คนขั้วนี้ ต้องการจะให้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" บริหารจัดการประเทศไปแบบต่อเนื่อง เล็งเห็นว่า "ประชาธิปัตย์" หากไม่มีประเด็นการเมืองให้เล่น "ยิ่งลักษณ์" ยิ่งขับเคลื่อนนโยบายประชานิยมให้เข้าที่เข้าทางไปเนิ่นนานเท่าไหร่ จะหมดสภาพไปเอง
ดูจากผลโพลทุกสำนักที่ทำการสำรวจ เสียงตอบรับของชาวบ้านส่วนใหญ่ ต้องการจะให้ "ยิ่งลักษณ์" อยู่ในตำแหน่งต่อไป จึงไม่ควรไปเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำให้กระแสตีกลับได้



หลัง "ศุกร์ 13 ล้างอาถรรพ์" นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มีโปรแกรมเดินสายต่างประเทศเป็นว่าเล่น ประเดิมด้วยนำคณะอันประกอบด้วย รัฐมนตรี ข้าราชการ และนักธุรกิจไปเยือนต่างประเทศแถวยุโรป ประกอบด้วย เยอรมนีกับฝรั่งเศส กำหนดการสี่ซ้าห้าวัน จึงแล้วกลับ
ทัวร์ยุโรปคาบนี้ เฉียดฉิวได้พบปะ คารวะผู้เป็นพี่ชาย "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ที่ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน บินย้อนศรออกจากนครดูไบ เข้าไปพักผ่อนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เกือบอาทิตย์ 
เฉียดกับ "น้องปู" บินไปเยอรมนี-ฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 17-18 ส่วน 19-20 กรกฎาคม แค่เส้นยาแดงผ่าแปด 
จังหวะที่ "น้องปู" บินไป "พี่ใหญ่" มีโปรแกรมบินออกจากอังกฤษแค่วันสองวัน โดยโฉบไปสิงคโปร์ จากนั้นอีกสองวันบินเข้าไปขึ้นเวทีปาฐกที่อินโดนีเซีย
ก่อนตีกรรเชียงกลับดูไบ และก่อนวันที่ 26 กรกฎาคม มีคิวสำคัญบินเข้าเกาะฮ่องกง

ดังที่ทราบผ่านทางข้อความของลูกเลิฟ "โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร" แล้วว่า ระหว่างวันที่ 24-26 กรกฎาคม จะขนแฟนคลับ บินไปแฮปปี้ เบิร์ธเดย์ "พ่อ" ซึ่งจะข้ามห้วยมาฉลองวันคล้ายวันเกิดที่เกาะฮ่องกง 
นอกจากแฟนคลับแลเพื่อนโอ๊คแล้ว รับประกันได้เลยว่า ฉลองวันเกิดครบ 62 ปี "นายใหญ่" คนการเมืองทั้งค่ายเพื่อไทยและพรรคร่วม บินไปร่วมแจมกันเต็มเกาะ 
ไหนจะใกล้ๆ ปรับ ครม. ต้องมีทั้งพวก "วิ่งอยู่" และ "วิ่งเข้า" ชนกันสนั่นจอแน่

แถมช่วงนี้ ใกล้ถึงเดือนกันยายน อันเป็นฤดูโยกย้ายใหญ่ บิ๊กข้าราชการหลายกรมกอง ต้องแห่ไปให้ "นายใหญ่" เจิม
"ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" แม้อายุจะห่างกันต่างปีหลายช่วงตัว 
แต่ "วันเกิด" ราศีใกล้เคียงกันมาก "ยิ่งลักษณ์" เพิ่งทำบุญเลี้ยงพระ ปล่อยนก ปล่อยปลา เงียบๆ ไม่ฉลองวันเกิดใหญ่โตไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน
อีกเดือนกว่า เป็นคิววันเกิดพี่ใหญ่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ปีนี้ จัดใหญ่ที่เกาะฮ่องกง



+++

ระทึก! ศาลนัดไต่สวน ถอนประกัน 25 เสื้อแดง ทะลวงเกราะ"รัฐบาลปู"
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 11


ท่าทีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดง ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา
สะท้อนผ่านการแถลงของระดับแกนนำ นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ คือการ"ไม่ยอมรับ"ในคำวินิจฉัย
เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้ตั้งแต่แรก
ทั้งยังไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยกึ่งแนะนำว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับก็ควรต้องทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนเสียก่อน
นางธิดาอ้างอิงหลักตรรกะที่ว่า
ในเมื่อพรรคเพื่อไทยใส่เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในการหาเสียง ดังนั้น การที่พรรคได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาเป็นรัฐบาล การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถือเป็นมติของประชาชนแต่แรกอยู่แล้ว 
ขณะที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวถึงจุดยืนคนเสื้อแดงว่า รัฐสภาควรรักษาความสง่างามด้วยการลงมติในวาระ 3 ทันที
หากมีการทำประชามติ ก็มีเพียงคำถามเดียวที่จะถามประชาชนคือ ประเทศนี้ควรมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อไปอีกหรือไม่"

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของตุลาการฯ ฟังดูเหมือนคนเสื้อแดงได้รับชัยชนะ เนื่องจากพรรคเพื่อไทยรอดพ้นจากการถูกยุบ
แต่จากคำวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องโดยไม่จำเป็นต้องผ่านอัยการสูงสุด
นายจตุพรมองว่าเป็นการตีความขยายขอบเขตอำนาจตัวเองออกไปอย่างกว้างขวาง ตรงนี้เองที่เป็นชัยชนะของศาลรัฐธรรมนูญ
จากนี้ไปเชื่อว่าสถานการณ์การเมืองจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ แกนนำ นปช. จะหารือกำหนดท่าทีและจุดยืนอีกครั้ง หากมีการออกมาเคลื่อนไหว จะเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์" 
คำแถลงของแกนนำ นปช. ชัดเจนอย่างยิ่งว่า 
คิดอย่างไรกับศาลรัฐธรรมนูญ



ระหว่างแกนนำ นปช. กับศาลรัฐธรรมนูญ มีประวัติศาสตร์เป็น"ไม้เบื่อไม้เมา"กันมานาน โดยมีพรรคประชาธิปัตย์คอยขยายผลเป็นระยะ
อย่างล่าสุด กรณีศาลอาญามีคำสั่งเรียก นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำเสื้อแดงมาไต่สวนในวันที่ 9 สิงหาคม 
เพื่อพิจารณาทบทวนคำสั่งประกันตัวคดีก่อการร้าย 
ก็เป็นผลจากการที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่ออธิบดีศาลอาญาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 
ขอให้พิจารณาถอนการประกันตัวนายก่อแก้ว โดยอ้างถึงพฤติกรรมการแถลงข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญก่อนการวินิจฉัยคดี ยั่วยุให้ประชาชนออกมาจับตัวตุลาการ 
ต่อมา นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้เรียกประชุมผู้บริหารศาลอาญา เพื่อพิจารณาคำร้องของนายนิพิฏฐ์ ก่อนจะระบุว่า
จากการพิจารณาหลักฐานภาพและเสียง เห็นว่านายก่อแก้วมีพฤติกรรมหมิ่นเหม่ผิดเงื่อนไขการให้ประกันตัว จึงมีมติให้ทำคำสั่งออกหมายเรียกนายก่อแก้ว มาไต่สวนในวันที่ 9 สิงหาคม 
ไม่เฉพาะนายก่อแก้ว
ศาลยังพบว่ามีนักการเมืองที่ตกเป็นจำเลยอื่นๆ มีพฤติกรรมคล้ายกัน 
จึงมีมติให้ทำคำสั่งออกหมายเรียก นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจำเลยในคดีก่อการร้ายอีก 20 คนมาศาลเพื่อไต่สวนในวันนั้นด้วย
20 คนดังกล่าว ประกอบด้วย
1.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 2.นพ.เหวง โตจิราการ 3.นายขวัญชัย ไพรพนา 4.นายยศวริศ ชูกล่อม 5.นายนิสิต สินธุไพร 6.นายการุณ โหสกุล
7.นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท 8.นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง 9.นายสุขเสก พลตื้อ 10.นายจรัญ ลอยพูล 11.นายอำนาจ อินทโชติ 12.นายชยุต ใหลเจริญ 13.นายสมบัติ มากทอง 14.นายสุรชัย เทวรัตน์ 15.นายรชต วงค์ยอด 16.นายยงยุทธ ท้วมมี 17.นายอร่าม แสงอรุณ 18.นายเจมส์ สิงห์สิทธิ์ 19.นายสมพงษ์ บังชม และ 20.นายมานพ ชาญช่างทอง 
ต่อมานายนิพิฏฐ์ ยังยื่นคำร้องให้ถอนการประกัน นายอดิศร เพียงเกษ เพิ่มอีก 1 คน ทำให้ยอดแกนนำเสื้อแดงที่ถูกยื่นถอนประกันตัวครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 26 คน
เป้าหมายคือหากศาลอาญายกเลิกคำสั่งให้ประกันตัว แกนนำบางส่วนหรืออาจจะทั้งหมด 
ต้องติดคุกทันที


ส่วนกรณีวันนัดไต่สวน 9 สิงหาคม 
จำเลยที่เป็น ส.ส. อาจใช้เอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 ไม่เดินทางมาศาล เนื่องจากอยู่ในช่วงเปิดสมัยประชุมรัฐสภาแล้วนั้น 
นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีศาลอาญา ยืนยันว่า ไม่เป็นเหตุให้ศาลต้องยุติการไต่สวนจำเลยในส่วนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. 
ส่วนจำเลยที่เป็น ส.ส. จะพักไว้จนกว่ารัฐสภาปิดสมัยประชุม เมื่อถึงเวลานั้นจะหลีกเลี่ยงอีกไม่ได้ ถ้าไม่มาถือว่าหลบหนี ออกหมายจับได้ทันที
"ขอแนะนำจำเลยที่เป็น ส.ส. โดยเฉพาะแกนนำ แม้ท่านจะใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นต้องไม่กระทบสิทธิบุคคลอื่น ต้องไม่เป็นการยุยงส่งเสริมให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย"
"โดยเฉพาะนายก่อแก้วเห็นว่า หมิ่นเหม่ต่อสัญญาประกันตัวแล้ว" 
กระนั้นก็ตาม ที่ต้องระทึกก่อนใครคือ นายจตุพร พรหมพันธุ์ 
เนื่องจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้พิจารณาเพิกถอนการประกันตัว เนื่องจากมีพฤติกรรมข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญ 
ซึ่งศาลอาญารับคำร้องไว้และนัดไต่สวนวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

ชะตากรรมนายจตุพรยังน่าหวาดเสียวกว่านายก่อแก้ว ตรงที่นายจตุพรได้สิ้นสุดสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ไปตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 
ต้นเรื่องจากการที่นายจตุพรถูกคุมขังโดยหมายศาล ทำให้ไม่ได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ส่งผลให้สิ้นสุดการเป็นสมาชิกพรรค
และขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ในที่สุด 
ดังนั้น หากวันที่ 23 กรกฎาคม ศาลอาญามีคำสั่งถอนการประกันตัวตามคำร้องของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายจตุพรต้องกลับเข้าคุกทันที

ทุกอย่างสอดรับกันเป็นขั้นเป็นตอนระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีศาลอาญาเป็นผู้ชี้ขาด
หากการถอนประกัน 25 แกนนำคนเสื้อแดงครั้งนี้ประสบผลตามเป้าหมาย 
นอกจากจะกระทบต่อสมรรถนะการขับเคลื่อนของกลุ่มคนเสื้อแดงโดยตรง 
ยังเป็นการลดทอนประสิทธิภาพของกำแพงป้องกันรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อีกทางหนึ่งด้วย



+++

ซี้-ย่ำ-ปึ้ก "เจี๊ยบ-ตู่-หรุ่น-เฟื่อง" "พวกเราเป็นหนึ่งเดียว" กับศึกไซเบอร์ และเคล็ด "เหนียว" ของ "บิ๊กโอ๋"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 15


อาจเป็นเพราะในเวลานี้กองทัพ กำลังตกเป็นเป้าหมายใหญ่ทางการเมืองของคนเสื้อแดง และแกนนำพรรคไทยรักไทยบางส่วน ที่ไม่แฮปปี้กับการจูบปากคืนดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับแกนนำอำมาตย์ และ ผบ.เหล่าทัพ 
ขณะที่กลุ่มที่เคยเป็นพันธมิตรกับกองทัพมา ก็เริ่มไม่มั่นใจในจุดยืนของ ผบ.เหล่าทัพ ที่ทำงานเข้าขากันได้ดีกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหญิง จนหันกลับมาโจมตีกองทัพเสียเอง 
แต่บางครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำหน้าที่ช่วยเหลือปกป้องกองทัพ โดยเฉพาะจากการถูกกล่าวหา เรื่องการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง ขณะที่แกนนำเสื้อแดง ตอกย้ำความผิดของกองทัพในครั้งนั้น  
จึงทำให้ผู้นำเหล่าทัพต้องพร้อมรับทุกสถานการณ์...ภายใต้แนวคิดที่ว่า รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย 

จึงไม่แปลกที่ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ที่แม้จะเป็น ตท.12 แต่ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ต้องทำตัวเป็นพี่ใหญ่ ในการรวมให้ ผบ. 3 เหล่าทัพ แข็งแกร่งรวมกันเป็นหนึ่งเดียว

จะเห็นได้ว่า ยุคนี้เป็นอีกยุคหนึ่งที่ ผบ.สส. มีบารมี เวลาไปไหนมาไหน ผบ.เหล่าทัพจะร่วมคณะไปด้วย แบบที่เรียกว่า ไปไหนไปกัน เฮไหนเฮกัน ซึ่งไม่ค่อยมีให้เห็นนัก โดยเฉพาะคนที่เป็น ผบ.ทบ. มักจะไม่ค่อยยอมให้ภาพพจน์ของตนเองมาอยู่ใต้เงาของ ผบ.สส. ซึ่งแม้จะเป็นนาย เป็นผู้บังคับบัญชา แต่ก็ไม่ได้คุมกำลังรบในมือ  
แต่อาจเป็นเพราะ พล.อ.ธนะศักดิ์ เป็นเพื่อน ตท.12 ของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. จึงทำให้คุยกันง่าย และถือหลักการให้เกียรติกัน  
และอาจเป็นเพราะ พล.อ.ธนะศักดิ์ มีอายุราชการถึงปี 2557 ที่ถือว่ายาวนานพอสมควร รวมทั้งการได้ชื่อว่าเป็น "เด็กสายวัง" จึงยิ่งทำให้มีอำนาจและบารมี 
แม้ว่าในอดีตทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกันก็ตาม ทั้งคู่ถือเป็นนายทหารที่รับใช้ใกล้ชิดสถาบัน ยิ่งมาวันนี้ พวกเขาจำต้องจับมือกันให้แน่น เพราะเขาถือเป็นผู้นำทหารตัวหลัก เพราะมีอายุราชการถึงปี 2557 ทั้งคู่ และกลายเป็นหัวแถวของการเป็น "ทหารของพระราชา" ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ประกาศ 
เพราะนั่นหมายถึงอำนาจการต่อรอง ในการเจรจากับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะกับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ที่พวกเขาเรียกติดปากว่า พี่โอ๋



การรวมเป็นหนึ่งของ ผบ.เหล่าทัพ ยังหมายถึง การเป็นเกราะกำบังกองทัพ และตัวผู้นำทหารเอง จากการถูกการเมืองแทรกแซง 
"พวกเราเป็นหนึ่งเดียวกัน คิดเหมือนกัน พูดเหมือนกัน มีจุดยืนเหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว 
ยิ่งในระยะหลังๆ นี้ มักจะเห็นภาพใกล้ชิดชื่นมื่นของทั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จับมือกอดแขนกอดไหล่กันโดยเฉพาะการนั่งรถคันเดียวกัน ไปภารกิจต่างๆ ร่วมกัน 
โดยที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ จะเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ มานั่งรถตำแหน่ง ผบ.สส. ของเขา เพื่อที่ว่าจะได้ใช้เวลาในระหว่างเดินทาง ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ กันไป ทั้งเรื่องโผโยกย้ายทหาร และการปรับลดกำลังทหารราบทหารม้า ปืนใหญ่รวมกว่า 2 พันคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ที่อาจกลายเป็นเรื่องร้อนทางการเมือง ทั้งๆ ที่เพราะปัญหางบประมาณ แต่ก็ให้เป็นไปตามมติศาลโลก จนต้องปกปิดตัวเลขการถอนทหารไว้ 

ที่สำคัญ พวกเขาต้องการให้นายทหารในกองทัพ ลูกน้อง ได้เห็นถึงความเป็นเอกภาพกลมเกลียวเป็นหนึ่ง 
พล.อ.ธนะศักดิ์ ที่นอกจากจะสร้างความสำคัญให้ กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ในการเป็นหน่วยแม่ของ 3 เหล่าทัพแล้ว 
พยายามที่จะให้เห็นความแข็งแกร่งของกองทัพ ด้วยการเน้นให้มีการฝึกร่วมผสมทางทหาร ทั้งในระหว่างเหล่าทัพด้วยกันเอง และกับมิตรประเทศ 
โดยเฉพาะการที่ทั้ง ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ไปร่วมชมการฝึกปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ในการฝึกร่วมกองทัพไทย (กฝร.2555) อย่างพร้อมหน้าเมื่อศุกร์ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่หาดยาว สัตหีบ ถือเป็นภาพที่กลมเกลียว 

ยิ่งในวันนั้นเป็นวันที่ทุกคนเฝ้ารอฟังผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ แต่วันนั้น ผบ.เหล่าทัพทุกคนต่างมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสกันตั้งแต่เช้า พูดคุยหยอกล้อประหนึ่งไม่ห่วงสถานการณ์ใดๆ ทางกรุงเทพฯ ที่จะรู้ผลในบ่ายนั้น 
จนเม้าธ์กันว่า ผู้นำกองทัพ รู้ดีว่า หรืออาจคาดการณ์ถูกว่า ผลจะออกมาอย่างไร เพราะต่างก็ถอนหายใจกันเฮือกใหญ่



ความกลมเกลียวนี้ ยังส่งผลให้ ผบ. 3 เหล่าทัพ ขานรับไอเดียของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ที่จะเพิ่มเครื่องแบบทหารให้ทั้ง 3 เหล่าทัพใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่ร้อน ด้วยการเพิ่มเครื่องแบบ Bush Jacket แบบทหารมาเลเซีย ที่เป็นเสื้อปล่อยชาย และติดยศบ่าแข็ง มาเป็นทางเลือกสำหรับเครื่องแบบกึ่งพิธีการแขนสั้น และเนื้อผ้าบางกว่าเครื่องแบบปกติที่สวมกันอยู่ 
ความเป็นหนึ่งของ ผบ.เหล่าทัพ ย่อมหมายถึง คะแนนเสียงที่เป็นหนึ่งเดียวอย่างแยกไม่ได้ ตาม พ.ร.บ.กลาโหมปี 2551 ที่หากจะต้องมีการโหวตกัน เสียงของ ผบ.เหล่าทัพ ก็จะเป็น 4 เสียง ใน 6 หรือ 7 เสียง ที่มีปลัดกลาโหม รมว.กลาโหม หรือหากมี รมช.กลาโหม 
แม้แต่ บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. ที่มักจะถูกมองว่าเป็นทหารแตงโม ก็ถือว่าเป็นหนึ่งเดียวกับ ผบ.เหล่าทัพคนอื่นๆ

ความเป็นเอกภาพของ ผบ.เหล่าทัพ ย่อมส่งผลต่อการเจรจาต่อรองในการแต่งตั้งโยกย้าย โดยเฉพาะ การเลือก ผบ.เหล่าทัพ เช่น ผบ.ทอ.คนใหม่ ครั้งนี้ บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ต้องการแรงหนุนจาก ผบ.เหล่าทัพคนอื่น ในการหนุน บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. น้องรัก ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ แทนตนเองที่จะเกษียณกันยายนนี้  
ด้วยเพราะเกรงว่า พล.อ.อ.สุกำพล จะล้วงลูก เพราะไม่ต้องการให้ พล.อ.อ.ประจิน ซึ่งถูกมองว่าเป็นทายาทอำนาจของสาย คมช. มาคุมกองทัพอากาศ แล้วให้ บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. ข้ามกลับมา 
แต่ถ้าทั้ง ผบ.สส. ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร. ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันในการหนุนคนไหน คนนั้นก็น่าจะฝ่าด่าน พล.อ.อ.สุกำพล ไปได้ เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะปฏิเสธความรู้ความสามารถและการเติบโตมาตามลำดับของ พล.อ.อ.ประจิน ได้


ในการโยกย้ายครั้งนี้ มีการเขย่ากันใหม่ เป็นกฎเกณฑ์ว่า นายทหารที่จะเป็น พลตรี ได้ จะต้องรุ่นไม่เกิน ตท.21 จากเดิมที่ให้แค่ ตท.20 จนมีการจับตามองกันว่า อาจเป็นจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ดัน ผู้การแดง พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพษ์ รอง ผบ.พล.1 รอ. ขึ้นเป็นพลตรี เสียที หลังจากที่เป็น พันเอกพิเศษ มานาน 8 ปี และมีผลงานมากมาย 
แต่ทว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องหลบกระแส ด้วยการดัน พ.อ.อภิรัชต์ ให้ไปเป็น ผบ.มทบ.15 ก่อน แล้วในอนาคตค่อยให้ย้ายระนาบมาคุมกำลังสำคัญอย่าง ผบ.พล.1 รอ. ซึ่งถือเป็นเส้นทางเหล็ก 
แต่โผนี้ จับตากันมากว่า ใครจะนั่งเก้าอี้ ผบ.พล.1 รอ. คุมขุมกำลังปฏิวัติสำคัญหน่วยนี้ ระหว่าง นายทหารวงศ์เวทัญ อย่าง เสธ.ต้อม พ.อ.วราห์ บุญญะสิทธิ์ รอง ผบ.พล.1 รอ. ขึ้นเสียบเลย เพราะจ่อคิวรอมานานหลายปี หรือว่า บูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี อย่าง บิ๊กอิ๊ด พล.ต.ภาณุวัชร์ นาควงษม์ ผบ.พล.ร.9 ย้ายระนาบมา 
ส่วนรุ่นที่จะเป็น พลโท ได้คือ ตท.18 ส่วน พลเอก ต้องรุ่นไม่ต่ำกว่า ตท.15 ไม่ใช่แค่ ตท.14 ซึ่งถือว่ามีความหมายอย่างยิ่ง ทั้งใน ทบ. และ ทร.

ต้องยอมรับว่า มีการจับตามองว่า ในการโยกย้ายนี้ นายทหารเรือยศ พลเรือโท คนใด ได้ขยับขึ้นเป็น พลเรือเอก ก็อาจเป็นคนที่จะเป็น ผบ.ทร. ต่อจาก พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ที่จะเกษียณกันยายน 2556 ก็ได้ โดยเฉพาะ ตท.15 ที่จ่อคิวอยู่หลายคน 
ทั้ง บิ๊กจุ๊ พล.ร.ท.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ รอง เสธ.ทร. บิ๊กยุ้ย พล.ร.ท.ณรงค์พล ณ บางช้าง รอง เสธ.ทร. และ พล.ร.ท.ชัยณรงค์ เจริญรักษ์ ผบ.ฐานทัพเรือสัตหีบ ที่ถือเป็นดาวรุ่งของรุ่น ที่อาจจะมาจ่อเป็น ผบ.ทร. คนต่อไป หรือในอนาคตอันใกล้ 
แต่กว่าที่โผจะคลอด ยังมีเวลาอีกกว่าเดือน ทำให้มีการย้อนกลับมามองว่า บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต นั้น จะอยู่รอดปลอดภัยเป็น รมว.กลาโหม จนจัดโผทหารเสร็จหรือไม่
แม้จะมีข่าวเก้าอี้คลอนแคลน จนเจ้าตัวก็ไม่ค่อยมั่นใจนัก แต่ก็ยังทำหน้าที่ต่อ โดยเฉพาะการเร่งทำโผโยกย้ายทหารใหญ่ ให้เสร็จภายในสิงหาคม เพราะนัดให้ ผบ.เหล่าทัพ ส่งบัญชีรายชื่อภายใน 15 สิงหาคม

ว่ากันว่า นอกจาก พล.อ.อ.สุกำพล จะเป็นเพื่อนซี้ ตท.10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีบารมีนอกรัฐบาลแล้ว ยังเพราะเป็นสายตรงของบ้านจันทร์ส่องหล้าด้วย จึงทำให้เขาได้เป็นทั้ง รมว.คมนาคม จนมาเป็น รมว.กลาโหม ซึ่งถือเป็นกระทรวงเกรดเอ 
อีกทั้งยังเป็นเพราะ พล.อ.อ.สุกำพล ถือเคล็ดบางอย่าง ในการติดรูปตัวเอง ในฐานะ รมว.กลาโหม คนที่ 60 ในตำแหน่งใหม่ โดยไม่เอาไปต่อจาก บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม คนก่อน แต่แยกเอาไปติดไว้เหนือภาพของ นายชวน หลีกภัย และ บิ๊กแอ๊ด พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รวมทั้งเคล็ดการวางพระพุทธรูปในห้องทำงาน 
จากที่เป็น รมว.คมนาคม เมื่อ 9 สิงหาคม 2554 จนได้เป็น รมว.กลาโหม เมื่อ 18 มกราคม 2555 ถือว่า พล.อ.อ.สุกำพล เหนียวพอสมควร ที่ยังไม่ถูกปรับออก


ที่ขี้นชื่ออีกอย่างคือ พล.อ.อ.สุกำพล มีลูกสาวสามใบเถาที่สวยมาก เพราะแค่ นางพิไลวรรณ ภริยาก็ถือว่าสวยสง่า แต่ลูกสาว ทั้ง พิมลวรรณ สันตยา สุภาวรรณ นั้น สวยขั้นนางฟ้า เพราะตัว พล.อ.อ.สุกำพล นั้นสมัยหนุ่มๆ ก็หล่อไม่เบา และยังคงมีเค้าให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้
"ยังไม่มีแฟน ใครจะกล้ามาจีบก็ลองดู" บิ๊กโอ๋ เปรย 
"ถ้ามีก็ต้องพามาให้ดู" กฎเหล็กของพ่อโอ๋ 
ไม่ใช่แค่ตัวเองจะได้ชื่อว่าเป็น เหยี่ยวอากาศ เท่านั้น แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ยังสอนให้ลูกสาวแข็งแกร่งแบบทหารด้วย
ที่ห่วงที่สุดคือ สามสาว "ผมเป็นผู้ชาย เป็นหนุ่มมาก่อน รู้ดีว่า ผู้ชายคิดอะไร ทำอะไร ก็เลยต้องสอนลูกให้หัดกินเหล้ากินไวน์ ให้รู้ว่า กินแล้วเป็นยังไง เช่น ไวน์ นี้ คิดว่ากินอร่อย กินไปเรื่อยๆ ก็เมา ก็ให้มานั่งกินต่อหน้า ให้ลองกินเลยจะได้รู้ว่าเป็นยังไง ถ้าจำเป็นต้องดื่มต้องดูแลตัวเอง ระวังตัวยังไง" บิ๊กโอ๋ เผย

แต่หันมาเรื่องเก้าอี้ของตัวเอง บิ๊กโอ๋ บอกแทบจะไม่สนใจเลยว่า จะได้อยู่หรือไป เพราะก็ทำงานเต็มที่ตลอด เมื่อไหร่เขาไม่ให้เป็น ไม่ให้ทำงานผมก็กลับบ้าน เพราะบ้านก็แสนอบอุ่นทั้งภริยาสุดสวยและลูกสาวสุดน่ารักทั้ง 3 
แต่ตอนนี้ยังเป็น รมว.กลาโหม อยู่ก็ทำงานต่อ  
"ผมก็ไม่คิดว่า ผมกับ ผบ.เหล่าทัพจะสนิทสนม คุยกันรู้เรื่อง เข้าใจกันได้เร็ว จากที่ใครคิดว่าผมมาแล้วจะมีปัญหา ยิ่งผมกับ ผบ.ทบ. ด้วยแล้ว คุยกันง่ายๆ" บิ๊กโอ๋ กล่าว 
ดังนั้น พล.อ.อ.สุกำพล จึงมั่นใจว่า จะไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่เพราะเขาเอาอยู่ แต่เพราะ ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ มีบทเรียนมาแล้ว ที่ช่วงนี้ก็เดินสายพบ ผบ.เหล่าทัพแบบตัวต่อตัวถึงกองทัพเลยทีเดียว 
แต่ทว่า แรงเชียร์ที่จะให้ทหารปฏิวัติ ยังเกิดขึ้นตลอด เพราะดูจะเป็นหนทางเดียวที่ล้มรัฐบาลได้ หากการปฏิวัติในรูปแบบอื่น และกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ไม่อาจฝืนกระแสได้



จึงไม่แปลกที่จะมีผู้สวมรอยเป็น พล.อ.ประยุทธ์ โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจของ พล.อ.ประยุทธ์ ปลุกสำนึกทหาร ที่กำลังกลายพันธุ์เป็นทหารแตงโม มากขึ้น และอีกไม่น้อยที่ลอยตัว เพื่อเตือนไม่ให้ลืมหน้าที่ทหารของพระราชา 
"เตือนใจทหารพระราชา ...กระบี่ได้พระราชทาน เพื่อประหารทรราชให้ดับสูญ ใช้ปกป้องประเทศชาติให้จำรูญ ใช้เทิดทูนพิทักษ์กษัตรา ขอใช้คมกระบี่พิทักษ์ราชย์ ทรราชอย่าคิดชีวิตอยู่ จะฟาดฟันฝ่าให้น่าดู เพื่อเชิดชูวีรชนคนเจริญ แม้วันใดคิดคดทรยศ ขอจงอย่างดเว้นแต่แม้ตัวข้า ขอกระบี่จงย้อนกลับทิ่มกายา ของตัวข้าจนสิ้นดับลับโลกไป อันกระบี่นี้ศักดิ์สิทธิ์ ทรงมหิทธิ์ฤทธิผลาญ มลายล้วนมวลหมู่มาร พิฆาตเข่นทรชน ปกปักรักษ์ประชา ป้องผู้กล้ากอปรกุศล ผู้ถือคือศักดิ์ตน เป็นไพร่พลองค์ราชันย์" 
ทั้งนี้ เพราะเมื่อหลายเดือนก่อน พล.อ.ประยุทธ์ เคยกล่าวคำสาปแช่งในที่ประชุม ทบ. ว่า "ถ้าใครไม่จงรักภักดี ขอให้มีอันเป็นไป" 
แต่ทว่า แฟนเพจในเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ นี้ มีมานานกว่า 1 ปี มีผู้กด Like กว่า 32,000 คนแล้ว แต่ไม่ใช่ทางการ แต่คาดว่า จะเป็นพลเรือนและทหารบกบางคนที่ชื่นชอบ ผบ.ทบ. ตั้งขึ้น เพื่อพีอาร์งาน และคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยส่วยใหญ่ลิงก์จากข่าวในสื่อและเฟซบุ๊กของสื่อ 
ที่สำคัญ แฟนเพจของ พล.อ.ประยุทธ์ มีหลายแอ็กเคาต์ แต่ก็ล้วนมีเป้าหมายที่ดี ให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ และปกป้องเทิดทูนสถาบันทั้งสิ้น ทาง ทบ. จึงไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ จนมีการโพสต์ เตือนใจทหารพระราชา เมื่อ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา

"ไม่ใช่ของผม ผมไม่เล่นเฟซบุ๊ก ผมไม่ใช่คนที่ชอบโปรโมตตัวเอง" พล.อ.ประยุทธ์ แจง 
"ผมแค่ทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองให้ดีที่สุดและทำในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้นพอ" บิ๊กตู่ ย้ำ 

เพราะสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ห่วงที่สุดคือการปกป้องสถาบัน เนื่องจากพระองค์ท่านไม่อาจปกป้องตัวเองได้ ทหารจึงต้องปกป้อง โดยเฉพาะเว็บไซต์หมื่นและข้อความเป็นแสนข้อความต่อวันในโซเชียลมีเดีย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงทหารก็ต้องทำ แม้วันๆ จะมีแค่ทหาร 10 กว่าคนนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ มุดเข้าอินเตอร์เน็ต ล่าเว็บหมิ่นก็ตาม

แม้ไม่ได้เข้าเล่นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์เอง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ขอให้ทหารทุกคนช่วยกันทำศึกโซเชียลมีเดีย ในโลกไซเบอร์ เพื่อปกป้องสถาบัน 
"ใครไม่ทำ แต่เราทำ" บิ๊กตู่ ย้ำกับทหาร 
ไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่ทั้ง บก.ทัพไทย ทร. และ ทอ. และ กอ.รมน. ที่ตั้งหน่วย Protect King ทำศึกไซเบอร์ กันอย่างเงียบๆ อันเป็นภารกิจสำคัญของ ผบ.เหล่าทัพชุดซี้ย่ำปึ้กชุดนี้ ในฐานะทหารของในหลวง ด้วยนั่นเอง



+++

"อดุลย์ แสงสิงแก้ว" ผงาดเบอร์ 1 สีกากี จุดเปลี่ยนจัดทัพตำรวจ 
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 99


ในวงการสีกากี นาทีนี้ สปอตไลต์จับจ้องไปที่ "พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ด้านความมั่นคง ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โปรโมตให้เป็น "ผบ.ตร." คนใหม่ ให้ "บิ๊กอู๋" รับไม้ต่อจาก "บิ๊กอ๊อบ" พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. ที่จะเกษียณอายุราชการตามวาระในวันที่ 30 กันยายน นี้ 
การประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เมื่อบ่ายวันที่ 16 กรกฎาคม นายกรัฐมนตรีเสนอชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ เพียงชื่อเดียวให้ ก.ต.ช. พิจารณา ใช้เวลาถกกันนานพอสมควร นายกรัฐมนตรียกเหตุผลประกอบ พล.ต.อ.อดุลย์ มีโปรไฟล์ดี ผลงานมากมาย รอบด้าน ครบเครื่อง 
อีกทั้งยังการันตีว่ามีความเสียสละทุ่มเทจากการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายปี เซ็ตอัพจัดทัพตำรวจจนแข็งแกร่งเป็นที่ยอมรับ มีอายุราชการนานพอสามารถทำงานได้ต่อเนื่อง ไม่ใช่อยู่ปีเดียวก็โบกมือลา ไม่ทันได้ฝากผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

กระนั้นในห้องประชุม ก.ต.ช. มีการตั้งคำถามถึงความอาวุโส โดยยกชื่อ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รอง ผบ.ตร. ด้านป้องกันปราบปราม ซึ่งอาวุโสสูงสุด มาเทียบเคียง ก.ต.ช. บางคนถามเหตุใดไม่เสนอชื่อผู้อาวุโสสูงสุดเป็น ผบ.ตร. ตามแบบที่เหล่าสีกากียึดถือกันมานาน 
ประเด็นนี้ได้รับการชี้แจง ว่า หลักอาวุโสไม่ใช่กฎหมาย เป็นเพียงสิ่งที่ทำตามกันมา หากจะเฉือนกันด้วยความอาวุโส จริงแล้ว พล.ต.อ.อดุลย์ มีสิทธินับอายุราชการทวีคูณเพื่อเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ซึ่งให้แก่ข้าราชการผู้ปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนนับแต่ปี 2550 แต่เจ้าตัวปฏิเสธการขอสิทธิพิเศษนี้ตั้งแต่ต้น ดังนั้น หากเจ้าตัวขอรับสิทธินี้แต่แรกก็จะมีความอาวุโสนำโด่ง รอง ผบ.ตร. คนไหนๆ

เมื่อที่ประชุม ก.ต.ช. ยอมรับว่า "ความอาวุโส" ไม่ใช่คุณสมบัติหลักของผู้ที่จะเป็น "ผู้นำตำรวจ" ทันทีที่นายกรัฐมนตรี ขอใช้สิทธิ "โหวต" ขอความเห็นชอบ พล.ต.อ.อดุลย์ จึงเข้าวิน เป็น ผบ.ตร. ด้วยเสียงเอกฉันท์ 10 เสียง 
"บิ๊กอู๋" จัดเป็นนายตำรวจครบเครื่อง รอบด้าน โดย "บิ๊กอ๊อบ" ออกปากว่าไม่มีอะไรต้องห่วง ด้วยความเป็นคนที่มีความสามารถรอบด้าน ผ่านงานตำรวจมาทุกด้าน ทั้งการบริหาร การปฏิบัติ อีกทั้งโปรไฟล์ที่รั้งตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ทำให้ยิ่งสบายใจเมื่อรับต่อภารกิจป้องกันปราบปรามยาเสพติด



ย้อนกลับไปก่อนมีความชัดเจนว่า ผบ.ตร. ลำดับที่ 9 จะชื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ในแวดวงสีกากี และวงการเมือง มีการคาดการณ์ ถึง ผบ.ตร. ลำดับถัดจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ว่า ต้องเป็น พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต ด้วยตรรกะอย่างง่าย เพราะ พล.ต.อ.ปานศิริ เป็น รอง ผบ.ตร. ที่อาวุโสอันดับ 1 อีกทั้งยังไปด้วยกันได้กับรัฐบาลนี้ 
ทว่า ตลอดเวลาที่มีชื่อ "บิ๊กปาน" จองตำแหน่ง ผบ.ตร. ก็มีชื่อ "บิ๊กอู๋" แทรกเข้ามาด้วยเสมอ พอให้เหล่าสีกากีได้ลุ้น กระทั่งโค้งสุดท้าย ก่อนประชุม ก.ต.ช. ประมาณ 1 สัปดาห์ ชื่อ "บิ๊กอู๋" ดังชัด มาแรงมาก 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า แม้ครั้งนี้เป็นการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่มีชื่อแคนดิเดต 2 คนขับเคี่ยว ชูประเด็น "ความอาวุโส ประเพณีสีกากี" มาอภิปรายกัน กระนั้นเป็นการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ที่มีการวิพากษ์ วิจารณ์ในทางลบน้อยที่สุด แทบไม่เห็นคอมเมนต์ของนักโปรยวาทกรรมทางการเมืองออกมาเหน็บแนม ผิดกับการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ในครั้งก่อนๆ  
มีมุมมองจากอดีตนายตำรวจซึ่งคร่ำหวอดในวงการสีกากีว่า อาจเป็นเพราะ พล.ต.อ.อดุลย์ ไม่มีภาพฝักใฝ่ซีกการเมืองไหนชัดเจน เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช. 9) หลายปี คุมทัพตำรวจดับไฟใต้มานาน ย่อมมีสัมพันธ์ไปกันได้กับพรรคการเมืองแดนสะตออย่างพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่กับฟากพรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.อดุลย์ จัดเป็นนายตำรวจ ที่ได้รับความไว้วางใจ มีความใกล้ชิด พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นทุนเดิม ปมการเมืองจึงไร้ปัญหา แม้ว่าไม่ใช่นักเรียนเตรียมทหาร "บิ๊กอู๋" จบ ม.5 จากโรงเรียนเทเวศร์ศึกษา ก่อนเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 29 แต่เพราะผ่านโรงเรียนเสนาธิการทหาร ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่อ่อนน้อม สุภาพ จึงได้รับการยอมรับจากเพื่อนทหาร ตำรวจทุกเหล่าในรุ่นราวคราวเดียวกัน 
รวมทั้งแม้ไม่ได้จบโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 13 เหมือนเพื่อนๆ นรต.29 ส่วนใหญ่ เป็นเพียงนักเรียนเตรียมทหารกิตติมศักดิ์ แต่ก็ได้รับเกียรติจากเพื่อนๆ ตท.13 จากทุกเหล่าให้เป็นประธานรุ่น ตท.13 ปมความสัมพันธ์กับกองทัพจึงได้คะแนนบวก

เมื่อมาว่ากันที่ผลงาน ก็ไม่มีใครกล้าวิจารณ์ว่าขี้เหร่ หากไล่ดูทำเนียบ พล.ต.อ. ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอนนี้ คล้ายว่า "บิ๊กอู๋" เป็นคนเดียวที่เติบโตมาในสายปฏิบัติการตั้งแต่ยศ ร.ต.ต. ผ่านมาหมดทั้งโรงพัก ชายแดน งานจราจร งานแผน งานยุทธศาสตร์ ดังนั้น การถูกโปรโมตเป็น ผบ.ตร. จึงแทบไร้เสียงยี้  
และจากประสบการณ์ "บิ๊กอู๋" เคยได้รับสมญา วีรบุรุษปลายด้ามขวาน เป็นนายสุดที่รักของ "จ่าเพียร" พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา วีรบุรุษแห่งเทือกเขาบูโด ผู้ล่วงลับ เคยได้รางวัลคนไทยตัวอย่าง จุดนี้เป็นทุนทางสังคมที่เป็นผลบวกทั้งสิ้น 
หลัง "บิ๊กอู๋" จ่อขึ้นแท่น ผบ.ตร. มีการพูดกันอย่างกว้างขวางว่า นี่คือ "จุดเปลี่ยน" ของวงการสีกากี


"เปลี่ยน" อย่างแรก คือ การขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. ที่ไม่ต้องอิงแต่ความอาวุโสอีกต่อไปแล้ว ผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ และการยอมรับจากทุกฝ่ายจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญ 
ย้อนไปแต่ไหนแต่ไรมา การขึ้นเป็น ผบ.ตร. ล้วนมีอาวุโสเป็นตัวตั้ง เรียกว่าใครโตวัย ติดยศ พล.ต.อ. ก่อน ก็ได้เปรียบ 
แต่การแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนที่ 9 ครั้งนี้ ชัดเจนว่าสูตรการเข้าสู่ตำแหน่ง ผบ.ตร. แบบเก่าๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป มองในแง่ดี จะทำให้ตำรวจแข่งกันทำงาน แข่งกันมีความรู้ความสามารถ แข่งกันได้รับการยอมรับจากสังคมจากเพื่อนร่วมงาน จากประชาชน มากกว่าแข่งกันวิ่งเต้นเลื่อนตำแหน่งสูงอย่างเดียวโดยไม่ต้องมีผลงานอะไรนัก!!

"เปลี่ยน" อย่างที่ 2 คือ ในอนาคตอาจจะนำมาสู่การเปลี่ยนระบบการแต่งตั้งตำรวจ เมื่อกาง กฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งในวันนี้ พบว่าการแต่งตั้งระบบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ยังยึดหลักมาก่อนได้ก่อน แต่ต่อไปหากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าการไม่เลือกคนที่แก่อาวุโส แต่แก่ที่ประสบการณ์ เป็นผลบวกแก่องค์กรตำรวจแก่ประชาชนมากกว่า 
อนาคตอันใกล้สำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจต้องทบทวนประเด็นนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตำรวจแข่งกันทำงาน

"เปลี่ยน" อย่างสุดท้าย ด้วยชื่อชั้น ประสบการณ์ ของว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่ ทำให้ตำรวจจำนวนไม่น้อย แสดงความเห็นในเชิงคาดหวังว่า ยุค ผบ.ตร.อดุลย์ จะนำมาสู่การเปลี่ยนภาพลักษณ์ตำรวจ จัดแถวตำรวจให้เป็นระบบ มีวินัยมากขึ้น 
อย่างไรก็ตาม "จุดเปลี่ยน" ที่ว่ามานี้จะนำมาสู่การพัฒนาทัพสีกากีดังที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่ ต้องจับตา ไปพร้อมๆ กับ "พล.ต.อ.อดุลย์" บนเก้าอี้ "ผู้นำ" ว่าจะพาองค์กรตำรวจสู่สิ่งที่ดีกว่าได้หรือไม่ ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์?!!



.