http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-12

จังหวัดจัดการตนเอง.. ฝัน โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

.

จังหวัดจัดการตนเอง... ฝัน
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์  คอลัมน์ ไทยมองไทย
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 34


แนวคิดเรื่อง จังหวัดจัดการตนเอง กำลังถูกยกขึ้นมาพูดคุย และเคลื่อนไหวกันอีกครั้ง
ล่าสุด จากบทความของ คุณถนอม ไชยวงษ์แก้ว ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับที่แล้ว เล่าถึง ขบวนการเชียงใหม่จัดการตัวเอง สู่การขับเคลื่อน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เริ่มออกเดินทาง


เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2555 ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เชียงใหม่ มีการเปิดเวทีประกาศเจตนารมณ์เชียงใหม่จัดการตนเอง เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐบาลเตรียมตัวรับการยื่นรายชื่อผู้สนับสนุน ตั้งแต่ปลายกรกฎาคม ถึงต้นสิงหาคม 
"การเคลื่อนครั้งนี้ คนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองที่ก้าวข้ามความขัดแย้งที่เคยมีต่อกัน เข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วยกัน ต้นปัญหาความแตกแยกระหว่างคน รากเหง้ามาจากการรวมศูนย์อำนาจกระจุกไว้ที่ส่วนกลาง"

ร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงแล้ว ก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่งในประเด็นการสร้างดุลยภาพระหว่าง ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานคร และสภาพลเมือง
น่าสนใจตรงสภาพลเมืองนี่แหละครับ โครงสร้าง ที่มา และบทบาทที่เป็นจริง เป็นอย่างไร



ว่าไปแแล้ว ก่อนหน้านี้ แนวคิดทำนองนี้ถูกพูดถึงเรื่อยมาเป็นระยะ ใช้คำว่า การจัดการเชิงพื้นที่ การบริหารแบบเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง หรือ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย ก็ตาม ซึ่งสะท้อนแนวคิดที่สอดคล้องกัน 
นอกจากที่เชียงใหม่แล้ว ที่ภูเก็ต ก็เกิดความเคลื่อนไหวในห้วงเวลาไล่เลี่ยกัน

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผมเลยขอร่วมวงแลกเปลี่ยนด้วยคน 
โดยหลักการแล้วเห็นด้วยแทบทุกประการ แต่ที่ไม่มั่นใจเลยจริงๆ คือ ความเป็นไปได้ เพราะพูดกันมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัยแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จสักที

ตัวอย่างมีให้เห็นจะจะ จากชะตากรรมของกฎหมายกระจายอำนาจหลายฉบับ ทั้งๆ ที่เรื่องเข้าไปถึงระดับกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงแล้ว แต่ก็แป้ก 
การประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 4/2554 วันที่ 9 ธันวาคม 2554 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารนครแม่สอด ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเกาะสมุย และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครแหลมฉบัง รวมถึงการทบทวนร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการพื้นที่สุวรรณภูมิ เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

รัฐบาลบริหารงานมาเกือบครบปีแล้ว ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายที่ว่านี้ ไม่ได้พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเลย 
สาเหตุเพราะกระบวนการบัญญัติกฎหมายของเราล่าช้า ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่มีความต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการผลักดันกฎหมายไม่มีพลังมากพอ 
ยิ่งกฎหมายให้การยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการท้องถิ่นเต็มพื้นที่และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ยิ่งยากไปใหญ่

เหตุผลหลักที่ทำให้ไม่สำเร็จ เพราะโครงสร้างระบบราชการ และระบบการเมืองไทย ยังรับไม่ได้ จึงไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าทัดทานพรรคราชการ บัญญัติกฎหมายเหล่านี้ ออกมา 
พรรคราชการ จึงไม่ยอมปล่อยอำนาจออกไปแน่นอน เพราะหากปล่อยให้เกิดขึ้นที่หนึ่ง ที่จังหวัดอื่นๆ ก็จะตามมาเป็นโดมิโน โดยเหตุผลว่าระบบการปกครองไทยเป็นรัฐเดียว ไม่ใช่สหพันธรัฐอย่างอเมริกา ขึ้นมาสนับสนุน 
แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า แล้วเหตุใดญี่ปุ่น ซึ่งโครงสร้างไม่แตกต่างจากไทย มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ การปกครองท้องถิ่นเข้มแข็ง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาก้าวหน้า จังหวัดดูแลจัดการการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยตรง คุณภาพสูงอีกต่างหาก



ความเคลื่อนไหวอีกประการหนึ่งที่สะท้อนความเป็นไปได้ยากในเรื่องนี้ จากการประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 7/2554 วันที่ 30 สิงหาคม 2554 คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ รัฐมนตรีมหาดไทย พูดครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง 
"ในเร็วๆ นี้จะมีเรื่องสำคัญคือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรี (นายอานันท์ ปันยารชุน) เป็นประธาน ได้เสนอไว้ และได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างมาก คือ การยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค ให้มีเฉพาะการปกครองส่วนกลางและการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื่องความรู้สึกการยอมรับของประชาชน"
"ผมยังอึดอัดใจอยู่ในความเห็นดังกล่าว เนื่องจากการทำอะไรที่ก้าวกระโดดเกินไป อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี ในอนาคตที่จะยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคหรือไม่ อยู่ในมือของกระทรวงมหาดไทย อยู่ในมือของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และในมือของพวกเราทุกคน"

ครับ ย่นย่อลงมาแค่ระดับ กรุงเทพมหานคร ซึ่งว่ากันว่ามีความก้าวหน้าและตื่นตัวมากที่สุด มีการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เลือกผู้ว่าฯ โดยตรง
ในการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจ นัดที่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นครแม่สอด ฯลฯ ที่ประชุมมีมติไห้กระทรวงมหาดไทย รับร่างแก้ไข พ.ร.บ.กทม.2528 ไปพิจารณา ถึงวันนี้ยังไม่คืบหน้าไปถึงไหน เช่นกัน

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น สภาผู้แทนราษฎร แถลงเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร ปี 2528 ให้มีการเลือกตั้งในระดับผู้อำนวยการเขตทุกเขตใน กทม.
"เหตุที่ต้องผลักดันให้มีการเลือกตั้งโดยตรงในระดับ ผอ.เขต เพื่อให้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตนั้นๆ ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
"กรรมาธิการได้จัดทำแบบสอบถามผ่านสวนดุสิตโพลล์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 6,000 คน พบว่าประชาชนร้อยละ 75.55 เห็นด้วยที่จะมีการเลือกตั้ง ผอ.เขต นอกจากนี้ ในการสัมมนาของพรรคเพื่อไทย ที่เชิญผู้ว่าฯ กทม. ไปร่วม ผู้ว่าฯ กทม. ก็เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้"



ครับ ลำดับความเป็นไปแล้ว ผมอยากจะสรุปว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวคิดกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าเป็นทางออกของประเทศ
หากไม่สามารถทำให้เกิดจริงก็ไม่ต่างจากความฝัน


ฝันจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อสร้างพลังการมีส่วนร่วมเคลื่อนไหวผลักดันเชื่อมโยง
กดดันให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายให้ชัดเจนและทำจริง 

หากไม่ทำตามนั้น ก็อย่าเลือกอีกต่อไป 



.