http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-24

หนุ่มเมืองจันท์: พลัง “ความเงียบ”

.
Admin บทความดี จะได้กลับมาโพสต์บทความใหม่และย้อนหลังอีกครั้ง ในวันพุธที่ 1 สิงหาคม 2555  ขอขอบคุณที่ติดตาม 

____________________________________________________________________________________________________

พลัง “ความเงียบ”
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 24


ไม่ได้ดู "อะคาเดมี่ แฟนเทเซีย" แบบใกล้ชิดสนิทสนมมา 1-2 ปีแล้ว
ปีนี้ก็ดูคอนเสิร์ตบ้างแบบ "แวบ-แวบ"
แต่บรรยากาศในบ้านเอเอฟแทบไม่ได้ดูเลย
จนวันก่อนเปิดไปดู เขาเชิญ "ป๊อด โมเดิร์นด๊อก" เข้าบ้าน

ผมรู้จัก "ป๊อด" ผ่านบทเพลงและบทสัมภาษณ์มานาน
เขาเป็นคนที่ลึกซึ้งและคมคาย
เคยเจอกันในงานเสวนาครั้งหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าศิลปินที่กระโดดโลดเต้นบนเวทีอย่างสุดมันจะเป็นคนเรียบร้อยมาก 
เข้าบ้านเอเอฟครั้งนี้นอกจากโชว์การร้องเพลงแบบสดๆ ไม่มีดนตรี 
คารมของ "ป๊อด" ยังคมเหมือนเดิม

ผมชอบตอนที่ "ป๊อด" ให้น้องๆ เอเอฟตั้งคำถาม 
น้องคนหนึ่งถามว่า เขามีปัญหาเรื่องการร้องเหมือนต้นฉบับ 
แทนที่ "ป๊อด" จะตอบว่าควรแก้ไขอย่างไร 
เขากลับตอบว่า "ดีใจที่น้องตั้งคำถามนี้ขึ้นมา"

ครับ การตั้งคำถามกับตนเองว่าทำไมร้องเหมือนต้นฉบับ 
คือ จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา 
ถ้าไม่มีคำถามนี้เกิดขึ้น พึงพอใจกับการเลียนเสียงและลีลาของศิลปินคนอื่น 
เราก็จะเป็นแค่นักเลียนแบบ

ไม่ใช่ "ศิลปิน"
ทั้งหมดนี้ "ป๊อด" ไม่ได้ตอบ แต่ผมคิดต่อเอง

อีกคนหนึ่ง มีปัญหาว่าชอบเพลงร็อก แต่พอเข้าบ้านเจอโจทย์เพลงแนวอื่น 
ปรากฏว่ามีคนชมว่าเหมาะกับเพลงแนวนั้นมากกว่าแนวร็อก 
เขาเริ่มกังวล เพราะเขากลัวว่าสิ่งที่ "ใช่" จะไม่ใช่สิ่งที่ "ชอบ" 
"ชอบ" เพลงร็อก แต่ "ไม่ใช่" เพลงที่ร้องได้ดี

"ป๊อด" บอกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่บางครั้งสิ่งที่ "ใช่" จะไม่ใช่สิ่งที่ "ชอบ" 
และสิ่งที่ "ชอบ" บางทีก็ไม่ใช่สิ่งที่ "ใช่" 
คนที่โชคดี คือคนที่ "ใช่" ในสิ่งที่ "ชอบ" 
ฟังจบแล้ว ทั้ง "ชอบ" และ "ใช่" เลยครับ



"ซันนี่" นักร้องบ้าพลังที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมพลังของตนเองบนเวที 
เขาชอบร้องเพลงเฮฟวี่ ร้องด้วยพลังแห่งความโกรธ 
พอมาเจอเพลงอื่นที่ไม่ใช่สไตล์นี้เข้า "ซันนี่" ปรับตัวไม่ได้ 

เขาถาม "ป๊อด" ว่า จะแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร 
อีกครั้งที่ "ป๊อด" ตอบแบบไม่ตอบ 
เขาขอให้ "ซันนี่" ลองร้องเพลงสไตล์หนักๆ แบบนุ่มนวล 
ให้ลองคิดว่ากำลังร้องให้ "คนรัก" ฟัง 
"ซันนี่" เลือกเพลงของ "หินเหล็กไฟ"

จำเพลงนี้ได้ไหมครับ
"ไป-ไป ไปลงนรกเสียเถิดที่รัก ฉันจะลงโทษเธอ" 
คิดดูสิครับว่าเวลาร้องเนื้อเพลงนี้ให้คนรักฟังจะฮาแค่ไหน
แต่เสียงที่ "ซันนี่" นุ่มนวลลงมาก 
"ป๊อด" สอนว่าศิลปะทุกอย่างล้วนมีแง่มุมที่งดงาม
ต้องเปิดใจรับศิลปะแนวอื่นบ้าง

มีคนถามขึ้นมาว่าเวลาอยู่บนเวที "ป๊อด" ออกแบบท่าเต้นหรือลีลาบนเวทีหรือเปล่า
"ป๊อด" ส่ายหน้า 
เขาไม่เคยออกแบบท่าเต้นบนเวทีเลย 
"ป๊อด" บอกว่าเขาใช้ "สมอง" ตอนอยู่ในห้องซ้อม
จำเนื้อ จำทำนอง จำการออกเสียง ฯลฯ 
เขาใช้คำว่า ทำจนกล้ามเนื้อเกิดความเคยชิน 
ซ้อมจนกล้ามเนื้อ "จำ" ได้

บางครั้งเมื่ออยู่บนเวที วินาทีนั้น "สมอง" ของ "ป๊อด" จำเนื้อเพลงไม่ได้
แต่กล้ามเนื้อที่เคยชินก็สามารถเปล่งเนื้อเพลงที่ถูกต้องได้ 
ในห้องซ้อม เขาใช้ "สมอง" เต็มที่
แต่บนเวที "ป๊อด" ใช้ "หัวใจ"
เขาใช้อารมณ์นำพาร่างกายไปตามจุดต่างๆ
ท่าทางที่แสดงออกบนเวทีจึงเป็นอารมณ์ ณ เวลานั้น


"ครูเงาะ" ที่เป็นครูสอนการแสดงให้กับน้องๆ เอเอฟ เสริมว่าวิธีของ "ป๊อด" คล้ายกับละครเวที 
หลักของละครเวทีนั้นจะสอนให้นักแสดงทุกคน "จำ" เพื่อที่จะ "ลืม" 
"จำ" บทให้แม่น
แล้ว "ลืม" ให้หมด 
ขึ้นไปบนเวที ให้ใช้ "อารมณ์" นำพา

"ครูเงาะ" เปรียบได้คมคายมากว่า "บท" นั้นเหมือนกับ "เรือแคนู"
"อารมณ์" นั้น เหมือนกับ "กระแสน้ำ" 
การเล่นละครเวทีคือการปล่อย "เรือ" ให้ลอยไปตาม "น้ำ"
ปล่อยให้อารมณ์นำพาเรื่องราวในละครไป
คมไหมล่ะ



การสนทนาบนโต๊ะอาหาร มีอยู่จังหวะหนึ่งที่ "ป๊อด" พูดจบแล้วทุกคนเงียบ 
เหมือนกับรอว่าใครจะพูดต่อ 
เงียบไปประมาณเกือบ 10 วินาที 
"ป๊อด" หัวเราะ แล้วบอกว่า "ผมชอบช่วงเดดแอร์มาก"

"เดดแอร์" เป็นศัพท์ของวิทยุ หมายถึงการที่ดีเจ.ไม่รู้จะพูดอะไร ปล่อยให้เกิดความเงียบขึ้นมา 
ซึ่งวิทยุนั้นมีแต่ "เสียง" 
"ความเงียบ" จึงถือเป็น "ความผิดพลาด"
แต่สำหรับ "ป๊อด" เขาบอกว่าช่วง "เดดแอร์" นั้น มีเสน่ห์มาก

ครั้งหนึ่งตอนเล่นคอนเสิร์ต มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาหยุดร้อง 
"ความเงียบ" ปกคลุมไปทั้งฮอลล์ 
"ป๊อด" ชอบวินาทีนั้นมาก มากจนไม่อยากจะร้องต่อ 
เพราะเสียงของ "ความเงียบ" นั้น ช่างงดงามจริงๆ

ฟัง "ป๊อด" แล้ว ผมนึกถึงประโยคหนึ่งของ "หนิง" สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
วันนั้น "หนิง" มาบรรยายให้ทีมงาน "มติชนทีวี" ฟัง 
นอกจากสอนเทคนิคการอ่านข่าว และการลงเสียงแล้ว
"หนิง" บอกว่า ผู้ประกาศข่าวต้องพยายามลดคำฟุ่มเฟือย หรือคำไม่จำเป็นลง 
ซึ่งคำเหล่านั้นมักเกิดขึ้นเมื่อเรานึกไม่ออกว่าจะพูดอะไร
แต่ไม่อยากให้เกิด "เดดแอร์" จึงพูดไปเรื่อยๆ

"สายสวรรค์" แนะวิธีการแก้ปัญหาการพูดไปเรื่อยๆ ด้วยการ "หยุด" 
เหมือนกดปุ่ม pause หยุดชั่วคราว
"จังหวะหยุด สำคัญมากในการพูด

ครับ การหยุดพูด ปล่อยให้ความเงียบปกคลุมสัก 3-4 วินาที ถือเป็นการสื่อสารที่มีพลังมาก
เพราะ "ความเงียบ" ทำให้คนฟังรอคอย

ประโยคต่อจากนั้นจึงมีพลังมาก 
"ความเงียบ" จึงเป็นพลังงานรูปแบบหนึ่ง

...ที่ "งดงาม" อย่างยิ่ง 



.