http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-24

สนุกกับ“ภาษาสก๊อย”..ของคนรุ่นใหม่ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
อีกบทความ - ความล่มสลายของเนกไท โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สนุกกับ “ภาษาสก๊อย” ของเล่นใหม่ของคนรุ่นใหม่
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 100
( ภาพจาก www.kidtalentz.com/?p=1648 )


เมื่อวันก่อนมีโอกาสได้อ่านข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ที่หยิบเอาหน้าเพจบนเฟซบุ๊กของเด็กคนหนึ่งมาพาดหัวข่าวทำนองว่าเป็นภาษาวิบัติ
หน้าเพจของน้องคนนั้นใช้ภาษาเขียนที่เรียกว่าภาษาสก๊อย เมื่ออ่านคนที่มาคอมเมนต์ท้ายข่าวซึ่งมีมากจะแสดงความคิดเห็นว่านี่เป็นเหตุให้ภาษาวิบัติ และด่าทอกันขั้นดุเดือด 
ลองตามเข้าไปดูในหน้าเพจของน้องคนนี้ก็เจอเข้ากับการโพสต์ด้วยภาษาสก๊อย ซึ่งแต่ละโพสต์ก็มีคนคอยตามจิกตามด่าชนิดแรงสุดกู่

อ่านดูแล้วภาษาหากจะวิบัติละก็ ความคิดคนที่เข้าไปด่าทอขนาดนั้นน่าจะวิบัติไปก่อนแล้วมากกว่า
เราอยู่ในระบบการศึกษาชนิดไหนก็ไม่รู้ที่ทำให้ความคิดของคนเรียวแคบลงๆ มากขึ้นทุกที


ภาษาสก๊อยเป็นภาษาเขียนที่เปลี่ยนแปลงการเขียนด้วยหลักไวยากรณ์ไทยที่ใช้กันอยู่เสียใหม่ ลดรูปเปลี่ยนสระพยัญชนะ โดยอาศัยเทคนิคของแป้นพิมพ์ที่มีปุ่ม shift และ caplock เข้ามาเป็นตัวช่วย มีหลักมีเกณฑ์ที่แน่นอนของมัน ไม่ใช่ของที่คิดขึ้นมาแบบมั่วๆ แต่ใครจะคิดขึ้นมาเมื่อไหร่นั้นไม่รู้ 
รู้แต่ข่าวว่าจะทำให้ภาษาวิบัตินั่นแหละที่ทำให้ภาษาสก๊อยเริ่มเป็นที่รู้จักและสนุกสนานกันใหญ่ในวงกว้างมากขึ้น

ต้องยอมรับว่าภาษาสก๊อยเป็นวิธีการเขียนที่ทำให้อ่านได้ยากมากกว่าจะถอดออกมาเป็นคำจริงๆ ที่คนเขียนต้องการสื่อ ผมลองแกะดูเพื่อจะอ่านประโยคสองประโยค ใช้เวลานานมากเป็นชั่วโมงๆ พออ่านได้บ้างแต่ไม่หมดทุกคำ ยากกว่าภาษาญี่ปุ่นที่เคยเรียนหลักสูตรเร่งรัดแค่สี่อาทิตย์ด้วยซ้ำแน่ะ
ลองดูตัวอย่างภาษาสก๊อย แต่เป็นตัวอย่างที่ไม่ใช่ของแท้เพราะคนเขียนใช้เครื่องมือผ่านเว็บช่วย

หลักสก๊ฮญคร่วๆ (หลักสก๊อยคร่าวๆ)
เฮ๊ Shift เป็ณบ๊งธิ๊ฆ์ (เอา Shift เป็นบางที่) 
เช่ณ ฮ เป็ณ ฮ มริ๊ (เช่น อ เป็น ฮ มี) 
ณ เป็ณ ล ผกผัล (น เป็น ล ผกผัน) 
สร๊แฮ ฏัฎฮฮก (สระแอ ตัดออก) 
ญ เป็ณ ญ ล๊ฮกัล (ย เป็น ญ ล้อกัน) 
ร เป็ณ ฬ ฏ๊มณั๊ณ (ร เป็น ฬ ตามนั้น) 
อ่ ใส่ เฮก จัฎปั๊บ์ยฯ (อะ ใส่ เอก จัดไปฯ)
กวีบทนี้เป็นของ การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ นักเขียนมากฝีมือ ผู้เขียน "ทวีปที่สาบสูญ" ในมติชนสุดสัปดาห์เนี่ยละครับ


เธอกำลังเล่นภาษาสก๊อยสนุกอยู่บนเฟซบุ๊ก ซึ่งตอนนี้ระบาดออกไปเยอะเลยทีเดียว เพราะมันเป็นของสนุกสนานและในการอ่านต้องใช้ความคิดแบบมีหลักเกณฑ์ถึงจะอ่านออกมาได้
มันเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่เด็กสมัยใหม่สมัยนี้คิดค้นขึ้นมาได้
เป็นอะไรที่สนุก ได้ใช้ความคิด

และไม่เห็นว่ามันจะไปทำให้ภาษาไทยวิบัติตรงไหน


+++

ความล่มสลายของเนกไท
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:23:10 น.
( ภาพจาก:giantbomb.com )


สมัยก่อนที่ยังเป็นเด็กอยู่ต่างจังหวัด แม้จะอยู่ใจกลางเมืองของอำเภอเมือง แต่มันก็ยังค่อนข้างจะเป็นบ้านนอกไกลปืนเที่ยง จึงแทบไม่เห็นคนผูกเนกไทกัน มีอยู่บ้างก็อาจจะเป็นพวกครูบาอาจารย์ พนักงานธนาคารหรือข้าราชการบางคน แต่น้อยเท่าน้อยครับ เมื่อมามีชีวิตทำงานในเมืองหลวงค่อยเห็นคนผูกไทใส่สูทเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ 
หรือว่าที่จริงเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งไปเลยโดยเฉพาะในโลกธุรกิจ เป็นมาตรฐานของการแต่งตัวเรียบร้อยสำหรับผู้ชาย

เนกไทมีประวัติความเป็นมายาวนาน แต่การแพร่ระบาดไปทั่วโลกจริงๆ น่าจะราวๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นเครื่องแบบอย่างเป็นทางการของคนทำงานไป ทั้งหน่วยงานรัฐและธุรกิจ 
แต่ถ้าสังเกตให้ดีในระยะหลังๆ ประมาณสักสิบกว่าปีมานี้ เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเกี่ยวกับค่านิยมการใส่สูทผูกไทในแวดวงธุรกิจ บริษัทรุ่นใหม่ๆ เลิกให้ความสนใจกับระเบียบการแต่งกายตามมาตรฐานหันไปแต่งตัวตามสบายกันมากขึ้น จากที่ผ่อนปรนลงมาเป็นแคชชวล ฟรายเดย์ ก็ลามไปในวันทำงานอื่นๆ

คนระดับประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ อย่างสตีฟ จ็อบส์ แห่งแอปเปิล ที่เป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก เวลาออกมาพูดหรือแถลงข่าวเราจะไม่เคยเห็นเขาผูกเนกไทเลย แถมยังใส่เสื้อแบบไม่มีคอปกอีกด้วยต่างจากสมัยเมื่อเขายังหนุ่มๆ อยู่ 
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก อภิมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดนั่นก็เช่นกันที่มักจะออกงานด้วยเสื้อยืด หรือบางครั้งก็เสื้อมีฮูดที่ฝรั่งเรียกฮูดดี้ หรือใส่แจ๊กเก็ตแบบมีฮูดสวมทับเสื้อยืดอีกที

มีรายงานของหนังสือพิมพ์เทเลกร๊าฟรายงานอ้างถึงผลการสำรวจของ Dealjungle.com ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางของประเทศอังกฤษ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 51) คิดว่าเนกไทจะกลายเป็นสิ่งที่พ้นสมัยในที่ทำงานภายในอีก 20 ปีข้างหน้า ขณะที่อีกร้อยละ 22 คิดว่าไม่เกิน 10 ปี 
รวมเบ็ดเสร็จแล้วกว่าร้อยละ 70 คิดว่าเนกไทไปไม่รอดแน่ๆ ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

เชื่อกันว่าแนวโน้มความล่มสลายของธรรมการผูกไทมาจากธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือบริษัทออนไลน์อื่นๆ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งกายอย่างเป็นทางการ บางบริษัททำงานจากที่บ้านจึงไม่เห็นความจำเป็นเรื่องการแต่งกายอย่างสุภาพ 
แม้ว่าเมื่อต้องออกไปพบปะลูกค้าอาจจะต้องแต่งตัวให้ดูดีน่าเชื่อถือ แต่เนกไทก็ไม่ใช่เป็นสัญลักษณ์แห่งความน่าเชื่อถือที่จำเป็นอีกต่อไป ใส่สูทแต่ไม่ผูกไทในโอกาสที่เป็นทางการกลายเป็นเรื่องที่เริ่มจะธรรมดามากขึ้นทุกทีสำหรับผู้บริหารธุรกิจยุคใหม่

บางคนยังเห็นว่าการใส่สูทไม่ผูกไทสะท้อนให้เห็นภาพของนักเจรจาต่อรองที่มีความเป็นกันเอง เป็นคนที่ยังมีหัวธุรกิจแต่มีความคิดสร้างสรรค์และทันสมัยทางด้านเทคโนโลยี 

ครับ..การใส่สูทผูกไทกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนโบราณหัวอนุรักษนิยมมากขึ้นทุกทีๆ แล้ว



.