http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-21

นครหลวงของหนังสือ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นครหลวงของหนังสือ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 30


ในที่สุดยูเนสโก หรือองค์กรเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ ก็ลงมติรับข้อเสนอของ กทม. ที่จะประกาศให้กรุงเทพฯ ของเราเป็น "นครหลวงแห่งหนังสือ"
อย่าเพิ่งหัวเราะ นอกจากเป็นเรื่องจริงแล้ว ดำริของ กทม. ในเรื่องนี้ก็มีมานานและได้โฆษณาให้รู้เห็นกันมาหลายปีแล้ว
ฉะนั้น ก่อนจะพูดเรื่องที่อยากนำมาคุย จึงขออนุญาตพูดเรื่องที่ไม่เกี่ยว คือยูเนสโกไว้ด้วย เพราะคันปาก

องค์กรระดับโลกแห่งนี้ประสบความสำเร็จ ในการเที่ยวประกาศโน่นประกาศนี่ นับตั้งแต่บุคคลสำคัญประเภทต่างๆ ของโลก, มรดกโลกอีกหลายประเภท, ไปจนถึง "นครหลวงแห่งหนังสือ" 
ผมก็อธิบายไม่ได้หรอกครับว่า ทำไมจึงประสบความสำเร็จ ขนาดที่ประเทศต่างๆ แย่งกันเสนออะไรต่อมิอะไรให้ประกาศกันอยู่เสมอ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอธิบายได้เพียงส่วนเดียว เช่น "มรดกโลก" ที่เป็นสถานที่นั้น ช่วยขายให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยว แต่ยังไม่พอ เพราะมีการประกาศอื่นๆ ซึ่งดูเหมือนขายไม่ได้ อย่างน้อยก็ขายไม่ได้โดยตรง
เช่น บุคคลสำคัญในอดีตที่ถูกประกาศให้สำคัญระดับโลก เช่น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งถูกประกาศ (ตามข้อเสนอของไทย) ให้เป็นบุคคลสำคัญระดับโลก แต่จะทำเงินให้แก่ใครคงไม่ได้ และคงไม่มีนักท่องเที่ยวที่ไหนเดินทางมาเมืองไทยเพราะ "พรินซ์ดามรอง" แน่ (หรือ "แดม[น์]รอง" ในหมู่ฝรั่งปากจัดที่เรียนประวัติศาสตร์ไทย)

จากประสบการณ์ในเมืองไทย ทำให้ผมเห็นว่าคำประกาศนานาชนิดของยูเนสโก ถูกใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ นอกธุรกิจอีกมาก เช่น ต่อสู้กันในการเมืองภายใน ซึ่งอาจมีผลไปถึงการต่อสู้ระหว่างประเทศ เพื่อรักษาอำนาจของกองทัพไว้เหนือกิจการต่างประเทศ


คราวนี้กลับมาคุยกันเรื่องการอ่านนะครับ คงทราบกันอยู่แล้วว่า นักวิจัยเมื่อไม่กี่ปีมาแล้วบอกว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยแค่ปีละ 7 บรรทัด ผมไม่แน่ใจว่าตัวเลขนี้ยังใช้ได้ถึงปัจจุบันหรือไม่ เพราะผมพบว่าคนอ่านอะไรจากมือถือและออนไลน์กันมากเสียจนค่าเฉลี่ยน่าจะสูงกว่านี้ไปพอสมควรแล้ว 
อันที่จริงตัวเลข 7 บรรทัดนั้น ไม่ต่างอะไรจากชาวยุโรปเมื่อสิ้นสมัยกลางนะครับ แต่เพียงไม่ถึงศตวรรษต่อมา คนยุโรปก็อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นกว่า 7 บรรทัดอีกมาก 
คำอธิบายที่มักพบทั่วไปก็คือ ยุโรปในช่วงนั้น การศึกษาถูกพัฒนาจนทำให้คนอ่านหนังสือออกมากขึ้น เทคโนโลยีการพิมพ์ทำให้หนังสือแพร่หลายทั่วไป ความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายทำให้ต้องใช้ตัวหนังสือ ฯลฯ

แต่ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวนี้ ล้วนเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาของปัจจุบันทั้งสิ้น เหตุใดคนจึงไม่ได้อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเท่ากับยุโรป ยกเว้นแต่ในวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญแก่ตัวหนังสือมาก่อน เช่น เวียดนาม, เกาหลี และจีน เป็นต้น 

จะว่าปูมหลังทางวัฒนธรรมมีความสำคัญ ก็น่าสงสัยนะครับ เพราะในยุโรปตะวันตกโบราณ จะว่าเป็นวัฒนธรรมตัวหนังสือเหมือนจีน ก็ไม่เชิงทีเดียวนัก



ผมคิดว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดในการอ่านของยุโรปช่วงนั้น น่าจะมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในหัวสมองมนุษย์มากกว่า นั่นก็คือความปั่นป่วนวุ่นวายทางสังคมและศาสนาทำให้คนยุโรปมาประจักษ์ว่า ความจริงมิได้มีอยู่ด้านเดียว ข้อมูลที่มีความสำคัญต่อชีวิต ไม่อาจหาได้จากพระและมูลนายเพียงเท่านั้น 
การพังทลายของอำนาจผูกขาดความรู้ที่พระและมูลนายเคยถือร่วมกันมา ปลดปล่อยผู้คนให้ต้องดิ้นรนไปแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ หนังสือจึงขายได้ ไม่ใช่เพราะราคาถูกลงเพียงอย่างเดียว แต่เพราะคนซื้อต้องเห็นว่าเอาเงินจำนวนนั้นไปซื้อหนังสือ จะคุ้มค่าที่สุดต่างหาก

สิ่งที่ไม่ได้เกิดในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งไทยด้วยก็คือตรงนี้แหละครับ คือไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม รัฐกับศาสนายังประสบความสำเร็จในการทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า ความจริงมีด้านเดียว คือด้านที่รัฐและศาสนากำกับควบคุมเอาไว้ ความรู้ที่รัฐและศาสนาเสี้ยมสอนผ่านโรงเรียน, โทรทัศน์, สื่ออื่นๆ ฯลฯ

นั่นแหละ คือความรู้ที่มีให้มากไว้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปคิดสร้างความรู้ของตนเองขึ้น


ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ คนเราจะอ่านหนังสือไปทำไม เพราะละครทีวี, การสนทนากับเพื่อน, หรือรายการวิทยุ ก็ให้ความรู้เราเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมพูดมาถึงตรงนี้ มิได้ตั้งใจจะให้มีความหมายว่า ฉะนั้น การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในการอ่าน นับตั้งแต่ห้องสมุดไปจนถึงการเลิกเก็บภาษีขาเข้าแก่หนังสือวิชาการในภาษาอื่น หรือการส่งเสริมการอ่านในรูปต่างๆ ไม่จำเป็นต้องทำนะครับ ทำไปเถิด ดีทั้งนั้น แต่อย่าหวังว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการอ่านของคนไทยอย่างพลิกฝ่ามือเป็นอันขาด

ผมตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้นว่า คนไทยอาจอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะเข้าถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้กว้างขวางขึ้น และเพราะการสื่อสารผ่านเครือข่ายทางสังคม เราจึงน่าอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยเกิน 7 บรรทัดแล้ว

แต่ผมอยากนิยามตามใจชอบของตนเองว่า สิ่งที่คนไทยอ่านบนมือถือหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้ ไม่นับเป็นการอ่าน "หนังสือ" เพราะไม่ใช่การอ่านเพื่อการปลดปล่อยทางความคิด กล่าวคือไม่ค่อยมีผลให้เกิดการสร้างความรู้ใหม่ที่เป็นของตนเอง แม้อาจมีข้อมูลใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็เป็นข้อมูลที่ถูกจัดวางไว้ในกรอบการอ้างอิงแบบเดิม 
เช่น เพื่อนส่งข้อมูลทางเฟซบุ๊กว่า มีอาหารมองโกเลียขนานแท้ให้หากินในกรุงเทพฯ แล้ว ข้อมูลนี้ถูกส่งมาในกรอบอันเก่า คืออาหารแบบนี้มีไว้สำหรับคนในสถานะทางสังคมสูงหน่อย นับตั้งแต่ราคาแพงไปจนถึงมีประสบการณ์แบบฝรั่งที่จะหาอาหารแปลกๆ กิน ส่วนชาวมองโกลจะมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างไร อยู่พ้นออกไปจาก"ความรู้"ที่เราจะแสวงหา คือไม่เกี่ยวอะไรกับเราเหมือนเดิม
ข้อมูลใหม่จึงไม่จำเป็นจะต้องนำความรู้ใหม่มาให้เสมอไป หากข้อมูลนั้นถูกจัดวางไว้ในกรอบการอ้างอิงเดิม
จึงไม่ต่างอะไรจากการดู คุณสรยุทธ สุทัศนจินดา ทางทีวี ได้ข้อมูลใหม่ด้วย สนุกด้วย แต่ไม่ได้ความรู้ใหม่อะไร หรือไม่มีอะไรที่จะมาสั่นสะเทือนความรู้เก่าที่เรามีอยู่ อดดูวันไหนก็ให้น่าเสียดาย



การอ่าน"หนังสือ" จึงแตกต่างจากการหาข้อมูลประจำวันจากหน้าหนังสือพิมพ์ (ทั้งกระดาษและออนไลน์) จากข้อมูลใหม่ที่เพื่อนๆ เอามาแชร์กันในสื่อทางสังคม หรือการพูดคุยกับคนในวงเดียวกัน คอเดียวกัน ผ่านเฟซบุ๊ก หรือกระดานถกเถียงในเว็บไซต์

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การอ่านตัวหนังสือ กับการอ่านหนังสือไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

หนังสือหรือนวนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ ฯลฯ เกิดขึ้นได้จากการกลั่นกรองประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทั้งประสบการณ์ทางกายและจิตใจความรู้สึกนึกคิด ทั้งของตนเองและของผู้อื่น แล้วนำมาคิดจนตกผลึก กลายเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ของผู้เขียน ซึ่งต้องคิดวิธีนำเสนอให้น่าเชื่อถือ, สะเทือนอารมณ์, และงดงามมีศิลปะ 
ไม่ใช่การใช้นิ้วหัวแม่โป้งบี้ตัวอักษรส่งผ่านกันด้วยสัญญาณคลื่นความถี่

ดังนั้น "หนังสือ" หรืองานวรรณกรรมประเภทนั้น จึงมีพลังในการปลดปล่อยสูง เพราะผู้อ่านไม่ได้แต่เพียงเก็บเนื้อความผิวๆ ที่ปรากฏให้เห็นจากตัวหนังสือเท่านั้น แต่ยังถูกนำให้มองเห็นไปถึงตรรกะของผู้เขียนที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง เลยไปถึงโลกทรรศน์ที่สร้างหรือใช้ตรรกะแบบนั้น
ผมไม่ได้หมายความแต่หนังสือหรือบทความทางวิชาการ แต่วรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์ทั้งหลาย ก็ไม่แตกต่างจากกัน กว่าจะเป็นนวนิยายขึ้นมาได้ ผู้เขียนก็ต้องทำงานผ่านกระบวนการเดียวกัน โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม 
ผู้อ่านอาจยอมรับ เพราะตรงกับโลกทรรศน์ของตนเองอยู่แล้ว หรืออาจปฏิเสธ แต่อย่างน้อยก็ต้องทำความเข้าใจกับตรรกะและวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลัง และเพราะปฏิเสธจึงอาจต้องพยายามซึมซับให้เข้าใจอย่างพิถีพิถันขึ้น เพื่อจะได้เห็นจุดอ่อน


"หนังสือ" ในความหมายข้างต้น จึงมีพลังปลดปล่อย อ่านแล้วผู้อ่านย่อมไม่ใช่คนเดียวกับคนที่ยังไม่ได้อ่าน แต่จะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงไร (หรือแม้แต่เปลี่ยนอยู่ในร่องเดิม) ก็ขึ้นอยู่กับตัวงานวรรณกรรมและผู้อ่านเอง

ฉะนั้น สิ่งที่ กทม. พึงทำหลังจากยูเนสโกรับรองการเป็นนครหลวงแห่งหนังสือแล้ว นอกจากการสร้างองค์กรในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำให้เข้าถึงหนังสือได้ง่ายแล้ว ก็ควรปรับการอ่านของโรงเรียนในสังกัดตัวเอง นับตั้งแต่ส่งเสริมครูที่รักการอ่าน ส่งเสริม ผอ.โรงเรียนที่สนับสนุนการอ่าน เพิ่มงบประมาณเพื่อให้เกิดผล ฯลฯ แล้ว ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ทำให้การอ่านของนักเรียนคือการปลดปล่อยชนิดหนึ่ง นักเรียนควรถูกสอนให้อ่านหนังสือเพื่อไม่เชื่อหนังสือง่ายๆ ไม่ใช่อ่านเพื่อจำเนื้อหา แต่อ่านเพื่ออยู่เหนือเนื้อหา

นักเรียนควรถูกฝึกตั้งแต่แรกให้อ่านเพื่อจุดหมายเพียงสองประการ คือคนเขียนเขาพูดว่าอะไร และทำไมเขาจึงว่า-พูดว่าอย่างนั้น ชั้นเรียนคือที่ซึ่งนักเรียนและครูจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องเนื้อหาและวิธีคิดของผู้เขียน ซึ่งทำได้โดยไม่มี "ผิด" หรือ "ถูก" 

แต่เพราะนักเรียนเป็นคน เขาจึงมีปฏิกิริยาตอบสนองที่เป็นของเขาเองต่อสิ่งเร้าที่ได้ประสบ

การอ่านหนังสือจึงสนุก ไม่ใช่เรื่องเครียดสำหรับการจดจำเนื้อหาไปเป็น "ความรู้"



.