http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-16

เหตุและผลจาก“นิติราษฎร์” ตั้ง“ตุลาการพิทักษ์ระบอบ รธน.”

.

เหตุและผลจาก“นิติราษฎร์” ตั้ง“ตุลาการพิทักษ์ระบอบ รธน.”
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:31: น.


หมายเหตุ - ข้อเสนอจากงานเสวนาวิชาการเรื่อง “การยุบศาลรัฐธรรมนูญและการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา


วรเจตน์ ภาคีรัตน์
หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ศาลที่ทั่วโลกจำเป็นต้องมีคือ ศาลยุติธรรม ส่วนศาลอื่นๆ จำเป็นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าศาลนั้นๆ จำเป็นหรือไม่ การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุดได้ขยายและพัฒนาอำนาจตัวเองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากยังมีศาลในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่ทางเกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นจากในมาตรา 68 ที่มีคนไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ แท้จริงต้องผ่านอัยการสูงสุดก่อน แล้วค่อยไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

ถามว่าเมื่อมีการรวบรวมรายชื่อแล้วจะสามารถถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ผมบอกได้เลยว่า คนที่มีอำนาจในการถอดถอนคือ วุฒิสภา ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้หมดวาระไป ก็จะมีคนอื่นที่เข้ามาแทน เป็นคนที่ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อไม่นานมานี้ เป็นผลให้ประชาชนต้องมองหาทางออก เพื่อไม่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจแบบเดิมอีกต่อไป

เราจึงเสนอให้เลิกบทบัญญัติของศาลรัฐธรรมนูญในทุกมาตรา การแก้ไขที่คณะนิติราษฎร์เสนอนั้น เป็นการแก้ไขหรือเปิดทางชั่วคราวเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้โดยไม่มีการขัดขวางจากองค์กรใด จึงเป็นที่มาขององค์กรใหม่ที่เราต้องการสร้างขึ้น นั่นก็คือ คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ เราเสนอให้มีการกำหนดที่มา อำนาจ ขอบเขต ของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน


เมื่อเราเสนอให้ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะต้องสร้างคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมา เป็นองค์กรที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต้องมิขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อฟังคำสั่ง ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เชื่อว่าเป็นคำสั่งที่ทำให้คนไทยมึนงงไปตามๆ กัน เพราะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าศาลสั่งอะไร ในเรื่องดังกล่าว หากกลับไปยังเมื่อก่อนการเลือกตั้งจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยได้เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น และหากย้อนกลับไปอีกก็จะเห็นอีกว่าความจริงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 นั้น เป็นการให้ประชาชนลงประชามติไปก่อน แล้วค่อยกลับมาแก้ไขทีหลัง

ความบกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญคือ การรับพิจารณา จริงๆ แล้วไม่มีอำนาจแต่เป็นการขยายอำนาจของศาลเอง เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หากยอมรับการวินิจฉัยของศาล เมื่อมีกรณีเช่นเดียวกันเกิดขึ้นอีก ก็จะมีคนนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก และศาลก็จะใช้อำนาจเกินขอบเขตต่อไป

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม จากคำวินิจฉัยศาลบอกว่ามีอำนาจในการรับพิจารณา และหากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องมีการทำประชามติ ในคำวินิจฉัยไม่มีคำใดเลยที่บอกว่าห้ามลงมติในวาระ 3 ส่วนตัวคิดว่าจากคำวินิจฉัยดังกล่าว รัฐบาลควรเดินหน้าในวาระ 3 ได้ และต้องอาศัยความใจถึงในการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ได้ถอนตัวไม่ลงมติ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า หากมีการเดินหน้าในวาระ 3 ใครทำก็ต้องรับผิดชอบนั้น เพราะอาจจะผิดมาตรา 68 หรือไม่ ผมมองว่าแล้ว ศาลจะให้ทำอะไร เวลาศาลวินิจฉัยออกมาแล้วจะต้องมีความชัดเจนกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ถามว่าถ้าไม่ไปทำประชามติจะถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ศาลก็ไม่ได้บอกเช่นนั้นเลย


จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีกลุ่มคนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนั้น อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ระงับการโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระ 3 ส่งผลให้เกิดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญว่า ในการรับเรื่องนั้น ศาลสามารถกระทำได้หรือไม่ การกระทำดังกล่าวจะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านและไม่เห็นด้วยต่อการกระทำนั้น ศาลก็ไม่ได้รับฟังแต่อย่างใด คณะนิติราษฎร์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่เป็นปรปักษ์กับรัฐธรรมนูญเสียเอง ถือเป็นการทำลายหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตย

เนื่องจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจรับคำร้องในคดีดังกล่าวตั้งแต่ต้น แต่ใช้ดุลพินิจตีความขยายอำนาจตนเอง เพื่อรับคำร้องไต่สวนเองและวินิจฉัยเอง ขัดต่อถ้อยคำและเจตนารมณ์ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 68 อย่างชัดเจน และหากย้อนกลับไปยังอดีตที่ผ่านมา จะเห็นอีกว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจอย่างมิชอบมาโดยตลอดหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี การยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน

ที่สำคัญเท่าที่ผ่านมา การถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นล้วนเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอาศัยอำนาจของ ส.ว. ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คณะนิติราษฎร์จึงขอเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ


ปิยบุตร แสงกนกกุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ถามว่าทำไมถึงมีคนออกมาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องบอกเลยว่า ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 นั้น ไม่ต้องการให้แก้ไข คนที่ได้ผลประโยชน์ก็คือ องค์กรอิสระต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง คนพวกนี้มีรายได้เป็นแสนบาทต่อเดือน

ครั้งนี้เหลือเชื่อจริงๆ คือใช้มาตรา 68 ในการขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ที่ผ่านมาสามารถควบคุมตัว ส.ส.ร.ที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ว่าวันนี้ไม่ใช่เพราะ ส.ส.ร.จะต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าใครบ้างที่จะเข้ามาเป็น ส.ส.ร. เมื่อไม่สามารถควบคุมได้ก็ต้องระงับไม่ให้มีการเลือก ส.ส.ร. หากเป็น ส.ส.ร.แบบรัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลรัฐธรรมนูญก็จะสามารถควบคุมและไม่เกิดปัญหา

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจแบบนี้ วิธีการจัดการกับพวกเขาไม่ใช่เป็นการชุมนุม หรือการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอน แต่ต้องจัดการด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจอีกต่อไป

คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญที่คณะนิติราษฎร์เสนอนั้น เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่จัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ โดยบรรดาอำนาจหน้าที่ต่างๆ ที่เป็นของศาลรัฐธรรมนูญเดิมให้เป็นของคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ


คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนึ่ง 1 คน ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ มาจากการเลือกของวุฒิสภาอย่างน้อย 1 คน ต้องเป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดด้วยเช่นกัน

เช่นเดียวกันกับบุคคลที่จะได้รับเลือกเป็นคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้ที่ยึดในหลักนิติรัฐประชาธิปไตย เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐธรรมนูญ

ส่วนลักษณะต้องห้ามนั้น ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะรัฐธรรมนูญฉบับใด และต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยศาลรัฐธรรมนูญฉบับราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราวพุทธศักราช พ.ศ.2549 หรือโดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

วิธีพิจารณาการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐ ธรรมนูญให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ และห้ามคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญกระทำการอันใดอันมีผลเป็นการขัดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอที่เราทำขึ้นมาเป็นการบอกกับประชาชนว่า ศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมาจากรัฐธรรมนูญ แต่ได้สถาปนาตนเองขึ้นไปจนอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เป็นการบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่มองแล้วว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำการเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จงพึงสังวรว่า อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญได้



.