http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-31

ภัยแล้งสหรัฐ กับวิกฤตอาหารโลก โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
บทความของปี 2554 - โลกร้อนกับ "ชีส" ใครคิดว่าไม่สำคัญ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ภัยแล้งสหรัฐ กับวิกฤตอาหารโลก
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1667 หน้า 100


ถ้าแบ่งธัญพืชทั้งหมดที่ปลูกกันในโลกออกเป็นห้าส่วน ในนั้นจะเป็นข้าวโพดที่สหรัฐอเมริกาปลูกถึงสี่ส่วน เอาข้าวเจ้าข้าวสาลีทั้งหมดที่จีนปลูกมารวมกันก็ยังน้อยกว่าข้าวโพดของสหรัฐ สหรัฐเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่ที่สุดของโลก รวมถึงข้าวสาลีและถั่วเหลือง
แต่ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู๋ในสหรัฐคือภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบห้าสิบกว่าปี ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อพืชผลของสหรัฐ โดยเฉพาะข้าวโพดนั้น รายงานล่าสุดของกระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่าตอนนี้ที่ยังอยู่ในสภาพดีมีแค่ร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับตอนฤดูใบไม้ผลิที่อากาศดีและมีการปลูกกันมากจนคาดว่าข้าวโพดจะมีปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้
พอเข้าฤดูร้อนทุกอย่างก็กลับตาลปัตร

ผลจากภัยแล้งที่สหรัฐเผชิญนั้นมีต่อราคาอาหาร ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้น แต่กระทบไปทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าอาหาร ราคาสินค้าคอมโมดิตี้ตอนนี้ถีบตัวขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์อีกแล้ว ราคาอาหารเริ่มไม่มีเสถียรภาพเมื่อตลาดเกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะมีตัวแปรที่สำคัญคือการเก็งกำไร โดยผู้เก็งกำไรที่ไม่ใช่เกษตรกรหรือผู้เกี่ยวข้องเท่านั้นเข้ามาเล่นในตลาด ทั้งสถาบันการเงิน เฮดจ์ฟันด์ และผู้ลงทุนภายนอก 
ความจริงมีการทำแบบจำลองโดยกลุ่ม Bar-Yam ที่ชี้ให้เห็นว่าเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งแย่งชิงธัญพืชอาหารไปผลิตเชื้อเพลิงและทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น ประกอบกับการเก็งกำไรจะส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีหน้าจะเข้าสู่สภาวะฟองสบู่อาหาร หรือ ฟู้ด บับเบิ้ล กล่าวคือ ราคาอาหารจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง 
ทว่า ในแบบจำลองสิ่งที่ไม่ได้ใส่ลงไปคือ "ภัยแล้ง" และเมื่อนำตัวแปรภัยแล้งเพิ่มเข้าไปในแบบจำลอง ผลการวิเคราะห์สถานการณ์ก็จะยิ่งหนักขึ้นและรวดเร็วกว่าที่คาด และเกิดผลทันทีอีกด้วย


ผลพวงที่จะตามมาจากราคาอาหารที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรงคือความไม่สงบในสังคม
ในปี 2007 และปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นมาก เกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก อย่างเช่น อาหรับ สปริง หรือเหตุการณ์ในเยเมนปี 2008 ก็ค่อนข้างชัดเจน
แน่นอนว่าในประเทศที่มีการลุกฮือขึ้นของประชาชนเหล่านั้น มีปัญหาพื้นฐานอื่นๆ เป็นพื้นหลังอยู่ แต่ราคาอาหารที่แพงขึ้นเป็นตัวจุดประกายสำคัญที่ทำให้คนลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล

New England Complex Systems Institute (NECSI) เคยทำการศึกษาความสัมพันธ์ของราคาอาหารกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ และพบความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างชัดเจน

แต่บ้านเราไม่ต้องห่วงครับ เรามีข้าวที่รัฐรับจำนำไว้บานเบอะ พร้อมขายขาดทุนอยู่แล้ว



++++
บทความของปี 2554

โลกร้อนกับ "ชีส" ใครคิดว่าไม่สำคัญ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1619 หน้า 100


ทุกวันนี้ผมใช้แอพพลิเคชั่นบนไอแพดที่ชื่อว่า Zite ในการคัดเลือกหัวข้อข้อมูลข่าวสารที่จะดึงมาจากอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่แล้วจะหยิบขึ้นมาไล่เปิดๆ ดูตอนว่างๆ อ่านแต่ละเรื่องไปแบบผ่านๆ เรื่องไหนน่าสนใจก็กดเยสเข้าไปเพื่อให้มันจดจำชนิดของข้อมูลข่าวสารที่ชอบเอาไว้ จากนั้นความเคยชินถัดมาก็คือการกดปุ่มเก็บไว้อ่านทีหลัง

เก็บไว้อ่านทีหลัง คือการเก็บลิงก์ของหน้าเว็บนั้นไปฝากไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของแอพพลิเคชั่นอีกตัวที่ชื่อว่า Read It Later พอได้จังหวะที่จะอ่านกันจริงจัง ซึ่งมักจะเป็นเมื่อกลับจากงานไปบ้านแล้ว ค่อยกลับมาเปิดอ่านจาก Read It Later ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะหน้าเว็บในหัวเรื่องที่เลือกไว้จะมีข่าวสารข้อมูลใหม่อัพเดตเข้ามาตลอดเวลา บางทีแค่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงย้อนหลังกลับไปหล่นจากหน้าสุดท้ายไปเสียแล้ว 
นอกจากนั้นบางครั้งก็อ่านเอาบนคอมพิวเตอร์นี่แหละครับ บราวเซอร์ไฟร์ฟอกซ์ที่ใช้อยู่ ติดตั้ง Read It Later ไว้เป็นแอพพลิเคชั่นเสริมที่เรียกว่าแอดออน เมื่ออยู่บนบราวเซอร์ผมก็คลิกไปตรงไอคอนของมันในแถบเมนู ลิงก์เรื่องที่เก็บไว้ก็จะมีเป็นรายการออกมาให้เลือกคลิก และค้นหาได้สะดวก

เก็บไว้อ่านทีหลังนี่บางทีก็เก็บแบบงกมาก ทำให้หลายต่อหลายครั้งลืมเรื่องที่เก็บไปสนิท อย่างเรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้ เกี่ยวกับชีสกับผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านไปสิบกว่าวันแล้วผมลองคุ้ยๆ Read It Later ดู แล้วก็พบว่ามันก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เหมือนจะเป็นเรื่องเบาๆ แต่โดยแก่นแท้แล้วไม่เบาเลยเชียวแหละ 
โดยเฉพาะสำหรับคนที่มีจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นคนชอบกินชีสเหมือนอย่างผม ซึ่งทั้งที่ไม่กินนมวัวแต่กลับชอบชีสเสียอย่างนั้น


รายงานชิ้นที่ว่านี้เป็นของ คณะทำงานสิ่งแวดล้อม (Environmental Working Group - EWG) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนของอเมริกันที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และพยายามให้ข้อมูลทางด้านนี้ออกมา เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจและใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
อันที่จริงมันเป็นรายงานการศึกษาผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากเนื้อสัตว์ แหล่งโปรตีนใหญ่ที่คนบริโภค รวมกันแล้วถึง 20 ชนิด โดยใช้วิธีประเมินร่องรอยคาร์บอนตลอดวงจรชีวิตของเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ พูดง่ายๆ คือวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งกระบวนการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงตอนที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย 
ผลปรากฏว่าเนื้อแกะ เนื้อวัว ชีส เนื้อหมู และแซลมอนเลี้ยง ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้ายที่สุดยกเว้นแซลมอน เนื่องจากการผลิตอาหารเหล่านั้นต้องใช้ทรัพยากรมากมาย

ชีสของผมไปติดอยู่ถึงอันดับที่สามของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด รองจากเนื้อวัวและแกะ
สาเหตุสำคัญก็คือ การจะได้ชีสแข็งมาสัก 1 ปอนด์ ต้องใช้นมวัวถึง 10 ปอนด์ และการผลิตนมวัวจากวัวนมเป็นกระบวนการที่ปลดปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศมากกว่าคาร์บอนถึง 25 เท่า ออกมามหาศาล มีเทนและไนตรัสออกไซด์ในมูลวัว และมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธัญพืชและอาหารสัตว์อื่นที่นำมาใช้เลี้ยงวัว และอื่นๆ ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

สรุปคือ ตลอดทั้งวงจรชีวิตในอาหารจากเนื้อสัตว์ ชีสนำหน้ามาเป็นที่สาม เพราะฉะนั้น เวลากัดกินชีสเข้าไปสักคำ (รวมทั้งที่มันอยู่ในหน้าพิซซ่าด้วยนะครับ) ขอให้รำลึกด้วยว่าคุณกำลังมีส่วนร่วมทำลายสภาพภูมิอากาศด้วยความอิ่มหนำสำราญ

ฉลากร่องรอยคาร์บอนน่าจะมีส่วนช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกกินอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น หรือไม่ก็ค่อยๆ อดตายไปเพราะแทบไม่รู้จะกินอะไร



.