http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-08

“คำสาป” “ความทรงจำร่วม” นครลำปาง กับตำนานนางสุชาดา-พระแก้วดอนเต้า โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

“คำสาป” “ความทรงจำร่วม” นครลำปาง กับตำนานนางสุชาดา-พระแก้วดอนเต้า
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 76


ที่นครลำปางยังมีเรื่องราวของพระแก้วแกะจากหินหยกสีเขียวอีกองค์หนึ่ง ชื่อว่า "พระแก้วดอนเต้า" ชวนให้สงสัยว่าพระปฏิมาองค์นี้มีความเป็นมาอย่างไรกันแน่ สัมพันธ์กับพระแก้วมรกตหรือไม่ 
ทุกครั้งที่รฦกถึงพระแก้วดอนเต้า สองคำถามที่มักวิ่งวนสวนทางกันอยู่เสมอก็คือ 
คำถามแรก ฤๅลึกๆ แล้วคนลำปางยังเจ็บปวดที่ต้องจำใจมอบพระแก้วมรกตให้แก่เมืองเชียงใหม่ ด้วยความอาลัยหาจึงจำลองพระแก้วดอนเต้าขึ้นมาแทนอีกองค์ เสมือนว่าพระแก้วมรกตยังไม่ได้หายไปจากลำปาง
กับอีกคำถามหนึ่งซึ่งกลับตาลปัตรกันก็คือ หรือว่าตอนลำปางมอบพระแก้วมรกตให้เชียงใหม่นั้น มิได้มอบองค์จริงแต่ทำจำลองขึ้น แล้วแอบนำองค์จริงไปซ่อนที่วัดพระธาตุลำปางหลวง?

หากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งจริง ชาวลำปางก็น่าจะพอใจแล้ว เพราะอย่างไรเสียเมืองลำปางก็ยังมี "พระแก้วหินหยก" ประดิษฐานอยู่ไม่ว่าจะเป็นองค์ไหน ในขณะที่เชียงใหม่ต้องสูญเสียพระแก้วมรกตให้แก่หลวงพระบางไปนานแล้วกว่า 460 ปี 
แต่ไฉนเล่า การปรากฏขึ้นของพระแก้วดอนเต้าคู่นครลำปางกลับเดินทางมาพร้อมกับ "คำสาป" อันกลายเป็น "ความทรงจำร่วม" ที่เกิดจากแม่ญิงคนเดียวนาม "สุชาดา" 
เกี่ยวข้องอะไรไหม กับมหาอุบาสิกานางสุชาดาในพุทธประวัติ ผู้เคยถวายข้าวมธุปายาสให้แก่พระพุทธองค์ก่อนการตรัสรู้ธรรม?



ตํานานเรื่องพระแก้วดอนเต้า เขียนขึ้นในยุคของพระญากาวิละ ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง มิได้เก่าแก่ร่วมสมัยกับตำนานพระแก้วมรกตที่รจนาในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อ 500-600 ปีก่อน 
เป็นตำนานที่บันทึกโดยชาวเชียงแสนอพยพ หลังจากถูกพระญากาวิละเผาเมืองทิ้งเพื่อมิให้เป็นที่ซ่องสุมกองกำลังทหารพม่า แล้วกวาดต้อนเทครัวให้มาอยู่เมืองเขลางค์ 

ช่วงนั้นเองสันนิษฐานว่าชาวเชียงแสนได้นำ "พระแก้วดอนเต้า" ติดตัวมาด้วย เนื่องจากเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความสันทัดในการแกะสลักหินหยก ดังเช่นที่ได้เคยแกะพระแก้วมรกตมาแล้ว 
คนกลุ่มนี้ได้สร้างถิ่นฐานทับพื้นที่บริเวณวัดแก้วชมภู สิ่งที่ควรฉุกคิดก็คือ สมัยก่อนวัดพระแก้วดอนเต้ามีชื่อว่าวัดแก้วชมภู เพิ่งเปลี่ยนเป็นแก้วดอนเต้าในคราวที่ชาวเสียงแสนมาตั้งรกราก

คำว่า "ชมภู" ในเมืองเหนือมักใช้ "ภ" แทน "พ" มิได้หมายถึงสีชมพู แต่ใช้เรียกพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นสัญลักษณ์การปราบทิฐิของท้าวชมภูบดีผู้เย่อหยิ่ง ฉะนั้น "แก้วชมภู" จึงหมายถึงพระแก้วมรกตที่ฉลองเครื่องทรงเต็มยศ 
เมื่อชาวเชียงแสนอยู่เมืองละกอน (ลำปาง) ในฐานะคนพลัดถิ่น เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาย่อมต้องการที่จะหาหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ และสร้างความสำคัญให้กับพระพุทธรูปที่พวกตนนำมา เพื่อประกาศว่าชาวเชียงแสนมิใช่คนกลุ่มน้อย หรือคนแปลกหน้า 
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ตำนานพระแก้วดอนเต้าจึงอุบัติขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาคาใจก็คือ ในท้องเรื่องไม่ยอมระบุศักราชของเหตุการณ์ว่าตรงกับยุคใด
แต่มีตัวละครเอกนาม "สุชาดา" ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ชอบไปทำบุญที่วัด โดยมักนำผลแตงโมไปถวาย เหตุที่หลังบ้านของนางนั้นเป็นสวนแตงโม ภาษาล้านนาเรียกว่า "บะเต้า"
มีแตงโมอยู่ลูกหนึ่งเมื่อผ่าออกมา นางสุชาดาได้พบกับหินหยกหรือที่คนไทยนิยมเรียกแก้วมรกต จึงได้นำไปถวายให้แด่พระภิกษุรูปหนึ่ง พระภิกษุเห็นว่าเป็นวัสดุมีค่าควรนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ทว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งคืนนั้นพระอินทร์ได้ปลอมตัวเป็นคนแก่นุ่งผ้าขาวช่วยเนรมิตองค์พระปฏิมาจนงดงาม

รุ่งเช้านางสุชาดาและพระภิกษุรูปนั้นได้เห็นองค์พระแก้วดอนเต้าก็พลันเกิดปีติ ตั้งใจจะนำไปไว้ในวิหารของวัด แต่กลับมีพวก "ปาปารัสซี่" แมงเมาธ์คอยซุบซิบนินทา แอบนำความไปเพ็ดทูลให้เจ้าเมืองทราบว่า ทั้งสองประพฤติตัวไม่เหมาะสมลักลอบเป็นชู้กัน  
นางสุชาดาถูกจับเข้าหลักประหารในฐานะมารพระศาสนา ก่อนเพชฌฆาตจะลงดาบ นางได้อธิษฐานจิตว่า มาตรแม้นว่าทำผิดจริงขอให้เลือดหลั่งลงสู่พื้นดิน แต่หากนางเป็นผู้บริสุทธิ์ขอให้เลือดไหลพุ่งขึ้นสู่ฟ้า พร้อมกับสาปแช่งเจ้าเมืองที่สั่งประหารนาง

มาถึงตอนนี้ผู้อ่านคงเดาได้ว่า เลือดของนางย่อมต้องพุ่งกระฉูดขึ้นสู่อากาศอย่างไม่ต้องสงสัย
สถานการณ์เช่นนี้ผลักดันให้พระภิกษุรูปนั้นต้องรีบพาพระแก้วหนีไปไว้ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงเพื่อความปลอดภัย 
คือย้ายไปไว้ที่อีกเวียงหนึ่งชื่ออาลัมพางค์ ปัจจุบันอยู่อำเภอเกาะคา คนละฟากของแม่น้ำปิง


จากท้องเรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ หลายท่านอาจมองว่า ไม่เห็นจะมีอะไรแตกต่างไปจากตำนานสูตรสำเร็จแต่อย่างใดเลย ยิ่งการยกผลประโยชน์ให้พระอินทร์เป็นผู้แกะสลักพระพุทธปฏิมาด้วยวิธีปลอมตัวเป็นตาแก่หรือชีปะขาวนั้นก็แทบจะก๊อบปี้มาจากฉากเดียวกันกับตำนานการสร้างพระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์
ยิ่งกรณีการอธิษฐานจิตสาปแช่งคนชั่วที่รังแกผู้บริสุทธิ์ก่อนถูกประหาร ก็ไม่ต่างอะไรไปจาก "ฉากคลาสสิก" ของตำนานนางพญาเลือดขาวแถวภูเก็ต-นครศรีธรรมราช ที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นชู้กับมหาดเล็ก ต้องลงเอยด้วยการสังเวยชีวิตแต่มีโลหิตพุ่งออกมาผิดธรรมดากลายเป็นสีขาว

ถ้าเช่นนั้นจะเสียเวลามาวิเคราะห์พระแก้วดอนเต้าไปเพื่ออะไร ในเมื่อเป็นตำนานที่อยู่ในวังวนแห่งการผลิตซ้ำ!

มูลเหตุที่ดิฉันหยิบประเด็นพระแก้วดอนเต้ามาเขียน มีอยู่สองประการ
ประการแรก เพื่ออยากจะชี้ชัดว่า พระแก้วดอนเต้าองค์นี้จำหลักขึ้นที่เชียงแสนเหมือนกับพระแก้วมรกต และน่าจะมีอายุร่วมสมัยกัน เหตุเพราะเราแทบไม่เคยพบงานพุทธศิลป์ฝีมือเยี่ยมในล้านนายุคหลังตั้งแต่พระญากาวิละลงมาอีกเลย เพียงแต่ถูกนำมาไว้ที่ลำปางต่างยุคต่างกาละเวลากัน ส่วนนัยแห่งการย้ายไปประดิษฐานที่พระธาตุลำปางหลวงนั้น ยังต้องศึกษากันต่อไปอีกว่าเคยมีเหตุการณ์ไม่สงบกลางเวียงเขลางค์แถบวัดพระแก้วดอนเต้าในสมัยใดสมัยหนึ่งหรือไม่ 
ประการที่สอง ประเด็นเรื่องความคับแค้นใจของนางสุชาดานั้น ไฉนไม่ยอมจบลง ณ แดนประหาร หรือในสมัยพระญากาวิละยุคที่ชาวเชียงแสนเขียนตำนานนั่น ตรงกันข้ามไยยิ่งนานวันกลับยิ่งปะทุคุคั่งอยู่เนืองๆ จนถึงกับทำให้ชาวลำปางจำนวนมากขวัญผวาและตั้งคำถามว่า
เมืองลำปางยังไม่พ้นเคราะห์กรรมจากคำสาปแช่งของนางสุชาดาอีกล่ะหรือ?

นึกไปนึกมาก็อดเปรียบเทียบกับตำนานของเมืองลำพูนไม่ได้ เพราะที่นั่นก็มีความเชื่อเรื่องคำสาปเช่นกัน แต่หาได้เกิดจากความแค้นของแม่ญิงไม่ หากเป็นคำสบถของชายอกสามศอกนาม "ขุนหลวงวิลังคะ" ผู้นำชาวลัวะ ที่ต้องพ่ายรักพ่ายรบต่อพระนางจามเทวี ก่อนตายถึงกับประกาศกร้าวว่า "แม้ไม่รักข้า ขออย่าให้หริภุญไชยรุ่งเรืองจวบชั่วรุ่นลูกหลานเหลนโหลน" เล่นเอาชาวลำพูนยังขนหัวลุกซู่จวบจนทุกวันนี้

ลำพูนกับลำปางผ่านห้วงเวลาอันขมขื่นพอๆ กัน 
ลำพูนมีนิคมอุตสาหกรรมตั้งประจานอยู่ท่ามกลางซากอารยนครสร้างมลภาวะสารพัดพิษ 
ลำปางก็มีคลังน้ำมันปิโตรเลียมขนาดยักษ์ กับโรงงานถลุงลิกไนต์ที่แม่เมาะโอบล้อม ปัจจุบันพยายามประโคมข่าวภาพอันสวยงามกลบเกลื่อนความเจ็บช้ำน้ำใจด้วยการเชื้อเชิญให้คนไปเที่ยว ว่าเป็นดินแดนที่ไร้ควันพิษ


ลำปางน่าจะเป็นเมืองที่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกทิศถูกทางมากกว่านี้ จากทำเลที่ตั้งอยู่เป็นจุดศูนย์กลางเสมือนประตูสู่ล้านนา
ครั้งหนึ่งลำปางเคยถูกเล็งไว้ว่าต้องมี "มหาวิทยาลัยภาคเหนือ" แต่แล้วรัฐก็เปลี่ยนใจไปสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แทน แม้จะปลอบใจชาวเมืองรถม้าด้วยการสร้างสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ให้ แต่สร้างได้ไม่นานก็สั่งยุบไปขึ้นตรงต่อกรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 ที่เชียงใหม่อีกจนได้ 
แทบไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่า คำสาปของนางสุชาดา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น "เจ้าแม่สุชาดา" ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อเจ้าผู้ครองนครลำปาง (ไม่ทราบว่าคือใคร สมัยใด และเป็นเรื่องจริงหรือไม่) จักทรงอิทธิพลต่อเมืองลำปางอย่างรุนแรง แม้แต่ทายาทเจ้าหลวงลำปางในยุคปัจจุบันยังต้องทำพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ของนางให้คลายอาฆาต เปิดทางให้เมืองลำปางเดินหน้าฉลุยเสียที

ขนาดหลวงพ่อเกษม เขมโก พระเกจิชื่อดังผู้มีเชื้อสายสกุล ณ ลำปาง ยังต้องลงทุนปลุกเสกพระเหรียญรุ่นเจ้าแม่สุชาดาอันโด่งดังมาแล้วเมื่อ 13 เมษายน 2515 
ใครที่ครอบครองย่อมไม่ลืมข้อความที่จารึกบนเหรียญว่า "เพื่อลบล้างมลทินและแก้อาถรรพณ์ให้ชาวเขลางค์นครเพื่อความเป็นสิริมงคลสืบไป"



สรุปแล้ว การที่เจ้าแม่สุชาดาถูกประหารโดยไม่มีความผิดได้กลายเป็น "ความทรงจำร่วม" ของสังคมชาวลำปางไปโดยปริยาย ทั้งๆ ที่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่านางสุชาดามีตัวตนจริงไหม 
และไม่มีการวิเคราะห์ตำนานว่าการนำเสนอภาพของนางสุชาดาเช่นนี้ ผู้เขียนต้องการสื่อถึงนัยอะไรกันแน่ จงใจให้เป็น "ผู้ถูกกระทำ" ที่จ้องแต่เจ้าคิดเจ้าแค้นตลอดกาลดอกหรือ ฤๅแค่ขอยืมนามมหาอุบาสิกาแห่งยุคพุทธกาลมาเพื่อเชิดชูบทบาทของแม่ญิงล้านนาที่ถวายกายอุปัฏฐากพระพุทธศาสนาจนกว่าชีวิตจะหาไม่เท่านั้น

ซึ่งก็แปลกตรงที่ว่า "ชื่อบ้านนามเมือง" กลางเวียงละกอนกล่นเกลื่อนไปด้วยสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับนางสุชาดา ประหนึ่งว่านางมีตัวมีตนจริงๆ นอกจากวัดสุชาดาราม ซึ่งต่อมาได้ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับวัดพระแก้วดอนเต้าแล้ว ยังมี "วัดนางเหลียว" เป็นสัญลักษณ์ว่านางสุชาดาได้เหลียวหันมามองพระแก้วดอนเต้าอย่างอาลัยอาวรณ์ก่อนถูกประหารชีวิต (อันที่จริงชื่อวัดในทำนอง นางเหลียว กวางเหลียว หรือกวางคำนี้ อีกเวอร์ชันหนึ่ง น่าจะมาจากเรื่องนางสีดาตามกวางมากกว่า) 
หรือเส้นทางลงไปสู่แม่น้ำวัง ชาวบ้านเรียกว่า "ท่านางลอย" ก็เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เลือดของนางลอยขึ้นสู่ฟ้า รวมถึง "ประตูท่านาง" ก็คือประตูที่นางถูกจับไปประหารที่ท่าน้ำ "วังย่าเฒ่า" รวมทั้งบางคนยังเชื่อว่าซากโบราณสถานร้างอีกแห่งที่ชื่อ "กู่เจ้าย่าสุตตา" นั้นก็เป็นการเรียกเพี้ยนมาจาก "เจ้าย่าสุชาดา"

การที่สังคมเมืองเหนือให้ความเคารพยำเกรงต่อเจ้าแม่สุชาดาอย่างล้นหลามนั้นไม่ถือเป็นเรื่องแปลก สามารถอธิบายได้ว่านี่คือกระแสการบูชา "แม่ญิง" ในฐานะ "แม่เมือง" อันเป็นลัทธิที่ตกค้างมานับพันปีบนแผ่นดินล้านนา จากความเชื่อเรื่องเจ้าแม่จามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งหริภุญไชย ผู้เป็นมหาเทวีมารดาเจ้าอนันตยศปฐมกษัตริย์นครเขลางค์ 
น่าสนใจว่าในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมานี้ อนุสาวรีย์หรือศาลเจ้าแม่สุชาดาอันมีจุดเด่นด้วยการปั้นรูปแม่ญิงถือผลบะเต้านั้นมีขึ้นอย่างแพร่หลายในนครลำปาง ผู้คนพากันกราบไหว้วิงวอนขอให้ตนผ่านพ้นอุปสรรค และหากว่าใครทำอะไรยังไม่สำเร็จ ก็เชื่อกันว่า เพราะเจ้าแม่สุชาดานั้นยังพิโรธอยู่ 

"ความทรงจำร่วม" ในเรื่อง "คำสาป" ของเจ้าแม่สุชาดาจักคงอยู่คู่นครลำปางอีกนานเพียงใดนั้น หาใช่เรื่องสำคัญไม่
ตราบที่สังคมโลกยังเต็มไปด้วยการตัดสินลงโทษผู้ถูกกล่าวหาแบบสองมาตรฐาน ตราบนั้น "วีรสตรีในตำนานท้องถิ่น" อย่างนางสุชาดาลูกสาวสวนแตง ย่อมได้รับการบันทึกขึ้นเพื่อใช้เป็น สัญลักษณ์ของสามัญชนคนบริสุทธิ์ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก ชั่วนิรันดร์กาล

ข้อสำคัญ คำสาปนี้มิได้อุบัติขึ้นเฉพาะนครลำปางเพียงแห่งเดียว หากมันเป็นความทรงจำร่วมที่กดทับจิตวิญญาณของคนรากหญ้าทั่วทุกหย่อมย่านมานานหลายชั่วโคตร หากเรายังทนก้มหัวรองรับเศษธุลี ขาดศรัทธาต่อตัวเอง ไร้พลังอหังการ์เฉกนางสุชาดาที่กล้าท้าทายต่อกรกับมือที่มองไม่เห็น



.