http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-17

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก(15) (16): ... , น้ำมือมนุษย์ โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (15)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 38

ภาวะหวาดวิตกของชาวญี่ปุ่นหลังการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "ฟุคุชิมา ไดอิจิ" นำมาสู่แนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อตรวจสอบ-ป้องกันอันตรายจากกัมมันตรังสีในอนาคตข้างหน้า 

บริษัทซอฟต์แบงก์ ได้แนวคิดจากกระแสหวาดวิตกมาพัฒนาโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ เป็นสมาร์ตโฟนที่มีอุปกรณ์ตรวจวัดกัมมันตรังสี
เจ้าของโทรศัพท์เพียงกดปุ่มบนจอ เพียง 2 นาที จะปรากฏตัวเลขเป็นค่ากัมมันตรังสีบริเวณรอบๆ โดยวัดเป็นหน่วยไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง
สมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าว "ซอฟต์แบงก์ให้บริษัทชาร์ปพัฒนาเป็นผู้พัฒนา มีชื่อรุ่นว่า พานโทเน่ 5 ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และติดตั้งเซมิคอนดักเตอร์ สำหรับวัดระดับรังสีแกมมา อ่านค่าปริมาณรังสีเป็นตัวเลขและบันทึกในรูปของแผนที่
ซอฟต์แบงก์จะนำสินค้ารุ่นล่าสุดนี้วางขายปลายเดือนกรกฎาคมพร้อมกับเราเตอร์ "ไวไฟ" เคลื่อนที่จะสามารถใช้อินเตอร์เน็ต ส่งข้อมูลได้ทุกแห่งหน


นวัตกรรมอีกชิ้นเป็นฝีมือของทีมสถาปนิกจากจังหวัด "ฟุคุชิมา" ช่วยกันคิดค้นคอนกรีตชนิดใหม่ป้องกันกัมมันตรังสีทดแทนวัสดุไม้ไผ่ที่ชาวญี่ปุ่นใช้มานานตั้งแต่โบราณกาล
คอนกรีตชนิดนี้นำมาใช้ภายในบ้านพัก ฉาบฝาผนัง กำแพงและหลังคาจะลดการกระจายของกัมมันตรังสี 
ทีมสถาปนิก "ฟุคุชิมา" ยังคิดค้นพวกก็อกน้ำสำหรับใช้ล้างมือป้องกันรังสีรวมถึงการออกแบบสนามเด็กเล่นและพื้นที่พักผ่อนภายในบ้านบริเวณบ้านให้เด็กๆ และผู้อยู่อาศัย ผ่อนคลายโดยไม่มีปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี 
บ้านปลอดรังสีที่ใช้คอนกรีตรุ่นใหม่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด มีต้นทุนค่าก่อสร้างคิดเป็นเงินไทยราวๆ 6 ล้านบาทถึง 15 ล้านบาท

สำหรับคณะสถาปนิกฟุคุชิมาเป็นการรวมตัวของบริษัทสถาปัตย์ บริษัทผลิตวัสดุก่อสร้างและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในจังหวัดฟุคุชิมา 23 บริษัท มี นายชิโยคิชิ เอ็นโดะ วัย 53ปีเป็นหัวหน้าทีม 
เอ็นโดะ ได้แนวคิดหลังจากเข้าร่วมช่วยผู้ประสบภัยระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และเกิดคลื่นสึนามิ ตามด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิด เมื่อปีที่แล้ว 
ประสบการณ์ครั้งนั้นจุดประกายความรู้สึกว่า การช่วยเหลือผู้อื่นคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ 
หัวหน้าทีมสถาปนิกฟุคุชิมาใช้เวลาช่วงหนึ่งเดินทางไปค้นคว้าข้อมูลเรียนรู้ของจริงในเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิซึ่งบอบช้ำจากกัมมันตรังสีของระเบิดนิวเคลียร์ เมื่อปี 2488 ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง
เอ็นโดะศึกษาวัสดุชนิดต่างๆ ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีและหาวิธีป้องกันการแผ่กระจายของกัมมันตรังสีจนกระทั่งได้ข้อสรุปแบบบ้าน "ฟุคุวาอูชิ" (Fukuwauchi.)

ผลงานการออกแบบบ้านนำไปโชว์ในเมืองฟุคุชิมาและสอบถามความเห็นของชาวเมืองฟุคุชิมา
"อากิ ทาคางิ" พยาบาลวัย 31 ปี พาลูกสาว 4 ขวบไปดูแบบบ้านฟุคุวาอูชิให้ความเห็นว่า แนวคิดบ้านเป็นเรื่องดีมาก เพราะระหว่างเกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เด็กๆ ไม่กล้าออกไปนอกบ้าน
"การสร้างสนามเด็กเล่นในบ้านที่ป้องกันกัมมันตรังสีได้นั้นยอดเยี่ยมมาก ทำให้เกิดรู้สึกปลอดภัย" ทาคางิให้ความเห็น


ทางด้านสถาบันรังสีวิทยาแห่งชาติของญี่ปุ่น คิดค้นพัฒนารถบัสโดยสารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ได้เป็นผลสำเร็จและเพิ่งนำออกแสดงเมื่อไม่นานมานี้ 
รถบัสซึ่งได้รับการออกแบบรองรับกับสถานการณ์อันเลวร้ายจากกัมมันตรังสีมีจำนวน 3 คันติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจสอบและวัดปริมาณกัมมันตรังสีในสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายจากนั้นส่งข้อมูลไปยังศูนย์บัญชาการเพื่อวิเคราะห์และหาวิธีแก้ปัญหา รวมไปถึงติดตั้งอุปกรณ์ด้านการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย 
เจ้าหน้าที่ในรถบัสจะใช้โทรศัพท์ระบบรับส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเพื่อป้องกันสัญญาณหลุดหากสถานีรับส่งสัญญาณในจุดเกิดเหตุมีแผ่นดินไหวหรือคลื่นสึนามิ 
ขบวนรถบัสจะมีหน่วยสนับสนุนเป็นรถที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ เช่น ห้องน้ำที่ป้องกันและล้างคราบกัมมันตรังสีรวมถึงห้องนอนที่ปลอดจากกัมมันตรังสี เครื่องมือตรวจวัดผู้ได้รับกัมมันตรังสีและรถพยาบาลขนส่งผู้ป่วย

สิ่งประดิษฐ์และการคิดค้นเครื่องมือเหล่านี้ ล้วนเป็นผลพวงจากประสบการณ์ตรงของชาวญี่ปุ่นในมหันตภัยแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ถือเป็นครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (16) น้ำมือมนุษย์
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 40


รัฐบาลญี่ปุ่นไฟเขียวให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ "โออิ" ของ บริษัท คันไซ อิเล็กทริกเพาเวอร์ อยู่ฝั่งตะวันตก เปิดเดินเครื่องแล้วเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม
ในวันเดียวกัน คณะกรรมาธิการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์โรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิด และกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา เมื่อวันที่ 11 มีนาคมปีที่แล้ว เปิดเผยรายงานอย่างเป็นทางการระบุว่า ความผิดพลาดที่นำไปสู่มหันตภัยครั้งร้ายแรง มาจากความล้มเหลวด้านการใช้กฎระเบียบและข้อบังคับ รวมถึงความไม่โปร่งใส 
นั่นเป็นสองปรากฏการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นกับแวดวงพลังงาน "นิวเคลียร์" ของญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นกลับมาเปิดใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังจากหยุดเดินเครื่องเพื่อตรวจสอบระบบความปลอดภัยทั้งหมด เพราะไม่ต้องการให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา  
แต่ปัญหาเกิดตามมาคือพลังงานอื่นๆ ในญี่ปุ่นมีไม่มากเท่ากับพลังงาน "นิวเคลียร์" 
ผู้ผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนิวเคลียร์ 3 แห่งได้แก่ คันไซ อิเล็กทริก บริษัท กิวชู อิเล็กทริก และ บริษัท ฮอกไกโด อิเล็กทริก เพาเวอร์ เผชิญกับวิกฤต เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าป้อนให้ผู้บริโภคได้เพียงพอ 
และยังเกิดสภาวะต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น เพราะต้องนำเข้าพลังงานน้ำมัน ก๊าซหรือถ่านหิน

บรรดานักธุรกิจ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ร้านค้าต่างๆ พากันวิงวอนให้รัฐบาลเร่งเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เร็วๆ และผ่อนคลายมาตรการประหยัดพลังงานลง มิฉะนั้นแล้วธุรกิจจะหยุดชะงัก การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง โรงงานเคลื่อนย้ายไปอยู่ต่างประเทศ 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คือ กลุ่มประชาชนที่เกรงกลัวภัยนิวเคลียร์ ไม่ต้องการให้รัฐบาลเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกต่อไป และเรียกร้องให้หาพลังงานอื่นๆ มาทดแทน 
กระแสคัดค้าน "นิวเคลียร์" แผ่ซ่านไปทั่วประเทศ


นี่เป็นแรงกดดันให้รัฐบาล "โยชิฮิโกะ โนดะ" ต้องคิดหนัก เพื่อหาจุดสมดุล ระหว่างความต้องการพลังงาน การดูแลความปลอดภัยของประชาชน
ในระยะอันใกล้ นายโนดะต้องเลือกเปิดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มนักธุรกิจ และหยุดปัญหาการขาดแคลนพลังงานไว้ระยะหนึ่ง 
แต่ในระยะยาว สิ่งที่ต้องคิดคือจะหาพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมมาทดแทน "นิวเคลียร์" เพราะกระแสต่อต้านรุนแรงเป็นลำดับ

ตั้งแต่เกิดเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิด กัมมันตรังสีรั่วไหลแพร่กระจาย รัฐบาลญี่ปุ่นต้องพับแผนการขยายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงานให้ได้ครึ่งหนึ่งของความต้องการพลังงานทั้งประเทศภายในปี 2573 
ที่สำคัญ พลังงานทางเลือกอื่นๆ นั้นจะต้องไม่แพง ไม่เกิดปัญหามลพิษ และอันตรายจากเหตุแผ่นดินไหว หรือคลื่นสึนามิ 
นโยบาย "พลังงานหมุนเวียน" เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานผสมอื่นๆ รวมถึงพลังงาน จะเป็นทิศทางหลักของประเทศญี่ปุ่นได้หรือไม่ เป็นอีกปมปัญหาสำคัญที่ต้องจับตาดูต่อไป 


หันมาดูรายงานของผลการตรวจสอบสาเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาของคณะกรรมาธิการอิสระ รัฐสภาญี่ปุ่นแต่งตั้ง สรุปชัดเจนว่า หายนภัยครั้งร้ายแรงมาจากน้ำมือของคนเป็นหลัก คลื่นสึนามิและแผ่นดินไหวเป็นลำดับรองลงมา  
รายงานชิ้นนี้ เท่ากับเป็นการฉีกหน้า บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) เจ้าของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ซึ่งอ้างว่าเหตุที่ทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายมาจากคลื่นสึนามิ

คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังแฉโพยให้เห็นว่า เทปโกและหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ เพิกเฉยมาตรการความปลอดภัย ทั้งๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสียงต่อการเกิดคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหว
"อุบัติเหตุโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ยังมาจากการร่วมมือระหว่างรัฐบาล หน่วยกำกับดูแล และเทปโก และการขาดหลักธรรมาภิบาล" รายงานดังกล่าวระบุ

เหตุที่เกิดขึ้น สรุปได้ว่ามาจากความผิดพลาดของคน !



.