http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-14

วิกฤติยุติธรรมนำไป สู่..การปฏิวัติ หรือแค่..ยุบสภา โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ภาพจาก http://lannademocracy.blogspot.com
วิกฤติยุติธรรมนำไป สู่... การปฏิวัติ หรือ แค่... ยุบสภา
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1665 หน้า 20


การถอยที่จะทำให้เกิดวิกฤติในอนาคต

เลือกตั้งมาเพิ่งครบปีไม่มีใครคิดว่าจะมีการยุบสภา แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงข่าวรัฐประหารบ้าง ส่วนการปฏิวัติของประชาชน ยิ่งคิดว่ายังอยู่ไกล เพราะความขัดแย้งปัจจุบันก็เป็นเรื่องปกติระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล 
แต่วันนี้เกิดความขัดแย้งที่ไม่เคยมีมาในประวัติการเมืองไทย คือระหว่างอำนาจตุลาการกับอำนาจนิติบัญญัติ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากตัวแทนประชาชนกับกลุ่มคนเล็กๆ ที่ประชาชนไม่ได้เลือก และประเด็นความขัดแย้งก็เป็นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเสนอนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์โดยหวังจะขจัดอำนาจเผด็จการที่แอบแฝงอยู่ในองค์กรต่างๆ 
วันนี้เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ้างว่ามีอำนาจ ยับยั้งการลงมติของรัฐสภาเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญในวาระ 3 และสภาก็ยอมยับยั้ง, ยอมรับการไต่สวน และรอฟังคำตัดสินของศาล ซึ่งจะตัดสินในวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคมนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่นักการเมืองกลับยอมถอยแบบไม่เหลือลาย ไร้ศักดิ์ศรี ทำให้ 15.7 ล้านเสียงที่ไปลงคะแนนให้ ไร้ค่า
จุดประสงค์ คือรักษารัฐบาลและพรรคไว้ไม่ให้ถูกยุบ
การถอยครั้งนี้ดูคล้ายกับเป็นการลดความขัดแย้ง เลี่ยงการปะทะแตกหักในวันนี้ แต่ถ้าอีกฝ่ายรุกต่อ ก็ต้องแตกหักในวันหน้าอยู่ดี
คำตัดสินวันนี้ อาจจะเป็นตัวชี้แนวทางการต่อสู้ในวันพรุ่งนี้


วิเคราะห์กันว่าคำตัดสินมีโอกาสออกมาได้ 3 ทาง แต่จะสร้างปัญหาอะไรตามมา

แนวทางที่ 1 คณะตุลาการยกคำร้อง ตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่สภากำลังทำอยู่นั้นมิได้เป็นการล้มล้างการปกครองฯ และให้รัฐสภาดำเนินการต่อได้เลย 
ซึ่งแนวทางการตัดสินนี้ ผู้วิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากเพราะกลุ่มอำนาจเก่าได้พยายามสร้างเรื่องราว ให้ทั้งบุคคลและองค์กรต่างๆ ใช้ทั้งด้านหน้า ด้านข้างเข้าถูจนเรื่องมาถึงขั้นการตัดสิน ดังนั้น โอกาสเกิดการยกคำร้องเฉยๆ จึง มีโอกาสเกิดขึ้นไม่ถึง 25%
แต่ถ้าศาลตัดสินยกคำร้อง ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ และเพิ่มขึ้น เกมการเมืองจะกลับไปเริ่มเหมือนต้นเดือนมิถุนายน แต่สิ่งที่ฝ่ายตุลาการได้คือ การยอมรับให้เข้าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติได้ ซึ่งจะไปสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นได้อีกหลายประเด็นในวันหน้า

แนวทางที่ 2 ผู้ที่มองในแง่ร้ายคาดว่า คณะตุลาการจะตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญอาจจะมีผลให้เกิดการล้มล้างระบอบการปกครอง จึงสมควรให้ยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังมีความเห็นต่อไปว่ากรณีนี้มี การพิจารณาลงโทษ พรรคการเมืองและผู้มีส่วนรวมในการลงมติแก้ไขซึ่งอาจมีผลให้พรรคการเมืองถูกยุบ ส.ส. และ ส.ว. ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 
แต่ผู้วิเคราะห์แนวทางนี้ส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าโอกาสที่จะยุบพรรคคงเกิดยากมากเพราะสิทธิในการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส และ ส.ว ไม่เกี่ยวกับพรรค

และเหตุผลที่สำคัญก็คือแรงต้านจากประชาชนขณะนี้มีมากมาย
การตัดสินในแนวทางที่สองจึงมีโอกาสไม่ถึง 50% (ที่ให้ถึงขนาดนี้เพราะเคยเห็นคดีนายกฯ สมัคร สุนทรเวช มาแล้ว) ถ้าตัดสินแบบนี้ วิกฤติการเมืองเกิดทันที เพราะคนส่วนหนึ่งจะคิดว่านี่คือตุลาการภิวัฒน์ครั้งที่ 2 คาดว่าจะมีการระดมกำลังเผชิญหน้าและปะทะกันได้

แนวทางที่ 3 ซึ่งคาดว่าคณะตุลาการจะตัดสินว่าวิธีการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองได้ แต่เป็นการทำหน้าที่ของรัฐสภาตามปกติ จึงไม่มีความผิด แต่ต้องยุติวิธีการเดิมและแก้ไขด้วยวิธีใหม่ (เช่น แก้ไขบางมาตราหรือรายมาตรา)
ซึ่งแนวทางนี้ผู้วิเคราะห์หลายกลุ่มคาดว่ามีโอกาสเป็นไปได้ถึง 70% ซึ่งจะทำให้เสียเวลาอีกนาน โดยเฉพาะถ้าต้องแก้หลายมาตรา เนื่องจาก ส.ส. ฝ่ายค้านสามารถถ่วงเวลาโดยการอภิปรายได้นานมากๆ แต่วิกฤติการเมืองจะลดระดับลง ไม่จำเป็นต้องแตกหักทันที ทั้งสองฝ่ายมีเวลาปรับยุทธวิธี
การปะทะจะเกิดทั้งในและนอกสภา ความวุ่นวายอาจขยายออกไป



แนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ
หลังการตัดสินของ ตลก. รัฐธรรมนูญ

กลุ่มอำนาจเก่า

กลุ่มอำนาจเก่าคิดว่าพรรคเพื่อไทยหลงเข้ามาติดกับดักตัวเองโดยเริ่มจากการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งไปได้ดีอยู่แล้ว แต่กลับมาเสนอกฎหมายปรองดองแทรกเข้ามา การต่อสู้จึงพลิกกลับเพราะแนวร่วมที่ต้องการล้มกฎหมายปรองดองให้ได้มีหลายกลุ่ม เนื่องจากกลัวทักษิณกลับเข้ามา เมื่อเพื่อไทยยอมถอย ฝ่ายตรงข้ามก็รุกต่อโดยโยงเรื่องไปถึงการแก้รัฐธรรมนูญ และลากคณะตุลาการมาร่วมทันที
เรื่องนี้ข่าววงในแจ้งว่าเสนาธิการผู้วางแผนเป็นนักวิชาการระดับด๊อกเตอร์ 2 คน ทั้งด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์โดยคิดยาวไปถึงวิธีตุลาการภิวัฒน์อีกครั้ง คาดหวังผลสองระดับ คือใช้หมัดน็อกและเปลี่ยนรัฐบาล ถ้าน็อกไม่สำเร็จก็ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญยืดออกไปนานอีกพอสมควร

ดูรูปเกมแบบนี้แล้ว กลุ่มอำนาจเก่ามีได้มาก กับได้น้อย ความเสียหายจะตกอยู่กับตุลาการ
เสธ. ของกลุ่มคงจะหาแง่มุมทางกฎหมายเพื่อรุกให้ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมืองเพื่อไทยต่อไป แต่กลุ่มนำไม่สนับสนุนวิธีการรัฐประหาร แม้อยากจะไปถึงขั้นตั้งรัฐบาลแบบพิเศษ ซึ่งคงไม่ง่าย แต่ทุกขั้นตอนการเคลื่อนไหวจากนี้มีโอกาสปะทะสูง


พรรคเพื่อไทย

กลุ่มที่เกี่ยวข้องและจะได้รับผลกระทบตรงคือ นายกฯ และรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. อดีตนายกฯ ทักษิณ
ในฐานะรัฐบาล และแกนนำเสียงข้างมากในสภา ได้ถอยจริงตามที่ฝ่ายตรงข้ามคาดคะเนไว้ เป็นการถอย โดยยึดแนวทาง "อ่อนทั้งนอก-ใน ไหว้ทุกทิศทาง จะสร้างความปรองดอง" ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน กฎหมายปรองดอง ก็ต้องถอย เพราะการปรองดองเป็นเรื่องที่ต้องเห็นร่วมกัน ถ้าไม่พร้อมก็รอสถานการณ์ที่ดีกว่านี้ แล้วผลักดันใหม่ แต่เป้าหมายสำคัญคือรักษารัฐบาลและนายกฯ ไว้

ในขณะที่ทุกคนสนใจปัญหานี้ รัฐบาลก็สามารถลอยตัวในปัญหาอื่นที่ยังบริหารไม่ได้ตามเป้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจหรือเรื่องสวัสดิการอื่นๆ


ทักษิณ

ไม่ว่าทักษิณ จะคิดอย่างไร ปรารถนาอย่างไร เกมการเมืองในประเทศที่เดินอยู่ไม่ยอมเดินไปตามที่เขาอยากให้เป็น แม้คิดยุทธวิธีได้ ก็ไม่อาจทำได้ เพราะปัจจุบันมีตัวแปรมากขึ้น และในวันหน้าก็จะมากขึ้นไปอีก เพราะหลายคน ก็ทุ่มตัวเข้าไปเสี่ยงเช่นกัน เพื่อชัยชนะ
มีวิธีเดียวคือ ทักษิณและแนวร่วม ต้องกำหนดแนวทางการต่อสู้ และยุทธศาสตร์ร่วมกัน

สำหรับตัวทักษิณ ยังเป็นเครื่องบินรบ จะน่ากลัวมากเมื่อติดอาวุธครบและบินอยู่บนฟ้า ถ้ากลับมาจอดอยู่ในโรงเก็บ ก็มีโอกาสถูกถล่มคาสนามบิน


ผลกระทบต่อ ส.ส. และ ส.ว. อาจมี การยุบสภา

ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีการยุบสภา แต่ถ้ามีสถานการณ์ที่จำเป็นก็ต้องทำ เดิมกลุ่มที่วิเคราะห์ในแง่ร้ายคาดการว่า ศาลจะตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองและจะเลือกเวลาตัดสินในช่วงที่รัฐบาลถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งตามกฎหมายแล้ว นายกรัฐมนตรีไม่สามารถยุบสภาได้
แต่การตัดสินในช่วงเวลานี้ ผลของการตัดสิน ถ้ามีรายละเอียดต่างๆ ทางพรรคเพื่อไทยก็สามารถนำไปวิเคราะห์ว่าจะนำไปสู่การยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมืองของใครหรือไม่ หรืออาจนำไปสู่การเดินเกมต่อเนื่องที่มีผลให้เกิดการยึดอำนาจโดยตุลาการภิวัฒน์อีกหรือไม่ เพราะนอกจากเกมแก้รัฐธรรมนูญ ยังมีการยกคดีต่างๆ ขึ้นมาเล่นงานกันได้อยู่เรื่อยๆ

ทีมวิเคราะห์ของเราเชื่อว่าการยุบสภาไม่ใช่หนทางที่ดีนัก แต่ถ้ามีความจำเป็นก็ต้องทำและการเลือกตั้งใหม่ มีโอกาสชนะในเกมเลือกตั้งมากกว่า เกมตุลาการ และยังเป็นทางออกที่สันติที่ดีกว่าปล่อยให้มีการล้มรัฐบาลและพยายามตั้งรัฐบาลแบบพิเศษขึ้นมา เพราะการปะทะอย่างรุนแรงจะเกิดขึ้นแน่นอน
แต่ถ้าแกนนำเพื่อไทยถอยไปเรื่อยๆ พอถอยจนหลุดจากการเป็นรัฐบาลแล้วจึงจะคิดสู้ อาจจะสายเกินไป และยังต้องเสี่ยงชีวิตชาวบ้านมากเกินไป


คนเสื้อแดง

คนเสื้อแดงส่วนใหญ่มิได้ต้องการถอยแบบพรรคเพื่อไทย มองว่านี่เป็นการรุกของเผด็จการที่จะเข้าครอบงำฝ่ายประชาธิปไตยจึงต้องการสู้ทุกรูปแบบ สิ่งที่คนเสื้อแดงทำในวันนี้คือการถือโอกาสเปิดมหาวิทยาลัยเสื้อแดงแบบตลาดวิชา เป็นการติวเข้มพิเศษผ่านสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ตไปทั่วประเทศว่าด้วยเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ มีผู้เข้าร่วมศึกษาหลายล้านคน
ด้วยระบบสื่อสารที่ทันสมัย สามารถนำเปิดโปงธาตุแท้การโกหกหลอกลวงของคนในฐานะต่างๆ เป็นการติดอาวุธความคิด ชี้ให้เห็นความอยุติธรรม และการแอบยึดอำนาจที่กำลังเกิดขึ้น
คนเสื้อแดงยังไม่อยากให้ศาลรีบตัดสิน ยิ่งยืดเวลาไปอีกสิบวันยี่สิบวันก็ยิ่งดี และถ้าการตัดสินทำให้การแก้รัฐธรรมนูญมีปัญหาไม่ว่ามากหรือน้อย คาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ทั้งเพื่อเป็นการคุมเชิงฝ่ายตรงข้าม, เปิดโรงเรียนเสื้อแดง, หาเสียงล่วงหน้า, สอนมวย ปชป. ว่าวันหลังอย่ามาท้าเรื่องเปิดเวทีปราศรัย เอ็งเปิด 5 แห่ง ข้าจะเปิด 50 แห่ง


แต่ไม่ว่าจะตัดสินแบบไหนพวกที่ชอบการปฏิรูปก็จะหาโอกาสเคลื่อนไหวตามแนวทางที่ชอบ ส่วนพวกที่เดินแนวทางปฏิวัติก็จะลากเข้าสู่แนวทางตัวเองเช่นกัน แต่การตัดสินชี้ขาดกลับไปตกอยู่ในมือของฝ่ายนำของกลุ่มอำนาจเก่า ว่าจะทำให้สถานการณ์การเมืองวิกฤติขนาดไหน

ดังเช่นที่เคยรัฐประหารในปี 2549 เลือกตั้งปี 50 ตุลาการภิวัฒน์ปี 2551 สร้างคนเสื้อแดงในปี 2552 ล้อมปราบประชาชนปี 2553 เลือกตั้งปี 2554 และกำลังจะสร้างวิกฤติยุติธรรมในปี 2555 ทุกเรื่องราวทำมากับมือทั้งนั้น

การตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการชี้แนวทางการต่อสู้ ว่ามีเส้นทางใดเหลือให้สู้ เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมและประชาธิปไตย



.