http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-15

บทประเมินการเมืองขณะหลัง -ตลก.รธน.ศุกร์13 ของเครือมติชน

.
เพิ่ม - รัฐบาลลูกไก่ในกำมือ ใน นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
เพิ่ม - หมากเกม การเมือง / ผลัก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ / ชู ชวน หลีกภัย แทน ใน นสพ.ข่าวสด


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ผลคดี"แก้ รธน." ประเมิน"รบ.-ฝ่ายค้าน" "ฝ่ายรับ"คล้าย"ถอย"
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 10:35:55 น.
(ที่มา: คอลัมน์ วิเคราะห์ นสพ. มติชนรายวัน ฉบับ 15 กรกฎาคม 2555)


โจทย์ที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งเอาไว้ 4 ข้อ เพื่อพิจารณาในคำร้องที่กล่าวหาว่าการแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ประกอบด้วย
หนึ่ง มีอำนาจการฟ้องร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ได้หรือไม่
สอง ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
สาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่เป็นไปตามวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
และ สี่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสามและวรรคท้ายอันเป็นเหตุให้พรรคการเมืองถูกยุบพรรคหรือไม่

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปเมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคมแล้ว มีคำตอบโจทย์ที่ตั้งไว้
คำตอบจากโจทย์ข้อหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลมีอำนาจรับคำร้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง คือ สามารถรับตรงไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดได้ เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ล่าช้าออกไปอาจส่งผลเสียหายขึ้นได้
คำตอบจากโจทย์ข้อสอง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 สามารถทำได้ แต่ต้องทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้ผ่านการทำประชามติ ถือว่า อำนาจการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาจากประชาชน ดังนั้น การจะเลิกใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และร่างรัฐธรรมนูญควรได้รับความเห็นชอบจากประชาชน คือ การทำประชามติด้วย
นอกจากนี้ยังเห็นควรให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะพิจารณาเป็นรายมาตรา
คำตอบโจทย์ข้อสาม ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อไม่ใช่การล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 จึงไม่ต้องตอบโจทย์ข้อที่สี่ คือ ไม่มีการยุบพรรคใดๆ จากคำร้องดังกล่าว

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏออกมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 0 ถือเป็นมติเอกฉันท์
ผลจากคำวินิจฉัยทำให้ภาคเอกชนขานรับ เพราะเป็นสัญญาณดีว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น หากแต่หนทางการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นยังมีความคลุมเครือ 
โดยเฉพาะประเด็นการจัดการกับร่างแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาอยู่ในวาระ 3 นั้นสมควรดำเนินการเช่นไร
ทางหนึ่งเห็นว่า ควรเดินหน้าโหวตแล้วทำประชามติ ถามความเห็นของประชาชน อีกทางหนึ่งเห็นว่า ต้องถือว่าร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวตกไป เพราะไม่ได้ทำประชามติมาก่อน จึงควรกลับไปเริ่มต้นทำประชามติก่อนแล้วจึงผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่าง
นี่เป็นเพียงคำถามเบื้องต้นหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยต่อมา

ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีพันธสัญญากับประชาชนตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งและจัดทำนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลมาแล้วว่า ต้องตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเดินหน้ายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และต้องยกร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่หาเสียงและบรรจุไว้ในนโยบายรัฐบาลด้วย
แต่เมื่อมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมากำกับ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันกับองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ
จึงเสมือนกับว่า รัฐบาลต้องถอยอีกรอบ เพราะไม่สามารถขับเคลื่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้ในทันที


อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่รัฐบาลส่งสัญญาณถอย คะแนนนิยมจากประชาชนฝ่ายรักประชาธิปไตยที่มอบให้แก่รัฐบาลกลับเพิ่มพูนขึ้น
นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดงมั่นใจถึงขนาดว่า หากพรุ่งนี้สามารถทำประชามติได้ ก็ขอให้รัฐบาลทำทันที เพราะมั่นใจว่าประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงอีกคนหนึ่งก็แสดงทรรศนะออกมาในทำนองเดียวกันว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทำให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนมากขึ้นกว่าเดิมอีก

คำพูดของนายจตุพรและนายณัฐวุฒิ เกี่ยวเนื่องจากปรากฏการณ์ดังกล่าวน่าคิด ทั้งนี้เพราะเวทีการประชันความคิดในการ "ร่าง" และการ "ล้ม" การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ได้เปรียบเทียบความเหมือนและความต่างในแนวคิดของบุคคล 2 ขั้ว 
ขั้วหนึ่งสนับสนุนประชาธิปไตย ส่งเสริมให้เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ อีกขั้วหนึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว เพราะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นเสียงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 
เพราะเหตุไม่เห็นด้วยดังกล่าว จึงมีการใช้ข้อกฎหมายและองค์กรอิสระในการยังยั้ง 
กลายเป็นว่า ขั้วที่ไม่เห็นด้วยกับการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นขั้วที่ไม่เห็นด้วยกับ "เสียงส่วนใหญ่" 
ขณะที่ "เสียงส่วนใหญ่" มีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น แม้จะดูเหมือนว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยถอย แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลับประทับภาพลักษณ์ให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย 
เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายคัดค้านพรรคเพื่อไทยจึงกลายเป็นผู้ฉุดรั้งมิให้ประชาธิปไตยเบ่งบานไปโดยปริยาย

หลังคำตัดสินคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ "ฝ่ายรับ" คล้าย "ถอย" แต่ "บุก" ส่วน ฝ่ายรุก คล้าย "บุก" แต่ "ถอย"



++

สงคราม ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับ "ศพ" ทหาร ระวัง ! 68 77 7
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:30:09 น.


ไม่ว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ยกคำร้อง แต่ว่ารัฐสภาไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ 
ก็ยังไม่จบ
ที่ว่าไม่จบ มิใช่เพราะว่าคำวินิจฉัยของวันศุกร์ 13 ไปกระตุกต่อมแห่งความหงุดหงิดของเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี และเสื้อแดง
นั่นเสมอเป็นเพียงปัจจัย 1
แต่ปัจจัยอันเป็นองค์ประกอบสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การประจันหน้าในทางอำนาจอันเป็นความต่อเนื่องมาจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549
ยังคาราคาซัง


1 มีความต้องการจะ "ขจัด" อำนาจและอิทธิพลของระบอบทักษิณให้พินาศลงไปขณะเดียวกัน 1 ระบอบทักษิณก็ไม่ยอมแพ้
2 ฝ่ายยัง "ยัน" กันอยู่ 
ไม่จำเป็นต้องอ้างอิทธิพลอันเนื่องแต่ดาวเสาร์ ดาวอังคาร ไม่จำเป็นต้องอ้างอิทธิพลอันเนื่องแต่การเข้าหาของดาวมฤตยู ที่เห็นๆ กันอยู่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญนั่นแหละชัดเจนแจ่มแจ้ง 
สงคราม


อย่ามองเพียงปรากฏการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรขับเคลื่อนผ่านการฟ้องร้องทั้งต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ป.ป.ช. กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดิน 
นั่นเสมอเพียง "เบี้ย"
หากดูกระบวนการฟ้องร้อง หากดูกระบวนการตัดสิน วินิจฉัย หากดูการออกโรงเสมือนว่าต่างคนต่างทำ ไม่เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน
แต่สัมพันธ์กัน

นั่นสะท้อนให้เห็นว่า ยังมีศูนย์บัญชา การใหญ่ศูนย์บัญชาการ 1 ซึ่งวางแผน บงการและเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ
หากไม่เป็นกระบวนการ คนระดับ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ คงไม่สำแดงตัว 
นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการฟ้องร้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญเสมอเป็นเพียงจังหวะก้าว 1 เป็นความต่อเนื่องจากภาวะเพลี่ยงพล้ำและพ่ายแพ้จากที่ประชุมรัฐสภา 
หากไม่ไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไปที่ศาลปกครอง 
หากไม่ไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ไปที่คณะกรรมการ กกต. ก็ไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
ทุกองคาพยพเหมือนเคลื่อนไหวอิสระ แต่ก็เกี่ยวเนื่อง ยึดโยงและสัมพันธ์กันอยู่ 
แยกกันเดิน รวมกันตี


หากจับจากปรากฏการณ์ของโหราพยากรณ์ การส่งเสียงอึกทึกในวันศุกร์ 13 เสมอเป็นเพียงบาทก้าว 1 ที่ยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด 
ยังมีหมากอีกตาก่อนจะผ่านเดือนสิงหาคม 2555 
หากผ่านจังหวะก้าวเหล่านี้ไป เป้าหมายของการพิชิตศึกอย่างแท้จริงกำหนดอยู่ที่เดือนธันวาคม 2555 
สิงหาคม สะสม ธันวาคม คอขาด

จังหวะก้าวเหล่านี้สัมผัสปฏิกิริยาโต้กลับได้จากการแสดงออกของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน สัมผัสได้จากบางส่วนภายในพรรคเพื่อไทย สัมผัสได้จากบางส่วนของสมาชิกบ้านเลขที่ 111 อันถือได้ว่าเป็น ฮาร์ดคอร์ 
แต่หากเป็นรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอากัปกิริยาการสำแดงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ยากจะจับต้องและสัมผัสได้ 
เห็นได้จากการกำหนดสมาธิอย่างมั่นแน่ว เฉพาะวันที่ 13 กรกฎาคม ก็ขึ้นเครื่องบินไปเป็นองค์ปาฐกหลักในการประชุม สภาหอการค้าอาเซียน-สหรัฐ และหอการค้าสหรัฐ จัด ณ จังหวัด เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เหมือนไม่อะไรเกิดขึ้น
ลีลาดั่งหงส์


นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นมา ความพยายามในการโค่นล้มรัฐบาลดำเนินไปด้วยความเข้มข้น
เป็นความเข้มข้นด้วยกระบวนยุทธ์ "ตุลาการภิวัฒน์" อาศัยกฎหมายและองค์กรอิสระเป็นเครื่องมือ หากกระทำการไม่สำเร็จอาจต้องใช้อาวุธเก่าแก่ดึกดำบรรพ์อีกคำรบหนึ่ง
ภายใต้รหัส "68 77 7" 




++

รัฐบาลลูกไก่ในกำมือ
ในประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ updated: 15 ก.ค. 2555 เวลา 13:02:08 น.
( www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1342331991&grpid=09&catid=16&subcatid=1600)


การเคลื่อนไหวทั้งบนดินและใต้ดินของเครือข่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังมีจุดมุ่งหมาย 2 ปลายทาง
ทางแรก ใช้เครือข่ายฝ่าย "แดงอำมาตย์" เจรจากับกลุ่มอำมาตย์ ด้วยการเปิดทางให้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" และฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อไทยบริหารได้อย่างราบรื่น ไม่ติดล็อกขั้นตอนกฎหมาย 
ทางที่สอง ใช้แนวร่วมมวลชน "เสื้อแดง" เคลื่อนไหวกดดันฝ่ายอำมาตย์ ให้ "ถอย" ห่างไปจากโครงสร้างอำนาจ ทั้งในฝ่ายองค์กรอิสระ และฝ่ายตุลาการ
ทั้ง 2 ปลายทาง เพื่อเป้าหมายเปิดทางตรงให้ "น.ส.ยิ่งลักษณ์" ทะลุถึงเป้าหมายการเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างราบรื่น ครบวาระ เพื่อเป้าหมายทางอ้อมให้ พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการคลี่คลายทางคดี และได้เริ่มต้นชีวิตทางการเมือง มีอำนาจอีกหน

การพาดพิงอ้างถึงการเจรจาระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณกับกลุ่มคน ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ใช้สรรพนามว่า "ข้างบน" หรือ "พวกเขา" จึงไม่ใช่ไม่มีที่มา
แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า มีวงในเจรจาระหว่างตัวแทนฝ่าย "อำมาตย์แดง" กับตัวแทนฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณจริง วาระที่ถูกยกขึ้นโต๊ะเพื่อต่อรอง คือการปิดสมัยประชุมสภา กับถอนวาระปรองดอง แลกกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างราบรื่น 
แต่เมื่อฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณมีอาการชักเข้า-ชักออก วาระทั้ง 3 คือแก้ไขรัฐธรรมนูญคั่นกับวาระปรองดอง และพยายามจะถ่วงถ่างเวลาการปิดสมัยประชุมสภา ทำให้ฝ่าย "แดงอำมาตย์" ผิดคำพูดกับเครือข่ายอำมาตย์ด้วยกัน 
เกมเจรจาลับจึงล้ม

แหล่งข่าวอีกรายให้ความเห็นจากความเชื่อว่า การเจรจาจะไม่มีทางสำเร็จ และไม่เป็นผลดีกับฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ และตัวแทนฝ่าย "อำมาตย์แดง" ไม่ใช่เป็น "พวกของจริง" มีแต่พวก "อ้างถึง" 
การดึงเกมกันระหว่างฝ่ายอำมาตย์ตัวจริง กับ พ.ต.ท.ทักษิณตัวเป็นเป็น จึงยังต้องต่อเวลาไปอีกระยะ 
ย่อมหมายถึงฝ่ายแดงเพื่อไทยยังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล้มกระดาน 
คนในบ้านเลขที่ 111 ที่เพิ่งพ้นโทษการเมือง วิเคราะห์ว่า หากยังไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยและพวกจะยังต้องเผชิญหน้ากับวาระเสี่ยง ดังนี้ 
วาระแรก เสี่ยงต่อการถูกยื่นยุบพรรคการเมือง 
วาระที่สอง เสี่ยงต่อการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะ 
วารที่สาม เสี่ยงต่อการถูกยื่นให้มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ


ทำให้สภาพรัฐบาลเพื่อไทย แม้มีเสียงข้างมาก แต่เป็นเสียงข้างมากที่ตกเป็นลูกไก่ในกำมืออำมาตย์ 
หากรัฐบาลลูกไก่ในกำมืออำมาตย์ ไม่ทำตามข้อเสนอของคนเสื้อแดง ก็จะถูกบีบจนยากจะหายใจ 
แต่ถ้ารัฐบาลลูกไก่มีจุดมุ่งหมายอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายประชาธิปไตย ก็จะมีจุดแข็ง สามารถปีกกล้า ขาแข็ง จิกมืออำมาตย์ให้ผ่อนคลายมือออกได้เป็นระยะ
สมมติฐานรัฐบาลลูกไก่ ถูกไขรหัสโดย "จาตุรนต์ ฉายแสง" แกนนำทางความคิดสายเพื่อไทย ที่อธิบายปรากฏการณ์รัฐบาลลูกไก่ไว้ว่า "จุดแข็งอยู่ที่ประชาชน ตราบที่รัฐบาลยังได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ประชาชนก็ไม่เลือกพรรคที่สนับสนุนฝ่ายชนชั้นนำ หรือฝ่ายอำมาตย์ และเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ฝ่ายชนชั้นนำแก้ไม่ตก"

พ.ต.ท.ทักษิณเคยปราศรัยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนต์เข้ามาที่พรรคเพื่อไทย และในเวทีชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า "พี่น้องต้องไม่กลับบ้านมือเปล่า" 
เช่นเดียวกับการเสี่ยงของฝ่ายชนชั้นนำ ที่หนุนให้ฝ่ายตุลาการ "ปราม" ฝ่ายเพื่อไทย ย่อมไม่เสี่ยงและเปลืองตัว จ่ายต้นทุนมือเปล่า 
การวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเกมที่ต่างฝ่ายต่างต้องมีต้นทุนที่ต้องจ่าย 
สอดคล้องกับความเห็นของ "จาตุรนต์" ที่ว่า "เวลานี้เขาเสื่อมไปมาก จากการเล่นเกมขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมเข้าใจว่าเขาคงคิดว่าการจะได้อะไรมาต้องลงทุน ต้องแลก แต่เมื่อยอมลงทุนไปมาก ยอมเสียหายไปมากแล้ว จะให้กลับมือเปล่าคงไม่ได้ แต่ถ้าทำแบบเดิมต่อไปมันก็จะเสื่อม"

การเมืองเวลานี้ ยากที่ฝ่าย พ.ต.ท. ทักษิณจะได้กำไรฝ่ายเดียวทั้ง 2 ทาง เช่นเดียวกับฝ่ายอำมาตย์-ชนชั้นนำยากที่จะเอาชนะ พ.ต.ท.ทักษิณไปอย่างไม่ต้องเสียต้นทุน 



++

หมากเกม การเมือง / ผลัก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ / ชู ชวน หลีกภัย แทน
ในข่าวสด ออนไลน์ วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น. 



การปรากฏนามของ นายชวน หลีกภัย ขึ้นมาในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไม่ธรรมดา
แม้ นายชวน หลีกภัย จะออกมาปฏิเสธพร้อมกับยืนยันโอกาสและความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองว่า
อิมพอสสิเบิ้ล?
กระนั้น ที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาดก็คือ เหตุปัจจัยอันใดทำให้ นายชวน หลีกภัย ต้องออกมาปฏิเสธด้วยตนเอง
หากว่าการร่ำลือจะเป็นเพียงภายในวงแคบๆ
ตรงกันข้าม การปฏิเสธเท่ากับยืนยันว่า กระแสข่าวการผลักดันนามของ นายชวน หลีกภัย ได้กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ขึ้นมา
นาครสนทนา


สภาวะที่เรียกว่าไม่ธรรมดาในกรณีของ นายชวน หลีกภัย ทะลุลอดเข้ามาเป็นแคนดิเดตในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแม้ว่าอายุจะ 70 กว่าๆ และใกล้หลัก 80
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
เข้าใจได้ในสถานะแห่งเกียรติภูมิส่วนตัวของ นายชวน หลีกภัย ที่เป็นนักการเมืองน้ำดี ซื่อสัตย์สุจริต แม้จะอ่อนด้อยในเรื่องการบริหาร แต่ไม่มีใครสามารถตำหนิได้ในเรื่องมือสะอาด
กาแฟแก้วเดียว? ก็ไม่เคยเลี้ยงใคร
ยิ่งกว่านั้น การดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 สมัย และการได้รับเลือกตั้งจากประชาชนจังหวัดตรังอย่างต่อเนื่อง คือเครื่องการันตีอันยอดเยี่ยม


แต่ก็มีผลสะเทือน
ผลสะเทือนอย่างสำคัญมิใช่เพราะกระแสข่าวนี้ยืนยันถึงการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายในการพยายามโค่นล้มและทำลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
หากแต่อยู่ที่ประเด็นเกี่ยวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นี่เท่ากับเป็นการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมอีกคำรบหนึ่งว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโอกาสที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2
ยากและยากส์


แสดงว่ากลุ่มพลังทางการเมืองที่เคยร่วมมือกันทำรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และใช้ตุลาการภิวัฒน์เล่นงานพรรคพลังประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2551
ไม่เอา อภิสิทธิ์?


ปฏิบัติการโค่นล้มและทำลายความชอบธรรมรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังดำเนินต่อไป
เห็นได้จากยังไม่ทันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีก๊อก 2 เล่นงาน 418 ส.ส.และส.ว.ไปนอนรออยู่ในแฟ้มแล้วเสร็จสรรพ
ไล่ไม่เลิก
( www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNME1qRXdOekF6TUE9PQ==&catid= )


.