http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-06

อำนาจรัฐ อำนาจศาล อำนาจ รธน., ลึกไม่ลับ6 ก.ค.55

.
รายงานพิเศษ - กรุ่นกลิ่นย้ายทหาร สะท้านน้ำ-ฟ้า-ฝั่ง ศึกยังเติร์ก ศึกนักบิน เมื่อ "บิ๊กเฟื่อง" การันตี "ผมเลือกคนไม่ผิด"
คอลัมน์ โล่เงิน - เปิดใจ "คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง" ไม่หวั่นสารพัดม็อบ เร่งรัด "จราจร-ขบวนเสด็จ"


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

อำนาจรัฐ อำนาจศาล อำนาจรัฐธรรมนูญ
คอลัมน์ ในประเทศ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 9


แม้ ด้านหนึ่ง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกชี้หน้ากล่าวหาด้วยข้อหาฉกรรจ์ ว่าเป็น "เผด็จการรัฐสภา" 
อยากจะได้อะไรก็อ้างเสียง ส.ส. 265 ที่นั่ง และคะแนนเสียงที่ได้จากประชาชน กว่า 15 ล้านคน แบบ "เสียงข้างมากลากไป"

แต่ในความเป็นจริง รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถทำอะไรตามอำเภอใจ ได้จริงหรือไม่
นี่เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา

พิจารณาเนื่องจาก ในท่ามกลางข้อกล่าวหาอันร้ายแรงถึงขั้นเป็นเผด็จการรัฐสภานั้น
อีกด้านหนึ่ง ในรัฐบาลเสียงข้างมากดังกล่าวกลับมากด้วย "ความกลัว" 
ตั้งแต่กลัวธรรมดา ไปถึงกลัวขั้นลนลาน 
จนเกิดสภาพต้องยอม "ถอยแล้วถอยอีก" ในหลายกรณี

ถอยเพื่อที่จะไม่ให้เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับรัฐบาล นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา 
ไม่ว่าการล้มครืนของรัฐบาล "เสียงข้างมาก" ของ นายสมัคร สุนทรเวช เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากไปออกรายการทีวีเกี่ยวกับการทำกับข้าว 
การล้มครืนของ "รัฐบาลเสียงข้างมาก" นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่ากรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง จึงให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหาร 
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จึงหมดสิทธิทางการเมือง และตกเก้าอี้ไปในเวลาอันรวดเร็ว 

นี่คือชะตากรรมของพรรคพลังประชาชน ที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. มาจำนวนมากเป็นอันดับ 1
แต่เป็นอันดับหนึ่ง ที่ไร้ความหมายหมาย เพราะถึงจะชนะการเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลก็จริง แต่ไม่สามารถบริหารได้อย่างราบรื่น
นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า "อำนาจรัฐ" ในมือของรัฐบาลเสียงข้างมากจากพรรคพลังประชาชน ถึงเพื่อไทย มีปัญหา 
ไม่สามารถดำรงความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่จะทำตามสิ่งที่ต้องการได้

ยังคงมี อำนาจอื่น และ กลไกอื่น ที่เหนือกว่า
และพร้อมจะแสดงแสนยานุภาพให้เห็น อยู่ตลอดเวลา



กล่าวสำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เอง ณ วันนี้ ก็ยังคงอยู่ในบ่วงโซ่ขององค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 คือ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ในประเด็น ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ 
ซึ่งว่าตามข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องไม่ควรยืดเยื้อ 
แต่วันนี้เสียงที่เราได้ยิน จากผู้ตรวจการแผ่นดินก็คือ ถึงแม้เรื่อง "ชั้น 7 โฟร์ซีซั่นส์" จะไม่ส่อไปในทางชู้สาว แต่อาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
เรื่องจึงไม่จบ และพร้อมจะเป็นประเด็นทางการเมืองฟาดฟัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ตลอดเวลา

เช่นเดียวกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้คำนึงประเด็น "จริยธรรม" อย่างเพียงพอ ในกรณีที่แต่งตั้ง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย เป็นรัฐมนตรี ก็พร้อมจะ "ขึ้นแท่น" ให้เป็นเรื่อง ได้ทุกเมื่อ

เหมือนกับที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ต้องคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้พ้นจากสมาชิกภาพการเป็น ส.ส. ซึ่งก็เหมือนกับเป็นการล่ามโซ่เอาไว้ล่วงหน้า ไม่ให้นายจตุพร ถูกแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แม้กฎหมายจะไม่ห้าม แต่หลายคนก็เชื่อว่า ทันทีที่นายจตุพร ได้รับการแต่งตั้ง ประเด็นของนายณัฐวุฒิ ก็จะถูกยกขึ้นมาเทียบเคียงทันที 
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีโซ่อีกเส้นที่ล่ามนายจตุพรเอาไว้ เมื่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไปยื่นเรื่องต่อศาลอาญา ขอให้ถอนประกันนายจตุพร ฐานข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนายจตุพร ต้องกลับเข้าคุก เส้นทางสู่การเป็นรัฐมนตรี ก็ยิ่งยากเป็นทวีคูณ 

เหล่านี้ บ่งบอกชัดเจนว่า บทบาทขององค์กรอิสระ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 คือขวากหนามสำคัญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และคนใกล้ชิด  
ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่นี้ 
งานของ คตส. ที่วันนี้อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของ ป.ป.ช. ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เรื่อง ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทกฤษดามหานคร ที่อยู่ในมือของอัยการสูงสุด ก็มี "ชีวิต" ขึ้นมา เมื่ออัยการสูงสุดส่งฟ้องศาลโดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย 
นี่คือ สิ่งที่เกิดขึ้น และดำรงอยู่ โดยที่ "อำนาจรัฐ" ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถดูแลจัดการได้

หรือพูดง่ายๆ ไม่อาจ "รุก"
แถมยังต้องถอย เพื่อหาทางออกอย่างไม่มีทางเลือก


สภาพที่ อำนาจรัฐ ในมือของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่อาจบังคับใช้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งชัดเจนอีกเรื่อง
ก็คือ แม้แต่จะร่วมกับนาซาในการสำรวจเรื่องเมฆ ลม ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ รัฐบาลยังไม่สามารถทำได้

ไม่สามารถทำได้ ก็เนื่องมาจากความหวั่นเกรงที่จะถูกฝ่ายค้านและฝ่ายตรงกันข้าม ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องดังกล่าว เข้าข่ายมาตรา 190 ที่รัฐสภาจะต้องเห็นชอบก่อน ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่ 
ทั้งที่เรื่องนี้ ทุกฝ่ายยืนยันว่าเป็นเรื่อง "วิทยาศาสตร์" ล้วนๆ และกฤษฎีกาชี้ว่า ไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าเดินหน้า
ด้วยไม่มั่นใจว่าหากเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
ซึ่งจะบอกว่า รัฐบาลกลัว ก็คงจะใช่

เพราะมี "ตัวอย่างสำคัญ" วางให้เห็นอยู่ตรงหน้า นั่นก็คือ เรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 ที่ต้องชะงักงัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญสั่งระงับเอาไว้ แม้จะมีแรงผลักดันให้รัฐบาลเดินหน้า เพราะถือว่าเป็นการก้าวก่ายงานของนิติบัญญัติ
แต่รัฐบาล และสภา ที่พรรคเพื่อไทยครองเสียงข้างมาก ก็ไม่อาจ "ฝืน" ได้ และจำต้องถอย 
ถอยด้วยการยอมไม่ลงมติ และกำลังลุ้นระทึกว่าเรื่องนี้จะออกมาอย่างไร  
ซึ่งก็คงเหมือนเรื่องร้อน คือ "พ.ร.บ.ปรองดอง" ที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน  
นั่นคือ ไม่อาจใช้ "เสียงข้างมาก" ผลักดันได้ เนื่องจากมี "ขวากหนาม" ขวางกั้นเอาไว้อย่างแน่นหนา



ถามว่า นี่คือพลานุภาพของรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ถึงขนาดถูกกล่าวหาเป็น "เผด็จการรัฐสภา" หรือไม่ 
ดูภาวะที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องถอยแล้วถอยอีกแล้ว น่าจะเป็นคำตอบได้ดีว่า "อำนาจรัฐ" ในมือของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างไร 
แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี 
จะได้เป็นผู้นำในฝ่ายบริหาร 
จะกุมเสียงข้างมากในสภา
แต่ก็มิได้หมายความว่ารัฐบาลจะเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น 
ยังคงมีอำนาจอื่น กลไกอื่น ที่เข้ามาขัดขวาง ถ่วงดุลอยู่ตลอดเวลา 
โดยเฉพาะอำนาจจากศาล จากศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เอง ที่เกี่ยวเนื่องถึงองค์กรอิสระ ที่ได้ถูกออกแบบ และจัดวาง โดยกลไกการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพื่อสกัดกั้นทุกวิถีทางที่จะไม่ให้รัฐบาลชุดนี้และที่ผ่านมา ยึดกุมอํานาจรัฐและกลไกแห่งอำนาจรัฐได้อย่างสมบูรณ์ ครบถ้วน

ซึ่งก็ดูได้ผล 
รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขยับขับเคลื่อนอะไรแทบไม่ได้ 
เมื่อคิดจะ ปรับ รื้อ แก้ไข ก็เจอการต่อต้านขัดขวางอย่างหนักหน่วงรุนแรง 
จึงต้องนั่งลุ้นใจระทึก ในตอนนี้ ว่าจะรอดข้อหาฉกรรจ์ "ล้มล้าง และเปลี่ยนแปลงการปกครอง" ได้หรือไม่! 



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 8


เหมือนพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก พรรคเพื่อไทยที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น คุมทั้งอำนาจรัฐบาล คอนโทรลทั้งรัฐสภา ยามนี้ทำท่าจะเดี้ยงไปทุกทาง

ว่าไปจากเกมการเมืองในอดีตเป็นบทเรียนให้ฝ่ายยุทธศาสตร์พรรควางกลยุทธ์บริหารอำนาจไว้เป็นอย่างดี 
เริ่มต้นจากเตรียมตัวตั้งรับไว้ถึงระดับถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคถูดตัดสิทธิทางการเมือง โดยให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกตัดสิทธิไปด้วย เพราะเป็นแค่ผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์หมายเลข 1 ของพรรค ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหาร 
แม้พรรคจะล่มสลายอีกครั้ง แต่สิทธิทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีจะยังอยู่

ส.ส. ของพรรคสามารถไปรวมตัวกันตั้งพรรคใหม่ได้ ใครที่ไม่ไปด้วยจะหมดสภาพ ส.ส. เพราะก่อนสมัครทุกคนเขียนใบลาออกมอบให้ผู้บริหารพรรคไว้เรียบร้อยทุกคน 
อย่างมากก็แค่เลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งมั่นใจว่าคนของพรรคจะไม่พ่ายแพ้ คือยังรักษาความเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภาไว้สนับสนุน "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้

แต่งานนี้ไม่ใช่แค่นั้นเสียแล้ว เพราะว่าคำร้องที่ฝ่ายต่อต้านยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองของประเทศ" คำร้องเขียนโยงไปถึงตัวบุคคลที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เป็นรัฐบาล และพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล 
หมายความว่าหากจะตีความว่าคณะรัฐมนตรีทั้งหมด รวมทั้ง ส.ส.-ส.ว. ที่ยกมือโหวตผ่านญัตติแก้ไขรัฐธรรรมนูญทั้งหมดมีความผิดฐานล้มล้างการปกครองก็ย่อมได้ 
ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าออกมาในรูปนี้แปลว่า "ล้างทั้งรัง" แบบปฏิบัติการของ "บริษัทกำจัดปลวก"

แปลว่าแผนรับมือที่สร้างโมเดลจากบทเรียนในอดีต "เอาไม่อยู่" เกมของฝ่ายตรงกันข้ามเจาะทะลุทะลวงครอบคลุมได้ชนิดเกินจินตนาการของฝ่ายยุทธศาสตร์เพื่อไทย 
พลาดในระดับยุทธศาสตร์ไปเรื่องหนึ่งแล้ว  

อีกยุทธศาสตร์หนึ่งคือให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" แยกตัวออกมาจากเกม ให้เป็น "ผู้นำฝ่ายบริหาร" โดยโยนเรื่องราวทางการเมืองทั้งหมดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา 
เกมนี้เหมือนจะไม่มีความผิดพลาดอะไร  
รัฐสภาเป็นผู้รับการปะทะทางการเมืองไว้ทั้งหมด ให้ "ยิ่งลักษณ์" ลอยตัวจากความขัดแย้งได้  
แต่ปัญหาอยู่ที่การสร้างผลงานของรัฐบาล  
ที่หนักสุดเป็นเรื่อง "อุทกภัย" ทันทีที่เข้ามาเป็นผู้นำประเทศเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์สร้างความสูญเสียมหาศาล ซ้ำยังถูกกล่าวหาโจมตีว่าเป็นการบริหารงานผิดพลาด

แม้จะอ้อมแอ้มพารัฐนาวาฝ่ากระแสถล่มรุนแรงมาได้ด้วยการทำงานหนัก จนประชาชนให้โอกาสเพราะเห็นใจว่ายังเป็นมือใหม่ และมีปัจจัยความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ที่ไม่เต็มที่เข้ามาเป็นตัวแปร แต่นั่นหมายถึงผิดพลาดซ้ำสองไม่ได้ 
การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์จะต้องมีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม 
"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ตั้งองค์กรประสานงานขนาดใหญ่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ทุ่มเทงบประมาณไปมหาศาล เพื่อหวังว่าจะเห็นภาพการเตรียมพร้อมอันเป็นที่ประทับใจของประชาชน  
แต่เอาเข้าจริง เวลาผ่านเลยมาเนิ่นนานจนเข้าฤดูมรสุมอีกครั้ง 
แทบไม่มีงานไหนที่คืบหน้าไปอย่างที่วาดหวังวางแผนไว้เลย

และนี่เป็นเหตุให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ควันออกหูในที่ประชุม ครม. อังคารที่ผ่านมา เพราะจากรายงานของเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 
ไม่มีกระทรวงไหนทำให้ "นายกรัฐมนตรี" พออุ่นใจได้สักกระทรวงเดียว



มีความเคลื่อนไหวหนึ่งในหมู่ผู้พิพากษา และอัยการ คือการตั้งวงถกกันถึงเรื่อง "เงินโบนัสข้าราชการ" 
เรื่องของเรื่องก็คือ เมื่อ "ศาล" ถูกยกมาเป็นข้าราชการพิเศษ มีฐานเงินเดือนมากกว่าข้าราชการพลเรือนทั่วไป 
และต่อมาอัยการเดินตามศาล กำหนดฐานเงินเดือนขึ้นมาเทียบเท่า 
หลังจากนั้น ผู้พิพากษาจำนวนมากไม่ได้เพิ่มเงินเดือนมาเนิ่นนาน และเงินเดือนเต็มขั้น

มาถึงช่วงนี้ รัฐบาลเห็นว่าข้าราชการพลเรือนทั่วไป มีรายได้น้อย จึงมีนโยบายจ่ายโบนัส หรือเรียกว่า "เงินเพิ่ม" 
ก่อนหน้านั้นเป็นการจ่ายตามที่รัฐบาลเห็นสมควร 
แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่พัทยาวันก่อน ครม. ได้มีมติว่า ต่อไปนี้ในเรื่องเงินเพิ่มประจำปี หรือเรียกง่ายๆ ว่า "โบนัส" นั้น ให้แต่ละกระทรวงเสนอมาในการเสนอของบประมาณประจำปีเลยว่า จะเพิ่มเท่าไร 
เพื่อให้ ครม. พิจารณา อนุมัติ 
มติดังกล่าว ครม. ให้เฉพาะข้าราชการพลเรือนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับศาลและอัยการ

และนี่เองที่ทำให้ผู้พิพากษา มาตั้งวงถกกัน ว่าจะหาทางอย่างไรให้รัฐบาลได้ทบทวนโบนัสนี้มาถึงศาลและอัยการบ้าง 
เพียงแต่ว่า เป็นผู้พิพากษา ต้องวางตัวให้เป็นที่น่าเชื่อถือ 
การจะออกมาโวยวาย หรือเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างครึกโครม 
เป็นเรื่องมิพึงกระทำ

แต่รู้สึกไม่ยุติธรรม ก็ต้องส่งข่าวความรู้สึกนี้ไปถึงรัฐบาลอย่างลับๆ 



+++

กรุ่นกลิ่นย้ายทหาร สะท้านน้ำ-ฟ้า-ฝั่ง ศึกยังเติร์ก ศึกนักบิน เมื่อ "บิ๊กเฟื่อง" การันตี "ผมเลือกคนไม่ผิด"
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 15


ไม่ว่า บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต จะเป็น รมว.กลาโหม ต่อ หรือว่าจะเปลี่ยนเป็นใครก็ตาม แต่ บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ได้กระซิบบรรดา ผบ. 3 เหล่าทัพ เตรียมจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายทหารแล้ว และกำหนดให้ส่ง 15 สิงหาคมนี้ เพื่อที่จะส่งให้ รมว.กลาโหม และนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เสร็จทันภายในกลางกันยายน 
ที่สำคัญครั้งนี้มีการกำหนดเลยว่า จะให้นายทหารเตรียมทหารรุ่นใดขึ้นไปบ้าง ที่สามารถให้เป็น พลเอก พลโท และพลตรี ได้ เช่น พลเอก จะต้องเป็น ตท.14 ขึ้นไป ส่วน พลโท รุ่นไม่เกิน ตท.15 
โดยมีรายงานว่า มติของคณะผู้บัญชาการทหาร ที่มี ผบ.สส. และ ผบ.เหล่าทัพ ประชุมกันเมื่อ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะให้ถึงคิวของเตรียมทหารรุ่น 20 กันแล้ว เพราะไม่อย่างนั้น แต่ละเหล่าทัพจะตั้งนายพลกันเสรี แต่ก็เปิดช่องสำหรับ fast track ได้ในบางกรณี
แต่กฎเกณฑ์นี้ไม่รวมถึงการโยกย้ายในส่วนของสำนักปลัดกลาโหม และสำนัก รมว.กลาโหม ที่ก็แต่งตั้งกันตามสะดวก
เพราะ ตท.24 อย่าง พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง และ เสธ.หมู พล.ต.สุเมธ พรหมตรุษ ตท.28 สองคู่เขย ก็เป็นพลตรีคนแรกของแต่ละรุ่นไปแล้วนั้น ก็เพราะคอนเน็กชั่นพิเศษ ทั้งกับ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกลาโหม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี


โดยพลัน ก็มีคนนึกถึงนายทหารคนดังอย่างน้อย 2 คน คนแรกคือผู้การแดง พ.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ รอง ผบ.พล.1 รอ. แกนนำยังเติร์ก ตท.20 อดีต ผบ.ร.11 รอ. ที่เป็นหนังหน้าไฟให้ ผบ.ทบ. มาหลายคนในการเคลื่อนไหวปกป้อง และกรำศึกกับคนเสื้อแดงมาตลอด จะได้รับการตอบแทนหรือไม่ หลังจากที่เก็บตัวเงียบทำงานลับๆ เป็นเกือบปี เพราะต้องลดบทบาทตัวเองในช่วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
ที่มีรายงานว่า บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. ก็หาจังหวะที่จะช่วยดูแลอยู่ ที่อาจจะเป็นพลตรี ในตำแหน่งหลักเลย แต่อาจถูกโจมตีหากขึ้น ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.)คุมกำลังปฏิวัติ แทน บิ๊กโชย พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เลย
จึงอาจต้องเป็นพลตรี ในตำแหน่ง ผบ.หน่วย ระดับ จังหวัดทหารบก หรือมณฑลทหารบก ก่อนเพื่อรอจังหวะย้ายระนาบกลับมาเป็น ผบ.พล.1 รอ. ในอนาคต เพื่อลดกระแสต้าน เพราะคนเสื้อแดงยังคงจ้องจับตาอยู่


แต่สำหรับ เสธ.ไก่อู พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ทบ. ซึ่งเป็น ตท.23 ก็คงต้องรอต่อไปอีก แม้ว่าผลงานตอนเป็นโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะมากมายนัก แต่ทว่า ตอนนี้เป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ต้องพยายามเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ค่อยออกมาแถลงข่าว 
อาจกล่าวได้ว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เองก็อยากลดบทบาท พ.อ.สรรเสริญ เพราะเกรงพลาดไปบาดตาบาดใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง หากไปแถลงข่าวในประเด็นการเมือง ที่อาจทำให้อุณหภูมิกองทัพกับรัฐบาลระอุ เพราะภาพของ เสธ.ไก่อู กลายเป็นโฆษก ศอฉ. มากกว่าเป็นโฆษก ทบ. ไปแล้ว 
แม้ว่าบางส่วนจะมองว่า เสธ.ไก่อู เปลี่ยนไป หลังการให้ปากคำในคดีสลายเสื้อแดง และผังล้มเจ้า ที่โยนใส่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผอ.ศอฉ. ในเวลานั้น 
ส่วนเจ้าตัวเอง ก็อยากลดบทบาท ก็เพราะเกรงว่า จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนขั้วอำนาจรัฐ อีกทั้งในระยะหลัง เขากลับไปมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ เสธ.ไอ๊ซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต เพื่อนซี้ ตท.10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลูกพี่ทหารม้าเก่า ผู้มีพระคุณอีกครั้ง 
แถมทั้งในตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ก็ทำให้ พ.อ.สรรเสริญ ไม่มีเวลาพอที่จะมานั่งแถลงข่าวด้วยตนเอง เพราะปกติจะแถลงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองและกรณีใหญ่ๆ เท่านั้น

ระยะหลังๆ นี้ พ.อ.สรรเสริญ ซึ่งยังคงได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ ก็จึงแบ่งงานให้ทีมโฆษกคนอื่นๆ เช่น เสธ.ต๊อด พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษก ทบ. และ ผู้พันเบิร์ด พ.ท.วันชนะ สวัสดี ชี้แจงแทน โดยเฉพาะ พ.อ.วินธัย ที่ได้แถลงชี้แจงเรื่องการเมืองและเสื้อแดงแทน ขณะที่ทีมโฆษกคนอื่นๆ จะชี้แจงเรื่องของกองทัพ และแถลงผลการประชุมหน่วยขึ้นตรง ทบ. ประจำทุกเดือน 
จนทำให้เกิดข่าวลือว่า อาจมีการเปลี่ยนตัวโฆษก ทบ. พ.อ.วินธัย ซึ่งถือเป็นเด็กสร้างของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ แต่ด้วยเพราะเป็นดารานักแสดง และแถลงแต่เรื่องการช่วยน้ำท่วมและงานพีอาร์ของ ทบ. จึงอาจยังไม่ "คม" เท่า เสธ.ไก่อู ในประเด็นการเมือง และการตอบคำถาม จึงทำให้บิ๊ก ทบ. ยังไม่กล้าเปลี่ยนตัว เพราะ พ.อ.สรรเสริญ นั้นถือว่า สุดยอด หาใครเทียบได้ยาก 
พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ยังไม่กล้าดันขึ้นนายพล เพราะเกรงรัฐบาลเพื่อไทยและคนเสื้อแดงจะค้อน จึงอ้างว่า ยังไม่ถึงเวลาของ ตท.23 เพราะเป็นพันเอกพิเศษก็ถือว่าเร็วแล้ว ในขณะที่ ตท.24-25 ยังเป็นผู้บังคับการกรมกันอยู่เลย 
"ถือว่าเร็วแล้ว เดี๋ยวค่อยตอบแทนกันทีหลัง อย่าคิดว่าทำนี่แล้วต้องได้นี่คืนแน่นอน คนไทยไม่ใช่อย่างนี้ ถ้าคิดแบบนี้รับรองไม่ได้เป็นแน่นอน" พล.อ.ประยุทธ์ เตือน



แต่สำหรับการโยกย้ายใหญ่ ก็ยิ่งน่าจะดุเดือด เพราะแต่ละเหล่าทัพ หมายชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม เนื่องจาก บิ๊กกี๋ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหม นั้นมีอายุราชการถึงปี 2558 จึงอาจหาคนมาขัดตาทัพไปก่อน 1 ปี  
ส่วน บิ๊กอ๊อด พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ บูรพาพยัคฆ์ น้องรัก บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ก็คงถูกดองอยู่ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษากลาโหมต่อไปจนเกษียณปีหน้า 
โดย บก.กองทัพไทย พล.อ.ธนะศักดิ์ จะส่งชื่อ บิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสธ.ทหาร มาชิง ปลัดกลาโหม และมีข่าวว่า กลาโหม จะส่ง บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก (ตท.14) ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม กลับไปเป็น เสธ.ทหาร ทำงานถนัดทั้งเรื่องเพื่อนบ้านและการทหารระหว่างประเทศ เพื่อจ่อเป็น ผบ.สส. ในอนาคตอันใกล้ 
แต่ก็คงต้องสู้กับ บิ๊กจิ๋ว พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ รอง เสธ.ทหาร ที่ได้เปรียบเพราะเป็นเพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ธนะศักดิ์

ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะส่งทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 กับ บิ๊กเล็ก พล.อ.ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน (ตท.11) ผช.ผบ.ทบ. มาชิงเก้าอี้ปลัดกลาโหม เพื่อหวังจะเปิดช่องจัดห้าเสือ ทบ. ใหม่ 
โดยเฉพาะการดึง บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นมา เพื่อเตรียมตัวเป็น ผบ.ทบ. ต่อในปลายปี 2557 แล้วจะดัน บิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) รองแม่ทัพภาคที่ 1 อดีต ผบ.พล.ร.2 รอ. เหยื่อระเบิดสี่แยกคอกวัว ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 1 แทน 
ที่ดูเหมือนการเลือกตัวแม่ทัพนายกองของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจขัดใจคนเสื้อแดง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่น้อย เพราะทั้ง พล.อ.ดาว์พงษ์ และ พล.ต.วลิต ถือว่าอยู่ในแบล็กลิสต์ของคนเสื้อแดง โดยเฉพาะ พล.อ.ดาว์พงษ์ ที่ถูกพาดพิงว่าอยู่เบื้องหลัง ทั้งแผนปฏิวัติ หรือการล้มรัฐบาล มาตลอด ในฐานะมันสมองของ พล.อ.ประยุทธ์ และมือวางแผนปราบเสื้อแดง 
แม้แต่กรณีวางแผนล้มรัฐบาลที่โบนันซ่า ที่ นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงอุดรฯ ออกมาแฉ จน ทบ. ต้องออกมาชี้แจงตอบโต้ แล้ว พล.อ.ดาว์พงษ์ เองก็ต้องออกมาปฏิเสธด้วยตนเอง ว่าไม่เคยไป พร้อมโวย "ไม่ยุติธรรม"


ที่ต้องจับตาคือ โยกย้ายนี้จะพอรู้แล้วว่า บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ที่จะเกษียณตุลาคม ปี 2556 จะวางใครเป็น ผบ.ทร.คนใหม่ ที่เชื่อกันว่าจะยังเป็น ตท.13 ระหว่าง บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย และ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.พลวัฒน์ สิโรดม ที่ปรึกษาพิเศษ ทร. และ บิ๊กต้อม พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง ผช.ผบ.ทร.  
หรืออาจเป็นม้ามืดที่ขยับขึ้นติดยศ พลเรือเอก แล้วจ่อขึ้น ผบ.ทร. เลย อย่าง พล.ร.ท.จักรชัย ภู่เจริญยศ รอง เสธ.ทร. หรือ พล.ร.ท.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.รร.นายเรือ 
แต่ที่ร้อนขึ้นๆ ก็คือ การเลือก ผบ.ทอ.คนใหม่ ที่จะมาแทน บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ที่จะเกษียณ 30 กันยายนนี้ ที่เขาจะเสนอชื่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผช.ผบ.ทอ. (ตท.13) นักบินเอฟ น้องรักขึ้นเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ นั่ง 2 ปีอย่างสวย โดยมี ตท.13 ขยับแผงรองรับ

แต่ก็หวั่นไหวตรงที่ พล.อ.อ.สุกำพล ไม่ต้องการให้ทายาทอำนาจ คมช. อย่าง พล.อ.อ.ประจิน คุมอำนาจต่อ โดยจะดัน บิ๊กหนู พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ เกิดสุข รอง ผบ.สส. (ตท.11) เพื่อน ผบ.ทอ. เอง กลับมาเป็น ผบ.ทอ. หรือแม้แต่ ตท.12 จะดัน บิ๊กม้า พล.อ.อ.วินัย เปล่งวิทยา ผช.ผบ.ทอ. มาเป็นม้ามืด นั่งแม่ทัพฟ้า 1 ปี  
"ผมเชื่อว่า ผมเลือกไม่ผิด ถ้าผมเสนอใครขึ้นไปแล้ว ผมยังเชื่อว่า พี่โอ๋ (สุกำพล) คงไม่เปลี่ยน ข่าวที่ออกมาก็แค่ข่าว ผมยังเชื่อว่าท่านไม่ทำ" พล.อ.อ.อิทธพร สยบกระแส 
ทั้งๆ ที่ พล.อ.อ.อิทธพร รู้ดีว่า พล.อ.อ.สุกำพล รู้สึกอย่างไรกับเขา แม้เวลาพบหน้าจะยิ้มแย้มแจ่มใสกันดี แต่ลึกๆ ต่างก็มีแผลในใจ ที่เกิดจากการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 อยู่ 
ยิ่ง พล.อ.อ.ประจิน ด้วยแล้ว การเป็นเต็งหนึ่ง ก็ทำให้กดดัน เมื่อมีแคนดิเดตเพิ่มมากขึ้น แถม พล.อ.อ.บุญยฤทธิ์ แม้จะเป็นนักบินลำเลียง ไม่ใช่เครื่องบินรบ ไฟเตอร์ แต่ก็ใกล้ชิดกับ ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะอดีตนักบินประจำตัวอีกด้วย จนทำให้กระแสล้างบางแผ่ไปทั่วทัพฟ้า หากบิ๊กหนู คัมแบ๊ก  
ที่สำคัญ พล.อ.อ.อิทธพร เองก็ตกเป็นข่าวเม้าธ์ ถูกโจมตีใน ทอ. มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การปล่อยให้ ทอ. น้ำท่วมมิด เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา จนทำให้เสียหายกว่าหมื่นล้าน และงบประมาณด้านต่างๆ ได้รับผลกระทบ



การจัดงาน 100 ปีการบินบุพการี ตลอดสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ที่มีการตระเวนบินโชว์ตามกองบินทั่วประเทศ และที่ดอนเมือง จนถึง 2 กรกฎาคม ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี มาร่วมงานพร้อม รมว.กลาโหม ผบ.เหล่าทัพ แบบพร้อมหน้าชุดใหญ่ นั้นจะได้รับเสียงชื่นชม 
แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ถูกมองว่า ไม่คุ้มค่างบประมาณ 16 ล้านบาท เฉพาะการจัดงาน ไม่นับรวมค่าน้ำมันเครื่องบิน เพราะเป็นวงรอบการฝึกอยู่แล้ว
ที่สำคัญการที่ พล.อ.อ.อิทธพร สั่งแขวนนักบินเอฟ 16 มือหนึ่งของทัพฟ้า อย่าง Hollywood หรือ น.อ.ระวิน ถนอมสิงห์ รอง ผบ.กองบิน 1 โคราช หลังจากวิพากษ์วิจารณ์เครื่องบินกริพเพ่น ในเฟซบุ๊ก จนถูกย้ายมาประจำกรมยุทธการ ทอ. และไม่ได้บินโชว์ในงาน 100 ปี ครั้งนี้ด้วย ทั้งๆ ที่ น.อ.ระวิน เป็นคนที่เตรียมงานมาตั้งแต่แรก 

แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำให้เกิดรอยร้าวในใจของนักบินเอฟ 16 กับนักบินกริพเพ่น หลังจากที่ในช่วงหลัง ทอ. ให้ความสำคัญและงบประมาณในการดูแลเครื่องบินกริพเพ่น เพราะกระแสความเห่อเครื่อง เจเนอเรชั่น 4.5 อย่างกริพเพ่น สวีเดน ที่มากลบ เอฟ 16 ไฟเตอร์สัญชาติอเมริกัน จนเงียบหายไป  
จนกลายเป็นเรื่องซุบซิบกันแซ่ดทัพฟ้า ไม่นับรวมปัญหาเครื่องบิน SAAB 340 AEW สำหรับ กริพเพ่น 6 เครื่องหลัง ที่ยังไม่อาจส่งมาเมืองไทยได้ ทั้งๆ ที่ ผบ.ทอ. ไปลงนามรับมอบเข้าประจำการแล้ว เพราะทางอเมริกา ยังไม่อนุมัติอะไหล่บางตัวให้ เพราะต้องยอมรับว่า การที่ ทอ. ซื้อเครื่องบินสวีเดน แทนเอฟ 16 หลังการปฏิวัติ ทำให้อเมริกาเคืองไม่น้อย และอาจจะไม่ยอมเปิด Link 16 ให้เครื่องบิน Gripen
ระยะหลัง พล.อ.อ.อิทธพร จะพยายามไปร่วมงานของเอฟ 16 มากขึ้น เพราะอย่างน้อยเขาก็คือนักบินเอฟ 16 และเป็นผู้บังคับฝูงบิน 102 คนแรก ที่โคราช อีกด้วย แถมทั้งนักบิน กริพเพ่น ก็มาจากนักบินเอฟ ทั้งสิ้น
แต่เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็ยังไม่เงียบหายไปจากทุ่งดอนเมือง


เหลือแค่การเฝ้าจับตามองว่า พล.อ.อ.สุกำพล จะนั่งเก้าอี้ รมว.กลาโหม ไปจนจัดโผโยกย้ายครั้งนี้ได้หรือไม่ เพราะข่าวการปรับ ครม. ทั้งการดัน บิ๊กโอ๋เล็ก พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ รมว.กลาโหม ซึ่งก็เป็นเพื่อน ตท.10 และญาติของเขาเอง แถมใกล้ตัว ที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ เจ้าของฉายา "ว่าที่พ่อตา โอ๊ค" ขึ้นมาแทน หรือแม้แต่ข่าว น.ส.ยื่งลักษณ์ จะควบ รมว.กลาโหม เองก็ตาม
แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ค่อนข้างจะมั่นใจว่า จะได้อยู่จัดโผทหารให้เสร็จภายในสิงหาคม หรืออย่างช้า ต้นกันยายน เสียก่อน จากนั้นเพื่อนรัก หรือ พล.อ.เสถียร ปลัดกลาโหม ที่จะเกษียณจะขึ้นมาเสียบแทนก็ไม่ว่ากัน 
แต่ภาพความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดสนิทสนมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับผู้นำกองทัพ ทำให้ ผบ.เหล่าทัพเองเชื่อว่า ทั้งนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะไม่ล้วงลูกโผทหาร แต่ปล่อยให้เป็นอิสระของแต่ละเหล่าทัพ เช่นที่ผ่านมา 
ยิ่งเมื่อ พล.อ.ธนะศักดิ์ และ ผบ.เหล่าทัพ เชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาพบปะ ผบ.เหล่าทัพ ที่มีแผนประชุมคณะผู้บัญชาการทหาร เพื่อถกหลายเรื่อง ทั้งโผโยกย้ายทหาร งบประมาณ และชายแดนกันก่อน แล้วร่วมทานข้าวกลางวัน ที่ชั้น 6 บก.กองทัพไทย เมื่อ 2 กรกฎาคม ก่อนที่จะไปชมแอร์โชว์ งาน 100 ปีการบิน ทอ. ที่ดอนเมืองด้วยกันนั้น ก็เป็นสัญญาณที่ดี

แม้ในเบื้องแรก น.ส.ยิ่งลักษณ์ หมายใจจะเป็นประเพณี ทานข้าวกับ ผบ.เหล่าทัพ 2 เดือนครั้ง แต่เพราะ ผบ.เหล่าทัพติดภารกิจด่วนไปรับเสด็จฯ สุลต่านบรูไน ที่มาชมการทหารและการแสดงทางทหาร ที่ ร.11 รอ. จึงทำให้ไม่มีเวลาที่จะประชุมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้แค่ทานข้าวร่วมกันอย่างเร็วๆ เท่านั้น 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลือกสวมเสื้อสีชมพูเข้ม แม้จะสวมสูทดำทับ แต่ก็ขับผิวขาว ราวกับจะสื่อถึงความรัก และสร้างบรรยากาศหวาน ที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ในฐานะเจ้าภาพ ก็เลยเชิญทั้ง พล.อ.อ.สุกำพล และ บิ๊กอ๊อด พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ มาร่วมโต๊ะด้วย

มื้อกลางวันของนายกฯ ปู กับขุนทหารมื้อนี้ ราวกับจะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลิ้มรสการกินอยู่เรียบง่ายแบบทหาร ด้วยการให้ทานอาหารไทย น้ำพริกลงเรือ หมูทอด และต้มจืด ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเลิศหรูอะไร ซึ่งเป็นอาหารที่ ผบ.เหล่าทัพ ก็ทานกันทุกวันง่ายๆ แบบนี้
แต่ทว่า มื้อนั้นกลับสุดอร่อย เพราะรอยยิ้มหวาน แบบไม่ต้องใส่ผงชูรส ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พูดคุยอย่างอารมณ์ดีกับขุนทหาร ที่นับวันๆ จะยิ่งใกล้ชิด คุ้นเคยกันมากขึ้น อาการเคอะเขินและประหม่าของนายกฯ หญิง ท่ามกลางแม่ทัพนายกองขุนศึก ลดน้อยลงๆ จนกลายเป็น สวย หวาน แบบธรรมชาติๆ 
แต่จะหวานกันไปได้นานแค่ไหน ก็รอดูการโยกย้ายทหารครั้งนี้นี่แล



+++

เปิดใจ "คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง" ไม่หวั่นสารพัดม็อบ เร่งรัด "จราจร-ขบวนเสด็จ"
คอลัมน์ โล่เงิน ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 99


นั่งรักษาราชแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) ไม่ทันครบเดือน ท้ายที่สุดวันที่ 29 มิถุนายน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก็มีมติย้ายสลับขั้วให้ "บิ๊กแจ๊ด" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็น ผบช.น. ตัวจริง โดยโยก พล.ต.ท.วินัย ทองสอง เป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (ผบช.ภ.1) ด้วยเหตุผลอมตะ เพื่อความเหมาะสม 
หากแต่เป็นที่รู้กันว่า การโยกนอกวาระแต่งตั้งโยกย้ายระลอกนี้ผูกติดกับสถานการณ์การเมือง หลังไม่อาจเปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อให้มีการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ได้สำเร็จ 
อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าการวางตัว "บิ๊กแจ๊ด" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ มาคุมทัพนครบาล เพื่อมาเคลียร์ทาง สกัดสารพัดม็อบที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตด้วย

ล่าสุด "โล่เงิน" สัมภาษณ์พิเศษนโยบายและแนวทางการทำงานของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ดังนี้


"เรื่องเร่งด่วนเป็นเรื่องปัญหาอาชญากรรม เนื่องจากมีคดีเกิดขึ้นเยอะ ใช้อาวุธปืนกันง่ายเหลือเกิน มีการประกบยิง นักเรียนก็ยิงกัน อาวุธปืนหาง่าย ช่วงวันที่ 22-26 มิถุนายนที่ผ่านมา สั่งระดมกวาดล้าง สามารถจับกุมอาวุธปืนได้ 234 กระบอก เป็นอาวุธปืนที่ทันสมัย ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อนจะพกกันง่ายขนาดนี้ คนร้ายยิงปืนเป็นว่าเล่น แต่คนดีขวัญผวา กำชับไปแล้วว่าหากโรงพักใดผลการจับกุมไม่เข้าเป้าก็ต้องมาว่ากัน ต้องมีการพิจารณากันหน่อย อย่าง บก.น.7 เรารู้สึกว่าการทำงานยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
"ขนาดท่าน ผบ.ตร. (พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์) ยังลงมาเอง เอารถเอ็กซเรย์มาให้ใช้ แต่ทางโรงพักกลับไม่ตอบสนองเท่าที่ควร ยืนยันว่ามีผลต่อการโยกย้ายแน่นอน จะเอาสถิติผลการทำงานมาพูดกัน ผมถือว่าระดับ ผกก. เป็นฟันเฟืองสำคัญ หากไม่ค่อยสนใจก็ต้องปรับย้าย ต้องเข้าใจว่าอยากไปอยู่ในส่วนที่มีปริมาณงานมาก โรงพักใหญ่ๆ แต่ขีดความสามารถไม่ถึง มัวแต่วิ่งเต้นมา ประชาชนเดือดร้อน
"ส่วนงานอื่นๆ ที่เร่งรัด มีงานจราจร เพราะแม้แต่ในหลวงยังมีพระราชดำริทรงห่วงใยประชาชนเรื่องขบวนเสด็จ ท่านบอกว่าอย่าให้การจราจรติดขัด ผมมองว่าจราจรต้องทำเต็มที่" พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังกล่าวตำหนิเรื่องการตั้งด่านตรวจจราจรด้วยว่า "อย่าไปเน้นเรื่องออกใบสั่ง เรื่องผลประโยชน์มากนัก หรือไปดักจับ ไม่ชอบ ผมขับรถเองไม่ต้องมีรถนำ เคยเห็นตั้งด่านโดยไม่สนใจว่ารถจะติดยาว จ้องแต่จะออกใบสั่ง เมื่อเห็นก็จอดรถต่อว่า บอกเขาว่าดูบ้างรถติดยาวขนาดนี้แล้ว จะตั้งอะไรนักหนา อย่าให้ชาวบ้านเดือดร้อน" 
"แต่ให้เน้นเรื่องการตั้งด่านลอย เส้นทางโจรในช่วงกลางคืน เพื่อช่วยเหลือในด้านการจับอาวุธปืนและยาเสพติด"



ด้านนโยบายการปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ บอกว่า "จากที่เคยระดมปราบปรามใน บช.ภ.1 เห็นชัดเจนว่าเป็นทางผ่าน เป็นที่พักยา แต่จุดสำคัญตลาดใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ จะเน้นขยายผลให้มากที่สุด เอากฎหมายฟอกเงินมาใช้ ขยายผลเส้นทางการเงิน ส่วนนี้ยังไม่ค่อยพอใจนัก และด้วยนิสัยที่ชอบจี้คดีเอง ออกเอง จับเอง จึงย้ำว่าระดับ ผบก. รอง ผบก. ผกก. ต้องลงไปดูบ้าง"

ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อยการชุมนุม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ แจงว่า เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า ภาพออกไปเป็นเช่นนั้น ตั้งแต่มารักษาการแทน เป็นใครก็ต้องทำเช่นนั้น เพราะดูแล้วไม่มีความพร้อม มีแต่เรียกกำลังมา 30-40 กองร้อย แต่ขาดการฝึกที่เป็นระบบ ขาดผู้สั่งการ ผบ.ร้อยที่ส่งมาสั่งการไม่เป็น ควบคุมเฉยๆ ภารกิจไม่ชัดเจนว่ากำลังมาทำอะไร พอมีม็อบมาก็ไปยืนดันๆ ไม่มียุทธวิธีที่ถูกต้อง จึงต้องปรับกันใหม่ มี พล.ต.ต.ปริญญา จันทร์สุริยา รอง ผบช.น. มาช่วย ซึ่งมีความสามารถในการฝึก เมื่อมาแล้วเชื่อว่าในส่วนของ บช.น. จะทำงานเข้าที่ตามยุทธวิธี

"ที่ผ่านมามีปัญหา ขาดการฝึก ขาดการสั่งการ ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ลงไปดูด้วยตัวเอง แต่ฟังผ่านผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งก็สักแต่ว่ารายงาน ไม่ได้ไปดูพื้นที่จริง ไม่ได้ไปดูการฝึก หากผมไม่ได้ไปดูการฝึกเองจะรู้ได้อย่างไรว่าใครพร้อม ไม่พร้อม จะรู้ได้อย่างไรว่าอาวุธประเภทไหนพร้อมหรือไม่พร้อม อย่างแก๊สน้ำตาใช้แบบขว้างแทน อย่างกระสุนยาง หากจำเป็นก็จะใช้กับบุคคลที่ถืออาวุธเท่านั้น และภาพจะจับไว้หมด ไม่มีการกลั่นแกล้งใครอยู่แล้ว  
"ถามว่าผมหนักใจหรือไม่ ก็ไม่หนักใจ ถึงมีม็อบมา เพราะใช้การเจรจาเป็นหลัก ตามหลัก หากต้องการใช้พื้นที่การชุมนุม ก็ต้องคุยกัน เราก็จัดให้ หากจะใช้พื้นผิวการจราจร จะจัดเส้นทางเลี่ยงให้ จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เช่น ม็อบสันติอโศก มาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า หากตั้งเต๊นท์ก็ให้ตั้งที่ฟุตปาธ รถสัญจรได้ ซึ่งก็ทำตาม ประชาชนไม่เดือดร้อน พอม็อบเสื้อแดงมาชุมนุมที่รัฐสภา บอกว่าอย่าเข้าในสภา เขาก็ไม่เข้า
"ถือว่าพอใจเรื่องการฝึกฝนความพร้อม ดีขึ้น ขอให้ผู้ชุมนุมสบายใจได้ว่าทุกอย่างจะอยู่ในกรอบของการเจรจา หากไม่อยู่ในกรอบการเจรจาก็ต้องมีขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งอุปกรณ์ในการปฏิบัตินั้นจะแถลงกับสื่อมวลชนทุกขั้นตอนว่า ต่อจากนี้จะใช้อะไร เริ่มแรกจะใช้มือเปล่า หากผู้ชุมนุมมีอาวุธจะใช้โล่และกระบอง ต้องผลักดันกลับไปในจุดที่ตกลงกัน หากใช้โล่และกระบองแล้วยังไม่หยุดใช้อาวุธ ต้องใช้น้ำฉีด หากใช้น้ำฉีดแล้วยังไม่เลิกมีพฤติกรรมจะบุกรุกสถานที่ต่างๆ จะใช้น้ำผสมสารเคมี ทุกขั้นตอนจะมีผู้สั่งการ และผมจะเป็น ผบ.เหตุการณ์เอง จะสั่งการอย่างโปร่งใส ทุกม็อบจะปฏิบัติเหมือนกันหมด"  พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เผย


ส่วนการเลือกตั้งซ่อมที่อาจเกิดขึ้นหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ และอาจถูกจับตาเรื่องไม่เป็นกลาง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวว่า "ไม่เป็นไร เราวางตัวเป็นกลางอยู่แล้ว เรื่องม็อบหรืออื่นๆ ก็วางตัวเป็นกลางเหมือนๆ กัน ถามว่าการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นตำรวจจะทำอะไรได้ เพราะมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่การจัดการเลือกตั้งเป็นเรื่องของกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่หน้าที่เรา และตำรวจที่ดูแลหน่วยเลือกตั้งมีแค่คน 2 คน เราเข้ากับใครไม่ได้หรอก ไม่ต้องกังวล ขอให้สบายใจได้" 
ทั้งนี้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อุดมคติตำรวจมีตั้ง 9 ข้อ แต่บอกในที่ประชุมบริหารว่าขอให้มี 2 ข้อก็พอ คือ ไม่มักมากในลาภผล และกรุณาปรานีต่อประชาชน รวมทั้งต้องสามัคคีในหน่วยงาน 

หากแตกความสามัคคีในโรงพัก ต้องไปทั้งหมด
และที่ตำรวจจะแตกความสามัคคีก็เรื่องผลประโยชน์เท่านั้น  



.