http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-10

ศิริพงษ์: อนาคตอีบุ๊กไทย.., iTune U การศึกษาในโลกไซเบอร์

.
บทความของปี2554 - โลกหลังยุคพีซี ไมโครซอฟต์ทุ่มสุดตัว ซื้อ “Skype” ราคาสองแสนล้าน โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์
บทความของปี2554 - Momento ไดอารี่ของนักเดินทาง โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อนาคตอีบุ๊กไทย จะไปทางไหนกัน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1664 หน้า 100


วันก่อนโน้นมีโอกาสไปร่วมเสวนาเรื่องเกี่ยวกับหนังสือแล้วมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับอีบุ๊กขึ้นมา ว่าจะกระทบกับสิ่งพิมพ์กระดาษหรือไม่

ผมเชื่อว่าหลายคนมองภาพอีบุ๊กคลาดเคลื่อนไปจากสภาพที่เป็นจริงพอสมควร เพราะเท่าที่เห็นมักจะยกเอาข้ออ้างของอะเมซอนผู้ครองตลาดหนังสือกระดาษและอีบุ๊กรายใหญ่ที่ว่ายอดขายอีบุ๊กแซงหน้าหนังสือกระดาษแล้ว
นั่นคือความจริงของอะเมซอนซึ่งไม่ใช่ภาพรวมของประเทศ 
แน่นอนว่าอีบุ๊กเติบโตจริงและด้วยความรวดเร็ว แต่อีบุ๊กในสหรัฐอเมริกาทุกวันนี้ยังมีส่วนแบ่งอยู่แค่ราวร้อยละ 30 ของตลาดหนังสือโดยรวม
เพราะฉะนั้น ยังคงต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งที่อีบุ๊กจะกินได้เกินกว่าครึ่งของตลาด ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะมาถึงเร็วอยู่เหมือนกัน

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความแตกต่างซึ่งหลายคนมองข้าม นั่นก็คือ อีบุ๊กที่ขายดีของอะเมซอนนั้น มันเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับเรื่องอ่านคินเดิ้ล ซึ่งพัฒนามาสำหรับการอ่านอีบุ๊กโดยเฉพาะ จอเป็นจออีอิงก์ ขาวดำ ไม่สะท้อนแสง ต้องอาศัยแสงสว่างจากภายนอกเหมือนการอ่านหนังสือเล่มที่เป็นกระดาษ อีบุ๊กในอเมริกาที่อ่านๆ กันมากนั้น อ่านบนเครื่องอ่านอีบุ๊กแบบนี้ 
อีบุ๊กบางเล่มของอะเมซอนขายได้เป็นล้านก๊อบปี้ส่วนใหญ่ 
เครื่องมือหลักไม่ใช่แท็บเล็ตที่เป็นกระแสเติบโตมากมายในตอนนี้ จอของแท็บเล็ตเป็นจอแบบจอคอมพิวเตร์ที่แสงจ้าเข้าตาเวลาอ่าน มันจะทำลายสายตาหากเพ่งอยู่กับมันนานๆ เพราะฉะนั้น ในการอ่านหนังสือจริงจัง ที่ต้องเพ่งสมาธิกันนาน ผู้อ่านจะรู้สึกได้ถึงความผิดปรกติของสายตาอย่างรวดเร็ว 
ในแวดวงนักอ่านหนังสือที่ผมรู้จักแล้วหันมาอ่านอีบุ๊กด้วยนั้นร้อยละร้อยพูดเสียงเดียวกันว่าแท็บเล็ต ไม่ว่าจะเป็นไอแพดหรือแกแล็กซี่ แท็บหรือยี่ห้ออื่นๆ ไม่เหมาะกับการอ่านหนังสือจริงๆ จังๆ 
อ่านแบบประเดี๋ยวประด๋าวพอไหว


ทีนี้ลองดูสภาพแวดล้อมในบ้านเรา มันไม่ได้เป็นแบบในอเมริกาหรือประเทศอื่นๆ ที่คนใช้เครื่องอ่านอีบุ๊กกัน ไม่มีใครทำมันออกมาในรูปแบบนั้น แต่เราพูดถึงอีบุ๊กในสภาวะแวดล้อมที่มองว่าแท็บเล็ตอ่านอีบุ๊กได้ด้วย คนจะเป็นเจ้าของอีบุ๊กให้ซื้อหนังสือได้สะดวกก็มีแต่คนอ่านภาษาต่างประเทศออกแล้วสั่งซื้อเครื่องคินเดิ้ลมา การซื้ออีบุ๊กจากคินเดิ้ลสะดวกง่ายดายเหมือนปอกกล้วย แต่ไม่มีอีบุ๊กไทยในคินเดิ้ล สโตร์

ขณะที่อีบุ๊กของไทยที่พัฒนากันและออกมาขายกันอยู่ของไทยในเวลานี้ทำไว้สำหรับแท็บเล็ตโดยเฉพาะ อาศัยการสร้างแอพพลิเคชั่นเป็นร้านขายอีบุ๊กและเป็นเครื่องมืออ่านไปด้วยในตัว
ในสภาพแวดล้อมแบบแท็บเล็ตสำหรับอีบุ๊กในเมืองไทย แน่นอนว่ามีโอกาสเติบโตได้ แต่ก็จะเติบไปในอีกรูปแบบหนึ่ง กับหนังสือบางประเภท เพราะอย่างไรเสียโมเดลแบบอะเมซอนไปกันไม่ได้กับคนไทยอยู่แล้ว 

แต่แบบที่ว่านั่นคืออะไร ผมเชื่อว่าเรายังไม่มีคำตอบ โดยส่วนตัวได้แต่ฝันถึงวันที่จอแท็บเล็ตจะกลายเป็นจออีอิงก์ราคาถูกที่เหมาะกับการอ่าน
แต่คงเป็นไปได้ยากเพราะทุกวันนี้แท็บเล็ตแข่งกันเรื่องความแจ่มชัดใสปิ๊งของจอ ไม่ได้แข่งกันว่าจะทำให้สบายตาสำหรับการอ่านอย่างไร



++

iTune U การศึกษาในโลกไซเบอร์
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1642 หน้า 100


เมื่อราวๆ กลางเดือนที่ผ่านมาแอปเปิ้ลเปิดตัว iBook2 และ iTune U ใหม่บนไอแพด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่สนใจการศึกษาในโลกยุคที่คนมุดอยู่ในอินเตอร์เน็ตกันทุกวันตั้งแต่เด็กเล็กเด็กน้อยไปจนถึงคนแก่ๆ
เพราะทั้งสองตัวที่เปิดขึ้นมานั้นเป็นแพลตฟอร์มทางด้านการศึกษาแบบใหม่ เสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยผ่านเทคโนโลยี

เดิมทีนั้นบนไอแพด มีแอพพลิเคชั่น iBook ซึ่งเป็นร้านขายอีบุ๊กของแอปเปิ้ลแบบเดียวกับคินเดิ้ล สโตร์ ของอเมซอน แต่ iBook2 เป็นการบุกเขาไปในตลาดตำราเรียนโดยเฉพาะ 
ซึ่งหากเพียงแค่นั้นก็ไม่ค่อยน่าตื่นเต้นนัก แต่ iBok2 มาพร้อมกับแนวทางการสร้างตำราเรียนแบบใหม่ที่ไม่ได้เป็นเพียงตัวหนังสือเฉยๆ แต่มีลักษณะเป็นมัลติมีเดีย หรือที่เรียกว่ามัลติทัช ดีไซน์ เท็กซ์ บุ๊ก 
พร้อมกับการเปิดตัว iBook2 แอปเปิ้ลแถมเครื่องมือในการสร้างตำรับตำรายุคใหม่มาให้ด้วยชื่อว่า iBook Author เป็นซอฟต์แวร์ให้ดาวน์โหลดได้ฟรีสำหรับใช้สร้างตำราบนเครื่องแมคอินทอชแล้วโยนเข้า iBook Store เปิดอ่านบนไอแพด 
คนไทยอาจจะได้อานิสงส์อยู่บ้างจาก iBook2 ในส่วนที่เป็นหนังสือฟรี เพราะ iBook ไม่ได้เปิดขายไปทั่วโลก มีบางประเทศเท่านั้นที่เข้าไปซื้อได้ สำหรับเราเข้าไปก็จะเห็นแต่ของที่เป็นของฟรีเท่านั้น ถึงเขาจะโฆษณาว่าเพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีโอกาสเข้าถึงตำราราคาถูก

แต่นั่นก็ไม่ใช่สำหรับคนไทย
เช่นเดียวกับเพลงหรือหนังบน iTune ที่เราก็เข้าถึงส่วนที่มีขายไม่ได้นั่นเอง


เมื่อพูดถึง iTune U ซึ่งแต่เดิมคนไทยก็เข้าถึงได้อยู่แล้ว เพราะเป็นบริการฟรีที่เป็นที่รวมพอดแคสต์ ทั้งวิดีโอและเสียงสารพัด เมื่อแอปเปิ้ลปรับใหม่ให้ iTune U กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการศึกษาตลอดชีวิต บนนั้นจึงเริ่มเต็มไปด้วยวิชาความรู้ต่างๆ จากสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย วิทยาลัย และองค์กรที่ให้ความรู้มากมาย 
นอกเหนือจากส่วนที่ให้ความรู้เฉยๆ ผ่านวิดีโอหรือเสียงแล้ว ยังเต็มไปด้วยหลักสูตรฟรีด้านต่างๆ ที่เป็นการลงเรียนจริง สมัครแล้วก็เรียนผ่านวิดีโอบทเรียนที่ดาวน์โหลดมา มีการมอบหมายให้ไปดูหรืออ่านเพิ่มเติมจากตำรา เป็นต้น
ดูเหมือนมันจะเป็นระบบการศึกษานอกโรงเรียนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวิชาความรู้ให้เราได้เลือก เพียงแต่ว่าไม่ใช่ภาษาไทยเท่านั้นเอง และมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น บางหลักสูตรมอบหมายให้ไปอ่านหนังสือเพิ่มเติม ซึ่งก็คืออีบุ๊กบน iBook Store แต่อีบุ๊กที่มอบหมายให้ไปอ่านนั้นไม่ได้เปิดกว้างไปทั่วโลก
เช่น หลักสูตร Ecosystem ของ Open University ที่ผมทดลองสมัครเรียน มอบหมายให้ไปอีบุ๊กเล่มหนึ่งในการสอนตอนหนึ่ง แต่อีบุ๊กเล่มนั้นระบุชัดเจนว่า U.S. only ซึ่งก็เท่ากับหมดสิทธิ์เรียนรู้เต็มหลักสูตรไปโดยปริยาย เป็นแบบนี้อยู่เยอะนะครับ

ระบบของแอปเปิ้ลเป็นระบบแบบปิดที่เขาเรียกกันว่าล็อกอิน นั่นคือทุกอย่างผูกกันหมดอยู่ในระบบของตัวเองที่รวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือแบบไม่มีหลุดกระเด็นออกไปภายนอก มันจึงมีแต่ไอแพด ไอบุ๊ก ไอจูน และแมคอินทอช เท่านั้น
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรนักสำหรับคนอยากรู้ แค่เท่าที่มันมีมาให้ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว มันช่วยให้เรามองเห็นว่าหากจะเอาเทคโนโลยีพวกนี้มาใช้กับการศึกษาแล้วมีอะไรที่เราควรรู้และควรทำบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในอนาคต 



+++
บทความของปี 2554

โลกหลังยุคพีซี ไมโครซอฟต์ทุ่มสุดตัว ซื้อ “Skype” ราคาสองแสนล้าน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1605 หน้า 100


มีข่าวใหญ่อยู่ข่าวหนึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ที่คนในวงการไอที รวมถึงในวงการธุรกิจสนอกสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือการที่ไมโครซอฟต์เข้าซื้อกิจการบริษัทสไกป์คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คูณออกมาเป็นเงินไทยก็ราวถึง 250,000 ล้านบาท นับเป็นราคาสูงมากจนน่าตกใจ เป็นราคาที่สูงมากขึ้นกว่าตอนที่อีเบย์เข้าซื้อสไกป์เมื่อสองสามปีก่อนถึงสามเท่าก่อนจะขายให้กับกลุ่มนักลงทุนเอกชนกลุ่มหนึ่งไป

ชื่อของไมโครซอฟต์นั้น คนไทยทั่วๆ ไปก็คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่กับสไกป์ (skype.com) น่าจะรู้จักกันก็เฉพาะคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตเท่านั้น
สไกป์ ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อราวปี 2546 เป็นบริษัทแรกๆ ที่บุกเบิกธุรกิจโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ VOIP ที่ประสบความสำเร็จเป็นพายุบุแคมหลังจากเปิดบริการ มีคนสมัครเข้าใช้งานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยอดผู้ลงทะเบียนใช้งานสไกป์ต่อวันสูงมากถึงเกือบ 400,000 คน ยอดรวมผู้ลงทะเบียนใช้งานจนถึงปัจจุบันมีอยู่กว่า 600 ล้านคน และที่เหลือเชื่อคือสถิติในปี 2553 การโทรศัพท์ข้ามประเทศทั้งหมดในสหรัฐนั้น 1 ใน 4 เป็นการใช้สไกป์ 
พื้นฐานการทำงานของสไกป์คือการแปรสัญญาณเสียงส่งผ่านอินเตอร์เน็ตจากปลายทางด้านหนึ่งไปยังปลายทางอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่สองฝ่ายจำเป็นต้องมีคือโปรแกรมสไกป์ในเครื่องคอมพิวเตอร์และสัญญาณอินเตอร์เน็ต การใช้งานแบบนี้ใช้ฟรีตลอดไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลก เสียแต่ค่าอินเตอร์เน็ตที่จ่ายอยู่เป็นประจำ

ความสามารถที่เกินไปกว่านั้นก็คือ การโทร.จากคอมพิวเตอร์ไปเข้าเครื่องรับโทรศัพท์ ทั้งโทรศัพท์บ้านหรือโทรศัพท์มือถือ การใช้บริการแบบนี้เสียเงินค่าโทร.ด้วย แต่อัตราค่าโทร.หากเทียบกับค่าโทร.ทางไกลไปต่างประเทศถือว่าไม่แพง หรือในทางกลับกันสามารถโทร.ออกจากเครื่องรับโทรศัพท์ไปเข้าสไกป์ได้ 
ยังมีบริการรับฝากข้อความด้วย 
บ่อยครั้งที่ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมพวกบริษัทธุรกิจไม่หันมาผลักดันให้พนักงานใช้สไกป์ในการติดต่อสื่อสารกันแทนโทรศัพท์


ในยุคหลังๆ สไกป์ให้บริการวิดีโอคอล คือการติดต่อกันแบบเห็นหน้าเห็นความเคลื่อนไหว เห็นรอยยิ้มและน้ำตาผ่านกล้องวิดีโอ และเมื่อมาถึงยุคสมาร์ทโฟนที่เลิศๆ แบบในปัจจบันพร้อมกับอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง คนก็ใช้สไกป์ติดต่อกันแทนการกดโทรศัพท์ พวกที่ใช้อินเตอร์เน็ตแบบเหมาจ่ายรายเดือนใช้ได้ไม่จำกัดรู้ซึ้งถึงประโยชน์ข้อนี้ของมันดี บนไอโฟน แอนดรอยด์ ซิมเบียนใช้ได้หมด
แต่คนใช้สไกป์กันมากมายหลายร้อยล้านนั้นส่วนใหญ่ใช้แบบฟรี โดยที่สไกป์ไม่ได้สตางค์อะไรเลยสักสลึง มีคนที่ใช้ฟังก์ชั่นเสียเงินน้อยมาก ผลิตภัณฑ์ยุคไอทีซึ่งดูแล้วมีประโยชน์มากมาย คนใช้ก็มากมาย ดูแล้วมีอนาคต ก็กลับมีแต่อนาคตมาเกือบตลอด แทบไม่มีกำไรในปัจจุบันเลย เพิ่งจะมาดีขึ้นเล็กน้อยในปีสองปีมานี้

แล้วทำไมราคาซื้อขายบริษัทมันถึงได้สูงตั้งสองแสนกว่าล้านบาท
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการซื้อสไกป์โดยไมโครซอฟต์ เป็นการซื้อเพื่อกันคู่แข่งตัวฉกาจที่ชื่อว่า "กูเกิ้ล" เพราะไมโครซอฟต์เป็นบริษัทไอทีที่ก้าวเลยจุดสูงสุดมานานแล้ว เป็นยักษ์ใหญ่ที่ไม่สามารถก้าวเท้าเข้าไปในสมรภูมิของโลกดิจิตัลยุคใหม่ได้เลย
โลกหลังยุคพีซีเป็นโลกที่ไมโครซอฟต์ตามไม่ทัน การซื้อสไกป์มาในราคาแสนแพงก็ไม่แน่ว่าจะช่วยให้ตามทัน แต่อย่างน้อยถ้าสไกป์โดนคู่แข่งซื้อไป สถานการณ์อาจจะยิ่งหนักก็ได้เหมือนกัน



+++

Momento ไดอารี่ของนักเดินทาง
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1604 หน้า 100


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสลาพักร้อนไปเดินท่อมๆ กลางทุ่งกลางป่าในจังหวัดหัวบินห์ ที่อยู่เลยฮานอยขึ้นไปหน่อย เป้าหมายคือ มายโจ้ว วัลเลย์ อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทยขาว เข้าไปนอนแบบโฮมสเตย์สองคืนในสองหมู่บ้าน เงียบสงบและตื่นเต้นดีที่ได้เจอคนไทยในดินแดนไกลที่ยังคงใช้ภาษาไทยดั้งเดิมกัน
พอจะสื่อสารกันรู้เรื่องนั่นละครับ อาจจะยากหน่อยสำหรับคนไทยภาคกลาง แต่สำหรับคนไทยภาคเหนือที่ใช้ภาษาเหนือหรือคนอีสาน จะจับสำเนียงได้ดีกว่า โชคดีว่าเพื่อนที่ไปด้วยกันอู้คำเมืองได้ ก็เลยคุยกันได้มากขึ้นอีกหน่อย หลายประโยคได้อาศัยเพื่อนนี่แหละแปลให้เข้าใจถึงได้พอตอบโต้กับเขาได้บ้าง 
ถึงจะใช้เวลาแค่หมู่บ้านละคืนแต่นับเป็นการเดินทางไกลที่คุ้มค่า แล้วก็มานึกเสียดายอยู่ว่าไม่ได้บันทึกอะไรเอาไว้เลยในระหว่างอยู่ที่นั่น นอกเหนือไปจากการถ่ายรูป


วันสุดท้ายที่ขึ้นนั่งเครื่องบินออกจากโฮจิมินห์ ระหว่างรอเครื่องบินเหินฟ้า ผมงัดเอา ไอพอด ทัช ออกมานั่งจิ้มเล่น มีแอพตัวหนึ่งที่โหลดมาไว้ในเครื่องนานมาแล้ว แต่ไม่ค่อยได้เอาออกมาใช้ ผมจิ้มเปิดโปรแกรมขึ้นมาแล้วก็นึกเสียดายว่า น่าจะใช้งานมันตั้งแต่เดินทางถึงเวียดนามแล้ว

Momento เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบปฏิบัติการ iOS ใช้งานได้ทั้งบน ไอโฟน ไอแพด และ ไอพอด ทัช เอาไว้สำหรับการจดบันทึกสิ่งต่างๆ ในแต่ละวัน พร้อมกับสอดภาพถ่ายใส่ไว้ในบันทึกได้ 
ว่าไปแล้ว มันเป็นเครื่องมือที่เหมาะเจาะมากในระหว่างการเดินทาง เพื่อบันทึกความทรงจำที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น หรือใกล้เคียง ยิ่งเป็นการเดินทางไปในต่างแดน ชื่อของสถานที่ ชื่อคน ชื่ออาหาร และชื่อเรียกสิ่งของต่างๆ ในภาษาท้องถิ่น เรามักจะลืมไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ไดอารี่ อิเล็กทรอนิกส์แบบโมเมนโตช่วยได้ชะงัดนัก เราแค่ถ่ายรูปแล้วเปิดบันทึกมาเขียนแล้วสอดรูปเข้าไป  
มีระบบแท็กที่ช่วยให้ง่ายขึ้นในการค้นหาสิ่งที่เขียนๆ เอาไว้

นอกจากนั้น ข้อดีอีกอย่างก็คือ โมเมนโต สามารถเชื่อมโยงกับโซเชี่ยล มีเดียอื่นๆ ที่เราใช้งานตั้งแต่ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ฟลิกเกอร์ ฯลฯ ให้เราดึงฟีดออนไลน์จากเว็บเหล่านี้ที่เราเคยเขียนๆ เอาไว้ สามารถแบ๊กอัพแล้วเอ็กซ์พอร์ตไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ได้ 
ลองเข้าไปดูรายละเอียดของแอพน่ารักๆ ตัวนี้ได้ที่ www.momentoapp.com สามารถประยุกต์ไปใช้งานได้หลายอย่างนอกเหนือจากการเป็นไดอารี่

ยังเสียดายไม่หายว่าทำไมถึงนึกถึงมันได้ช้าไปหน่อย จนถึงวินาทีสุดท้ายที่จะออกจากเวียดนามแล้วค่อยนึกได้
กลับมาถึงบ้านแล้วพบว่ามีรูปถ่ายจำนวนหนึ่งที่ตัวเองก็จำไม่ได้ว่าถ่ายมาจากที่ไหนแน่ ถ้าใช้บริการโมเมนโตเสียแต่แรกก็คงไม่เป็นเช่นนี้แน่



.