http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-22

บริโภคศาสนา โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : บริโภคศาสนา
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:00 น.


ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผมมีโอกาสได้เข้าวัดบ้าง เพราะต้องทำหน้าที่สารถีขับรถพาภรรยาไปทำบุญเป็นบางครั้ง ที่หัวหินจะมีวัดที่สร้างรูปปั้นพระเกจิอาจารย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แห่งหนึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวที่นิยมเที่ยววัดศักดิ์สิทธิ์ และชอบบูชา (ซื้อ) วัตถุมงคล

เมื่อมาวัดแห่งนี้ บางทีผมอดตั้งคำถามเล่นๆ ไม่ได้ว่า สมมติว่าพุทธะมาเจอรูปปั้นพระเกจิองค์ใหญ่ที่สุดในโลก แล้ถามว่า "นั่นรูปปั้นใคร" คำตอบที่ได้คือ "รูปปั้นหลวงปู่ทวด" ถามต่อว่า "ที่ในศาลาองค์เล็กๆ นั่นล่ะ รูปปั้นใคร" ตอบ "อ๋อนั่นคือพระพุทธรูป รูปปั้นของพุทธะ" ถามอีกว่า "หลวงปู่ทวดเกี่ยวข้องอย่างไรกับพุทธะ" เมื่อได้รับคำตอบว่า "เป็นศิษย์ของพุทธะหลังจากที่พุทธะปรินิพพานไปแล้วสองพันกว่าปี" พุทธะก็คงจะแปลกใจว่าเหตุใดชาวพุทธปัจจุบันจึงให้ความสำคัญ เคารพบูชารูปปั้นของศิษย์มากยิ่งกว่ารูปปั้นของพุทธะผู้เป็นอาจารย์


และเมื่อเห็นวัดต่างๆ เป็นแหล่งทำเงิน โดยการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระเกจิอาจารย์ นำคำสอนเรื่องทาน ศีล ภาวนา อันเป็นหลักจริยธรรมฝึกฝนความมีน้ำใจแบ่งปัน การไม่ละเมิดสิทธิในชีวิต ทรัพย์สิน ครอบครัว คนรัก สิทธิที่จะรับรู้ความจริง การรักษาสติสัมปชัญญะจากสิ่งมอมเมาต่างๆ และการพัฒนาคุณธรรมทางจิตปัญญามาเป็น "สินค้า" ในแบรนด์ที่เรียกกันว่า "บุญ" จนเกิดวัฒนธรรมการตลาด "บุญขายตรง" หรือ "บุญบังคับ" ในเทศกาลกฐิน ผ้าป่า และอื่นๆ พุทธะคงจะเปล่งอุทานว่า "ความเฟื่องฟูของพุทธศาสนายุคนี้ คือความเฟื่องฟูของสิ่งที่เราเคยปฏิเสธมาแล้วทั้งสิ้น!”

อย่างไรก็ตาม มองอีกแง่หนึ่ง การที่ภายในวัดต่างๆ มีสิ่งที่ขัดแย้งกันมาอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน เช่น มีทั้งที่เสี่ยงเซียมซี หมอดู วัตถุมงคล หนังสือธรรมะ พระนักสวดผี พระนักเทศน์ พระนักปลุกเสก พระธรรมดา พระท่านเจ้าคุณ หรือในเทศกาลบุญพระเพณีภายในวัดก็มีทั้งเทศน์มหาชาติ ภาพยนตร์ ลิเก หมอลำซิ่ง โคโยตี้ ฯลฯ ก็อาจมองได้ว่านั่นคือการที่พุทธศาสนาสามารถปรับตัวให้อยู่ได้กับความเป็นจริงของโลกวิสัย


แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง นั่นคือการปรับตัวของพุทธศาสนาที่คำนึงถึงความอยู่รอดของส่วนที่เป็น "เปลือก" จนกระทั่งยอมสละทิ้ง "เนื้อแท้" ภายใน กลายเป็นความอยู่รอดของเปลือกที่ข้างในกลวงโบ๋ ไร้แก่นสารอันเป็นหลักยึดของชีวิตและสังคมให้ดำเนินไปในทางที่ก่อให้เกิดความงอกงามทางปัญญา ความรัก ความเมตตาต่อกันของผู้คน ความเป็นธรรม และสันติภาพทางสังคม

พระไพศาล วิสาโล เคยตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันผู้คนบริโภคศาสนามากว่าที่จะศึกษาพุทธศาสนาเพื่อแสวงหาคุณค่าความหมายของชีวิต ข้อเท็จจริงที่เราเห็นได้ตามข้อสังเกตนี้ก็เช่น การใช้พุทธศาสนาในเชิงโฆษณาชวนเชื่อเรื่องวัตถุมงคลและการขายบุญดังที่ว่ามาแล้ว นอกจากนี้ยังมีค่านิยมบริโภคศาสนาในรูปแบบของการ "เสพปฏิบัติธรรม" เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็นคนดี คนมีความสุข สัมผัสสุขที่แท้ (แต่ไม่สนใจว่าสังคมจะมีปัญหาการกดขี่ ความอยุติธรรมอย่างไร) ดาราบางคนเมื่อทำผิดกฎหมาย ก็แถลงข่าวสำนึกผิดด้วยการบวชปฏิบัติธรรม กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบางกลุ่มก็อ้างธรรมะ อ้างศาสนาเพื่อเป้าหมายเฉพาะทางการเมืองบางอย่าง เป็นต้น

การบริโภคศาสนาจึงไม่ใช่การนับถือศาสนาเพื่อเป้าหมายทางศาสนา หรือไม่ใช่การนำหลักการทางศีลธรรมของศาสนามาเป็นวิถีการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าตามที่พระศาสดาสอน แต่เป็นการใช้ศาสนาเป็น "เครื่องมือ" ตอบสนองสิ่งที่ตนเองต้องการ เช่น เงิน โชค ลาภ การหวังผลดลบันดาลต่างๆ รวมทั้งผลทางการเมือง

นี่อาจเป็นความเกี่ยวข้องกับศาสนา หรือการใช้ศาสนาที่ผิดเพี้ยนทำให้สังคมเราเป็นสังคมที่เชื่อถือในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเหตุผล มากกว่าที่จะเชื่อถือหลักการทางจริยธรรมที่ถูกต้องซึ่งพิสูจน์ได้ด้วยเหตุผล เช่น ที่นิยมอ้างเรื่องสาบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง และอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพื่อสาปแช่งคนเลว แทนที่จะอ้างอิงหลักจริยธรรม หลักกฎหมาย และระบบตรวจสอบที่ยุติธรรมและเสมอภาค หรือเรียกร้องให้เคารพหลักจริยธรรม หลักกฎหมายและให้ใช้กระบวนการตรวจสอบอย่างโปร่งใสมีประสิทธิภาพอย่างประเทศที่เจริญเขานิยมทำกัน

แม้แต่ธรรมะที่นำมาอ้างก็มักเป็นการนำธรรมะมา "อวย" คนบางชนชั้น และนำมากดข่มคนบางกลุ่มให้ดูเลวร้ายกว่าปกติ ดังที่พระเซเลบในบ้านเรามักพูดเสมอๆ ว่า "ถ้านักการเมืองไร้จริยธรรม ประชาชนก็ไร้จริยธรรม" ฉะนั้น เมื่อเห็นว่าสังคมเสื่อจริยธรรม ก็มักจะชี้ไปที่นักการเมืองไร้จริยธรรม โดยอ้างอิงตรรกะเรื่อง "แม่ปูกับลูกปู" ถ้าแม่ปูเดินตรง ลูกปูก็เดินตรงตาม หาได้คิดไม่ว่าตรรกะดังกล่าวเป็นตรรกะที่คิดขึ้นในบริบทการเมืองการปกครองยุคโบราณที่ระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไม่ซับซ้อนเช่นปัจจุบัน

แต่หากจะอ้างตรรกะแบบโบราณเช่นนั้น ก็ยังถือว่าผู้อ้างกำลังพูดขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจากตนเองอวยอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูว่าคนบางชนชั้นมีจริยธรรมบริสุทธิ์สูงส่ง เป็นแบบอย่างทางจริยธรรมอันดีเลิศของประชาชนทั้งปวง ฉะนั้น หากตรรกะแม่ปูกับลูกปูเป็นจริง ไหนเลยสังคมนี้จริยธรรมจะเสื่อมทรามได้ จะตัดตอนกล่าวโทษว่าจริยธรรมสังคมเสื่อมเพราะนักการเมืองชั่ว ดูจะอคติมากเกินไปกระมัง



การบริโภคศาสนาในปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางพฤติกรรมและทางหลักการ ทางพฤติกรรมคือการเสพศาสนาเพื่อเป้าหมายอื่นที่ตรงข้ามกับเป้าหมายของศาสนาจริงๆ เช่น พุทธพาณิชย์ การโฆษณาชวนเชื่อ การหลอกลวง สร้างมายาคติ สร้างความเชื่อ ความหวัง ความปรารถนาดราม่าต่างๆ ที่อาจดลบันดาลให้ได้ด้วยวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ และอานุภาพของความดีในนามของแบรนด์ "บุญ"

และปัญหาทางหลักการ ก็คือการอ้างอิงหลักการทางศาสนาอย่างบิดเบือน ไม่ซื่อตรง เพราะหวังผลทางการเมือง หรือทางอื่นใด มากกว่าที่จะอ้างหลักการของศาสนาเพื่อความงอกงามทางปัญญา คุณค่าทางจิตวิญญาณ ความเป็นธรรมและสันติภาพทางสังคมตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของศาสนา



.