http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-07-21

เปลือก โดย คำ ผกา

.

เปลือก
โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1666 หน้า 89


"สังเกตกันอีกหรือไม่ว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแบบคนเสื้อแดง จำนวนมากล้วนเป็นผู้มีสติปัญญา มีการศึกษาสูง หลายคนเป็นนักต่อสู้กับเผด็จการ หลายคนทำงานให้กับชาวบ้าน ชาวรากหญ้า หรือในรายที่เป็นกวี ก็เป็นกวีชื่อดัง เป็นศิลปินแห่งชาติ
ถามว่าคนเหล่านี้ไม่รู้จักประชาธิปไตย ไม่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือ
หรือหากดูจากผลการเลือกตั้งครั้งที่แล้วจะเห็นว่า "คนชั้นกลาง" ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย เห็นได้ชัดจากพื้นที่กรุงเทพฯ หรือในกรณีต่างจังหวัด จะเห็นว่าในเขตอำเภอเมือง พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับความนิยม
กรุงเทพฯ และในเขตเมือง อนุมานได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของผู้มีการศึกษาสูง ฐานะทางเศรษฐกิจสูง เป็นผู้อยู่ด่านหน้าของประเทศในการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก เป็นผู้อยู่ด่านหน้าของความทันสมัย มีจำนวนผู้เรียนจบจากประเทศตะวันตกโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่น คำถามมีอยู่ว่า แล้วคนเหล่านี้ไม่รู้จักและไม่รักประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ
กลับมาที่ประเด็นของประชาธิปไตย แท้จริงแล้วส่วนใหญ่คนที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเสื้อแดง ไม่ได้เกี่ยวกับว่าพวกเขาเชียร์เจ้าหรือฝักใฝ่อำมาตย์ แต่พวกเขาพิจารณาเนื้อแท้ว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่นั้นเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เปลือก ซึ่งพวกเขาเห็นว่าประชาธิปไตยยุคทักษิณเป็นแค่เปลือก
หรือหากจะมี อำมาตย์อยู่จริง คนชั้นกลางหรือคนที่ไม่เลือกพรรคของคุณทักษิณ เขาก็เห็นว่าเอาเข้าจริงบ้านเมืองยุคอำมาตย์ยังมีคุณธรรมมากกว่า สงบสุขมากกว่า เพราะอย่างน้อยอำมาตย์ก็ไม่มีการปลุกระดมสร้างภาพลวงตาคนให้เกลียดชังแตกแยกกันทางชนชั้น"

(เหตุที่ประชาธิปไตยสีแดงไม่เบ่งบานในใจคนทั้งประเทศ
www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1342242384&grpid=01&catid=&subcatid=
)



อ่านบทความที่ยกมาบางตอนข้างต้นแล้ว คิดว่า น่าจะเขียนบทความชื่อ "เหตุใดประชาธิปไตยสีเหลือง สีขาวไม่เบ่งบานในใจคนทั้งประเทศ " บ้าง แต่เกรงจะเป็นการกระทำที่สร้างความแตกแยกเกลียดชัง สมกับคำโบราณที่บอกว่า "ใส่ร้ายป้ายสี"
อันที่จริงหลักการประชาธิปไตยนั้นง่ายมากคือการยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก คุณนงนุช สิงหเดชะ ไม่มีความจำเป็นต้อง "ป้ายสี" ให้ประชาธิปไตยว่าเป็นสีแดงหรือสีอะไร หากเชื่อมาแต่ต้นว่าการแบ่งสีแบ่งฝ่ายนั้นคือชนวนของความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคม

ฉันคิดว่าบทความนี้พึงได้รับการต่อยอดถกเถียงในประเด็นดังต่อไปนี้
1. ความเข้าใจเรื่องหลักการประชาธิปไตยสัมพันธ์กับระดับวุฒิการศึกษาหรือไม่? 
2. คนที่มีการศึกษาใน "ระบบ" สูง ไม่สนับสนุนคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยจริงหรือไม่? 
3. ผู้อยู่อาศัยในเขตชนบทมี "การศึกษา" น้อยกว่าคนที่อยู่อาศัยในเขตเมืองจริงหรือไม่ "การศึกษา" ในที่นี้หมายถึงการ "ศึกษา" นอกระบบ นอกโรงเรียนและนอกมหาวิทยาลัยด้วยหรือไม่? 
4. ประชาธิปไตยยุคทักษิณเป็นประชาธิปไตยแต่เปลือกจริงหรือไม่?


เรามาเริ่มกันที่ประเด็นที่หนึ่งก่อน ฉันไม่เคยได้ยินหรือได้อ่านจากที่ไหนมาก่อนว่า การได้เรียนหนังสือมากนั้นสัมพัทธ์กับความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย  
ชาวนาที่เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นไม่น่าจะเป็นผู้มีการศึกษา หรือคงมีการศึกษาน้อยกว่าเหล่าพระ ขุนนาง ที่เป็นข้าราชการในราชสำนักแวร์ ซายแน่ๆ  (..และน่าจะเริ่มต้นในรัฐธรรมนูญไทยฉบับมี 2540 ที่ระบุคุณสมบัติผู้สมัครเป็นผู้แทนราษฎรว่าต้องจบการศึกษาอย่างน้อยปริญญาตรี อันสะท้อนเฉพาะของสังคมไทย) การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยเกือบทั้งหมดเป็นการต่อสู้ของคนชั้นล่างเพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่จากผู้ปกครองที่ได้สร้างคำอธิบายว่า "คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน" 
บรรดาคนชั้นล่าง กรรมกร ทาส ประชาชนในประเทศที่ตกเป็นอาณานิคม ฯลฯ คนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคนที่มีการศึกษาน้อยกว่า "ผู้ปกครอง" ของเขาทั้งสิ้น

ที่มีการศึกษาน้อย เพราะไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา "ในระบบ" ได้ เพราะ "ผู้ปกครอง" สงวนสิ่งเหล่านั้นไว้เฉพาะคนบางกลุ่ม มิหนำซ้ำยังผูกพันคติ ความเชื่อ เช่น ชาติกำเนิดอันต่ำต้อยนั้นเนื่องมาแต่กรรมเก่า เมื่อกรรมเก่ามีมาก มิพึงเรียกร้องจะกิน จะอยู่ หรือเรียนหนังสือเหมือนผู้ที่มีบุญมากกว่า มีชาติกำเนิดสูงส่งกว่า 
หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนจะถูกทำให้เชื่อว่า คุณเป็นทาสเพราะคุณต้องเกิดมาเป็นทาสด้วยชะตากรรมที่ถูกกำหนดไว้แล้วจากเบื้องบน คุณเกิดมาจนก็เพราะเป็นชะตากรรมที่กำหนดไว้แล้ว คุณเกิดมาเป็นไพร่ก็เพราะชะตากรรมกำหนดไว้แล้ว
ทั้งหมดนี้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ดั่งนิ้วมือคนเราที่ไม่เท่ากัน เกิดเป็นนิ้วก้อยอย่าริอยากเป็นหัวแม่มือ เกิดเป็นตีนอย่าริอยากเป็นศีรษะ มันผู้ใดที่ริอยากเปลี่ยนแปลงชะตากรรมจากเบื้องบน เท่ากับกำลังท้าทาย "ธรรมชาติ" อาจทำให้เบื้องบนโมโหโกรธา บันดาลให้บ้านเมืองเข้าสู่ยุคเข็ญ
ยืมสำนวนคุณนงนุชมาใช้ต้องบอกว่าก่อให้เกิดกาลีเมืองในระดับ "นาโน" เลยทีเดียว


แต่เมื่อประชาชนคนชั้นล่างเริ่มตั้งคำถามกับ "นิทาน" เริ่มไม่เชื่อว่าคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน เริ่มไม่เชื่อว่าคนเรากำหนดชะตากรรมของตนเองไม่ได้ เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมคนทำงานหนักกลับมีชีวิตลำบาก แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มิได้ทำงานอะไรกลับสุขสบายบนผลผลิตจากการทำงานของพวกเขา
เมื่อนั้นเองขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกันของมนุษย์ อันเป็นรากฐานของประชาธิปไตยจึงถือกำเนิดขึ้น


ดังนั้น หากจะถามว่าใครคือผู้ที่เข้าใจและ "อิน" กับปรัชญาพื้นฐานของประชาธิปไตยมากที่สุด คงไม่ใช่ "ผู้มีการศึกษาสูง" เป็นแน่
แต่คือบรรดาคนที่ถูกกดขี่อยู่ข้างล่าง คือคนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาที่ดี การรักษาพยาบาลที่ดี แหล่งเงินกู้ที่เป็นธรรม คือกลุ่มคนที่ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ถูกทำลาย (การใช้วุฒิการศึกษาวัดคุณค่าของคนก็เป็นการทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ประการหนึ่ง)
คนเหล่านี้แหละคือผู้ที่เข้าใจประชาธิปไตยและเป็นหัวขบวนของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในทั่วโลก

เช่นเดียวกัน ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาสูงก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นคนที่เป็นปรปักษ์กับปรัชญาประชาธิปไตยโดยอัตโนมัติ เพียงเพราะเขาอยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบ ผู้มีการศึกษาสูงจำนวนมากที่ตระหนักว่าศักดิ์ศรีของลาภ ยศ สรรเสริญ หรือแม้กระทั่งผลประโยชน์ที่มาจากการศึกษาที่พวกเขามีอยู่นั้น อาจถูกพรากออกไปจากตัวเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงเปลี่ยน "ขั้วอำนาจ" ของผู้ปกครอง ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่มาจากตัวบุคคลเดิมในระบอบที่อาญาสิทธิ์เด็ดขาดไว้ที่ผู้ปกครองก็อาจถูกริบ ชีวิตพลันตกต่ำได้ทันที คงมีแต่ความเป็นมนุษย์เท่านั้นที่ไม่มีใครพรากไปจากเราได้ 
ดังนั้น การส่งเสริมลัทธิการปกครองที่ให้ความสำคัญกับ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค ของมนุษย์ทุกคนจึงเป็นสิ่งที่ "ปัญญาชน" กลุ่มนี้เลือก

และไม่แปลกอะไรที่จะมีปัญญาชนที่เห็นแก่ "ผลประโยชน์ระยะสั้น" เลือก ลาภ ยศ สรรเสริญ ชั่วครั้งคราว (และบางครั้งเป็นเพียง ลาภ ยศ สรรเสริญในจินตนาการหรือในฝันเท่านั้น)มากกว่าเลือกศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังนั้น พวกเขาจึงเลือกจะยืนอยู่ข้างที่เป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตย



ประการที่สอง คนที่มีการศึกษาในระบบ หรือมีวุฒิการศึกษาสูงไม่สนับสนุนคนเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทยจริงหรือไม่?
ในการทำวิจัยหัวข้อ Demovracy and Decision ของ อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ซึ่งนำเสนอในงานสัมมนา หัวข้อ Democracy and Crisis ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ในส่วนที่เกี่ยวกับระดับการศึกษาของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งดังนี้ 
การศึกษาระดับประถมศึกษา เลือกพรรคเพื่อไทย 55.2% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 35.6% 
การศึกษาระดับมัธยมและอาชีวศึกษาเลือกพรรคเพื่อไทย 54.5% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 34.7% 
การศึกษาระดับปริญญาตรี เลือกพรรคเพื่อไทย 40.1% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 46.5% 
การศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป เลือกพรรคเพื่อไทย 50.3% เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 32.3% 
ข้อมูลนี้บอกเราว่า ผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรีเลือกพรรคประชาธิปปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทยประมาณ 6.5% เท่านั้น
แต่ผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีเลือกพรรคเพื่อไทยมากกว่าพรรคประธิปัตย์มากกว่าถึง 18%

แต่จะว่าไปแล้ว ผู้มีการศึกษาทุกระดับไม่ว่าจะประถม มัธยม หรือสูงกว่าปริญญาตรีก็เลือกพรรคเพื่อไทย (อันเป็นพรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงสนับสนุน) มากกว่าประชาธิปัตย์อย่างชัดเจน 
ดังนั้น คำกล่าวอ้างของคุณนงนุชที่ว่าคนมีการศึกษาไม่สนับสนุนประชาธิปไตยสีแดงจึงไม่ตรงกับตัวเลขที่ออกมา หรืออาจพูดได้ว่าเป็นจินตนาการของคุณนงนุชเอง



ประการที่สาม ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชนบทมี "การศึกษา" น้อยกว่าคนในเมืองหรือไม่?
ใครๆ ก็รู้ว่า "การศึกษา" นั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่รั้วโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เพราะการศึกษา ไม่ใช่การ "เรียน" (ระวังโดน สสส. จับไปปฏิรูปการเรียนรู้ นะฮัฟ) พี่สินน้องวินมอเตอร์ไซค์ อ่านข่าว ฟังวิทยุ อ่านมติชนสุดฯ ดูบลูสกายควบวอยซ์ทีวี ก็ถือเป็นการศึกษา

คุณย่าคุณยาย แม่ค้า พ่อค้า เด็กวัยรุ่น ฯลฯ จะเป็นใครอายุเท่าไหร่ อยู่ในจังหวัดไหน จะเมืองหรือชนบท หากพวกเขาเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น แสวงหา ข้อมูล ข้อเท็จจริง อ่านและฟังอยู่เสมอ พวกเขาย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีการศึกษา เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น ราคาถูกลงคืออุปกรณ์การเรียนรู้ที่ดีที่สุด ชาวบ้านในชนบท ฟังนักการเมืองปราศรัย ฟังการอภิปรายในรัฐสภา ได้อ่านข้อมูลลึกลับมากมายกว่าในสมัยก่อนมากนักและ "รัฐ" ก็ตระหนักในภยันตรายของการได้รับการ "ศึกษา" อย่างเข้มข้นรวดเร็วของประชาชนจึงรีบรุดออก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพราะกลัวการศึกษา "นอกระบบ" ของประชาชน 

ไม่เพียงแต่ศึกษาผ่านเทคโนโลยี ประชาชนที่ไม่มีวุฒิการศึกษาสูงยังพาเหรดเข้าไปในรั้วของมหาวิทยาลัย นิติราษฎร์จัดงานทีไร หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แทบแตกเพราะประชาชนกระหายความรู้และดาหน้ากันเข้าไปฟัง "นักวิชาการ" 
ส่วน ประชาชนในต่างจังหวัดก็นั่งฟัง "การถ่ายทอดสดเสียงการเสวนา" ผ่านสถานีวิทยุชุมชนอย่างตั้งอกตั้งใจ  
ฉันเรียกสิ่งนี้ว่า "การศึกษา" และไม่เชื่อว่า ประชาชนในเขตต่างจังหวัดจะมี "การศึกษา" น้อยกว่าคนในเมือง



ประการสุดท้าย คนมี "การศึกษาสูง" เห็นว่าประชาธิปไตยยุคทักษิณเป็นประชาธิปไตยแต่เปลือก ฉันคงต้องถามคุณนงนุชว่า แล้วประชาธิปไตยที่มี "แก่น" นั้นมีหน้าตาอย่างไร?
หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือมีการเลือกตั้งและเราเคารพเสียงข้างมาก -ประชาธิปไตยมีมากกว่านี้ได้แต่ต้องไม่น้อยกว่านี้ ฉันไม่เห็นว่าประชาธิปไตยสมัย "ทักษิณ" จะมีแต่เปลือกที่ตรงไหน เพราะมาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่เคารพเสียงข้างมากทุกประการ 
ไม่พึงอ้างเรื่องการคอร์รัปชั่น เรื่องความไม่โปร่งใส หรือเผด็จการเสียงข้างมาก เพราะหากเป็นเผด็จการเสียงข้างมากก็เป็นได้แค่ 4 ปี เท่านั้น เลือกตั้งครั้งต่อไปอำนาจก็กลับไปที่ประชาชนในการเลือกตัวแทนของตน ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ว่าด้วยคุณธรรมความดี หรือความใจซื่อมือสะอาด แต่ประชาธิปไตยเป็นกติกาของสังคมโลกย์ๆ ที่พยายามจะรับมือกับความชั่วช้าของมนุษย์โดยการประสาน ถ่วงดุลอำนาจและผลประโยชน์โดยอิงการตัดสินใจของเสียงข้างมากเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงและมิให้มีใครผูกขาดความ "ชั่ว" หรือ ความ "ดี" ไว้แต่เพียงผู้เดียว

รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยที่ได้มาจากการรัฐประหารอีกทั้งรัฐบาลที่มาด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่างหากเล่าที่สมควรถูกกล่าวหาว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ "เปลือก" - เรื่องเช่นนี้ คนที่มี "การศึกษา" เช่น คุณนงนุช ย่อมรู้ดีกว่าฉันแน่ๆ

จึงเรียนมาเพื่อการเจริญ "สติ"



.