http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-06

ขยะอุตสาหกรรมข่าวสาร ขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดย อนุช อาภาภิรม

.

ขยะอุตสาหกรรมข่าวสาร ขยะอิเล็กทรอนิกส์
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 38 


อุตสาหกรรมข่าวสารนับได้ว่าเป็นยุคปลายของอารยธรรมอุตสาหกรรม ที่มีพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเร็วจนเกิดยุคย่อยๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ยุคเครื่องจักรไอน้ำ ยุคเครื่องยนต์สันดาปภายใน ยุคไฟฟ้าและวิทยุ ที่รวมถึงโทรศัพท์และโทรเลข โทรทัศน์ ยุคไนล่อนและพลาสติก จนเข้ายุคจรวด ยุคปรมาณู และยุคทรานซิสเตอร์ จนเข้าสู่ยุคข่าวสารในช่วงทศวรรษ 1960 
เมื่อเทียบกับการพัฒนาในยุคก่อนก็จะเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงเร็วกว่ากันมาก เช่น ยุคหินกว่าจะผ่านสู่ยุคโลหะก็กินเวลาถึง 3-4 ล้านปี

อุตสาหกรรมข่าวสารรุ่งเรืองขึ้นได้จากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเศรษฐกิจหลายประการด้วยกัน ได้แก่ วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ การพัฒนาทางเครื่องคำนวณอิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ จนมีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล มีความจำมากขึ้น คิดคำนวณได้เร็วขึ้น เทคโนโลยีมือถือ (Mobile Technology แปลอีกอย่างว่าเทคโนโลยีเคลื่อนที่) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างอุปกรณ์ขนาดมือถือพกพาเคลื่อนที่ติดตัวไปได้) เริ่มจากเพจเจอร์ จนเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นต่างๆ ปัจจุบันถึงรุ่นที่ 4 และ 5 หรือ 4จี และ 5จี 
เทคโนโลยีอวกาศ ที่เฟื่องฟูอย่างรวดเร็วในทศวรรษ 1960 มีการส่งดาวเทียมหลากหลายทั้งรูปแบบ ลักษณะ และการใช้ประโยชน์ รวมทั้งสื่อสาร ไปจนถึงสถานีอวกาศ 
เทคโนโลยีวัสดุมีการคิดสร้างวัสดุใหม่ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เส้นใยแก้ว (Fiber Optic) ที่มีการนำมาใช้กว้างขวางในยุคอวกาศ การพัฒนาโลหะผสมที่ใช้ทำเครื่องคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแบตเตอรี่ที่เก็บพลังงานไฟฟ้าได้มาก ในนี้รวม นาโนเทคโนโลยี ด้วย การพัฒนาแสงเลเซอร์และคลื่นไมโครเวฟมาใช้ในทางด้านการสื่อสาร เป็นต้น

การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์เป็นไปได้ และกระบวนโลกาภิวัตน์ก็ยิ่งเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารให้รุดหน้าไปอีก 
ทิศทางการพัฒนาของเทคโนโลยีข่าวสารออกไปในแนวว่ามีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบาขึ้น เก็บความจำมากขึ้นและคำนวณได้เร็วขึ้น 
ซึ่งทำให้การรวมหลายอุปกรณ์เข้าด้วยกันอยู่ในเครื่องเดียวเป็นไปได้ โดยเป็นทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก เครื่องกำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ กล้องถ่ายรูปและวิดีโอ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องเล่นเกมใช้ท่องอินเตอร์เน็ต เป็นบัตรเครดิต และอื่นๆ จนถึงขั้นมีความคิดที่จะฝังสมาร์ทโฟนในสมองของมนุษย์

มีการกล่าวว่าอุตสาหกรรมข่าวสารเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาด ใช้พลังงานน้อย ซึ่งก็เป็นจริง แต่ว่ามันก็ไม่ได้สะอาดมากจนเหมือนไม่ได้ใช้พลังงาน 
ที่จริงอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์จัดได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สกปรกไม่ต่างกับอุตสาหกรรมอื่น ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีสารและโลหะหนักที่เป็นพิษอยู่ไม่น้อย 
ในปัจจุบันมีรายงานเกี่ยวกับอันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste เรียกสั้นๆ ว่า e-waste) กันอย่างต่อเนื่อง เช่น ของโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP) 
นอกจากนี้ ได้มีการชี้ถึงการใช้พลังไฟฟ้าอย่างสูง โดยเฉพาะในเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ ของเว็บค้นหา เป็นต้น




ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างไร

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะไฮเทคชนิดหนึ่ง ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ชำรุดใช้การไม่ได้ หรือตกรุ่นไม่ทันสมัยใช้ทางการงานไม่ดีและถูกทิ้งไป อุปกรณ์เหล่านี้ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในสำนักงาน เครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ/เคลื่อนที่ เครื่องรับโทรทัศน์ และอาจนับตู้เย็นที่ปัจจุบันติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไว้ด้วยเป็นอันมาก 
ขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาเฉพาะของประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และปัญหานี้ก็เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ


ข้อแรก ได้แก่ การพัฒนาทางเทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสารอย่างรวดเร็ว ทำให้เครื่องตกรุ่นเร็วต้องกลายเป็นขยะ 
นอกจากนี้ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มที่จะมีราคาถูกลง เป็นแรงจูงใจให้ผู้ใช้เปลี่ยนเครื่องได้บ่อย บางคนมีโทรศัพท์มือถือหลายเครื่อง เครื่องรับโทรทัศน์ก็มีแทบทุกห้อง และที่สำคัญก็คือการออกแบบตัวอุปกรณ์ไม่ให้คงทนนาน เพื่อจะได้ออกรุ่นต่อไป เมื่อเสียก็ทิ้งเป็นขยะไป แล้วซื้อใหม่ 
การพัฒนาเช่นนี้ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณขยะขึ้นอีกมาก ประมาณว่าทั่วโลกมีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ราวปีละ 50 ล้านตัน
เฉพาะในสหรัฐมีการทิ้งคอมพิวเตอร์ปีละ 30 ล้านเครื่อง และในยุโรปมีการทิ้งโทรศัพท์มือถือปีละราว 100 ล้านเครื่อง 

และขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ราวร้อยละ 15-20 เท่านั้นที่มีการรีไซเคิล ที่เหลือทิ้งเป็นขยะไป หรือไม่ก็ส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา

เป็นที่สังเกตว่าการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้พุ่งสูงอย่างรวดเร็วหลังจากการพัฒนาเทคโนโลยีรุ่น 3 หรือ 3จี ขึ้น 
โดยประมาณว่าในสิ้นปีมีผู้ใช้บริการนี้ถึง 1.1 พันล้านคน หรือราวร้อยละ 18 ของประชากรโลก 
ประเทศที่นำหน้า ได้แก่ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น 
โทรศัพท์มือถือได้กลายอุปกรณ์ประจำตัวคล้ายเสื้อผ้า และแพร่กระจายไปทั่วโลก


การเวียนใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์
 
ในประเทศกำลังพัฒนา

ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะที่มีการกล่าวขวัญถึงมากว่า สามารถนำมาเวียนใช้หรือรีไซเคิลได้มากที่สุดจนบางคนกล่าวว่าควรถือว่าเป็น "ทรัพยากร" ไม่ใช่ขยะ 
เช่น ระบุว่าทุกปี มีการใช้ทองคำราว 320 ตัน และเงินอีก 7,500 ตัน ซึ่งมีมูลค่าถึง 21 พันล้านดอลลาร์เพื่อใช้ในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ยังใช้แร่หายากอีกจำนวนหนึ่งที่มีมูลค่าสูงขึ้นทุกที และว่าคอมพิวเตอร์นั้นประกอบด้วยเหล็กกล้าร้อยละ 54 ทองแดงและอะลูมิเนียมร้อยละ 20 อีกร้อยละ 8 เป็นแผงวงจร ซึ่งมีค่าสูงหากได้มีการนำมาเวียนใช้ 
แต่เรื่องก็ไม่ง่ายเช่นนั้นเพราะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อการเวียนใช้ มีการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างแน่นหนา มีการบัดกรี การจะนำมาเวียนใช้ต้องแยกทำลายหรือใช้การเผาหลอมที่ต้องลงทุนสูงหากต้องการทำอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพของคนงาน
ประมาณกันว่ามีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่มีการเวียนใช้ใหม่ ที่เหลือทิ้งขยะหรือไม่ก็ส่งออกไปยังประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งก็ไม่มีตัวเลขชัด
ในที่นี้จะยกกรณีประเทศกานา Ghana และจีนเป็นตัวอย่าง

กานาเป็นประเทศไม่ใหญ่อยู่ทางแอฟริกาตะวันตก ติดชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีประชากรกว่า 24 ล้านคน เป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ-การเมืองไปพอสมควร อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างเช่นทองคำ และเพชร ทั้งยังสามารถส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วย มีเขื่อนใหญ่ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และกำลังต้องการก้าวเดินสู่ยุคดิจิตอลเช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น 
มีชุดโครงงานวิจัยจากความร่วมมือหลายฝ่ายหลายองค์กรเพื่อประเมินเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบางประเทศของแอฟริกาและหนึ่งในนั้น ได้แก่ ประเทศกานา 
สำหรับประเทศกานามีรายงานว่าในปี 2009 กานาได้นำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมกันสูงถึงราว 215,000 ตัน หรือเฉลี่ยราว 9 กิโลกรัมต่อคน 
ปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ใหม่แกะกล่อง อีกร้อยละ 70 เป็นสินค้ามือ 2 ในจำนวนนี้ร้อยละ 15 ชำรุดจนนำมาขายไม่ได้ ซึ่งต้องทิ้งเป็นขยะ อีกร้อยละ 20 ยังพอซ่อมแซมมาขายได้ 
อันนี้มีข้อดีที่ทำให้ชาวกานาเข้าถึงเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกศ์ราคาถูกได้มากขึ้น  
แต่ก็มีข้อเสียที่สินค้ามือ 2 นี้เสียเร็วกว่าของใหม่ 
ดังนั้น แต่ละปีมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากมายเกิดขึ้นในประเทศนี้ 
ร้อยละ 70 ของเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นมือสองจะกลายเป็นขยะไปอย่างรวดเร็ว

ในปี 2009 เครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุเหล่านี้มีปริมาณถึง 280,000 ตัน ร้อยละ 57 นำไปซ่อม ร้อยละ 8 เก็บไว้ อีกร้อยละ 34 เป็นขยะให้เวียนใช้ใหม่ ซึ่งเกือบทั้งหมดผ่านการเก็บขยะอย่างไม่เป็นทางการของนักคุ้ยหาของตามกองขยะ 
มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ผ่านการเก็บของชุมชน
นักเก็บขยะเครื่องไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะนำไปขายให้แก่ร้านที่จะนำไปรีไซเคิล ซึ่งเกือบทั้งหมดดำเนินการเอง มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ดำเนินอย่างเป็นทางการ 
การรีไซเคิลนั้นมีตั้งแต่การรื้อแยกไปจนถึงการเผา เพื่อให้ได้ส่วนที่มีค่าออกมา เพื่อนำไปขายต่อ ส่วนที่ไม่มีค่าก็ทิ้งกองไว้ ซึ่งจะนำไปเผาเป็นระยะเพื่อลดปริมาณขยะลง ในการปฏิบัติเช่นนี้ก่อให้เกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อคนงานและสภาพแวดล้อม
เช่น ตรวจพบว่าการเผาสายเคเบิลเพียงอย่างเดียวในบริเวณปริมณฑลของนครอักกราเมืองหลวงของประเทศ ปล่อยสารไดออกซินเข้มข้นประมาณ 3 กรัมต่อปี สูงเป็นร้อยละ 7.5-15 ของการปล่อยสารไดออกซินจากขยะอุตสาหกรรมที่เกิดจากการเผาทั่วยุโรป

ถ้าหากปล่อยให้เกิดเช่นนี้ต่อไปในปี 2020 การนำเข้าเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของกานาจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2020 ซึ่งสถานการณ์ก็จะยิ่งเลวร้ายลงทุกที 
ปัญหาขยะเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศกานานั้นก็เนื่องจากขาดกฎระเบียบในการควบคุมการนำเข้าสินค้าดังกล่าว รวมทั้งการจัดการทิ้งขยะอย่างเหมาะสม ซึ่งจะต้องมียุทธศาสตร์ระดับชาติเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อกำหนดนโยบายและการจัดการขยะเหล่านี้ (ดูบทรายงานชื่อ Ghana e-Waste Country Assessment ของ SBC e-Waste Africa Project ใน ewasteguide.info มีนาคม 2011)


สำหรับกรณีประเทศมีทั้งที่คล้ายคลึงและต่างกับของกานา จีนเป็นประเทศผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มากเป็นที่ 2 ของโลกประมาณว่าราว 2.3 ล้านตันต่อปี ตามหลังสหรัฐที่ผลิตได้ราวปีละ 3 ล้านตัน 
ทั้งนี้ ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ และประมาณว่าในปี 2020 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2007 โดยที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นที่รองรับขยะเหล่านี้มากที่สุด 
การเวียนใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจีนเกือบทั้งหมดยังเป็นแบบไม่ใช่ทางการ กระทำโดยเครือข่ายอิสระที่ปราศจากการควบคุม
ในด้านนี้คล้ายคลึงกับประเทศกานา นั่นคืออาศัยกองทัพนักเก็บขยะจำนวนมาก เช่นในกรุงปักกิ่งมีถึง 170,000 คน และมีร้านรับซื้อเครื่องอิเล็กทรอนิกส์เก่าเพื่อนำไปขายต่อ ซึ่งผู้ใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 60 นำเครื่องที่ใช้แล้วไปขายที่ร้านเหล่านี้ ที่เหลือก็ทิ้งรวมไปกับขยะอื่นในบ้าน 
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เก็บรวบรวมได้นี้จะนำใส่รถบรรทุกขนไปที่โรงงานที่ดำเนินกระบวนการเวียนใช้ไหม่ที่ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 มณฑลคือเจ๋อเจียง เหอเป่ย และกวางตุ้ง เป็นตลาดกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ใต้ดิน มีความพยายามที่จะทำให้กระบวนการนี้ถูกกฎหมายและปลอดภัยแต่ก็ยังไม่สำเร็จ 

นักเก็บขยะและคนงานในโรงงานเวียนใช้ใหม่ยังต้องเผชิญกับพิษภัยต่อสุขภาพต่อไป เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางการจีนพยายามแก้ไขด้วยตนเองต่อไป ในด้านนี้มีความหวังกว่ากานา (ดูบทความของ Zheng Xin ชื่อ Fortune squandered without recycling ใน chinadaily.com 060812
กรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ของจีนที่โด่งดังไปทั่วโลก ได้แก่ เมืองกุ้ยหยู (Guiyu) ซึ่งประกอบด้วย 4 หมู่บ้านที่มณฑลกวางตุ้ง เมืองนี้ได้หันมาทำอุตสาหกรรมเวียนใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งนอกจากเก็บรวบรวมในประเทศแล้ว ยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศด้วย
ว่ากันว่ากุ้ยหยูเป็นพื้นที่รีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการทำอุตสาหกรรมนี้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง ดินและน้ำในเมืองนี้ปนเปื้อนด้วยโลหะหนักอย่างเช่นตะกั่วและแคดเมียม น้ำใต้ดินก็ดื่มไม่ได้ ทั้งยังมีสารพิษไดออกซินสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก เด็กๆ ป่วยเป็นโรคพิษตะกั่ว (ดูบทความของ Katia Moskvitch ชื่อ Unused e-waste discarded in China raises questions ใน bbc.co.uk 200412)

ไม่มีอุตสาหกรรมใดที่สะอาด ไม่มีการผลิตแบบโรงงานใดที่เป็นสีเขียว เมื่อเดินเครื่องการผลิต ก็ควรนึกถึงการกำจัดขยะและของเสียพร้อมกันไว้ด้วย จะได้ผ่อนหนักเป็นเบา และทำให้เรายังสามารถรักษาโลกที่สะอาดและเป็นสีเขียวไว้ต่อไปได้



.