.
หอกังสดาล สานสัมพันธ์ ลำพูน-แพร่-นครพิงค์
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 76
สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยขอให้ดิฉันเรียบเรียงเรื่องกังสดาลวัดพระธาตุหริภุญชัย เพื่อนำไปใช้ประกอบสคริปต์การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์หรือ "Music Museum" ที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข แห่งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กำลังดำเนินการจัดสร้างอยู่
พร้อมสำทับว่า หากวันไหนดิฉันมีอารมณ์ก็น่าจะเขียนถึงกังสดาลชิ้นนี้ดูบ้าง
กังสดาล คีตาเต็มเดือน
เหมือนกลองผสมระฆัง
เว้นช่วงไปนานแรมปีกว่าจะมีอารมณ์หยิบเรื่องนี้มาปัดฝุ่น ให้คุณพี่ "ขุนเดช" แช่มชื่นใจ
ทั้งนี้ไม่ลืมที่จะตอบคำถามแรก ที่ว่า "แม่เพ็ญ! กังสดาลเนี่ย จัดเป็นเครื่องดนตรีประเภท Drum หรือ Bell?"
อพิโถ! มาตั้งปรัศนีง่ายๆ ดิฉันรีบสวนกลับทันทีว่า "กังสดาลคือคีตาวงเดือน (แต่ที่วัดนี้เป็นรูปเต็มเดือน) จัดเป็นระฆังประเภทหนึ่ง ก็ต้องเป็น Bell น่ะสิคะคุณพี่"
แต่แล้วพี่สุจิตต์กลับย้อนถามว่า "ถ้าเป็น Bell ทำไมไม่มีลูกตุ้มลั่นมาจากข้างใน ไยจึงใช้วิธีกระทุ้งจากข้างนอกอันเป็นลักษณะของ Drum (นี่หว่า แม่เพ็ญ)"
ในใจดิฉันยังคงค้านความเป็น Drum ของกังสดาลมาจวบวันนี้ นี่อาจเป็นเหตุผลที่จำต้องแช่ดองบทความเรื่องกังสดาลนานค้างปีกระมัง
พิเคราะห์จากฟังก์ชั่นของมัน กังสดาลค่อนไปทาง Bell มากกว่า ทว่าวิธีประเลงกลับต้องอาศัยไม้กระทุ้งแบบ Drum
ถ้างั้นพบกันครึ่งทางก็แล้วกัน สรุปว่ากังสดาลจัดเป็นเครื่องดนตรีประเภท Gong หรือ ฆ้อง ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างกลองกับระฆัง
ลั่นกังสดาลโดยใด
มีมาแต่หนไหน
หลักฐานด้านลายลักษณ์เก่าสุด ที่มีเนื้อความกล่าวถึง "กังสดาล" ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกวัดพระยืน จ.ลำพูน ซึ่งพระญากือนากษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้ทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1913
มีการระบุชื่อเครื่องดนตรีนานาชนิด ที่ใช้ประกอบขบวนแห่ต้อนรับพระสุมนเถระ ที่พระญากือนาได้อาราธนาจากเมืองสุโขทัย ให้มาเป็นพระสังฆราชในอาณาจักรล้านนา ดังข้อความ...
"ตีพาทย์ ดังพิณ ฆ้อง กลอง ปี่สรไน พิสเนญชัย ทะเทียด กาหล แตรสังข์มาน กังสดาล มรทงค์ ดงเดือด เสียงเลือด เสียงก้อง"
ในจารึกมีทั้ง ฆ้อง กลอง และกังสดาล (แต่ไม่ปรากฏระฆัง) แสดงว่า "กังสดาล" ย่อมแตกต่างจากฆ้อง-กลอง อย่างไรก็ดี เรามิอาจทราบว่ากังสดาลในจารึกวัดพระยืนมีรูปแบบเช่นไร จะใช่ระฆังวงเดือน เหมือนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยหรือไม่
หรือจะเป็นกังสดาลรูป "เดือนเต็มดวง" ที่ดูละม้าย "ฆ้อง" ดังเช่นวัดพระธาตุหริภุญชัยที่สร้างขึ้นหลังจากจารึกวัดพระยืนนานถึง 500 ปี
แม้จารึกวัดพระยืนทำขึ้นในสมัยล้านนา แต่เชื่อว่า "กังสดาล" น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ยุคหริภุญไชย
ไม่แน่ใจนักว่าการติดตั้งกังสดาลไว้ตามวัด จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมาแต่ดั้งเดิม เพราะโดยปกติทุกวัดย่อมมี "กลอง" กับ "ระฆัง" เอาไว้ตีบอกโมงยามสำหรับกิจสงฆ์อยู่แล้ว
ส่วน "กังสดาล" มิได้สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทว่าใช้เฉพาะพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น เช่น ตีให้ฤกษ์ในพิธีบวชลูกแก้ว รับขวัญนาค หรือแห่ประโคมต้อนรับการเดินทางมาของบุคคลสำคัญ
"กังสดาล" สมัยอดีต จึงน่าจะมีเฉพาะในวัดหลวง และนานทีปีหนจะลั่นกันสักครั้ง
ผิดกับกังสดาลยุคว่าที่ 3G ถูกยกไปประดับไว้ตามโรงแรม พร้อมกระทุ้งทุกเวลาเมื่อท่านประธานกล่าวเปิดงานสัมมนาเสร็จ
วัดเล็กวัดน้อยต่างมีกังสดาลเทียมที่หน้าตาเหมือนฆ้อง กลายเป็นสินค้าให้นักท่องเที่ยวแย่งกรูกันไปกระแทกคนละตู้มสองตู้มอย่างมันมือ แถมแต่ละวัดยังแข่งขันกันทำลายสถิติการหล่อ สักแต่ว่าขอให้มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันสะใจไม่ต้องง้อกินเนสส์บุ๊ก
ผู้สร้างคนเมืองแป้
หล่อที่เจียงใหม่
ถวายแด่พระธาตุหลวงหละปูน
มีคำจารึกปรากฏอยู่บนกังสดาล ด้วยอักษรไทล้านนาแบบฝักขาม ถอดความได้ว่า
"สร้างหล่อกังสดาลหน่วยนี้ แต่เมื่อศักราชได้ 1222 ตัว ปีกดสัน เดือน 9 ออก 3 ค่ำ วันอังคารหล่อ กัญจนมหาเถรเจ้าวัดป่าเมิงแพร่เป็นเค้าแก่สัทธาภายใน เจ้าหลวงเมิงเจียงใหม่ เป็นเค้าแก่สัทธาภายนอก สัทธาทั้งภายในและภายนอกพร้อมกันสร้าง หล่อในวัดพระสิงห์ เวียงเจียงใหม่ มาไว้เป็นเครื่องปูจาทานกับพระธาตุเจ้า อันตั้งไว้บังใบในเมิงหริภุญไชยที่นี้ 5,000 พระวัสสาแล"
จุลศักราช 1222 คือปี พ.ศ.2403 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ความในจารึกระบุนาม "ครูบากัญจนะมหาเถร" แห่งวัดป่าสุ่งเม่น (ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นวัดสูงเม่น) เมืองแพร่ เป็นผู้ดำริสร้าง
สถานที่หล่อคือวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เมื่อดูศักราชแล้ว ย่อมตรงกับสมัยของเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (2399-2417)
เมื่อหล่อเสร็จได้นำมาถวายไว้ "บังใบ" ยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ทิศที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่) แด่พระธาตุเจ้าหริภุญไชย ชวนให้ฉงนใจว่า ไฉนจึงไม่มาหล่อที่เมืองลำพูนเสียเลยเล่า
ทำไมกังสดาลชิ้นนี้ต้องเชื่อมโยงสายใยถึงสามนคร? คืออีกหนึ่งคำถามที่ดิฉันยังไม่ได้ตอบพี่สุจิตต์
ครูบากัญจนะผู้สร้างกังสดาล ถือเป็นปราชญ์เอกแห่งวงการสงฆ์ล้านนาอีกรูป เป็นบุคคลสี่แผ่นดิน ชาตะในสมัยรัชกาลที่ 1 ราวปี พ.ศ.2332 ที่บ้านสุ่งเม่น เมืองแพร่ (เวียงโกศัย) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวัย 12 ขวบ ศึกษาธรรมะอย่างแตกฉานที่สำนักวัดศรีชุม (แพร่) กับพระอาจารย์หลายรูป ที่ล้วนเคยบวชเรียนมาจากวัดพระธาตุหริภุญไชย
ผลงานชิ้นโบแดงของท่านคือการเก็บรวบรวมคัมภีร์ใบลานที่กระจัดกระจายพรายพลัดตามวัดร้าง หลังพ้นยุคที่พม่าปกครองล้านนา มาไว้ที่วัดสุ่งเม่น ริเริ่มประเพณีจารธรรมด้วยการคัดลอกคัมภีร์ใบลานมากกว่า 2,000 ผูก
บั้นปลายชีวิตท่านได้เดินธุดงค์ไปยังวัดสวนดอก เชียงใหม่ ความที่เป็นพระป่าผู้มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส จึงเป็นที่เคารพของเจ้าหลวงเชียงใหม่ยิ่งนัก ถึงขนาดออกปากอาราธนาให้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดพระสิงห์
ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอธิการวัดพระสิงห์นี่เอง ครูบากัญจนะอรัญวาสีได้สร้างหอพระไตรปิฎก (คนเหนือเรียก "หอธรรม") ขึ้น โดยจำลองรูปแบบมาจากหอธรรมของวัดพระธาตุหริภุญชัย
อีกทั้งยังเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ (จารึกใช้คำว่า "ศรัทธาภายใน") หล่อกังสดาลโลหะขนาดใหญ่ ร่วมกับเจ้าหลวงเชียงใหม่ ("ศรัทธาภายนอก" หรือฝ่ายฆราวาส) โดยระบุความตั้งใจไว้ชัดว่าจักถวายแด่พระธาตุองค์ใด
ทำไมต้องพระธาตุหลวงลำพูน? ฤๅเป็นเพราะหริภุญไชยเป็นถิ่นกำเนิดครูบาอาจารย์ของท่าน ในเมื่อท่านไม่มีโอกาสได้มาศึกษาเล่าเรียนหรือจำพรรษาที่นี่ แต่ก็ขออุทิศ "กังสดาล" นี้ถวายแด่พระมหาชินธาตุเจ้าองค์เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งล้านนา สมดั่งปณิธาน
ผลงานชิ้นนี้จึงถือได้ว่า เป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์สามนครแห่งล้านนา ระหว่าง แพร่-เชียงใหม่-ลำพูน หรือ เวียงโกศัย-นครพิงค์-หริภุญไชย โดยมีครูบากัญจนะอรัญวาสีเป็นผู้ยึดโยง
น่าสนใจว่าปีที่ท่านมรณภาพ ณ เวียงระแหง (ตาก) เมื่อ พ.ศ.2421 นั้น ตรงกับปีชาตกาลของครูบาศรีวิชัยพอดี ซ้ำวัตรปฏิบัติของครูบาศรีวิชัย ก็เหมือนจะเจริญรอยตามครูบากัญจนะ ผู้เป็นต้นแบบของพระป่านักพัฒนาอยู่กลายๆ
. . ปริศนาภาพเก่า สามหนุ่มสามมุม
ตบท้ายด้วยภาพเก่าคราวเกิดวาตภัยครั้งใหญ่เมื่อ 1 พฤษภาคม 2457 เสนาสนะนับค่ามิได้ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยพังทลายลง รวมถึงหอกังสดาลหลังเดิมด้วย
เมื่อราชสำนักสยามทราบข่าวนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จมาตรวจสภาพความเสียหายของโบราณสถานด้วยพระองค์เอง
มีการบันทึกภาพเด็กหนุ่มสามคนไว้เป็นที่ระลึก ปราศจากคำบรรยาย ว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ทำไมถึงได้แต่งกายไปคนละทิศละทางเช่นนั้น
หนุ่มน้อยคนซ้ายสุดเปลือยท่อนบนสวมเตี่ยวสะดอเมืองเหนือ (คล้ายกางเกงชาวเล) หรืออาจนุ่งสบงในกรณีที่เป็นสามเณร ยืนท้าวสะเอวหน้านิ่วคิ้วขมวด
เด็กหนุ่มขวาสุดผมดกปรกหน้านุ่งผ้าต้อย (ผ้าผืนน้อย คล้ายโจงกระเบนแต่ยกสูง) ซ่อนรอยยิ้มเจื่อน
พ่อหนุ่มคนกลางนี่สิ ไปเอาเสื้อกางเกงใครมาสวมก็ไม่รู้ ใหญ่โคร่งคร่าง ซุกซ่อนมือทั้งสองเสียมิด จนดูคล้ายแขนพิการ แถมรัดเข็มขัดทันสมัยกว่าใครเพื่อน
ครั้นพินิจใบหน้านานเนิ่น พลันสะดุดใจทุกครั้งว่า เขาเป็นเด็กที่หน้าแก่ หรือเป็นผู้ใหญ่ที่ร่างแกร็น แถมยังนึกเลยเถิดไถลไปว่า ฤๅสมเด็จในกรมได้นำญาติของเงาะป่าคนังไปแอ่วเมืองเหนือด้วย?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
โพสต์ภาพ ที่ผู้เขียนได้แทรกเสนอไว้ในบทความฉบับถัดไป เพื่อความสมบูรณ์ของบทความข้างบนนี้
( บทความถัดไป - ประวัติศาสตร์บาดแผล ใครเผา “หอพระแก้วขาว” ใครเผา “เซ็นทรัลเวิลด์” โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/11/p-last-true.html )
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย