http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-07

(การ์ตูนที่รัก) Fallen Words โดย นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

.

Fallen Words
โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์  คอลัมน์ การ์ตูนที่รัก
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 71


โยชิฮิโร ทัตสึมิ (Yoshihiro Tatsumi) เป็นนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นมีชื่อเสียง เขาสร้างชื่อจากการเขียนการ์ตูนสะท้อนชีวิต ได้รับรางวัลจากสมาคมนักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นปี 1972 ได้รางวัลเท็ตซึกะ โอซามุปี 2009 รางวัลไอสเนอร์ปี 2010 
ปัจจุบันมีงานของเขาวางขายอย่างต่อเนื่องในภาคภาษาอังกฤษโดยสำนักพิมพ์ Drawn&Quarterly ของคานาดา มีขายตามร้านหนังสือต่างประเทศ 
ทัตสึมิเรียกงานของเขาว่า gekiga ตั้งแต่ปี 1957 จะว่าเป็นการ์ตูนแนวหรือการ์ตูนอันเดอร์กราวด์ของญี่ปุ่นก็คงจะได้
แม้ว่าเนื้อเรื่องจะออกแนวขำๆ แต่ก็เนื้อหาจริงจังกว่า manga และมีสาระที่สะท้อนให้เห็นด้านมืดของมนุษย์หรือของสังคม
มีหนังสือหลายเล่มรอให้ลองอ่าน ได้แก่ Black Blizzard, A Drifting Life, Abandon the Old in Tokyo, Good-Bye, The Pushman and Others Stories และ Fallen Words

ปี 2011 มีหนังการ์ตูนจากสิงคโปร์พูดภาษาญี่ปุ่นเรื่อง Tatsumi กำกับฯ โดย Eric Khoo เล่าเรื่องชีวิตของโยชิฮิโรจาก A Drifting Life และเรื่องสั้นบางเรื่องของเขา
เขาเป็นคนหนึ่งในกลุ่มนักเขียนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เคยพบกับ เท็ตซึกะ โอซามุ ก่อนที่จะสร้างการ์ตูนแนวของตนเองขึ้นมาเพื่อฉีกตัวออกจากมังงะกระแสหลัก


ลองมาอ่าน Fallen Words พร้อมกัน

เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 8 เรื่องจากสมัยเอโดะด้วยสไตล์การเล่านิทานแบบ rakugo นั่นคือผู้เล่าคอยพูดแทนตัวละครที่สนทนาโต้ตอบกันและต่อเติมเสริมแต่งบุคลิกภาพอีกทั้งคำพูดของตัวละครได้อย่างอิสระพอสมควร 
นั่นทำให้นิทานเรื่องเดียวกันสามารถสร้างความบันเทิงและสาระไปคนละทิศทางได้อย่างน่าสนใจ เมื่อโยชิฮิโรผสาน gekiga และ rakugo เข้าด้วยกันจึงได้ภาพ บทพูด และสาระที่ดีมากๆ

เรื่องที่หนึ่ง The Innkeeper"s Fortune เล่าเรื่องนักเดินทางกำมะลอคนหนึ่งที่ชอบคุยโวโออ้วดถึงความร่ำรวยของตัวเอง เขาเข้าพักในโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง เมื่อเจ้าของโรงเตี๊ยมขายลอตเตอรี่ให้แก่เขา เขาก็ทำทีเป็นยินยอมซื้ออย่างเสียไม่ได้และว่ารางวัลที่หนึ่งหนึ่งพันเรียวช่างจิ๊บจ๊อยเหลือเกิน หากถูกรางวัลจริงก็จะแบ่งเงินรางวัลให้เจ้าของโรงเตี๊ยมครึ่งหนึ่ง
ที่ตลาด นักเสี่ยงโชคหลายคนฝันหวานที่จะถูกล็อตเตอรี่ นักเดินทางก็ย่องไปฟังผลการออกสลากด้วย พอทราบว่าตนเองถูกรางวัลที่หนึ่งถึงจับไข้ตัวสั่นรีบกลับโรงเตี๊ยมนอนห่มผ้าเหมือนป่วยหนัก
ฝ่ายเจ้าของโรงเตี๊ยมเมื่อทราบผลการออกสลากก็ดีใจจนเนื้อเต้นด้วยจะได้ส่วนแบ่งห้าร้อยเรียว รีบผลุนผลันกลับโรงแรมขึ้นไปหานักเดินทางถึงในห้องโดยไม่ถอดรองเท้า
นักเดินทางต่อว่าเจ้าของโรงเตี๊ยมว่าทำไมไม่ถอดรองเท้ามีแต่คนชั้นต่ำที่ทำแบบนี้ก่อนที่เจ้าของโรงเตี๊ยมจะเปิดผ้าห่มของนักเดินทางออกแล้วพบว่าเขาใส่รองเท้านอน!

หนังสือเล่มนี้มีเชิงอรรถท้ายเล่มอธิบายเนื้อเรื่องแต่ละเรื่อง เฉพาะเรื่องแรก ได้แก่ ประวัติการออกลอตเตอรี่ในยุคสมัยเอโดะและลักษณะของรองเท้า เจ้าของโรงเตี๊ยมใส่รองเท้าแตะที่เรียกว่า geta นักเดินทางใส่รองเท้าแตะที่เรียกว่า zori 
ทำให้รู้ว่าความผิดพลาดของนักเดินทางรุนแรงกว่า


เรื่องที่สอง New Year Festival เล่าเรื่องพ่อที่ไปด้วยกันไม่ได้กับลูกชายวัยเด็กโตที่ช่างซักถามและพูดคุยยอกย้อน เนื้อเรื่องสนุกสนานสุดขีดด้วยบทสนทนากวนประสาทกันระหว่างพ่อลูก ไม่ทราบว่าเด็กสมัยก่อนคุยกับพ่อแบบนี้จริงหรือเปล่าหรือเราเอาคำพูดของเด็กสมัยนี้ไปใส่ปากตัวละคร

"ใส่เสื้อคลุมจะออกไปไหนจ๊ะ" ภรรยาถามสามีที่กำลังจะออกจากบ้านวันปีใหม่ 
"ว่าจะไปที่ศาลเจ้าวันปีใหม่หน่อยจ้ะ" สามีหันมาตอบ 
ภรรยาบอกว่าวันนี้มีงานต้องทำหลายอย่างขอให้พ่อเอาเจ้าลูกชายไปด้วยแต่คนเป็นพ่อรีบปฏิเสธแข็งขันว่าไม่ไหวๆ ภรรยาจึงย้อนว่าได้ไงกัน เขาเป็นลูกชายของคุณนะ เวลานั้นเจ้าลูกชายฟังอยู่จึงพูดแทรกเข้ามาว่า
"เฮ่ เฮ่ เฮ่ คนรักทะเลาะกันหรอ" แล้วพูดต่อ "สองคนไม่รู้หรือว่าผมจะมีปัญหานะถ้าสองคนไม่ทำตัวดีๆ ต่อกันอะ"
"เห็นมั้ย มันพูดภาษาอะไรของมัน เป็นเด็กแท้ๆ" คนเป็นพ่อเอือม 

"พ่อจะไปไหนน่ะ" เด็กชายถาม
"ไม่ได้จะไปไหนหรอก" พ่อตอบ
"พ่อใส่เสื้อคลุมอย่างดีเลยนี่นา พาผมไปด้วย"
"ไม่"
"พ่อ พาผมไปด้วย" 
"พ่อบอกแล้วว่าไม่ได้ พ่อมีงานสำคัญจะไปทำ"
"โกหก ผมรู้วันนี้พ่อไม่ต้องทำงาน" เมื่อพ่อยังยืนยันว่าไม่ เด็กชายพูดต่อว่า "อืม ไม่พาไปแน่นะ ขอดีๆ แล้วนะ ก็ได้ พ่อไม่ยอมพาผมไปด้วย ขอดีๆ แล้วนะ..." 
"เฮ้ย นี่แกขู่พ่อเรอะ" พ่อหยุดเดินหันมาอีกที "แกคิดว่าฉันจะกลัวรึไง"

สุดท้ายพ่อยกธงขาว ก่อนจะไปเขาพูดกับภรรยา "โชคร้ายจริงๆ ที่เธอเกิดลูกคนนี้มา"
"เราสองคนรับผิดชอบร่วมกันนะคะ" ภรรยาว่า 
"พ่อจะพาแกไป ห้ามขอซื้อของนะ" พ่อหันมากำชับลูกชาย 
"ขอให้สนุกนะค้า" แม่ยืนส่งพ่อลูกไปเที่ยวตลาดกัน "ถ้ามันดื้อก็จับโยนลงแม่น้ำเลยค่า"

"แม่ว่าพ่อจับแกโยนแม่น้ำได้" พ่อว่า พลางเดินนำหน้าไป
"แต่ผมว่ายน้ำไม่เป็นนะฮะ" 
"ฉันไม่สนถ้าแกจะว่ายน้ำไม่เป็น" 
"งั้นพ่อก็เป็นฆาตกร"

"ทำไมแกต้องตอบกลับมาได้ทุกเรื่อง แกทำให้พ่อขายขี้หน้านะ" พ่อก้มหน้าเซ็ง "วันที่คนเผาถ่านจะขึ้นไปบนภูเขาฉันจะฝากแกไปด้วย เขาจะทิ้งแกเอาไว้บนนั้น ไม่ต้องมาร้องไห้เลย" 
"ภูเขาเหรอ ผมชอบภูเขา" 
"ภูเขาน่ากลัวนะเว้ย รู้ป่าว" 
"มีอะไรบนนั้นหรือฮะ" 
"หมาป่า ทานูกิ สัตว์ร้ายหลายอย่าง"
"ผมจะจับทานูกิมากิน"
"พูดดีไปเถอะ พอคนเผาถ่านมาแกก็วิ่งหนี"
"พ่อนั่นแหละวิ่งหนี" 
"ทำไมฉันต้องวิ่งหนีวะ"
"ก็พ่อติดหนี้เขา"

คนเป็นพ่อขบเขี้ยวเคี้ยวฟันที่เจ้าลูกชายไม่เคยยอมจำนน หลังจากฉากนี้ลูกชายก็เริ่มทำหน้าที่ของเด็กทั่วโลกนั่นคือขอซื้อขนมและของเล่น ส่วนพ่อก็ทำหน้าที่ของพ่อทั่วโลกนั่นคือไม่ให้ ของไม่มีประโยชน์ เล่นแป๊บเดียวก็เบื่อ สองคนต่อปากต่อคำกันยาวหลายหน้าด้วยความสนุกสนานของผู้อ่าน จนกระทั่งท้ายสุดคนเป็นพ่อต้องเจียดเงินค่าเหล้าซื้อว่าวลายสวยงามราคาแพงให้แก่ลูกชาย
ลูกชายขอเล่นว่าวที่นี่เลย พ่อว่าให้กลับไปเล่นที่บ้าน ลูกบอกจะเล่นที่นี่เพราะที่บ้านไม่มีที่เล่น พ่อเถียงแพ้อีกก็สอนลูกเล่นว่าวตรงนั้น ในหน้าสุดท้ายคนเป็นพ่อเล่นว่าวอย่างสนุกสนาน ความเป็นเด็กย้อนกลับคืนมาหาเขา เขาเอาแต่ชักและเล่นคนเดียวไม่ยอมแบ่งลูกเล่นด้วย
เด็กชายนั่งลงร้องไห้ยอมแพ้

เชิงอรรถท้ายเล่มจะอธิบายเรื่องประเพณีปีใหม่ เรื่องตัวทานูกิ สัตว์คล้ายแร็คคูนที่แปลงร่างได้ แฟนการ์ตูนญี่ปุ่นจะคุ้นเคยเจ้าปิศาจตัวนี้อยู่ก่อนแล้ว
เล่ามาให้ฟังสองเรื่องด้วยการเปิดเผยตอนจบ เมื่อเปิดเผยไปแล้วก็ไม่แน่ใจว่าควรตีความต่อหรือไม่เพราะโครงเรื่องแบบนี้และการจบแบบนี้น่าจะทำให้นักอ่านแต่ละคนตีความกันไปคนละทาง จะเห็นว่าสองเรื่องแรกเป็นเรื่องราวของชีวิตคนทุกคนจริงๆ


เรื่องที่สามออกแนวแฟนตาซี แต่รับประกันได้เลยว่าอ่านแล้วจะลุ้นระทึกว่าเรื่องจะจบอย่างไร หายนะจะมาเยือนใครและเมื่อไร
Escape of the Sparrows เล่าเรื่องศิลปินยากไร้ที่จ่ายค่าที่พักและค่าเหล้าของโรงเตี๊ยมแห่งหนึ่งด้วยภาพวาดนกกระจอกห้าตัว เขาสั่งเจ้าของโรงเตี๊ยมว่าอย่าขาย แล้วเขาจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง 
ภาพนกกระจอกนั้นไม่สวยงามอะไรแต่ทุกเช้ามันจะบินออกจากภาพวาดไปหาอาหารแล้วบินกลับมาอยู่ในภาพวาดใหม่ 

เสียงร่ำลือเรื่องราวมหัศจรรย์แพร่ระบาดออกไปมีคนมาพักโรงเตี๊ยมเพื่อดูภาพวาดไม่ขาดสาย 
มีเศรษฐีมาขอซื้อหนึ่งพันเรียว สองพันเรียว แต่เจ้าของโรงเตี๊ยมก็ไม่ขายในขณะที่ผู้เป็นภรรยาก็ออกจะหวั่นใจ
วันหนึ่งมีชายชราผ่านมาดูรูปแล้วว่าวันหนึ่งนกกระจอกทั้งห้าตัวก็ต้องตายเพราะในภาพไม่มีกิ่งไม้ให้นกเกาะพักเลย เจ้าของโรงเตี๊ยมปรึกษาภรรยาแล้วอนุญาตให้ชายชราวาดกิ่งไม้ลงในรูปได้ด้วยความไม่แน่ใจว่าควรหรือไม่ควร ชายชราวาดกรงนกและกิ่งไม้ให้นกเกาะ นับจากนั้นเมื่อนกกลับจากหากินก็จะบินเข้ากรงและเกาะกิ่งไม้สบายใจ

วันหนึ่งศิลปินเจ้าของภาพเดินทางกลับมาด้วยฐานะที่ร่ำรวยกว่าเดิม เมื่อทราบว่ามีคนเสนอซื้อภาพด้วยราคาสองพันเรียวก็พูดแก่เจ้าของโรงเตี๊ยมว่าทำไมไม่ขาย และเมื่อทราบว่ามีชายชรามาวาดภาพกิ่งไม้เพิ่มเติม เขาก็ขอดู

หาตอนจบอ่านกันเองได้แล้วครับ ที่เหลือก็สนุกทุกเรื่อง



.