.
ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ “เมืองตื๋นนันทบุรี” VS “นันทบุรีศรีนครน่าน”
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1684 หน้า 76
เป็นธรรมดาอยู่แล้วเมื่อข่าวการเตรียมจัดตั้งอำเภอน้องใหม่ลำดับที่ 26 ของจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศว่าจะใช้ชื่อ "อำเภอนันทบุรี" ย่อมส่งผลสะเทือนสะท้านไปทั่วแผ่นดินล้านนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หาใช่ประเด็นการถกเถียงว่า "ควรแยกหรือไม่ควรแยก" ตำบลแม่ตื๋น (แม่ตื่น) กับตำบลม่อนจอง ออกจากอำเภออมก๋อย ทั้งๆ ที่หากพูดกันตามเนื้อผ้าแล้ว ยังมีตำบลใหญ่ๆ อีกมากมายหลายแห่งทั่วประเทศที่มีความเหมาะสม ควรจะยกระดับเป็นอำเภอเสียยิ่งกว่าก็ตาม หากเปรียบเทียบในแง่จำนวนประชากร ความเจริญ ความสำคํญ ความยาวนานทางประวัติศาสตร์
หากแต่ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์นั้น มีสาเหตุมาจากการที่นามนี้ ไปพ้องกับชื่อ "นันทบุรีศรีนครน่าน" นั่นเอง ส่งผลให้ปราชญ์ล้านนา ต่างออกมาตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับฝ่ายปกครองบ้านเมือง ทำไมต้อง "นันทบุรี"
แม้จะมีการอ้างว่า "นันทบุรี" เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในเอกสารตำนาน "เมืองตื๋นนันทบุรี" ก็ตาม แต่ก็ยังไม่หายคาใจ ว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ที่ไหน ต้นฉบับลายมือเขียนเป็นเช่นไร และทำไมต้องใช้คำว่า "นันทบุรี" คำที่มีเจ้าของอยู่แล้ว
นำไปสู่การค้นคว้าอย่างหนักหน่วง เพื่อหาข้อยุติให้ได้ว่า "นันทบุรี" ชื่อนี้เป็นของใครกันแน่
นันทบุรีศรีนครน่าน
กาพยตำนานแห่งล้านนาตะวันออก
ขอเริ่มจากน่านก่อน ในฐานะเป็นเมืองที่ประกาศตัวตนอย่างภาคภูมิ มีชื่อเต็มยศคือ "นันทบุรีศรีนครน่าน" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
คำถามมีอยู่ว่า "นันทบุรี" ที่ใช้เรียกชื่อเมืองน่านนั้น มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ใหม่หรือเก่า เชื่อว่าทุกคนกำลังรอฟังคำเฉลยให้หายคาใจ
ดิฉันจึงขอไล่เรียงตามหลักฐานด้านลายลักษณ์ที่สืบค้นมา เป็นลำดับดังนี้
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นเอกสารฝ่ายบ้านเมืองล้านนา ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ใช้เนื้อหาเก่าที่คัดลอกต่อๆ กันมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มที่คนไทในภาคเหนือมีตัวอักขระใช้ สันนิษฐานว่าบันทึกอย่างเป็นกิจจะลักษณะในสมัยพระญาติโลกราช (1985-2030) จนเกิดธรรมเนียมปฏิบัติในการอัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในผูกหลังๆ จนกระทั่งยุติการป้อนข้อมูลเมื่อปี 2370
ข้อความที่กล่าวถึง "นันทบุรี" ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ปรากฏอยู่สองตอนในผูกที่ 1 ณ ที่นี้ขอยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างสักตอน คือตอนที่กล่าวถึง "ขุนเจื๋อง" ได้ส่งโอรสไปครองเมืองต่างๆ ดังนี้
"อยู่บ่นานเท่าใด เจ้าพระญาเจื๋องวางเมืองให้แก่ท้าวผาเรืองผู้เป็นอ้าย แต่งแปงหื้อลกผู้กลาง ชื่อยี่คำห้าวไปเป็นพระญาในเมืองล้านช้าง หื้อลูกผู้ซ้อยชื่อท้าวชุมแสง ไปเป็นพระญาในเมืองนันทบุรี คือว่าเมืองน่านหั้นแล"
ท้าวสามชุมแสง หรือท้าวชุมแสง โอรสลำดับที่สามของขุนเจื๋อง ได้ถูกส่งให้ไปกินเมืองน่าน ในระหว่างช่วงที่ขุนเจื๋องยังมีชีวิตอยู่ เหตุที่รีบมอบบ้านเมืองให้โอรสปกครองก็เพราะขุนเจื๋องตีได้เมืองแกว หรือแก้วปะกัน (จิตร ภูมิศักดิ์ ระบุว่า น่าจะอยู่แถวเมืองบั๊กกานในเวียดนาม) จึงจัดสรรปันส่วนอาณาเขตปกครองให้ลูกชายทั้งสาม โดยมีท้าวผาเรืองลูกคนโตปกครองเชียงแสน-เชียงราย ศูนย์กลางอาณาจักรกลุ่มคนไท-ลาว ส่วนน้องอีกสองให้ครองหลวงพระบาง (เซา-ชวา) กับน่าน (กาว)
ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร สันนิษฐานว่าขุนเจื๋องน่าจะมีชีวิตอยู่ช่วงใดช่วงหนึ่งระหว่าง ปี 1582-1735 แต่แน่นอนว่าระยะเวลาดังกล่าว คนไทภาคเหนือแถบโยนกยังไม่มีการบันทึกเรื่องราวด้วยตัวอักษรเขียน มีเพียงการจดจำเหตุการณ์สำคัญในลักษณะเล่าจากปากต่อปาก
ดังนั้นการระบุชื่อ "นันทบุรี" ว่าหมายถึงเมืองน่าน ของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ครั้งนี้ น่าเป็นการบันทึกตามความเข้าใจของคนในยุคพระญาติโลกราชแล้ว
หลักฐานชิ้นสำคัญยิ่ง ที่พบคำว่า "นันทบุรี" แบบตัวจริงเสียงจริง มีอักขระให้เห็นตัวเป็นๆ ก็คือจารึกที่ฐานพระพุทธรูปประทับยืนปางลีลา ที่สร้างขึ้น ณ วัดพญาภู จำนวน 5 องค์ พร้อมกัน แต่พบจารึกเพียง 3 องค์ ได้แก่ จารึกเลขทะเบียน นน.13, นน.14 สององค์นี้ยังอยู่ที่วัดพญาภู และอีกองค์คือจารึก นน.15 ย้ายไปประดิษฐานที่วัดช้างค้ำ เขียนด้วยตัวอักษรลายสือไทแบบสุโขทัยเหมือนกันหมดว่า
"สมเด็จเจ้าพระญาสารผาสุมเสวยราชย์ในนันทปุร สถาบกสมเด็จพระเป็นเจ้าห้าองค์ เพราะจักให้คงในศาสนาห้าพันปี ตั้งเป็นพระเจ้า ในปีมะเมีย เพื่อบุญจุลศักราช 788"
ใจความสำคัญคือชื่อเมือง "นันทปุระ" หรือนันทบุรี นั้นประจักษ์ชัดว่ามีมาแล้วอย่างน้อยในปีจุลศักราช 788 หรือ พ.ศ.1969 ตรงกับสมัยของพระญาสามฝั่งแกนแห่งล้านนา (1945-1984) และพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล หรือพระญาบาลเมืองแห่งสุโขทัย 1962-1989)
องค์พระปฏิมาเป็นพุทธศิลป์แบบสุโขทัย สะท้อนว่าช่วงนั้นน่านมีความผูกพันกับสุโขทัยอย่างแนบแน่นมาก่อนจะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของล้านนา
พระญาสารผาสุม หรืออีกชื่อว่า พรญางั่วฬารผาสุม ในจารึกสุโขทัย ระบุว่าเป็นหลาน "เจ้าปู่เข่ง" แต่ตำนานเมืองน่านหลายฉบับระบุว่า ท้าวผาสุม เป็นโอรสของพระญาภูเข็ง ผู้สร้างวัดสำคัญสามแห่งคือ วัดช้างค้ำ วัดพระธาตุเขาน้อย และวัดพญาภู ตั้งแต่ปี 1941 แต่ยังสร้างมิทันเสร็จดีก็สวรรคตเมื่อปี 1949 ท้าวผาสุมจึงสืบสานการสร้างพระพุทธรูปสำริด หรือ "พระเจ้าห้าพระองค์ในภัทรกัป" สัญลักษณ์แห่งการสืบศาสนากัปละองค์ จนสำเร็จ
แสดงว่าชื่อของ "นันทปุระ" หรือ "นันทบุรี" ย่อมมีมาก่อนยุคของ "ท้าวภูเข็ง-ท้าวผาสุม" แล้ว เชื่อกันว่าน่าจะสถาปนานามนันทบุรีตั้งแต่สมัย "พระญาการเมือง" ผู้ก่อตั้งนครน่านก็เป็นได้ เพราะเป็นผู้ย้ายนครหลวงจากเมืองปัวมาอยู่เมืองน่านเมื่อปี พ.ศ.1902 ณ จุดเริ่มต้นที่ ภูเพียงแช่แห้ง (ที่ตั้งวัดพระธาตุแช่แห้ง)
พระญาการเมือง คนล้านนาออกเสียง "ก๋านเมือง" แต่เอกสารโบราณเขียนว่า "กรานเมือง" หรือ "ครานเมือง" แปลว่าผู้ยกยอแว่นแคว้น
เมืองปัว เคยเป็นนครหลวงของน่านมาก่อน ตั้งแต่ปฐมกษัตริย์ชื่อ "ขุนฟอง" แห่งราชวงศ์ภูคา ในอดีตปัวมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "วรนคร" ถือเป็นเมืองแฝด หรือบ้านพี่เมืองน้องกับหลวงพระบาง ที่ภาษาบาลีเรียกว่า "จันทบุรี" (ชื่อนี้ปราชญ์หลายท่านยังมีข้อสงสัยว่า จันทบุรี มิใช่เวียงจันท์ดอกหรือ?)
ชื่อเมืองน่าน-เมืองปัว ปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัย ของพ่อขุนรามคำแหง ปี พ.ศ.1820 ตอนอธิบายขอบเขตอาณาบริเวณเมืองสุโขทัยว่า "เบื้องตีนนอนรอดเมืองแพล เมืองม่าน เมืองน่าน เมืองพลัว"
แสดงว่า ขณะที่เมืองปัว (พลัว) หรือวรนคร เจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองหลวงนานถึงสี่รัชสมัยนั้น เมืองน่านก็มีมาก่อนที่พระญาก๋านเมืองกษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งราชวงศ์ภูคาจักย้ายราชธานีมาอยู่ใหม่เช่นกัน
เอกสารจารึกสมัยหลังๆ ยุคที่น่านถูกปกครองโดยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงพบคำว่า "นันทบุรี" อย่างไม่ขาดสายหลายหลัก ในที่นี้จะยกตัวอย่่างให้เห็นสัก 4 ชิ้น
จารึก นน.6 ชื่อจารึกเจ้าอัตถวรราชสร้างวิหาร เมื่อ พ.ศ.2341 มีข้อความดังนี้
"...อภิชัยภิกขุแลศิษยานุศิษย์เจ้าชู่ตน แลอริยสงฆ์รองดายมี 25 วัด ปฐมมูลศรัทธาภายนอกมี รัฏฐาธิบดี ชัยนันทบุรี มีนามบัญญัติชื่ออัตถวรราช..."
จารึกอีกหลักเป็นของเจ้าเมืองน่านองค์เดียวกัน แต่จารขึ้นก่อนในปี พ.ศ.2336 พบที่วัดหัวทุ่ง ต.บ้านน้อย อ.นาน้อย จ.น่าน ความว่า
"... ที่นี่ สวาธุเจ้าโพธา และอันเตวาสิกเจาจุ๊ตน หนมหาอุปถัมภกตาม มีเจ้าตนเสวยยังรัฐนันทบุรี"
จารึกวัดพระธาตุช้างค้ำ อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เขียนเมื่อปี 2420 กล่าวถึง
"...ในมหาอุตม... นครราชธานี องค์พระนามวิเศษ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช กุลเชษฐมหันตไชยนันทบุรัมมหาราชพงศาธิบดี..."
เอกสารอีกชิ้นที่ขอนำเสนอในที่นี้ คือรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระสุพรรณบัตรแก่พระเจ้านครน่าน สถาปนาพระนามเต็มว่า
"พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมมหาราชวงศาธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์"
น่าน กับ นันทบุรี มีมาอย่างไร
เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เอกสารโบราณมีทั้งใช้ "น่าน" และ "นันทบุรี" ควบคู่กันไป เช่นเดียวกับ ชื่อเมืองอื่นๆ เช่น หริภุญไชย ก็พบขนานไปกับคำว่า "ลพุร" (แผลงเป็นลำพูน)
อันที่จริงยังพบคำอื่นๆ ที่ใช้เรียกชื่อเมืองน่าน อาทิ กาวน่าน (กาว หมายถึงชาติพันธุ์ไทลาวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง) และยังมีทั้งคำว่า "เมืองนาเคนทร์"
"นครนาเคนทร์" ชื่อนี้ ศ.ดร.ยรรยง จิระนคร (เจีย แยนจอง) อธิบายว่าเกี่ยวข้องกับนิทานเรื่องพญานาคสองตัวรวมทั้งงูเงี้ยวบริวารที่ทะเลาะกัน ด้วยฝ่ายหนึ่งคิดว่าอีกฝ่ายผิดสัจจะ จึงต่อสู้กัน 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่หนองแสยูนนาน ต่างฝ่ายต่างเอาเขี้ยวลากแผ่นดิน ควักน้ำจากหนองแสตวัดเลื้อยฟัดกันโค้งไปคดมาเป็นทางยาว จนเกิดเป็นแม่น้ำสองสาย คือโขง กับน่าน หรือสัตตนาค (โขง-ล้านช้าง) กับ สูตตนาค (น่าน-นาเคนทร์)
คำว่า "นันทบุรี" จากรากศัพท์มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคำว่า "น่าน" หรือไม่ ประเด็นนี้สันนิษฐานได้สองแนวทาง
แนวทางแรก นันทบุรีเป็นคำที่แปลงจากภาษาพื้นเมืองเป็นบาลี ด้วยรากศัพท์คำว่า "น่าน" โดยยึดเอาชื่อของแม่น้ำน่านมาใช้
ซึ่งคำว่า "น่าน" นี้ก็ยังสันนิษฐานได้อีกหลายประเด็นว่ามีที่มาอย่างไร
อาทิ อาจสัมพันธ์กับคำว่า "น่านเจ้า" หรือเมืองวิเทหะอันยิ่งใหญ่ ตั้งอยู่แถบจีนตะวันตกเฉียงใต้ อันเป็นเมืองที่มีประชากรเชื้อสายตะกูล "ไทลาว" ซึ่งสืบมาจากบรรพบุรุษ "ยูนนาน-โยนก"
แล้วคนกลุ่มนี้อพยพลงมาตั้งแต่ก่อนยุคของขุนเจื๋อง กลุ่มหนึ่งมาอยู่ที่แม่น้ำน่านเจียง อันเป็นชื่อที่หมายถึง ชาวยูนนานทางตอนใต้ของอาณาจักรน่านเจ้า
จากน่านเจียง ก็เรียกน่านเฉยๆ สุดท้ายก็แปลงเป็น นันทบุรี ตามความนิยมของการจารธรรมคัมภีร์ด้วยภาษาบาลีในยุคพระเจ้าติโลกราช
แนวทางที่สอง ปราชญ์บางท่านชี้ว่า ตำนานพระธาตุแช่แห้ง กล่าวถึง นักบวชผู้ทรงศีลรูปหนึ่ง ชื่อ "ผ้าขาวนันทะ" เป็นผู้สร้างพระธาตุแช่แห้ง ดังนั้นนันทบุรีอาจตั้งตามนามของนักบวชรูปนั้น ซึ่งสอดรับกับตำนานพระอัมภาคที่เรียกขานเมืองน่านว่า "นันทสุวรรณนคร"
ยังมิทันได้นำเสนอเอกสารฝ่ายเมืองตื๋นนันทบุรี เนื้อที่ก็หมดเสียแล้ว สัปดาห์หน้าพลาดไม่ได้ จะวิเคราะห์ประเด็นเรื่องนี้ต่อ ขอเพียงอย่าใจร้อนแอบลักไก่ รีบประกาศนามอำเภอใหม่นั้นว่า "นันทบุรี" แบบเอาสีข้างเข้าถูเสียล่ะ โปรดทบทวนให้ถ่องแท้
ทางที่ดีควรจัดหนักจัดเต็มแบบ Public Hearing ฟังความเห็นคนเมืองตื๋นคนเมืองน่านว่าท้องถิ่นเขาคิดอย่างไรกันบ้าง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย