.
สงครามครั้งสุดท้าย...ในตู้เย็น 6 เดือนจากนี้...จะมีอีก 7 สมรภูมิ
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1682 หน้า 20
ประวัติศาสตร์การเกิดสงครามชิงอำนาจภายในชาติเราที่มีมานานนม
สองเดือนก่อนเคยเขียนเรื่องการชิงอำนาจ ช่วง 130 ปีหลัง ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสิ้นสุดทั้ง 3 ราชวงศ์คือ ราชวงศ์สุโขทัย ปราสาททอง และบ้านพลูหลวง
แต่เหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบันเป็นสงครามภายในจากการชิงอำนาจหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเป็นการต่อสู้ที่ได้พัฒนาขึ้น ทำให้การชิงอำนาจลดระดับการรบราฆ่าฟันลงไปได้ขั้นหนึ่ง เพราะมีระบอบประชาธิปไตยมาเป็นเงื่อนไขประกอบการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ
แต่หลายฝ่ายก็ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ดังนั้น การใช้กำลัง ใช้กฎหมายและเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ เข้ามาประกอบการแย่งชิง จึงเหมือนการทำสงคราม ซึ่งดำเนินต่อมาจนถึงทุกวันนี้
อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต้องไม่ประมาท เพราะนั่นเป็นหนทางแห่งหายนะ
ทีมวิเคราะห์มองว่าการต่อสู้ วันนี้ก็อยู่ในตู้เย็นอยู่แล้วเพราะรัฐธรรมนูญ 2550
เราแบ่งการปะทะที่เหมือนสงครามชิงอำนาจยุคใหม่ ออกเป็นสามภาคตามช่วงเวลา
สองภาคแรกเป็นการต่อสู้นอกตู้เย็น
ภาค 3 นี่แหละที่พยายามใช้กฎหมายมัดมือคนแล้วจับยัดเข้าตู้เย็น
ภาค 1 ของสงคราม
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2475-2516
ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นแต่ปืนยังครองเมือง
หลังการอภิวัฒน์ปี 2475 ก็เกิดการยึดอำนาจและเกิดกบฏบวรเดชในปี 2476
เกิดการรัฐประหารในปี 2490 โดยการบงการของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
และรัฐประหารในปี 2500 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารอย่างเต็มตัว เมื่อจอมพลสฤษดิ์ตายก็ต่อด้วย จอมพลถนอม กิตติขจร ไปจบลงที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยุคนี้ผู้มีบทบาทส่วนใหญ่คือทหาร
ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ใช้เวลาทั้งหมด 40 ปี
ภาค 2 ของสงคราม พ.ศ.2516-2549
การเคลื่อนไหว 14 ตุลาคม ทำให้ประชาชนมีบทบาทบ้าง หน่อของประชาธิปไตยมีโอกาสงอกขึ้นเหนือดินอยู่พักหนึ่ง
ไม่ทันแตกใบก็ถูกรัฐประหาร เข่นฆ่าในปี 2519 สงครามในภาค 2 นี้จึงมีการใช้กำลังอาวุธสู้กันจริงๆ ช่วงระหว่างปี 2519 ถึง 2525 มีผู้เสียชีวิตนับหมื่นคน
จากนั้นระบอบประชาธิปไตยที่ถูกฟันเหลือแต่ตอ ก็ค่อยๆ แตกใบอ่อนมาครึ่งใบในยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อพลเอกเปรมหมดอำนาจลงในปี 2531 จึงมีการเปิดฟ้าระบอบประชาธิปไตยเต็มใบสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า
ระบอบประชาธิปไตยกำลังเดินไปได้สวย แต่ก็เกิดการปฏิวัติของคณะ รสช. ขึ้นในปี 2534 เหมือนเป็นกรรมเก่าที่ไล่ตามพลเอกชาติชายทัน เพราะเมื่อครั้งวัยหนุ่ม ได้ร่วมทำรัฐประหารในปี 2490 ด้วย
แต่คณะ รสช. ก็อยู่ได้เพียงปีเศษ โดนต่อต้านจนเกิดพฤษภาทมิฬในปี พ.ศ.2535 และประชาธิปไตยก็เดินหน้าต่อไปอีก 14 ปี
จนถึงยุคประชาธิปไตยรุ่งเรืองของนายกฯ ทักษิณ ก็เกิดการรัฐประหารในปี 2549 สงครามของภาคสามจึงได้เริ่มขึ้น
ภาค 3 ของสงคราม จาก พ.ศ.2549...
สงครามครั้งสุดท้าย ทลายตู้เย็น
ทําไม เสธ.อ้าย พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ จึงบอกว่าจะแช่แข็งประเทศไทย เพราะกลุ่มอำนาจเก่าได้ออกแบบรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เป็นตู้เย็น โดยหวังว่าจะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย แต่ประชาชนก็ไม่ยอม จึงมีการสั่งฆ่าประชาชนกลางเมือง ซึ่งก็ไม่สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็นการสุมไฟขนาดใหญ่
การรัฐประหารและการฆ่าประชาชน เป็นเรื่องป่าเถื่อน ล้าหลัง ที่คนในประเทศเจริญแล้วไม่ยอมรับ
ไม่กี่วันมานี้ได้คุยกับชาวสเปน เขารู้เรื่องการปลดนายกฯ สมัคร สุนทรเวช แล้วจึงไม่แปลกใจที่ศาลรัฐธรรมนูญของเราลงมายับยั้งการลงมติของสภา และมีคนไปฟ้องศาลเรื่องสัพเพเหระอีกหลายเรื่อง
เขาบอกว่าประเทศเขาไม่มีระบบตุลาการธิปไตย มีแต่ระบบเผด็จการ ฟรังโก ปกครองนานร่วม 40 ปีกว่าจะมาเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ก็ตกเข้าไปปี 1978 และใน ปี 1981 ก็มีทหารออกมายึดอำนาจอีก แต่ทั้งกษัตริย์และประชาชนต่อต้าน นายพลที่เป็นแกนนำรัฐประหารจึงถูกตัดสินจำคุก 30 ปีระบบเผด็จการก็เลยเสื่อมไป
แต่วันนี้พายุเศรษฐกิจกำลังพัดถล่มบ้านเขา เป็นการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งทวีปที่เขาต้องยอมรับและปรับตัว
ผู้อาวุโสที่เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายครั้ง บอกว่าหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เขาคิดว่าต้องรบกันอีก 10 ปี ประเทศไทยต้องแหลกแน่
แต่ผ่านไป 5 ปี ทั้งสองฝ่ายก็หยุด เพราะสถานการณ์ในประเทศและทางสากลเปลี่ยนไป
หลังพฤษภาทมิฬ 2535 เขาไม่เชื่อว่าจะมีการปฏิวัติของประชาชนเกิดขึ้นได้อีก และการรัฐประหารก็คงเกิดขึ้นยากมากๆ เพราะไม่มีใครยอมรับแล้ว
แต่ในปี 2549 ก็ยังเกิดการรัฐประหารขึ้นอีก และคนก็ไม่ยอมรับจริงๆ เมื่อมีแนวร่วมคนเสื้อแดงเกิดขึ้น มีการล้อมปราบประชาชนในปี 2553 เขาก็เปลี่ยนความเชื่อไปทันที แม้ว่า ด้านหลักของการเมืองปัจจุบันจะเป็นการปฏิรูปแต่ปฏิกิริยาของการต่อต้านของอำนาจเก่า อาจทำให้เกิดการปฏิวัติของประชาชน และอาจพัฒนาเป็นสงครามขึ้นได้
วันนี้เหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่มองเห็นว่าเส้นทางปฏิรูปก็เป็นไปได้ เส้นทางที่จะเกิดสงครามก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่สงครามครั้งสุดท้ายที่ใครๆ พูดถึงน่าจะเป็นสงครามปฏิวัติของประชาชนที่ทลายตู้เย็นออกมาสู่เสรีภาพ
6 เดือนหน้า ยังมีอีก 7 สมรภูมิย่อย
ทีมวิเคราะห์ยังมองไม่ออกว่าจะเกิดสงครามครั้งสุดท้ายขึ้นหรือไม่? และเมื่อไร?
แต่ที่แน่ๆ จะมีการปะทะย่อยๆ แบบต่อเนื่องเกิดขึ้น เพื่อทลายตู้เย็นรัฐธรรมนูญ 2550 ในอีก 6 เดือนจากนี้ไป และจะเป็นปัจจัยกระตุ้นหรือสลายเงื่อนไขของการปฏิวัติ ภาพรวมของการต่อสู้ที่ต่อเนื่องหลายๆ ครั้งจะเป็นตัวชี้ทิศทาง
1. การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น คาดว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน กระสุนปืนใหญ่คงตกใส่ทั้งนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การแนบชื่ออภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายกฯ ยิ่งลักษณ์คงจะถูกเผยแพร่ไปให้คนทั้งโลกเปรียบเทียบกัน
หลังปิดสภาแล้ว ถ้ามีเวลา อยากให้อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ทดลองเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ที่อดีตนายกฯ ทักษิณเคยเดินทางไป แล้วจะรู้ว่าทั่วโลก เขาคิดอย่างไรต่ออดีตนายกฯ ทั้งสองคนของไทย ไม่ต้องไปเทียบกับนายกฯ ปัจจุบัน
2. การชุมนุมคัดค้าน และสนับสนุนรัฐบาล
การชุมนุมคัดค้านการแก้ไขกฎหมายปกครองท้องที่ ซึ่งจะให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอยู่ได้สมัยละ 5 ปี ซึ่งในร่างแก้ไขประนีประนอมมากที่ให้ ผู้อยู่ในตำแหน่งอยู่ต่อได้ถึงอายุ 60 ปีตามเดิม แทนที่จะมีบทเฉพาะกาลให้อยู่ได้แค่ 5 ปี
แต่กระนั้นก็ตาม ยังมีผู้คัดค้านต่อต้าน ซึ่งก็มองไม่เห็นเหตุผล นอกจากพยายามหาเรื่อง
นี่คือระเบิดเวลาที่ถูกวางไว้หลังรัฐประหาร คือไม่ให้ชาวบ้านมีโอกาสเปลี่ยนหรือเลือกผู้นำ จนกว่า กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านคนนั้น จะอายุครบ 60 ปี หรือป่วยตายไป
ถ้าทำแบบนี้ได้วันหลังตัวแทนในระดับต่างๆ คงขอหมดวาระเมื่ออายุครบ 60 ปี อย่างนายกฯ ยิ่งลักษณ์นี่ก็ต้องอยู่อีก 15 ปี กลายเป็นคุณป้ายิ่งลักษณ์ เรื่องนี้ถ้าขัดแย้งกันมากก็ถามชาวบ้านดูว่าชอบแบบไหน บางทีอาจได้เลือกใหม่หมดทั้งประเทศ
ส่วนข่าวที่ว่าจะมีการรวมตัวของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแบบที่เคยทำที่สนามม้า ซึ่งถ้าไม่มีประเด็นแหลมคมอะไร การรวมตัวระดับนั้นคงทำได้อีก เพราะคนที่ไม่ได้เลือกรัฐบาลนี้ มีหลายล้านคน แต่คนส่วนใหญ่เขารอได้ ตามระบอบประชาธิปไตย
ถ้ามีแกนนำกับพวก HARDCORE ทนไม่ไหว ออกมารวมกันขับไล่ ก็น่าจะมีโอกาสทำได้ประมาณหมื่นคน ซึ่งน่าจะใช้สนามม้าเหมือนเดิม เพราะถ้าไปใช้สนามศุภชลาศัย กว่าจะเต็มก็ต้องใช้คน 20,000
แต่ถ้าคนเสื้อแดงจะสนับสนุนรัฐบาลแล้วชุมนุมบ้าง ใต้คำขวัญ ปกป้องสนามบิน ปกป้องรัฐสภา ปกป้องทำเนียบรัฐบาล ก็คงต้องเกิน 50,000 คน แน่นอน
สำคัญที่ว่าใครจะยึดพื้นที่ก่อนกัน คงไม่มีใครสามารถเบรกเสื้อแดงได้ทุกครั้ง
3. การเคลื่อนไหว ทลายตู้เย็น แก้รัฐธรรมนูญ 2550 จะเป็นการเพิ่มแรงบีบของมวลชนคนเสื้อแดง ที่อัดเข้าใส่ทั้งรัฐบาล สภา พรรคการเมือง กลุ่มอำนาจเก่าทั้งหมด
เรื่องนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเป็นเนื้อหาสำคัญของการปฏิรูปการเมืองที่จะเข้าไปแก้ไขอำนาจนอกระบบ แม้รัฐบาลไม่อยากปะทะ แต่คงยืดเวลาออกไปได้ไม่นานนัก
การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวก่อน สภาอาจถูกล้อม โดยกลุ่มเสื้อเหลืองที่มาคัดค้าน แต่คราวนี้อาจถูกล้อมโดยกลุ่มเสื้อแดง ทีมวิเคราะห์คาดว่าคงมีการเคลื่อนไหวให้ลงมติ วาระ 3 ที่ค้างอยู่ และเดินหน้าตั้ง ส.ส.ร.
งานนี้ต้องวัดสมองและใจของฝ่ายนำทั้งสองฟาก
4. การเรียกร้องเพื่อสะสางคดีการเมือง ตั้งแต่กรณีการสลายการชุมนุม 99 ศพ การปล่อยนักโทษการเมือง การดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรปิดสนามบิน แรงกดดันทางการเมืองจะพุ่งเข้าใส่กลุ่มอำนาจเก่า จะต้องดูว่าศาลจะทำอย่างไร ในขณะเดียวกันเพื่อไทยก็ต้องเตรียมตั้งรับคดีต่างๆ ให้ดี บางคดีแม้นึกไม่ออกแต่มันอาจโผล่จากดินขึ้นมากัดขานักการเมืองได้ทุกคน
5. การปะทะกันในเรื่องนโยบาย ที่มาเร็วคือนโยบายค่าแรง 300 บาท ซึ่งจะต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศในเดือน มกราคม 2556 มีความจริงอยู่สองด้านคือบางธุรกิจไม่อยากเพิ่มค่าแรงขนาดนั้น แต่อีกด้านหนึ่งคือในตลาดแรงงานจริง แม้จ่ายวันละ 300 บาทวันนี้ ก็ยังหาลูกจ้างคนไทยทำงานได้ยากมาก
ทีมวิเคราะห์เชื่อว่านโยบายนี้ กลุ่มนายจ้างที่คัดค้านไม่สามารถต้านได้ ส่วนการปะทะเรื่องจำนำข้าวคงดำเนินต่อไป จนกว่าจะพิสูจน์ตัวเลขการขายในรอบปีได้
6. การรื้อฟื้นเร่ง คดี ปรส. ซึ่งถูกแช่เย็นไว้ 15 ปี เป็นการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน รัฐบาล ปชป. สมัยนายกฯ ชวน หลีกภัย ได้ขายสินเชื่อที่อยู่อาศัย 56 สถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่า 851,000 ล้านบาท แต่นำไปประมูลขายให้ต่างชาติ เพียง 190,000 ล้าน
วันนี้คดี ปรส. ยังค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. ทำให้ประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระหนี้รวมดอกเบี้ยมากกว่า 1 ล้านล้าน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะต้องเตรียมแก้ตัวให้ดี เพราะงานนี้ กระบวนการยุติธรรมคงไม่สามารถยื้อให้หมดอายุความได้
ยิ่งใกล้เวลา แรงกดดันจะอัดใส่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดูแล้วคงจะเริ่มตั้งแต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และนี่จะเป็นจุดอ่อนของ ปชป. ที่ถูกตอกย้ำเรื่องการบริหาร และการทุจริต ที่ยกมาเปรียบเทียบได้เสมอ
7. ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จะหมดสมัยการเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในเดือนมกราคม 2556 การเลือกตั้งใหม่น่าจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 2556 ถ้าผู้ว่าฯ ไม่ชิงลาออกก่อนเวลา การกำหนดตัวผู้แข่งขันของทุกค่ายสำนัก พอรู้กันคร่าวๆ แล้ว รอการเปิดตัวจริงๆ แต่การปะทะชิมลางจากหน่วยลาดตระเวนจะมีถี่ขึ้น
การปะทะจริงต้องเดือนมกราคม 2556
แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ผู้บริหารพรรค ปชป. ไม่มีโอกาสเลือกผู้สมัคร ทีมงานเสาชิงช้าเป็นผู้ตัดสินใจ
ส่วนเพื่อไทยก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก ถ้าเป็น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ก็ถือว่าสู้คุณชายได้ไม่ยาก แต่สำหรับเพื่อไทย นโยบายสำคัญกว่าคน เรื่องนี้ต้องเขียนหลายตอน และต้องเห็นตัวผู้สมัครทั้งหมด เห็นนโยบาย จึงจะรู้ว่าใครมีโอกาสชนะแค่ไหน
ศึกนี้เหมือนการวิ่ง 1,500 เมตร ออกตัวเร็วสุดแรงไม่ใช่จะชนะ น้ำหนักตัวมากเสียเปรียบ หมดแรงก็แพ้ กล้ามเนื้อบาดเจ็บ เป็นตะคริว ก็แพ้
ที่ยกมาเป็นศึกย่อย เป็นไฟต์บังคับที่ต้องเกิดขึ้นไม่นับที่จะแทรกมาเป็นศึกวาระจรอีกหลายเรื่อง อย่าเพิ่งเบื่อเสียก่อน ดังนั้น คำว่าสงครามครั้งสุดท้ายที่ได้ยิน อาจเป็นเรื่องส่วนตัวของบางคน บางกลุ่ม แต่ไม่ใช่ของประชาชน เพราะความขัดแย้งวันนี้ขยายไปในขอบเขตทั่วประเทศแล้ว
การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นอนาคตของคนทั้งชาติไม่อาจเทียบกับตำแหน่ง ส.ส. หรือตำแหน่ง รมต. ประชาชนจึงสู้เพื่อความเสมอภาค, เสรีภาพ และความยุติธรรมแบบเสี่ยงชีวิต
หลังรัฐประหาร 2549 และตุลาการภิวัฒน์ 2551 ประชาชน ก็เหมือนถูกจับเข้าช่องแช่แข็ง 5 ปีกว่าจะออกมาจากช่องแช่แข็งได้ก็หลังการเลือกตั้ง 2554 แต่วันนี้ยังติดอยู่ในตู้เย็นเพราะถูกล็อกด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 สงครามทลายตู้เย็นคงเริ่มอีกไม่นานนี้
เรื่องที่ เสธ.อ้าย จะแช่แข็งประเทศไทย 5 ปี คงไม่มีใครยอม ทำได้มากที่สุดก็เปลี่ยนสนามม้าเป็นช่องแช่แข็งแล้วให้พวกที่ไม่ยอมให้ประเทศไทยพัฒนาเข้าไปรวมอยู่ในนั้น
สำหรับประชาชนคนธรรมดาไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย ไม่มีที่ให้หนี มีแต่ต้องต่อสู้จนลมหายใจสุดท้าย เพื่อให้มีที่ยืนหยัดดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
_______________________________________________________________________________________________________
โพสต์เพิ่ม -
“จาตุรนต์” ขึ้นเวที ปชต.เปลี่ยนผ่าน ถกประเด็นสถานการณ์การเมืองไทยช่วงเดือนพฤศจิกายน
จาก www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352441580&grpid=&catid=01&subcatid=0100 . . วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 13:12:34 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายนนี้ ระหว่างเวลา 09.30 -12.00 น. จะมีการเสวนา "กลุ่มพลังประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่าน" ที่ห้องการะเวก โรงแรมโกลเด้นทิวลิป พระราม 9 โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานสถาบันการพัฒนาประชาธิปไตย จะกล่าวเปิดการเสวนา ซึ่งจะมีการกล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในเดือนพฤศจิกายนที่มีประเด็นตึงเครียดเกิดขึ้นหลายเรื่อง
สำหรับผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ , อธึกกิต แสวงสุข หรือ "ใบตองแห้ง", ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยมี ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข ดำเนินการเสวนา
ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจ เข้ารับฟังโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย