.
คำพิพากษา
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:18:02 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 พ.ย.2555 )
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านความเห็นคดี สรยุทธ สุทัศนะจินดา ฟ้อง อสมท ให้คืนเงินโฆษณาส่วนเกินให้กับบริษัทไร่ส้ม
แม้จะยังไม่ใช่คำตัดสินอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นความเห็นที่แตกต่างจาก ป.ป.ช.อย่างสิ้นเชิง
โดยเฉพาะประเด็น "สรยุทธ" โกงหรือไม่โกง
เรื่องเดียวกัน แต่ "ความเห็น" ต่างกัน
ทันทีที่เห็น "ความเห็น" ของตุลาการผู้แถลงคดี ผมนึกถึงแถลงการณ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติขึ้นมาทันที
ในแถลงการณ์นี้เขาบอกว่าแม้พฤติกรรมของ "สรยุทธ" ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด "จะยังไม่มีบทสรุปทางกฎหมาย แต่ในแง่ของการประกอบวิชาชีพ นับว่าไม่เหมาะสม มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณแล้ว"
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติจึงเตือนให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการบริโภคข่าวสาร
และเสนอให้ "สรยุทธ" พิจารณาตัวเอง
หรือถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็คือ ให้ "สรยุทธ" เลิกอ่านข่าว
การชี้มูลของ ป.ป.ช.อาจมีผลทันทีต่อข้าราชการและนักการเมืองในทางกฎหมาย แต่สำหรับเอกชนทั่วไปไม่เว้นแม้แต่ "สื่อมวลชน" การชี้มูลของ ป.ป.ช.ยังไม่มีผลอะไร
เพราะ ป.ป.ช.เป็นเพียงแค่องค์กรหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม ที่ยังไม่ถึงขั้น "อัยการ" ด้วยซ้ำไป
คดีของ "สรยุทธ" ป.ป.ช.ยังต้องส่งเรื่องให้ "อัยการ" พิจารณาเพื่อสั่งฟ้องก่อน
"อัยการ" จะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก็ไม่มีใครรู้
"ดุลพินิจ" ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเรื่องนี้จึงสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกมองว่า "อคติ" กับ "สรยุทธ"
เพราะนอกจาก "สรยุทธ" ไม่ใช่นักหนังสือพิมพ์
มาตรฐานที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติใช้กับ "สรยุทธ" ยังแตกต่างจาก "นักหนังสือพิมพ์ใหญ่" ที่เจอคดีทุจริต และถูกศาลตัดสินจำคุกแล้ว
นอกจากจะใช้คนละ "มาตรฐาน" กันแล้ว เมื่อไม่กี่วันนี้ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติยังไปอวยพรวันเกิดนักหนังสือพิมพ์ใหญ่คนนี้ด้วย
คนคนหนึ่งที่ถูกศาลตัดสินจำคุก ไม่ถูกเรียกร้องให้เลิกอาชีพหนังสือพิมพ์
แต่อีกคนหนึ่ง แค่ ป.ป.ช.ชี้มูลกลับเรียกร้องให้เลิกอาชีพ
การตัดสินความผิด-ถูกของใครคนใดคนหนึ่งโดยให้เลิก "อาชีพ" นั้นเลย ทั้งที่คดีความเพิ่งเริ่มก้าวแรกของกระบวนการยุติธรรม
เป็นมาตรการที่โหดร้ายมาก
เช่นเดียวกับที่ วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ทำหนังสือถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กรณี "ไร่ส้ม"
เขาอ้างถึงแถลงการณ์ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ ไทยเพื่อขอให้บริษัทในตลาดฯใช้ความระมัดระวังในการทำธุรกิจกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย
ทั้งที่ "ไร่ส้ม" ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
และถ้าใช้มาตรฐานเดียวกันในเรื่องนี้ ไม่รู้ว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีคดีโกงลูกค้า หรือผู้บริหารบริษัทที่เจอคดีใช้ข้อมูลภายในหรือปั่นหุ้น
"วรพล" จะใช้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่
ปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในวันนี้คือ เรื่องความยุติธรรม
เพราะความขัดแย้งในสังคมไทยทำให้ความคิดต่างกลายเป็นการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม
อย่าลืมว่าการใช้มาตรฐานที่ต่างกันในการตัดสินคน คือ ความอยุติธรรมรูปแบบหนึ่ง
เห็นกรณีนี้แล้วทำให้ผมนึกถึงหนังสือ "คำพิพากษา" ของ ชาติ กอบจิตติ ขึ้นมา
"ไอ้ฟัก" ในหนังสือตายไปนานแล้ว
แต่ในสังคมไทยยังมี "ไอ้ฟัก" อีกมากมาย
และ "ครูใหญ่" อีกหลายคน
++
“วุฒิภาวะ”วุฒิสมาชิก
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 14:16:25 น.
( ที่มา:คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป หน้า 3 มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ย. 2555 )
การเดินหน้าให้ประเทศไทยมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ในคลื่น3จี ใช้ เป็นเรื่องผลประโยชน์ประชาชน
เทคโนโลยี 3จี ทั่วโลกใช้มานานแล้ว หลายประเทศแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา ก้าวล้ำไป 4จี แล้ว
3จี จึงต้องเอาประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นตัวตั้ง มากกว่าที่จะคิดแต่ประโยชน์รัฐ หรือติดกับประโยชน์ของบริษัทเอกชน
วุฒิสมาชิก ในความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ สมาชิกของสภาสูงซึ่งเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิ สมาชิกต้องมีวุฒิภาวะคิดถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติในภาพรวมได้
การเมืองไทยที่ไม่ไว้วางใจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วยค่านิยมที่หมิ่นแคลนความรู้ความคิดของประชาชนว่าไม่มีความสามารถที่จะเลือกผู้แทนที่เป็นคนดีมีความสามารถได้
โครงสร้างอำนาจการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วยกรอบความคิดของอำนาจนอกระบบที่ไม่ไว้วางใจการตัดสินใจของประชาชนจึงให้มีวุฒิสภาขึ้นมาทำหน้าที่คัดเลือกองค์กรอิสระเข้ามาควบคุมการทำงานของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
วุฒิสภายังมีหน้าที่ถอดถอนนักการเมือง
เรียกว่าให้อำนาจเต็ม
ขณะที่ ที่มาของวุฒิสภาส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา หรือเอาเข้าจริงก็คือการแต่งตั้งโดยเครือข่ายของอำนาจนอกระบบที่เชื่อว่าพวกเขามีจริยธรรรมมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ทั้งที่ประชาชนและผู้นิยมประชาธิปไตยทั่วไปไม่ได้เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่อยากปรักปรำว่าหลายคนในวุฒิสภาเห็นแก่ประโยชน์มากกว่าจริยธรรม
ทว่าสิ่งที่ไม่อยากพูดนั้น ดูเหมือนว่าจะต้องมาพูดกันสักครั้ง เมื่อวุฒิสมาชิกกลุ่มหนึ่ง พยายามที่จะขัดขวางการดำเนินการให้ประชาชนได้ใช้คลื่น 3จี อย่างเอาเป็นเอาตาย จนน่าสงสัยว่าก้าวข้ามจริยธรรมของตัวเองหรือไม่
จากข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการพ.ศ.2553
ข้อ 17 ...จักต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ใช่หรือบิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง หรือวิจารณ์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจผิด...
และข้อ 19 ...จักต้องพิจารณารับเรื่องร้องทุกข์ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ตลอดจนถึงให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็วมีอัธยาศัย เสมอภาค เท่าเทียมเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
แต่ปรากฏว่าพฤติกรรมของ ส.ว.บางคน ดูจะไม่เข้ากับจริยธรรมนี้สักเท่าไร
ไม่เพียงเร่งเสนอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบการประมูลคลื่น 3จี โดยตั้งข้อสงสัยว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทุจริต โดยไม่ให้ กสทช.ชี้แจงข้อเท็จจริงก่อน ซึ่งเสี่ยงต่อข้อหาวิจารณ์ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหายเพื่อให้ผู้อื่นหรือประชาชนเข้าใจผิด และ ไม่รับฟังความคิดเห็นอย่างเสมอภาค เท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
แค่นั้นก็แย่แล้ว แต่ยังไม่ทันที่ ป.ป.ช.จะพิจารณา กลับเร่งร้อนที่จะส่งเรื่องไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ที่หนักไปกว่านั้นคือจี้ให้ประธาน กสทช.เรียกประชุมเรื่องที่ตัวเองไม่มีหน้าที่
จนก่อความรู้สึกว่าเป็นการกระทำที่เร่งรีบและเร่าร้อนจนคล้ายจะเกินปกติจนก่อให้เกิดข้อกังขาในกลุ่มผู้ติดตามเรื่องนี้ว่ามีแรงผลักดันอะไรสักอย่างหรือไม่
3จี ใช้เร็วเท่าไร ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประชาชนเร็วเท่านั้น
วุฒิสมาชิก คือ ผู้ทรงเกียรติด้วยวุฒิภาวะ
คงต้องทบทวนกันให้หนัก ว่ายังรักษาวุฒิภาวะที่สามารถมองเห็นผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องไว้ได้หรือไม่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย