http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-12

สรกล: ไม่มี“บุญทรง”/ จำลอง: ล็อกเป้า“ปู” สู้ ป.ป.ช.

.

ไม่มี “บุญทรง”
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:15:31 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 10 พ.ย. 2555 )


เหนือความคาดหมายจริงๆ สำหรับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน
เพราะไม่มีชื่อ "บุญทรง เตริยาภิรมย์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบนโยบาย "จำนำข้าว" 
มีแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

คำถามในเชิงกลยุทธ์ ก็คือ ทำไมพรรคฝ่ายค้านเลือก 4 คนนี้เป็น "เป้า" 
ถ้าตัดเรื่อง "ข้อมูล" ซึ่งไม่รู้ว่ามีแต่ละคนน้ำหนักมากแค่ไหน
การกำหนดเป้า "ตัวบุคคล" ก็น่าสนใจ
เพราะ 3 ใน 4 คน ไม่ใช่ "นักการเมืองอาชีพ"

ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ พล.ต.อ.ชัจจ์ และ พล.อ.อ.สุกำพล 
ทั้ง 3 คนไม่ทันเกมการเมืองในสภา ตอบโต้ทางการเมืองไม่เก่ง 
เมื่อเจอกับขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ที่เชี่ยวชาญในการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยแล้ว 
3 คนนี้จึงเปรียบเสมือน "เป้านิ่ง" ในสภา


ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งเป็น "ขุนพล" ของพรรคเพื่อไทยในการตอบโต้ในสภา ซึ่งคาดกันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เขาจะเป็นคนหาจังหวะช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบโต้หรือทำลายเกมฝ่ายค้าน 

การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ร.ต.อ.เฉลิม จึงเป็นเกมเตะตัดขาทำให้ "สารวัตรเหลิม" ต้องพะวักพะวง หาข้อมูลป้องกันตัวเองก่อน
ช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ไม่เต็มที่ 
นั่นคือ เกมการเมืองของพรรคฝ่ายค้านหากมองในเชิงกลยุทธ์

แต่ในอีกมุมหนึ่ง "ประชาธิปัตย์" ก็มี "รายจ่าย" เพราะ ไม่มีชื่อ "บุญทรง" ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ 
ทั้งที่ฝ่ายค้านตีปี๊บโจมตีนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลอย่างหนัก 
แต่ผลสุดท้ายกลับบอกว่า "การทำงานของนายบุญทรง ยังไม่ได้ทำอะไร และยังไม่ถึงขั้นต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจ" 
เป็นไปได้อย่างไร ??

หรือคิดจะใช้เกมตีโอบอภิปราย "ยิ่งลักษณ์" เรื่อง "จำนำข้าว" คนเดียว ไม่ให้ "บุญทรง" และ "ณัฐวุฒิ" ที่ไปปักหลักอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยเหลือ 
ไม่น่าจะทำได้


หรือว่า "ประชาธิปัตย์" อ่านออกว่าหากอภิปรายเรื่อง "จำนำข้าว" นอกจากเรื่องจะเข้าตัวเอง เพราะจะมีการขุดคุ้ยเรื่องนโยบายประกันราคาข้าวในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มาตอบโต้แล้ว 
ยังเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลหาเสียง 
เพราะเรื่องนโยบายจำนำข้าวทำให้รัฐบาลขาดทุนเท่าไร หรือใช้จำนวนเงินมหาศาลแค่ไหน 
เป็นเรื่องที่ "คนเมือง" สนใจ

แต่สำหรับ "ชาวนา" นโยบายนี้ช่วยยกระดับรายได้ให้กับเขา และมีผลต่อเศรษฐกิจในต่างจังหวัด 
โพลที่ออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่พึงพอใจกับนโยบายจำนำข้าว 
ดังนั้น หากพรรคประชาธิปัตย์ซักฟอกเรื่องนโยบายจำนำข้าวก็เหมือนกับซักฟอกเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค กับกองทุนหมู่บ้านที่ชาวบ้านชื่นชอบ
การเว้นชื่อ "บุญทรง" จึงอาจเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

แต่ความเสียหายประการหนึ่งที่ "ประชาธิปัตย์" ต้องรับไปเต็มๆ ก็คือ "ความน่าเชื่อถือ" 
เพราะโหมโจมตีหนักเกินไป จนคนเชื่อว่านโยบายนี้เลวร้าย จะทำให้ประเทศชาติล่มสลาย
แต่สุดท้าย กลับไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นี่คือ "รายจ่าย" ที่ต้องจ่ายของ "ประชาธิปัตย์"



++

ล็อกเป้า"ปู" สู้ ป.ป.ช.
โดย จำลอง ดอกปิก คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 15:56:44 น.
(ที่มา คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 12 พ.ย. 2555 )


ฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นญัตติซักฟอก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีรายบุคคลอีก 3 คน ประกอบด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก 
แม้ผิดจากการคาดหมายเล็กน้อย เมื่อไม่ปรากฏชื่อ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ผู้ติดบัญชีลวงช่วงก่อนหน้านี้ว่า เป็นอีกเป้าหมายฟันในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้
ทว่า 'นายกรัฐมนตรี' ยังถูกล็อกชื่อเป็นเป้าล้มสำคัญ ไม่เปลี่ยนแปลง

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ยิ่งลักษณ์ พล.อ.อ.สุกำพล และพล.ต.ท.ชัจจ์ ถูกยื่นถอดถอนจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย
เนื่องจากมีกรณีกล่าวหา มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย เมื่อมีการยื่นถอดถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 แล้ว ขั้นตอนต่อไป ประธานวุฒิสภาต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามมาตรา 272


การที่เรื่องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าไปอยู่ในมือองค์กรอิสระ เข้าสู่กระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.นี่แหละ เป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงยิ่งของรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย 
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่แปลงสภาพมาจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ที่เคยเจ็บปวดจากการตัดสินขององค์กรอิสระมาแล้ว 


เรื่องนี้ไม่น่าวางใจยิ่งกว่าญัตติไม่ไว้วางใจเสียอีก

พรรคประชาธิปัตย์เองก็ดูเหมือนคาดหวังผลจากการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี มากกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 
ดังเห็นได้จากถ้อยแถลงจาก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่ว่าไม่หวังผลจากการโหวตเท่าใดนัก เพราะลงมติทีไรก็แพ้ เนื่องจากรัฐบาลกุมเสียงข้างมากในสภา 
ช็อตต่อไประทึก และมีลุ้นยิ่งกว่า 
"เรามองความไม่สิ้นสุดแค่เรื่องในสภามากกว่า แต่กระบวนการจะต้องส่งเรื่องต่อไปยัง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการถอดถอน และหากเป็นความผิดในคดีอาญาก็จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำเนินการต่อไป"

เรื่องการซักฟอกในสภาแม้ยังไม่ถึงวันเวลาอภิปรายและลงมติ แต่ก็คล้ายกับว่าทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นไปแล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องลุ้นอีกต่อไป

มีเรื่องการถอดถอนนี่แหละที่อาจเป็นอาวุธทรงพลังในการล้มรัฐบาล


หนึ่งหัวข้อสำคัญ การยื่นถอดถอนยิ่งลักษณ์ ที่ฝ่ายค้านแพลมออกมา คือมีพฤติการณ์กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม จากการไม่สั่งการให้หน่วยงานของรัฐ จัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามข้อเสนอ ป.ป.ช. 

เรื่องนายกฯไม่สั่งการหน่วยงานของรัฐ ให้ทำตามคำแนะนำ ป.ป.ช.ตามมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กลับมาอยู่ในมือในการไต่สวนของ ป.ป.ช.อีกครั้ง 
เรื่องนี้คนทั่วไปอาจมองคล้ายนายกฯและ ป.ป.ช.เป็นคู่กรณี การตัดสินอย่างหนึ่งอย่างใด ป.ป.ช.อาจต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากถูกจับจ้อง มีคำถามใหญ่รออยู่ เหมือนลักษณะการมีส่วนได้-ส่วนเสียโดยตรง แต่นั่นอาจเป็นสายตาคนทั่วไป มิใช่ ป.ป.ช.

สิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยหวั่นวิตกที่สุดเกิดขึ้นแล้ว เมื่อพูดถึงเพื่อไทยกับองค์กรอิสระ ไม่ว่าหน่วยงานไหน รับประกันซ่อมฟรี ไม่มีหรอกที่จะสอบผ่านง่ายๆ โดยไม่บอบช้ำ!



.