http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-04

“จอบแรกครูบา” จุดเริ่มขบวนประชาชน โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

“จอบแรกครูบา” จุดเริ่มขบวนประชาชน
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 02 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1681 หน้า 76


วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2477 เวลา 10 นาฬิกา ชาวล้านนาไม่มีวันลืมเลือน เพราะเป็นวันที่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มปักจอบลงดินเป็นปฐมฤกษ์ในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ 
"จอบแรกครูบา" สำคัญอย่างไร 
หรือมันคือจุดเริ่มต้นขบวนการขับเคลื่อนของภาคประชาชน?



ถนนสายนี้สร้างด้วยนางฟ้า-เทวดา

ผู้จุดประกายความคิดในการสร้างทางขึ้นสู่ดอยสุเทพให้แก่ครูบาศรีวิชัยคือ "หลวงศรีประกาศ" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนแรก และพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ที่ได้มาขอคำปรึกษาจากครูบา ด้วยความคิดที่ว่า หากบนดอยสุเทพมีการประดับประดาด้วยไฟฟ้า ก็น่าจะสร้างความตระการตาให้แก่คนต่างถิ่นที่มาเยือนเมืองเชียงใหม่ไม่น้อย
แสดงว่ายุทธศาสตร์แผนโปรโมตการท่องเที่ยวมีมาแล้วตั้งแต่เมื่อ 80 ปีก่อน!


พระธาตุดอยสุเทพสร้างขึ้นในสมัยพระญากือนา พ.ศ.1929 และบูรณะในสมัยพระเมืองเกษเกล้า พ.ศ.2081 ยุคหลังนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปทรงเป็นเจดีย์ 12 เหลี่ยมอย่างที่เห็น 
เชื่อกันว่าเดิมเส้นทางขึ้นสู่ดอยสุเทพนั้น ไม่น่าจะเริ่มต้นจากวัดศรีโสดาเหมือนปัจจุบัน แต่ควรเป็นทางด้านหลังของวัดสวนดอกที่ค่อยๆ ไต่เขาลาดขึ้นทีละน้อย แล้วมาบรรจบกับธารน้ำไหลเชี่ยวที่วัดผาลาด
เหตุที่สันนิษฐานดังนี้ ก็เพราะพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานบนดอยสุเทพ เกิดขึ้นจาก "ปาฏิหาริย์" ของการแตกองค์ออกมาอีกเสี่ยงหนึ่งของพระบรมสารีริกธาตุที่พระญากือนาเตรียมจะบรรจุในเจดีย์วัดสวนดอก จึงได้อัญเชิญองค์ใหม่ขึ้นหลังช้างเสี่ยงทาย จากนั้นช้างก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพโดยมีจุดเริ่มต้นที่วัดสวนดอก

ยุคที่พม่าปกครองล้านนา เส้นทางสู่ดอยสุเทพถูกทิ้งรกร้างมานานหลายศตวรรษ การขึ้นไปกราบนมัสการพระธาตุฯ ในยุคฟื้นฟูเมืองต้องปีนป่ายเขาอย่างยากลำบาก 
เหตุนี้ครูบาศรีวิชัยจึงเสนอโครงการที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่พ่อเมืองทั้งสอง ด้วยการสร้างถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพ แทนที่การนำเอาสายไฟฟ้าไปติดตั้ง อันเป็นแสงวาวแค่วูบไหว หาได้เกิดประโยชน์อันใดแก่สาธุชนที่ปรารถนาการจาริกแสวงบุญไม่

แนวคิดดังกล่าวสร้างความหนักใจให้แก่เจ้าแก้วนวรัฐและหลวงศรีประกาศไม่น้อย มิอาจจินตนาการได้เลยว่าจักสามารถหาเม็ดเงินจำนวนมหาศาลมาได้ด้วยวิธีใด ยิ่งเชียงใหม่เป็นเมืองชายขอบในสายตาของชาวสยาม โอกาสที่ส่วนกลางจะส่งช่างสำรวจมาประมาณการ เอาเฉพาะแค่ค่าปักเสาไฟฟ้าขึ้นดอยสุเทพก็ต้องร้องเพลงรอตั้งนานสองนานอยู่แล้ว
ครูบาศรีวิชัยกลับพูดคล้ายทีเล่นทีจริงว่า "อย่าห่วงเลย จะมีเหล่าเทวดานางฟ้ามาช่วยพวกเรา!" 
ระยะทางจากน้ำตกห้วยแก้วสู่ดอยสุเทพนั้นยาวถึง 12 กิโลเมตร หลายคนแอบฉงนใจว่าครูบาจะทำสิ่งที่ยากเข็ญให้สำเร็จได้จริงแค่ไหน แต่ไม่มีใครกล้าเอ่ยปากถามว่า "นางฟ้ากับเทวดา" ที่ครูบาอ้างนั้นอยู่หนใดหรือ?
เป็นไงก็เป็นกัน วันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 2477 หลังจากที่ได้ลงจอบแรกเอาฤกษ์เอาชัยแล้ว ครูบาก็ส่งจอบให้เจ้าแก้วนวรัตน์และหลวงศรีประกาศช่วยกันลงจอบที่สอง สาม ส่งต่อๆ กันไปจากมือสู่มือ

ณ แผ่นดินที่ลงจอบแรกนี้ต่อมาได้กลายเป็นที่ประดิษฐานอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ผลงานปั้นชิ้นเยี่ยมของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 
วันแรกผ่านไปอย่างเงียบหงอย ท่ามกลางคนที่เสียสละมาช่วยงานบุญเพียง 20 ชีวิต ทั้งๆ ที่ได้แจกใบปลิวกระจายข่าวนี้ไปมากกว่า 100,000 แผ่น เหตุเพราะเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพอดี 
แต่แล้ววันที่สองกลับมีผู้คนหลั่งไหลเพิ่มขึ้นมากกว่าวันแรกหลายเท่าตัว ผ่านไปเพียง 7 วัน ชาวเชียงใหม่-ลำพูนก็แห่มาปักหลักนอนที่ตีนดอยสุเทพไม่น้อยกว่า 2,000 คน ทั้งพ่อค้า ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ชาวบ้าน ชาวดอย แต่ละคนพกพาข้าวปลาอาหาร ชะแลง มีดพร้า จอบ เสียม ขวาน ค้อน อีเตอร์ แต่ละวันขนคนมาสลับสับเปลี่ยนเป็นขบวนรถยาวเหยียดไม่น้อยกว่า 100 คัน

เมื่อหลวงศรีประกาศเห็นคนแห่กันมาแน่นขนัด ก็ตกอกตกใจว่าจะหาข้าวปลาที่ไหนมาเลี้ยงคนเหล่านี้ ครั้นสองเดือนผ่านไป หลังจากที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จ ชาวเชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน รวมไปถึงชาวพม่าจากมะละแหม่ง เชียงตุง ต่างมุ่งหน้าสู่น้ำตกห้วยแก้วจนมืดฟ้ามัวดิน พกจอบสะพายขวานมาร่วมสร้างทางโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
ในแต่ละวัน พ่อค้าแม่ขายกลางเวียงเชียงใหม่ต่างยกหม้อยกไหมานึ่งข้าวโขลกน้ำพริกแจก ชาวไร่ชาวนาทั่วภาคเหนือนำข้าวโพด ถั่ว งา เผือก หอม กระเทียม พริก ข้าวเหนียวมาเต็มคันรถทุกวัน  
กระทั่งครูบาต้องสั่งให้สร้างยุ้งฉางข้าวไว้สองหลังสำหรับเก็บเสบียงเลี้ยงผู้คน ณ บริเวณวัดศรีโสดา ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการ

ระยะทางขึ้นสู่ดอยสุเทพอันยาวไกลนั้น ครูบาได้เตรียมแผนก่อสร้างวัดไว้ 4 แห่ง เรียงรายอยู่ริมทางตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงยอดดอย กอปรด้วยวัดโสดาบัน (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีโสดา) วัดสกิทาคามี (อยู่ที่ม่อนเถรจันทร์ หรือห้วยขุนผีบ้า ห่างจากวัดศรีโสดา 4 กิโลเมตร น่าจะหมายถึงวัดผาลาด) วัดอนาคามี (กำหนดว่าจะสร้างที่ม่อนพญาหงส์ แต่ยังไม่ทันได้สร้างครูบาก็ถูกทางการดำเนินคดีเสียก่อน) และวัดอรหันตา หมายถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพนั่นเอง
เพื่อจะสื่อความหมายถึงขั้นตอนแห่งการบรรลุธรรมทั้ง 4 ขั้น เป็นมรรควิถีในการตัดสังโยชน์ หลุดพ้นจากความทุกข์เข้าถึงพระนิพพาน



การโคจรมาพบกันครั้งแรกของ
"สามครูบาแห่งลำพูน"

ห้วงเวลาสำคัญยิ่งที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก ก็คือการที่ "สามครูบานักบุญผู้ยิ่งใหญ่ชาวลำพูน" ได้โคจรมาพบกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครั้งแรก เมื่อต้นปี พ.ศ.2478 
พระชัยยะวงศาภิกขุ หรือที่รู้จักในนามครูบาชัยยะวงศาพัฒนาแห่งวัดพระบาทห้วยต้ม ขณะนั้นเป็นพระหนุ่มด้วยวัย 22 ปี ได้เดินทางมาสมทบกับ ครูบาอภิชัยขาวปี ผู้เป็นศิษย์เอกของครูบาศรีวิชัย มีสำนักอยู่ที่วัดพระบาทตะเมาะและวัดพระพุทธบาทผาหนาม ทั้งสองพาชาวปกากะญอ ติดตามมาด้วยกลุ่มใหญ่
ครูบาศรีวิชัยได้สัพยอกต่อเจ้าแก้วนวรัฐและหลวงศรีประกาศว่า "นี่ไงเล่า เหล่านางฟ้าเทวดาที่จะช่วยงานมาถึงแล้ว"

เหตุที่ชาวปกากะญอจากลี้ แม่ทา เสริมงาม อมก๋อย ดอยเต่า ฮอด สบเมย แม่ระมาด กลุ่มที่ติดตามครูบาอภิชัยขาวปีมีจำนวนมากถึง 500 ชีวิต ผนวกกับกลุ่มที่ศรัทธาพระชัยยะวงศาก็มีไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ชาวเขาทั้งสองกลุ่มนี้ถือเป็นกำลังหลักในการอุทิศแรงงานอย่างสมบุกสมบันและเสี่ยงภยันตรายบนโขดเขินช่วงที่วิบากยิ่ง 
ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน พวกเขาใช้วิธีแยกกันเดินขึ้นดอยเป็นหมู่ หมู่ละ 20, 30, หรือ 40 คน แต่ละหมู่พกเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่เรียกว่า "กอย" ลักษณะคล้ายแตรมีรูปโค้งเหมือนเขาควาย สานด้วยไม้ไผ่ทายางรัก เป่าเสียงดัง-เบาได้ รวมทั้งพกฆ้อง กลอง ฉาบ ระหว่างทางขึ้นดอยจะเป่ากอยตีฆ้องกลองเป็นที่สนั่นครื้นเครง 
แท้จริงแล้วประโยชน์ของกอยก็เพื่อใช้เป่าให้สัญญาณเมื่อเดินไปถึงทางแยก ป้องกันไม่ให้คนที่ตามมาภายหลังหลงทาง ขณะเดียวกันเสียงของมันยังช่วยไล่สัตว์ร้ายในป่าให้แตกกระเจิงไปอีกด้วย

ครูบาศรีวิชัยมอบหมายให้พระอภิชัยขาวปีควบคุมดูแลการก่อสร้างจากเส้นทางตอนล่างสุดคือจากวัดโสดาบัน มาจนถึงช่วงที่สองคือวัดสกิทาคามี ส่วนพระชัยยะวงศาควบคุมเส้นทางช่วงถัดไป เริ่มจากต้นธารของน้ำตกห้วยแก้วไปจนถึงวัดอนาคามี 
สำหรับเส้นทางช่วงสุดท้ายจากวัดอนาคามีไปถึงเชิงบันไดนาคของพระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งเป็นช่วงที่ภูเขาสูงชันสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยความเสี่ยงจากก้อนหินใหญ่ที่คอยกลิ้งตัวหล่นลงมา และสัตว์ร้ายนานาชนิดนั้น มอบหมายให้ขุนกันชนะนนท์ กำนันตำบลสุเทพเป็นพ่องานรับผิดชอบ
 ด้วยเหตุนี้คนจึงเรียกโค้งหักข้อศอกอันตราย 3-4 โค้งก่อนถึงยอดดอยว่า "โค้งขุนกัน"


พระชัยยะวงศามีอายุห่างจากครูบาศรีวิชัยถึง 35 ปี เคยปรนนิบัติรับใช้และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ตั้งแต่สมัยยังเป็นเณรน้อยคราวที่ครูบาศรีวิชัยมาเป็นประธานบูรณะวัดพระธาตุแก่งสร้อยกลางลำน้ำปิง และพระชัยยะวงศาก็เคยอยู่ในเหตุการณ์สลดสังเวชใจ เมื่อได้เห็นฝ่ายปกครองยัดเยียดข้อหาสารพัด จับครูบาอภิชัยขาวปีสึกต่อหน้าต่อตาใต้ต้นไม้ตายซากที่แม่ระมาด
แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่ครูบาทั้งสามจักโคจรมาร่วมบุญกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา หากไม่ใช่งานสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ 
เป็นที่ทราบกันดีถึงฉายาของครูบาอภิชัยขาวปีว่าเป็นเสมือน "มือขวา" ของครูบาศรีวิชัย และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าครูบาชัยยะวงศาพัฒนาก็เทียบได้ดั่ง "มือซ้าย" เช่นกัน ท่านทั้งสองพร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ ไม่ว่าครูบาศรีวิชัยจะถูกใส่ร้ายป้ายสีทางการเมืองกี่ครั้งครา หรือประสบความลำบากขณะก่อสร้างเสนาสนะในถิ่นทุรกันดารเพียงใดก็ตาม
ด้วยปณิธานและบารมีธรรมอันมุ่งมั่นของครูบาทั้งสาม คือแรงขับเคลื่อนให้ฟันฝ่าคลื่นมรสุมผ่านพ้นวิกฤติไปได้ในทุกสถานการณ์


งานสร้างถนนใช้เวลาเพียง 5 เดือน 22 วันก็บรรลุผลสำเร็จ มีพิธีฉลองในวันที่ 30 เมษายน 2478 โดยครูบาศรีวิชัยนั่งรถของเถ้าแก่โหงวเปิดทางเป็นคันแรกจากวัดศรีโสดาไปจนถึงขั้นบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ
เป็นงานบุญที่ชาวล้านนาเกิดความปีติใจ ร่วมฉลองกันยาวนานถึง 15 วัน 15 คืน

ในขณะที่ภาครัฐ นอกจากจะไม่ได้ช่วยเหลืองบประมาณแม้แต่บาทเดียวแล้ว ยังส่งเจ้าหน้าที่มาจ้องจับผิดปรักปรำว่าครูบาศรีวิชัยอุกอาจปลุกระดมมวลชนให้บุกรุกป่าสงวนฯ ซ้ำตั้งตนเป็นผู้วิเศษเรี่ยไรเงินชาวบ้านอันผิดวินัยสงฆ์ 
เสร็จจากงานฉลองได้เพียง 10 กว่าวัน ครูบาศรีวิชัยถูกจับกุมตัวไปดำเนินคดีอีกเช่นเคย
ถือเป็นการทดสอบบารมีธรรมครั้งสำคัญยิ่งและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เพราะต่อจากนี้ไป ขบวนการประชาชนพร้อมแล้วที่จะต่อกรกับความอยุติธรรม ไม่ว่าหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน
ในเมื่อพลังประชาชนกลุ่มนี้กล้าเสี่ยงตายเงื้อมมือเอาถนนไปวางทอดบนยอดดอยมาแล้ว ก็คงไม่มีอะไรที่น่าเลวร้ายไปกว่าการปล่อยให้คนมีอำนาจกระทำการหักหาญน้ำใจรังแกผู้บริสุทธิ์ได้อีก


ระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยถูกกักบริเวณที่วัดศรีดอนไชย ขบวนประชาชนได้พร้อมใจกันไปมะรุมมะตุ้มด่าทอคณะสงฆ์ที่รับคำสั่งจากมหาเถรสมาคมจนแน่นขนัดเต็มลานวัด เจ้าคณะจังหวัดหวาดกลัว "ม็อบนักบุญ" ถึงกับต้องย้ายตัวท่านลงไปกักขังที่กรุงเทพฯ แทนเพื่อลดแรงกดดันจากคนในท้องถิ่น

ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ควรค่าแก่การศึกษาและตั้งคำถามยิ่งว่า หากไม่มี "จอบแรกครูบา" จะมี "จุดเริ่มขบวนประชาชน" หรือไม่



.