http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-17

ทำไม? ผู้นำทั่วโลกตอบรับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดย มุกดา สุวรรณชาติ

.

ทำไม? ผู้นำทั่วโลกตอบรับ รัฐบาลยิ่งลักษณ์
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1683 หน้า 20


ช่วงนี้มีข่าวในกะลากับข่าวนอกกะลา ข่าวที่จะจับคนทั้งประเทศแช่แข็ง 5 ปี เป็นทัศนะของคนในกะลาที่ไม่เคยมองออกนอกกะลาเลย เป็นเวลานานหลายสิบปี
คนพวกนี้วนเวียนอยู่แต่การแสวงหาอำนาจด้วยการรัฐประหารตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปัจจุบัน
คนที่อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังของการรัฐประหารหลายครั้งตลอด 35 ปี ก็คิดเป็นอยู่แค่นี้ 

ถ้าถามว่าได้อำนาจมาแล้ว จะบริหารประเทศอย่างไร ก็คงจะทำหน้างงๆ
เมื่อไม่รู้ว่าจะทำอะไรก็เลยจะต้องปิดประเทศ ต้องแช่แข็ง เหมือนคนที่ได้อาหารมาแล้วทำกับข้าวไม่เป็น ก็ต้องใส่ตู้เย็นไว้ก่อน 
จนถึงบัดนี้พวกเขายังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยอยู่ในสถานะอะไรของสังคมโลก



วันนี้อยากเปิดกะลาออกมาดูเรื่องไกลตัว ไกลจากความขัดแย้งริมบ่อน้ำที่เคยอาศัยอยู่ 
ไทยผ่านพ้นสภาพที่จะอยู่ได้แบบประเทศเดี่ยวมานานปี โอกาสที่ผู้คนจะดำรงชีวิตอยู่แบบหมู่บ้านชนบทในอดีตซึ่งนานๆ ติดต่อกับคนภายนอกสักครั้ง ทำไม่ได้แล้ว 
ผู้คนทุกหมู่บ้านต้องติดต่อกับโลกภายนอกตลอดเวลา

เริ่มตั้งแต่ข่าวสารและความบันเทิงที่ผ่านจอโทรทัศน์ การทำการค้า การแสวงหาความรู้การศึกษาแม้การดำรงชีวิตอยู่โดยปกติ ก็จะต้องติดต่อกับคนภายนอก


ในเวทีโลกก็เช่นกัน ถ้าใครโดดเดี่ยวก็จะยากลำบากแบบเกาหลีเหนือ (ซึ่งต้องพึ่งจีนอยู่ดี)
แม้แต่ประเทศพม่าก็ต้องเลิกนโยบายแช่แข็งและรีบเปิดประตู ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี จากนานาชาติ 

ปัจจุบันเวทีโลก มิใช่มีไว้โชว์การปาฐกถา หรือทำสงครามเย็น แต่การเคลื่อนไหวระดับนานาชาติทุกเรื่องล้วนเกี่ยวพันกับชีวิตของชาวบ้าน ตั้งแต่อาหารการกิน ราคาน้ำมัน การค้าขาย เทคโนโลยี แรงงานข้ามประเทศ และการเมือง การทหาร 
ทุกประเทศมาประชุมกันทั้งเพื่อต่อรองผลประโยชน์ หาความร่วมมือหรือคลี่คลายความขัดแย้ง



รัฐบาลยิ่งลักษณ์...
บินออกจากบ่อน้ำเล็กๆ สู่เวทีโลก


รัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ใครๆ มองว่าถอยเกือบทุกเรื่อง จริงๆ แล้วยังมีบทบาทด้านรุก ที่นอกจากนโยบายเศรษฐกิจ คือนโยบายด้านต่างประเทศ ซึ่งมีจุดหมายที่เป็นรูปธรรมทางเศรษฐกิจและการเมืองต่อประเทศต่างๆ ในเงื่อนไขที่ต่างกัน

ระยะเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ของผู้นำประเทศเล็กประเทศใหญ่ที่บินพบปะเจรจากันมาก อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศแถบนี้ ถ้าดูจากเมืองไทยเป็นหลักจะเห็นการเคลื่อนไหวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์และผู้นำประเทศต่างๆ ดังนี้

26 มีนาคม 2555 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปประชุมสุดยอดความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ที่ สาธารณรัฐเกาหลี
17-19 เมษายน 2555 เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน 
19-22 เมษายน 2555 ร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ณ กรุงโตเกียว 
27-28 พฤษภาคม 2555 เยือนประเทศออสเตรเลีย
17-19 กรกฎาคม 2555 เยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี 
20-21 กรกฎาคม 2555 เยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส 
7-9 กันยายน 2555 ประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ณ เมืองวลาดิวอสตอก สหพันธรัฐรัสเซีย 
23-25 กันยายน 2555 ประชุม ที่สหประชาชาติ
15-17 ตุลาคม 2555 ประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue-ACD) ณ ประเทศคูเวต
5-6 พฤศจิกายน 2555 ประชุมเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 ที่เวียงจันทน์ ส.ป.ป.ลาว
8 พฤศจิกายน 2555 ประชุม Bali Democracy Forum ที่บาหลี อินโดนีเซีย 
12-14 พฤศจิกายน 2555 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการไปเยือนสหราชอาณาจักร 

สำหรับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำประเทศต่างๆ
4-5 พฤศจิกายน 2555 นายจูเซ มานูเอล บาร์โรซู ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป 
9-10 พฤศจิกายน 2555 นายลี มยอง-บัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี 
15-16 พฤศจิกายน 2555 นายลีออน อี. พาเนตตา รมว.กลาโหมสหรัฐอเมริกาและคณะ
15-17 พฤศจิกายน 2555 นายโยเวรี คากูตา มูเซเวนี ประธานาธิบดีสาธารณรัฐยูกันดา 
16-18 พฤศจิกายน 2555 นายอาหมัด โมฮัมหมัด อาหมัด อัล ฏาเย็บ อิหม่ามสูงสุด หรือผู้นำสูงสุดทางศาสนาอิสลามของอียิปต์ 
17-18 พฤศจิกายน 2555 ประธานาธิบดี บารัค โอบามา มีกำหนดมาเยือนไทย เพื่อเจรจาทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีของไทย
วันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2555 นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน ก็มาเยือนไทย



...ทำไมต้องมาเมืองไทย?
ทุกคน like... ASEAN+6


คนไทยยิ้มสวยไม่ใช่เรื่องหลัก บุคลิกนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็เป็นเรื่องรอง แต่ไทยเพิ่มน้ำหนักความสำคัญ โดยเป็นศูนย์กลางของกลุ่มอาเซียน
กลุ่มอาเชียนประกอบไปด้วย 10 ประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นก็คือ ประเทศบรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม 
Asean จะรวมตัวเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และมีผลจริงๆ จังๆ ณ วันที่ 1 มกราคม 2558


ณ วันนั้นจะทำให้ภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก จะมีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีผลประโยชน์, อำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า-ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี 
และวันนี้ก็ได้เพิ่มน้ำหนักความสำคัญโดยขยายวงเป็นกรอบที่ใหญ่ขึ้นคือ ASEAN+6 ซึ่งประกอบด้วยชาติอาเซียน และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย
ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในเดือนสิงหาคมเกี่ยวกับกรอบความตกลง ASEAN+6 โดยจะพัฒนา ภายใต้ชื่อ Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP ซึ่งมีทั้งการเปิดเสรีด้านการค้า บริการ ลงทุน สร้างมาตรการทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยการเปิดเสรีจะยึดกรอบจาก FTA เรื่องนี้จะเสนอเข้าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในเดือนพฤศจิกายน 2555 นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติ อย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะเริ่มเจรจากรอบการค้าเสรีในปี 2556 และให้เสร็จในปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และอีกไม่นานประตูทวายในพม่าก็จะเปิด เชื่อมต่อผ่านไทย ทะลุไปเวียดนาม

ประชากรในจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ก็เกือบครึ่งโลก กำลังการผลิตเกินครึ่ง ความสำคัญของ ASEAN+6 ดึงให้ผู้นำทั้งใหญ่และเล็กบินเข้ามาพร้อมกันในช่วงนี้ 
หลายคนแวะเยี่ยมเยือนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ไทย ไปประชุมที่พนมเปญ 19-20 พฤศจิกายน 2555



รัฐบาลไทยต้องรีบเดิน
...แต่อย่างระมัดระวัง


ในสถานการณ์ที่ยุโรปและอเมริกากำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ เอเชียกลับเป็นความหวังช่วยฟื้นโลก มหาอำนาจหรือประเทศใหญ่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกัน เพื่อชิงพื้นที่การลงทุน การวางจังหวะก้าวของประเทศเล็กที่มีความสำคัญทางภูมิศาสตร์อย่างไทยต้องเดินละเอียด เหมือนเดินเข้าศาลรัฐธรรมนูญ
นายกฯ หญิงของไทยเดินทางไปหลายประเทศ หลายทวีปไม่ใช่เรื่องแต่งตัวสวยไปเดินเที่ยว ทุกที่มีเป้าหมายมีงาน เราอยากได้ประโยชน์ เขาก็อยากได้ ทำอย่างไรจะดีที่สุด ที่จะปรับความร่วมมือให้ได้ประโยชน์และไม่เสียมิตร
เช่น การประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Summit) เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม และญี่ปุ่น จะเห็นว่าไม่มีจีนซึ่งมีปัญหาขัดแย้งเรื่องทำเขื่อนกับประเทศใต้น้ำ แต่กลับมีญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือโครงการพัฒนา 
กำหนดการของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ จึงเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนก่อน ระหว่างวันที่ 17-19 เมษายน 2555 จากนั้นจึงเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ณ กรุงโตเกียว ในวันที่ 19-22 เมษายน 2555 เพื่อยืนยันบทบาทของไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา

อเมริกาแสดงท่าทีอย่างแจ่มชัดว่าอยากกลับมามีอิทธิพลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง ไทยและฟิลิปปินส์เป็นเป้าหมายหลัก เพราะมีพื้นฐานเก่า แต่ในพม่าซึ่งเป็นเขตขุมทรัพย์ อเมริกาจะต้องกลับไปแก้กฎข้อห้ามต่างๆ เพื่อให้เอื้อกับการลงทุน คราวนี้ถือเป็นงานใหญ่ เพราะมาทั้งประธานาธิบดีและ รมว. กลาโหม 
จีนเดินหน้าสู่อาเชียนนานแล้ว เป้าหมายการลงใต้และออกมหาสมุทรอินเดียยังเหมือนเดิม อีกไม่นานเราจะได้เห็นทั้งถนน และเส้นทางรถไฟ การบุกของมหาอำนาจยุคนี้ไม่ได้ใช้อาวุธ แต่เป็นทุน ถนน ทางรถไฟ 3 ปีที่ผ่านมา ความสนิทแนบแน่นมีมากขึ้น 
โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งที่ได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จีนได้เลือกข้างตามเสียงคนส่วนใหญ่



นโยบายต่างประเทศได้ประโยชน์สองทาง

ทีมวิเคราะห์มองแผนของรัฐบาลว่าใช้ได้ คือผูกมิตรแนบแน่นกับเพื่อนบ้าน มองประโยชน์ร่วมเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่ขัดใจกันถือเป็นเรื่องเล็ก ช่วยกันได้ก็รีบช่วย เช่น พม่า บอกว่าไฟฟ้าที่ย่างกุ้งไม่พอใช้ตอนนี้ไฟดับทุกวัน ไทยก็จัดผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือ เพื่อให้พม่าสร้างโรงไฟฟ้า ขนาด 700 MW ให้เสร็จในปีเดียว 
ส่วนการเดินหน้าประสานผลประโยชน์มหาอำนาจและประเทศใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะญี่ปุ่น จีน อเมริกา ไม่มีใครยอมใครคงต้องใช้ทั้ง ยิ่งลักษณ์ เต็ง เส่ง และ ฮุน เซน บวกกับข้อได้เปรียบจากทำเลที่ตั้ง กำลังการผลิต ประชากร ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์สูงสุด

สำหรับรัฐบาลไทยแม้จะมี มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ผูกขาไว้ไม่ให้รัฐบาลทำงานได้ถนัด แต่ทุกประเทศก็ยังให้เครดิต นโยบายด้านต่างประเทศที่เดินอยู่เป็นแนวทางถูกต้องที่จะได้ทั้งประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และเป็นพลังทางการเมืองที่จะให้ความร้อนต่อสู้กับการแช่แข็ง

วันนี้มีคนในประเทศจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับรัฐบาล มักออกความเห็นว่าโง่บ้าง หรือไม่รู้ธรรมเนียมบ้าง ผลประโยชน์ทับซ้อนบ้าง มีทั้งผ่านโซเชี่ยลมีเดีย หรือผ่านสื่อมวลชน
เมื่อด่าเสร็จอาจสบายใจขึ้นบ้าง รู้สึกว่าตนเองฉลาดกว่าชาวบ้าน
แต่ในความเป็นจริง ในสายตาของผู้ปกครองทุกกลุ่ม คนเหล่านั้นคือห่วงโซ่อาหารชั้นล่างๆ คล้ายพวกแมลง จิ้งหรีด ซึ่งจะต้องถูกกบเขียด คางคก อึ่งอ่างจับกิน
ทุกคนส่งเสียงร้องอยู่ข้างบ่อน้ำเล็กๆ แล้วก็มุดกลับเข้ากะลาหรือเข้ารู ทั้งวัน ถ้าไม่ปรับตัวทั้งหมดก็จะกลายเป็นเหยื่อ

โอกาสหน้าจะเขียนเรื่องในกะลา... สงครามในโคลนตมข้างบ่อน้ำ ที่ไม่มีวันจบ



.